ปั้นดินที่อินเดีย

ปั้นดินที่อินเดีย

 

วัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตมนุษย์ทุกชนชาติเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบเครื่องปั้นให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงอยู่และความเชื่อ เช่นเดียวกับผู้คนในชมพูทวีปที่ยังคงผูกพันกับสิ่งที่ได้จากวัสดุธรรมชาติเหล่านี้ แม้จะมีวัสดุชนิดอื่นเข้ามาแทนที่ก็ตาม

 

ที่อยู่อาศัยในอินเดียเหนือ

พื้นที่ตอนบนทางฝั่งตะวันออกของอินเดียในเขตรัฐพิหาร เป็นที่ราบกว้างใหญ่บนลุ่มน้ำคงคา ทั้งยังมีแม่น้ำใหญ่น้อยหลายสายไหลมาบรรจบกันที่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำเนรัญชรา แม่น้ำปัญชนะ และแม่น้ำโสณะ ส่งผลให้พื้นที่แถบนี้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยตะกอนดินเหมาะแก่การเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวซึ่งสามารถพบเห็นท้องทุ่งนาได้ทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถนำดินมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยนำมาเผาเป็นอิฐ ตลอดสองฝั่งเส้นทางระหว่างเมืองสามารถพบเห็นโรงเผาอิฐซึ่งมีปล่องควันสูงใหญ่เป็นจุดสังเกตได้หลายแห่ง อิฐที่ได้ถือเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนในปัจจุบัน ทั้งแบบชั้นเดียวตามชานเมืองและอาคารสูงหลายชั้นในเขตเมืองใหญ่

 

โรงเผาอิฐที่พบได้ทั่วไปในเขตอินเดียเหนือลุ่มแม่น้ำคงคา

 

อาคารบ้านเรือนในเมืองใหญ่และแถบชานเมืองยังคงใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง

 

นอกจากนี้ยังมีอาคารก่อด้วยดินดิบที่ไม่ผ่านกรรมวิธีการเผา ซึ่งพบได้ตามชนบทในพื้นที่ห่างไกล ถือเป็นรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยอย่างง่ายๆ มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน อันเป็นรูปแบบที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน บางหลังมีการนำมูลวัวที่รวบรวมได้จากทุ่งเลี้ยงสัตว์มาปั้นแล้วปะไว้ตามตัวอาคาร เมื่อแห้งดีแล้วสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในครัวเรือนแทนฟืนได้เป็นอย่างดี 

 

บ้านดินยังสามารถพบเห็นได้ในชนบทที่อยู่ห่างไกล

 

มูลวัวที่นำมาปั้นแล้วปะไว้ตามอาคารดิน เมื่อแห้งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

 

สิ่งหนึ่งของอาคารโดยทั่วไปที่มีความคล้ายคลึงกันก็คือส่วนเครื่องบนที่โดยมากยังมุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบกระเบื้องกาบกล้วย แม้จะมีบางส่วนเปลี่ยนไปใช้แผ่นสังกะสีและกระเบื้องสมัยใหม่บ้างแล้ว เช่น ร้านค้าหรืออาคารในย่านตลาด ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งของอาคารที่ใช้เครื่องบนเป็นกระเบื้องดินเผาคือมีการทำที่ครอบมุมบนสันหลังคาเป็นทรงกรวยยอดแหลม แต่ก็มีอาคารบางหลังที่ประยุกต์ใช้หม้อดินวางครอบไว้แทนเป็นที่สะดุดตา  

  

เครื่องปั้นทรงกรวยแหลมใช้ปิดช่องว่างที่จุดแยกของสันหลังคา

 

ภาชนะดินเผาในอินเดียใต้

คนอินเดียในแต่ละภูมิภาคยังคงนิยมใช้ภาชนะดินเผาในชีวิตประจำวัน หากประเมินจากร้านขายเครื่องปั้นดินเผาที่ตั้งกระจายอยู่ริมถนนบนพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีตั้งแต่ภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ประเภทกระถางต้นไม้รูปแบบต่างๆ โดยมากจะทาสีให้ดูสวยงาม นอกจากนี้ก็มีภาชนะดินเผาขนาดย่อม เช่น แจกัน หม้อน้ำ ซึ่งมีหลากหลายขนาดและรูปทรง นิยมทาด้วยสีส้มแบบสีอิฐ

 

 

กระทะดินเผายังคงใช้กันในแถบดินเดียใต้

 

สำหรับที่ร้านขายเครื่องปั้นดินเผาในรัฐทมิฬนาฑูทางอินเดียใต้ ฝั่งตะวันออก พบเห็นภาชนะในครัวเรือนที่ต่างออกไปคือกระทะดินเผา ซึ่งวางขายคู่กับภาชนะอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาขนาดเล็กสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ถ้วยชาดินเผาซึ่งเรียกว่า ภัร (Bhar) ที่พบได้ตามร้านชาในย่านชุมชนทั่วไป เป็นถ้วยชาที่ใช้ดื่มเพียงครั้งเดียวแล้วโยนทิ้ง เพื่อไม่ให้มีการใช้ซ้ำและป้องกันไม่ให้ผู้คนต่างวรรณะใช้ร่วมกัน

 

ในย่านตลาดเริ่มมีการนำกระเบื้องสมัยใหม่มาใช้เพิ่มมากขึ้น

 

ร้านขายเครื่องดื่มและของหวาน มีถ้วย “ภัร” วางอยู่

 

ถ้วยดินเผาขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปคือถ้วยประทีป ซึ่งมีทั้งที่ปั้นด้วยมือและขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์เป็นรูปทรงและลวดลายต่างๆ ถ้วยประเภทนี้มีไว้สำหรับจุดดวงประทีปให้แสงสว่างและเป็นการบูชาเหล่าเทพ สามารถพบเห็นได้ที่ร้านขายเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเทวสถานต่างๆ 

 

ถ้วยประทีป ภาชนะดินเผาขนาดเล็กสำหรับจุดไฟให้แสงสว่างหรือบูชาเทพเจ้า

 

ถ้วยประทีปใช้จุดไฟเพื่อบูชาเทพเจ้า ดังเช่นที่เทวสถานในเมืองมหาวลีปุราม สามารถพบถ้วยประทีปได้ทั่วไป

 

เครื่องปั้นและพิธีกรรมในอินเดียตะวันตก 

ที่เมืองทวารกะ รัฐคุชราต ในอินเดียตะวันตก ถือเป็นเมืองชายทะเลที่มีเทวสถานฮินดูทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งถูกแวดล้อมด้วยบ้านเรือนและย่านตลาด เป็นแหล่งค้าขายสินค้านานาชนิด หนึ่งในนั้นคือร้านขายเครื่องปั้นดินเผาและของใช้ในครัวเรือน สินค้าหลายอย่างดูคล้ายคลึงกับร้านขายเครื่องปั้นดินเผาธรรมดาทั่วไป แต่ที่น่าสังเกตคือมีเครื่องปั้นบางชนิดที่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคกับสมัย เช่นหม้อน้ำดินเผาที่มีการติดตั้งก็อกน้ำเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีเตาไฟแบบเตาเชิงกรานที่ปรับเปลี่ยนวัสดุจากดินเผาเป็นปูนซีเมนต์และสังกะสี ซึ่งมีความคงทนมากกว่าแบบดั้งเดิม รวมถึงภาชนะดินเผาทรงสูงคล้ายแจกันก็มีการประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการเจาะรูเป็นกระปุกออมสิน

 

ร้านเครื่องปั้นดินเผาในย่านตลาดเมืองทวารกะ มีเครื่องปั้นหลากหลายทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์

 

หม้อน้ำดินเผาติดตั้งก็อกเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สอย

 

เตาเชิงกรานยังคงรูปแบบดั้งเดิม แต่เปลี่ยนมาใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุ 

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าเครื่องปั้นดินเผามีความสัมพันธ์กับชีวิตของคนอินเดียในทุกมิติ ทั้งที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อ รวมถึงการใช้เครื่องปั้นดินเผาในช่วงปลายทางของชีวิต คือการใช้หม้อดินเผาในพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายที่ชาวฮินดูยังคงสืบทอดมาอย่างยาวนานนับพันปี ดังเช่นที่เมืองทวารกะ ในมุมหนึ่งของเมืองในบริเวณติดกับชายฝั่งทะเลถูกใช้เป็นพื้นที่เผาศพ เชิงตะกอนจะใช้แท่งเหล็กต่อขึ้นเป็นฐานสี่เหลี่ยมและใช้ไม้มะม่วงเป็นเชื้อเพลิง ก่อนการทำพิธีเผาศพ บุตรชายคนโตของผู้ตายจะเดินแบกหม้อดินเผาที่เจาะรูให้น้ำไหลออก เพื่อสื่อความหมายถึงการปลดปล่อย แล้วเดินวนรอบเชิงตะกอนก่อนจะทำการเผา เมื่อเผาเสร็จสิ้นแล้วจึงนำเถ้าถ่านที่หลงเหลือไปโปรยลงทะเล

 

บริเวณชายฝั่งของเมืองทวารกะเป็นสถานที่ทำพิธีศพในศาสนาฮินดู

 

หม้อน้ำดินเผาสำหรับใช้ในพิธีศพที่เมืองทวารกะ

 

ถึงแม้ว่าภาชนะดินเผาของอินเดียจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือประยุกต์ให้ทันสมัยเข้ากับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ภาชนะดินเผายังคงเป็นภาพสะท้อนถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของผู้คนในอินเดียที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ