๙ เรื่องประวัติศาสตร์ จาก โขงเจียม-เขมราฐ

๙ เรื่องประวัติศาสตร์ จาก โขงเจียม-เขมราฐ

 

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยว เส้นทางจากโขงเจียม-เขมราฐ เต็มไปด้วยร่องรอยหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์มาแล้วหลายยุค หลายสมัย ร่วมเดินทางย้อนอดีตไปพร้อมกันใน "9 เรื่องประวัติศาสตร์ จาก โขงเจียม-เขมราฐ"

 

(1)

"พ.ศ. 2518 รัชกาลที่ 9 เสด็จ...บ้านนาแวง"

ภายหลังจากที่ประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ตามแนวชายแดนฝั่งไทยมีการตรึงกำลังทหารอย่างหนาแน่น เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยและป้องปรามกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่บ้านนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในสถานที่ตั้งค่ายทหาร เนื่องด้วยเป็นจุดท่าเรือข้ามฟากมาแต่ดั้งเดิม กองบังคับการกองร้อยทหารราบ 6011 อุบลราชธานี ตั้งค่ายทหารและขุดสนามเพลาะ อยู่ภายในวัดป่าฯ ตรงข้ามโรงเรียนบ้านนาแวง ต่อมา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมทหารและชาวบ้านที่บ้านนาแวงเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

 

 

(2)

"ตบประทาย" ที่ดอนส้มโงม บ้านนาแวง

"บ้านนาแวง" จะเป็นเพียงหมู่บ้านชาวนาขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในพื้นที่ตำบลนาแวง จังหวัดอุบลราชธานี แต่หมู่บ้านแห่งนี้ กลับปรากฎร่องรอยศาสนสถานของคนรุ่นก่อน อย่างน่้อย 3 กลุ่ม ทั้งกลุ่มใบเสมาที่ปักรอบต้นไม้ใหญ่บนเนินสูงทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน กลุ่มกองศิลาแลงบนพูนดินริมแม่น้ำโขง และซากศาสนสถานก่อด้วยอิฐภายในวัดเก่าแก่กลางชุมชน สมัยต่อมา "บ้านนาแวง" ยังถูกกล่าวถึงในบันทึกของคณะสำรวจชาวฝรั่งเศสที่ผ่านมาในบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2438 ก่อนจะปรากฏชื่ออีกครั้งในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องมีกองกำลังทหารจากส่วนกลางเข้ามาดูแล

 

พิธี “ตบประทาย” หรือก่อพระเจดีย์ทราย เป็นพิธีกรรมที่ทำภายหลังประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นงานบุญเดือน 5 ในฮีต 12 ของชาวอีสาน ชาวบ้านนาแวงจะทำพิธี “ตบประทาย” บน “ดอนส้มโงม” สันดอนกลางแม่น้ำโขง มีลักษณะเป็นหาดทรายและกองหินขนาดใหญ่ซ้อนเกยกัน ดอนส้มโงมจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เห็นในช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง ราวเดือนมีนาคม - เมษายน ชาวบ้านเชื่อว่า ดอนส้มโงมเป็นที่สิงสถิตของ “เจ้าหัวดอน” ผู้ปกปักรักษาแม่น้ำโขง ในวันงานชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ลงไปฉันภัตตาหารบนดอนส้มโงม ก่อนจะร่วมกันตบประทาย และมีการจัดสำรับอาหารคาวหวานเพื่อถวายเจ้าหัวดอนอีกด้วย

 

 

(3)

"น้ำลด 'ช้าง' โผล่"

หากมาเยือน “หาดทรายสูง” ในช่วงน้ำลด ไม่เพียงหาดทรายสีขาวละเอียดและเกาะแก่งหินรูปทรงประหลาดกว้างไกลสุดสายตาเท่านั้นที่จะปรากฏให้เราเห็น บนหินใหญ่ก้อนหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งแม่น้ำโขงในบริเวณที่เรียกว่า “คอนหมู” นั้น มีภาพสลักรูป “ช้าง” งายาว ในวงล้อมของมนุษย์เพศชายอย่างน้อย 4 คน ถูกสลักลงบนหินก้อนนั้นด้วย ภาพสลักดังกล่าวได้รับการสันนิษฐานว่า เป็นผลงานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่เข้ามาหาอยู่หากินในบริเวณนี้

 

 

(4) 

"ร้อง เล่น เต้น วาด บนหน้าผาก่อนประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำโขง"

บนเพิงผา ผนังถ้ำ ชะง่อนหิน และกลุ่มหินที่เรียงรายอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอำเภอศรีเมืองใหม่ อำเภอตระการพืชผล อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอเขมราฐ และอำเภอโขงเจียม ในจังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีการสำรวจพบภาพวาด ภาพลงสี และภาพรูปรอยจากการสลักของมนุษย์ในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์รวมๆ กัน ไม่น้อยกว่า 30 แหล่ง เราเรียกกลุ่มภาพที่พบทั้งหมดนี้ว่า “กลุ่มผาแต้ม” ภาพที่พบมีทั้ง ภาพมือคน ภาพสัตว์ ภาพคน กระทั่งภาพสัญลักษณ์ต่างๆ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “...การจะตีความเกี่ยวกับศาสนาและไสยศาสตร์ในสังคมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสังคมที่ยังไม่มีเอกสารบันทึกเรื่องราวต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษร จะต้องอาศัยการศึกษาตีความผ่านภาพเขียน ภาพสลัก และแหล่งฝังศพของชุมชนนั้นๆ...”

 

 

(5)

"ถนนวิศิษฐ์ศรี" ถนนสายแรกของเมืองเขมราฐ? อยู่ที่ไหน?

เขมราฐเป็นเมืองที่มีความเป็นมายาวนาน ปรากฏเป็นบ้านเป็นเมืองและปรากฏชื่ออย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 2 สภาพบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ด้วยผังเมืองที่อยู่ริมลำน้ำโขง ชุมชนดั้งเดิมจึงอยู่เรียงรายไปตามลำน้ำจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีถนนสายหลักและสายดั้งเดิมที่ชื่อ “วิศิษฐ์ศรี” เป็นหัวใจของการเดินทางมาตั้งแต่แรกเริ่ม คู่ขนานไปกับลำน้ำโขง ถนนสายนี้ผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ ของเมืองเขมราฐ เช่น วัดเหนือ วัดกลาง ย่านตลาดเก่า และสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการ ปัจจุบันถนนสายนี้ยังถูกเพิ่มความสำคัญด้วยมีการจัดกิจกรรมถนนคนเดินอยู่เป็นประจำด้วย

 

(6)

ตามหาช้าง ที่ "แก่งช้างหมอบ"

แก่งช้างหมอบ ตั้งอยู่ที่บ้านบุ่งซวย ตำบลเขมราฐ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแห่งหนึ่งในแม่น้ำโขง พ่อสวัสดิ์ วระบุญญา หมอลำกลอนแห่งบ้านบุ่งซวย อดีตพรานปลาผู้มีความชำนาญและและรู้จักพื้นที่นี้เป็นอย่างดี ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของชื่อบ้านนามเมืองนี้ว่า “. . . บริเวณนี้สมัยก่อนถึงบ้านนาสนามเป็นดงเป็นป่าทึบ เรียกว่า 'ดงคำเดือย' ไม่ค่อยมีคนตั้งบ้านเรือนอยู่ เกาะกลางลำน้ำเรียก 'ดอนสา' ช่วงน้ำแห้งจะเห็นลาดหินไปถึงฝั่งลาว มีร่องน้ำเล็กๆ ทางฝั่งโน้นก็เป็นอีกดงหนึ่ง เรียก 'ดงอะหุ่ง' ตรงนี้สัตว์ข้ามไปมาได้จึงทำให้เจอซากฟอสซิลกระดูกช้างอันเป็นที่มาของชื่อ “แก่งช้างหมอบ” พอคนเยอะ ตั้งขึ้นเป็นบ้าน ส่วนป่าแม้ยังทึบอยู่ แต่สัตว์ที่มีก็เหลือเพียงเก้ง กวาง สัตว์ขนาดเล็ก พวกช้างและเสือไม่มีแล้ว . . .”

 

(7)

"ปู่ก่ำ" เจ้าเมืองคนแรกแห่งเมืองเขมราฐ

 เขมราฐเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระเทพวงศา (ก่ำ) เป็นเจ้าเมืองคนแรก ท่านผู้นี้เป็นบุตรของพระวอ ผู้มีเชื้อสายเจ้านายแห่งอาณาจักรล้านช้าง เช่นเดียวกับพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบุตรของพระตา โดยพระวอและพระตาในหน้าประวัติศาสตร์เชื่อถือกันว่าเป็นพี่น้องกัน และเป็นผู้ก่อตั้งเมืองหนองบัวลำภูร่วมกันมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น พระเทพวงศา (ก่ำ) แห่งเมืองเขมราฐ กับพระประทุมวรราชสุริยวงศ์(คำผง) แห่งเมืองอุบลราชธานี จึงเป็นเครือญาติ ทั้ง 2 เมืองนี้จึงเปรียบเสมือนเมืองพี่เมืองน้องกัน

 

(8)

"พระเจ้าองค์ตื้อ น้ำหนักเพียงไหน?"

คนอีสานและคนลาวมีมาตราชั่งตวงวัดเป็นของตัวเอง ครั้นจะเรียกพระขนาดใหญ่ที่เคารพนับถือในสมัยโบราณ ก็จะใช้ขนาดของน้ำหนักเป็นชื่อในการเรียกพระพุทธรูปที่นับถือ ตามมาตราน้ำหนักโบราณของอีสานนั้น ถือว่า 10 ชั่งเท่ากับ 1 หมื่น 10 หมื่นเท่ากับ 1 แสน  10 แสนเท่ากับ 1 ล้าน  10 ล้านเท่ากับ 1 โกฏิ 10 โกฏิเท่ากับ 1 กือ 10 กือเท่ากับ 1 ตื้อ เมื่อเทียบกับอัตราชั่ง ตวง วัด ในปัจจุบันนั้น 1 หมื่น ของมาตราอีสานโบราณ เท่ากับ ๑๒ กิโลกรัม ดังนั้น “พระเจ้าองค์ตื้อก็น่าจะมีน้ำหนักประมาณ 1.2 ล้านกิโลกรัม”

 

(9)

"อูบมุง อูบพระเจ้า"

“อูบ” หมายถึง ภาชนะสานแบบหนึ่ง จัดเป็นพวกเครื่องเขิน สำหรับใช้ใส่อาหารได้ พื้นที่อีสานและลาวมีคำว่า “อูบ” ปรากฏในตำนานเรื่องเล่าที่ยังเชื่อถือกันมาจนถึงทุกวันนี้ คือ “ตำนานอุรังคธาตุ” หรือตำนานที่เล่าเรื่องประวัติการสร้างพระธาตุพนม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอีสานเคารพนับถือกันอย่างมากมาย เล่ากันว่า องค์พระธาตุพนมนั้น ก่อนที่จะมีรูปร่างลักษณะเช่นนี้ สมัยเมื่อแรกสร้างเป็นเพียงอูบหลังไม่ใหญ่โตนัก ภายในวัดอูบมุง บ้านอูบมุง อำเภอเขมราฐก็ปรากฏพระพุทธรูปที่ถูกสร้างและประดิษฐานในอูบเช่นกัน ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าอูบมูง” หรือ “พระเจ้าองค์หมื่น” นั่นเอง

 

 

ติดตามอ่านเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับเมืองเขมราฐ-โขงเจียม อุบลราชธานี ได้ใน วารสารเมืองโบราณ 43.3 (กรกฎาคม-กันยายน 2560) "โขงเจียมถึงเขมราฐ วิถีคน วิถีวัฒนธรรม"

 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น