ณ วันที่สายน้ำรันทด

ณ วันที่สายน้ำรันทด

 

ธนบุรี...เมืองซึ่งครั้งหนึ่งได้ฉายาว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เพราะอุดมด้วยลำคลองหลากหลายสายทั้งที่เป็นคลองซอยขุดแยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองที่ขุดตัดขวางเชื่อมคลองใหญ่น้อยเข้าด้วยกัน เกิดเป็นพื้นที่ตาตะแกรงที่มีลำน้ำถักทอดังใยแมงมุม และผู้คนตั้งถิ่นฐานอาศัยเกาะอยู่ตามสองฟากฝั่งคูคลองเหล่านั้น ด้วยสะดวกในการสัญจรและทำมาหากิน หากเป็นชาวสวนชาวไร่สามารถชักน้ำจากคลองใหญ่เข้าลำกระโดงไปใช้หรือกักเก็บตามท้องร่องสวนได้ ขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายก็สามารถตั้งเรือนแพเปิดหน้าถังให้ลูกค้าได้มาจับจ่ายซื้อสินค้าโดยง่าย

 

วิถีคนคลองในอดีต อาศัยอยู่ในเรือนแพหรือไม่ก็เรือนยกพื้นสูงตามสองฝั่งคลอง

 

บรรยากาศอันร่มรื่นของเมืองน้ำเมืองสวน ได้ก่อรูปวิถีคนคลองและวิถีชาวสวนให้กับคนฝั่งธนฯ ซึ่งในอดีตเปี่ยมด้วยภูมิความรู้ที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ ยามเดือนปรากฏโฉมบนท้องโพยมเป็นรูปเสี้ยวรูปกลม บ่งบอกให้รู้ถึงขึ้นแรมอันสัมพันธ์กับน้ำขึ้นน้ำลง ดังนั้นหากจะสัญจรไปสู่ท้องน้ำใด ย่อมรู้เวลาแห่งการเดินทาง มิต้องให้เกิดเหตุการณ์เรือติดเลนจนต้องรอโมงยามให้น้ำขึ้น เฉกเช่นตุ่มโอ่งในครัวเรือนมิได้ขาดน้ำยามน้ำแห้งขอดคลอง ด้วยรู้ดีว่า “เมื่อน้ำขึ้นให้รีบตัก” กักเก็บใส่ภาชนะไว้ และห้วงเวลาใด...ที่เรือข้าว เรือเกลือ เรือถ่าน จะผ่านประตูน้ำแวะเวียนเข้ามาในลำคลอง เพราะเรือใหญ่ต่างถิ่นใช่จะเข้ามาได้ทุกวี่วัน หากน้ำไม่เต็มคลอง

 

เรือเป็นพาหนะในการสัญจรและค้าขายไปยังที่ต่างๆ ซึ่งคนคลองจะรู้ถึงการขึ้นลงของน้ำ

ยามน้ำลดติดท้องคลอง มีแต่เรือเล็กที่ยังพายไปได้ เรือใหญ่ต้องจอดรอจนกว่าน้ำจะขึ้น

 

ด้านการหาอยู่หากินในท้องน้ำนั้นเล่า...คนคลองต่างรู้ดีว่าจะยกยอ วางข่าย วางลอบ วางเบ็ด ตรงจุดใด ด้วยปลาแต่ละชนิดมีถิ่นหากินหลบซ่อนตัวต่างกันบ้างแหวกว่ายอยู่กลางคลอง บ้างซ่อนตัวตามไม้ชายเฟือยหรือรากไม้ริมตลิ่ง บ้างหมกแอบนิ่งในโคลนเลนริมคลองและบ้างก็เกาะแอบตามบันไดท่าน้ำ โดยเฉพาะกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่มีมากเสียจนคนในเรือนยามอยากกินต้มยำสักหม้อ พอตกเย็นลงอาบน้ำที่ท่าเรือน กวาดมือตามขั้นบันไดใต้ท้องน้ำ อย่างน้อยก็ได้กุ้งมาพอแกงถึง 4-5 ตัว และก่อนขึ้นเรือนอาจว่ายไปเก็บผักบุ้ง ผักกะเฉด ที่ปลูกไว้เป็นแพในท้องน้ำไปผัดอีกสักจาน หรือจะแวะเก็บผักเสี้ยน ผักหนาม ริมตลิ่งไปดองเพื่อไว้กินกับน้ำพริกในวันถัดไปก็ย่อมได้ นี่แหละชีวิตพอเพียงเรียบง่ายที่สมบูรณ์ด้วยแหล่งอาหารในท้องน้ำ หรือหากจะเข้าสวนหลังเรือนไปเก็บผักผลไม้มาทำอาหารสักจานก็มีให้เลือกดาษดื่นไม่ซ้ำเมนูในแต่ละวัน

 

คลองสานในอดีตคึกคักไปด้วยเรือสัญจรที่มีทั้งถ่อและพาย องค์พระปรางค์ในภาพคือ พระปรางค์ของวัดพิชยญาติและมณฑปขวามือเป็นเมรุปูนของวัด

 

ด้วยผลผลิตในสวนที่ปลูกคละกันหัวร่องปลายร่องทำให้มีเก็บกินเก็บขายได้ทุกฤดูกาล บางวันมีมากก็ใส่เรือพายไปขายตามนัดต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงซึ่งสายน้ำไหลมาบรรจบสบกัน ไม่ว่าจะที่ตลาดน้ำปากคลองบางระมาด ตลาดน้ำหน้าวัดวิจิตรการนิมิต ตลาดน้ำบางแค หน้าวัดนิมมานรดี หรือจะไปแถวเสาหินปากคลองด่าน ที่เป็นตลาดน้ำย่อยๆ หากจะไปตลาดใหญ่ ต้องไปตลาดน้ำย่านบางยี่เรือ ตั้งแต่วันอินทารามไปจรดวัดราชคฤห์ หรือจะเลยมาที่ตลาดน้ำวัดไทร ซึ่งเปิดตลาดขายทุกวัน สำหรับบ้านใดสวนใดมีผลผลิตน้อยไม่คุ้มพายเรือออกไปขาย ยังสามารถฝากเพื่อนบ้านติดเรือไปขายให้ได้ เป็นการเอื้อเฟื้อเจือจานในสังคมชาวสวนชาวคลอง และมีไม่น้อยที่ชาวสวนบางคนซึ่งพอมีทุนรอน ทำหน้าที่เป็นแม่ค้าคนกลางรับซื้อผลผลิตจากสวนเพื่อนบ้านในย่านคลองแถบบ้านตน ไปรวบรวมส่งขายยังตลาดท้องน้ำใหญ่ในฝั่งพระนคร เช่นตลาดน้ำคลองมหานาค หรือตลาดหน้าวัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) ในคลองผดุงกรุงเกษม

 

เมื่อถนนหนทางเข้ามามีบทบาทแทนคูคลอง บ้านที่เคยหันหน้าลงน้ำก็กลายเป็นหลังบ้าน หมดความงามและบางครั้งกลายเป็นจุดทิ้งขยะลงคูคลอง

 

ความร่มเย็นร่มรื่นของไม้ใหญ่ใบบังตามเรือกสวนคูคลองน้ำใสในย่านฝั่งธนฯ ยืนยาวเรื่อยมา แม้การพัฒนาจากฝั่งพระนครจะรุกไล่ข้ามฝั่งเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2475 แต่สะพานเหล็กใหญ่ก็หาได้เปลี่ยนโฉมบ้านสวนแห่งนี้เท่าใด มีบ้างที่ต้องเสียสวนเพราะถูกถนนตัดผ่าน อย่างถนนอิสรภาพ สมเด็จเจ้าพระยา พระปกเกล้า เป็นต้น แต่คนสวนคนคลองก็ยังรักษาผืนดินเกิดไว้ได้ กระทั่งเมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจบังเกิดขึ้น ฝั่งธนฯ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีการตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายสายทั้งเล็กใหญ่ เช่น ธนบุรี-ปากท่อ จรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษม รวมถึงสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำอีกหลายแห่ง อย่างสะพานซังฮี้ สะพานกรุงเทพ สะพานตากสิน ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบ้านสวนฝั่งธนฯ

 

เมื่อครั้งเส้นทางน้ำยังเป็นการคมนาคมหลัก การสร้างสะพานข้ามคลองมักคำนึงถึงเรือสัญจรไปมา

จึงสร้างสะพานให้สูงหรือโค้ง เพื่อเรือสามารถผ่านไปได้ โดยไม่ติดท้องสะพานยามน้ำขึ้นสูง

 

คลองหลายสายถูกถมเป็น สวนหายเพราะถนนผ่าเข้าพื้นที่ พร้อมๆ กับที่โรงงานอุตสาหกรรมได้คืบคลานเข้ามาตั้งในพื้นที่ ด้วยนโยบายเพียงเพราะตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากพระนครมากนัก การคมนาคมขนส่งด้วยรถยนต์ทำได้โดยสะดวก บริเวณแถบบางแคจึงเกิดโรงงานทอผ้า โรงงานทำถ่านไฟฉายขึ้น คนในท้องที่พากันหันเข้าสู่โรงงานเพราะเห็นเป็นของใหม่ และไม่อยากคลุกโคลนเลนในสวนให้ร่างกายเปรอะเปื้อน เรือพายเรือถ่อเปลี่ยนเป็นเรือเครื่องและพัฒนามาเป็นเรือหางยาว ที่วิ่งแผดเสียงดังก้องตลอดคุ้งน้ำ เรือเมล์ค่อยๆ หายไปจากสายน้ำ มีรถเมล์หลากสีสายต่างๆ เข้ามาทดแทน พร้อมๆ กับที่คนต่างถิ่นพากันเข้ามาตั้งบ้าน จับจองตึกแถวสองฝั่งถนน พื้นที่สวนที่ทางน้ำเริ่มเน่าเสีย เพราะถูกถนนตัดขวางเส้นทางน้ำไหล ผลหมากรากไม้ไม่ออกดอกแทงช่อ ด้วยเจอฝุ่นควันและกระไอร้อนของเครื่องยนต์ ก็ผลักให้ชาวสวนต้องเปลี่ยนพื้นที่มาทำบ้านเช่า แบ่งล็อคขายให้กับคนต่างจังหวัดที่เริ่มเข้ามาแสวงหางานทำในเมืองกรุง เพียงชั่วไม่ถึง 10 ปี พื้นที่สวนฝั่งธนฯ ก็ลดจำนวนลง ขณะที่ความเป็นเมืองเติบโต บ้านเรือนที่อยู่อาศัยหนาแน่นทดแทน สองฝั่งคลองที่เคยเป็นหน้าบ้านขึ้นเรือนชานกลับกลายเป็นหลังบ้านที่รกรุงรัง บางลำคลองถูกรุกล้ำ สร้างบ้านคร่อมจนแทบไม่เห็นสายน้ำไหล

 

การสร้างประตูระบายน้ำปิดเปิด มีทั้งข้อดีที่ช่วยควบคุมระดับน้ำไม่ให้น้ำท่วมเข้าไปตามถนนหนทาง รวมถึงป้องกันยามน้ำเค็มขึ้นสูง

แต่หากไม่มีการปิดเปิดเลย น้ำในคูคลองจะนิ่ง ไม่มีการระบายน้ำใหม่เข้ามา น้ำเสียจากครัวเรือนและโรงงานที่ปล่อยทิ้งลงคลองเกิดการหมักหมมจนน้ำในคลองเน่าเสีย 

 

กระทั่งปี 2529 เมื่อกรุงเทพฯ เจอฝนพันปีถล่ม กรุงเทพฯ ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรีกลายเป็นทะเลไปในฉับพลัน ผู้ว่ากรุงเทพมหานครยุคนั้น--พลตรีจำลอง ศรีเมือง จึงได้แก้ปัญหาการกลัวน้ำของคนกรุงเทพฯ ด้วยการทำพนังเขื่อนกั้นน้ำตามคลองต่างๆ ทั่วกรุง พร้อมๆ ไปกับสร้างประตูกั้นน้ำตามคลองเล็กคลองน้อยเพื่อการระบายน้ำและป้องกั้นน้ำท่วม เหตุการณ์ครั้งนี้เองส่งผลให้คลองร้อยสายในย่านฝั่งธนฯ ต้องสิ้นลมปราณ เพราะพนังเขื่อนกั้นน้ำตามคลองต่างๆ ได้มีแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่พาดผ่านถี่ยิบตลอดลำคลอง เรือที่ยังเคยสัญจรไปมาในลำคลองได้ก่อนหน้านั้น ไม่สามารถผ่านเข้าออกได้อีก เช่นเดียวกับประตูน้ำที่จำเป็นต้องปิดและเปิดเพื่อการระบายน้ำให้เคลื่อนไหว ก็ถูกปิดตายเกือบแทบทุกแห่งเว้นเฉพาะประตูระบายน้ำตามคลองใหญ่ๆ ที่ยังมีเรือสัญจรวิ่งผ่านไปมาเท่านั้น เช่น ประตูน้ำคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ประตูน้ำคลองดาวคะนอง ประตูน้ำคลองชักพระ ประตูน้ำคลองมอญ เป็นต้น ส่วนประตูน้ำตามคลองเล็กๆ แทบไม่เคยเปิดเลยก็ว่าได้ ส่งผลให้น้ำตามคลองเล็กคลองน้อยเน่าเสีย เพราะเมื่อน้ำนิ่ง ไร้การสัญจรบ้านเรือนสองฝั่งก็เห็นเป็นเพียงท่อระบายน้ำทิ้ง ขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ จากครัวเรือนถูกทิ้งลงไปเต็มคลอง หมักหมมจนน้ำเน่าถาวร อย่างเช่นบริเวณข้างตลาดสี่แยกบ้านแขก ที่ส่งกลิ่นเหม็นและเหมือนมีก๊าซผุดเป็นฟองขึ้นบนผิวน้ำ

 

สภาพคลองกุฎีจีนในปัจจุบันที่แคบลงจากการรุกล้ำของบ้านเรือน และเต็มไปด้วยขยะจนเกิดเน่าเสีย

นอกจากนี้การส้รางเขื่อนแบบค้ำยันกลางคลองก็ส่งผลให้การสัญจรทางน้ำตายสนิทและยังเป็นทัศนอุจาดอีกด้วย

 

มิต้องกล่าวถึงคลองสายประวัติศาสตร์ในย่านฝั่งธนฯ อย่างคลองคูเมืองกรุงธนบุรี ที่ถูกถมทับกลายเป็นถนนอรุณอัมรินทร์บางส่วน ขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่ก็ถูกรุกล้ำ น้ำเน่าเสียและมีสภาพเป็นเพียงท่อระบายน้ำไหลลงคลองบางกอกน้อยเท่านั้น คลองชักพระ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ตื้นเขินและแคบเพราะถูกรุกล้ำจากการสร้างเส้นทางเดินริมคลอง เรือใหญ่ไม่สามารถผ่านสวนกันได้ ทั้งที่เป็นเส้นทางสายน้ำเจ้าพระยาเก่าที่ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ คลองด่านหรือคลองสนามชัย ซึ่งเป็นคลองสำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นทั้งเส้นทางเดินทัพสู่หัวเมืองตะวันตกและเส้นทางออกสู่ท้องทะเลมหาชัย วันนี้มีอาคารบ้านเรือนรุกล้ำคลองเต็มไปหมด โรงงานปล่อยน้ำเสียลงคลอง ขยะตามครัวเรือนถูกทิ้งลอยฟ่อง ทำให้น้ำดำส่งกลิ่นเหม็นในบางช่วงบางตอน

 

ปัจจุบันเมื่อการจราจรระบบรางคืบคลานเข้าสู่ทุกอณูในพื้นที่ฝั่งธนฯ ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนร้างที่แม้ไม่ได้ทำแล้ว แต่ยังเป็นพื้นที่ปอดให้กับบางหย่อมย่าน ก็ปรับเปลี่ยนเป็นคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรร ลำกระโดงและคูคลองเล็กๆ ถูกถมเป็นตรอกซอยและถนนที่จะเชื่อมออกไปยังสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินที่ผุดขึ้นตามถนนสายหลัก ลำคลองสายต่างๆ ยังคงขาดการเหลียวแลที่จะฟื้นฟู เว้นแต่จะให้ความสำคัญกับการสร้างพนังกั้นน้ำสองฝั่งคลองเพื่อป้องกันน้ำท่วมเท่านั้น

 

โฟม ถุงพลาสติก และขวดพลาสติกเป็นขยะที่พบมากในลำคลองต่างๆ ด้วยสลายตัวช้าและยังพันใบพัดเรือให้เสียหายด้วย

 

สายน้ำนับร้อยสายในพื้นที่ฝั่งธนฯ วันนี้จึงอยู่ในสภาวะอันน่ารันทด ทั้งๆ ที่เป็นต้นทุนทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญของเมือง อันสามารถนำมาแก้ไขปัญหาการจราจรของเมืองใหญ่ได้ดีกว่าการสร้างถนนเพื่อเพิ่มพื้นผิวจราจร แต่ต้องเวนคืนขับไล่คนออกจากพื้นที่ ทำลายชุมชนที่เป็นรากเหง้าของเมือง การจะฟื้นคืนชีวิตให้กับสายน้ำกลับมาใสสะอาด มีสัตว์น้ำอย่างกุ้งหอยปูปลาหวนคืนมา น้ำตามคลองต่างๆ ต้องมีการเคลื่อนไหว มีระบบน้ำขึ้นลงไหลเทเข้าและออก หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการจัดการน้ำในเมืองอย่างสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และกรมเจ้าท่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เป็นกลไกที่จะร่วมมือกับชาวบ้านในแต่ละท้องที่พลิกฟื้นคูคลองให้กลับมามีสภาพใช้งานและเป็นแหล่งอาหารให้กับคนเมือง ทั้งในแง่อาหารการกินและอาหารใจ ที่จะสร้างสภาพแวดล้อมอันรื่นรมย์ให้กับผู้คน

 

เช่นเดียวกับคนฝั่งธนฯ ที่มีมรดกคูคลองอยู่ในมือ ก็ต้องมีสำนึกร่วมในการช่วยดูแลรักษา โดยเริ่มจากการไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลทั้งหลายลงในคูคลอง คอยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการุกล้ำสร้างอาคารร้านค้าคร่อมทับคลอง เปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้น้ำยาและผงซักฟอกที่ผลิตจากสารเคมี มาเป็นน้ำยาหมักชีวภาพที่สามารถใช้อเนกประสงค์ ทั้งลดต้นทุนครัวเรือนและยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองให้ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี การจะทำแต่เพียงผู้เดียวหรือเพียงองค์กรเดียวใช่จะสำเร็จได้โดยง่าย ดังนั้นการสร้างพันธมิตรเป็นเครือข่ายเพื่อฟื้นฟูคูคลองเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างพลังให้เกิดขึ้นได้ เพราะคลองหนึ่งสายเกิดจากสายน้ำเล็กๆ นับร้อยสาย เมื่อจะคืนชีวิตแค่เพียงหนึ่งสายน้ำ ย่อมต้องอาศัยการลงไม้ลงมือนับร้อยคู่เช่นกัน

 

แผนที่แสดงให้เห็นเครือข่ายคูคลองในย่านฝั่งธนฯ ที่มีทั้งคลองสายใหญ่และลำคลองเล็กที่แตกแขนงออกไปอีกนับร้อยสาย

 


สุดารา สุจฉายา

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ