ร่องรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโคกพริก ราชบุรี

ร่องรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโคกพริก ราชบุรี

 

แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพริกตั้งอยู่ในตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี มีอาณาบริเวณอยู่บนที่ดอนขนาด 800 x 450 เมตร ริมลำน้ำแควอ้อมหรือลำน้ำแม่กลองสายเดิม ซึ่งเป็นที่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบราว 3 เมตร ที่ผ่านมาชาวบ้านได้พบเจอโบราณวัตถุหลายชนิดอยู่ในบริเวณดังกล่าวมาโดยตลอด กระทั่งปี พ.ศ. 2541 ขณะที่มีการปรับปรุงพื้นที่สนามหญ้าด้านหลังอาคารที่ว่าการองค์การบริหารส่วนตำบล ได้ขุดพบโบราณวัตถุและโครงกระดูกมนุษย์ จึงนำมาสู่การขุดค้นเพื่อศึกษาและรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีที่พบภายในพื้นที่และมีการสร้างหลังคาคลุมหลุมขุดค้นไว้

 

แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพริก ตั้งอยู่บนที่ดอน ใกล้ลำน้ำแควอ้อม ในตำแหน่งชายฝั่งทะเลเดิม

 

 

ป้ายจัดแสดงข้อมูลสภาพภูมิประเทศและประวัติการค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านโคกพริก

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งกระถินได้จัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่พบหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งยังสนับสนุนให้สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ทำการขุดหาหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มเติม ภายใต้โครงการโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ชุมชนตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี การขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนั้นกำหนดขนาดหลุมขุดค้นไว้ที่ 4 x 4 เมตร จำนวนทั้งหมด 9 หลุม ผลจากการขุดค้นพบโบราณวัตถุเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ลูกปัด เครื่องประดับโลหะ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่ทราบข่าวการเปิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้นที่นี่ ได้นำเอาโบราณวัตถุมามอบให้เพิ่มเติมอีกด้วย

 

โครงกระดูกที่พบมีจำนวน 5 โครง ปัจจุบันได้นำมาจัดแสดงในอาคารพิพิธภัณฑ์

 

โครงกระดูกส่วนใหญ่นอนเหยียดยาวแขนชิดลำตัวคล้ายการผูกศพก่อนนำฝัง

 

กำไลกระพรวนสำริด ซึ่งพบอยู่ในหลุมศพ

 

จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพริกมีการอยู่อาศัยของผู้คนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หลักฐานสำคัญคือโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 5 โครง เกือบทั้งหมดอยู่ในลักษณะนอนเหยียดยาว แขนแนบลำตัว คล้ายมีการมัดศพก่อนนำฝัง โดย 3 จาก 5 โครงมีความสูงระหว่าง 156 เซนติเมตร ถึง 158 เซนติเมตร มีช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุที่อยู่ใกล้กับศพ เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อดิน ลูกปัดหินคาร์เนเลียน กำไลสำริด และเปลือกหอยแครง เป็นต้น พื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้กันยังพบโบราณวัตถุที่มีช่วงเวลาสืบเนื่องมาถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งสมัยราชวงศ์ถัง (ราว พ.ศ.1160-1450) และภาชนะเคลือบสีขาวสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ราว พ.ศ.1670-1820) เป็นต้น

 

ลูกปัดหินคาร์เนเลียน

 

ต่างหูแก้ว

 

ชิ้นส่วนเปลือกหอยแครงที่อยู่ปะปนในหลุมศพ

 

ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาสมัยราชวงศ์ถัง

 

ตลับกระเบื้องเคลือบสีขาวแบบราชวงศ์ซ่งใต้

 

โบราณวัตถุบางส่วนเป็นสิ่งของที่ชาวบ้านนำมามอบให้กับพิพิธภัณฑ์

 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อและเข้าชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนตำบลคุ้งกระถินได้ที่งานการศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งกระถิน โทร. 032 - 377 - 339

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ