“ลากพระ” เป็นประเพณีเนื่องในพุทธศาสนาของคนไทยพุทธในภาคใต้ของประเทศไทย จัดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน คือตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยชาวบ้านพร้อมใจกันอาราธนาพระพุทธรูปที่เรียกว่า “พระลาก” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปอิริยาบถยืน การแสดงปางมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เช่น ปางอุ้มบาตร ปางห้ามญาติ ปางเปิดโลก เพื่อนำไปประดิษฐานบนบุษบกที่วางอยู่เหนือเรือ รถ หรือล้อเลื่อน ที่เรียกว่า “นมพระ” (พนมพระ) แล้วแห่แหนชักลากไปตามลำน้ำหรือถนนหนทาง
ประเพณีลากพระในปี 2565 นี้ กลับมาคึกคักเต็มที่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พระลากโบราณที่ปีก่อนไม่ได้อัญเชิญออกมาก็ถูกนำออกมาอย่างเต็มอัตราทั่วภาคใต้ บทความนี้นำเสนอข้อมูลบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเพณีลากพระในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชที่มีการลากเรือพระไปชุมนุมกันที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดพระธาตุ
พระลาก ต้ม และลูกเห็ด
จากการเก็บข้อมูลพบว่าก่อนวันลากพระชาวบ้านจะไปร่วมกันที่วัดเพื่อจัดเตรียมเรือพระตกแต่ง นมพระ (บุษบก) แล้วนำพระลากของวัดออกจากหอเก็บออกมาสรงน้ำ มีธรรมเนียมการปรนนิบัติต่อพระลากอย่างสตรีสูงศักดิ์ตั้งแต่การนุ่งห่มด้วยผ้าอย่างสตรี การเจิมโอษฐ์ด้วยชาดแดงระเรื่อ พระลากบางองค์มีการกำหนดจารีตว่าให้เฉพาะแต่ผู้หญิงดูแลหยิบจับเรื่องการแต่งองค์ทรงเครื่องเท่านั้น มีการขนานนามพระลากให้เป็นสตรีเพศ เช่น พระลากแม่พริ้ม วัดบูรณาราม พระลากแม่แอบ วัดจันทาราม พระลากแม่ลาวทอง วัดสวนหลวง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
พระลากแม่ชุม วัดท่าช้าง อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระลากแม่ลาวทองเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาของวัดสวนหลวง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
ชาววัดจันทารามกำลังแต่งตัวให้พระลากแม่ยุภา พระลากองค์ใหม่ลำดับที่ 6 ของวัดแห่งนี้
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมสังเกตการณ์การแต่งองค์พระลากของวัดจันทาราม ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีจำนวน 6 องค์ด้วยกัน ทั้งหมดเป็นพระลากหุ้มแผงคือข้างในเป็นโกลนไม้ขนุนทอง หุ้มด้วยแผ่นเงิน สำหรับปีนี้เป็นการนุ่งผ้าอย่างโบราณหลังจากที่ส่งไปซ่อมโดยใช้เวลาถึง 2 ปี ระหว่างนี้เราจะได้ยินเสียงตีกลองดังขึ้นภายในวัด เรียกกันว่า การคุมโพน เป็นการตีเพื่อบอกกล่าวให้ชาวบ้านรับรู้ว่าเทศกาลลากพระกำลังจะมาถึงในไม่ช้า จากการสังเกตพบว่าวัดต่างๆ จะให้เด็กๆ รับหน้าที่ตีกลองโดยมีผู้ใหญ่คอยสอนวิธีการตีให้
คณะชาววัดจันทาราม ถ่ายภาพร่วมกันหน้าพระลากทั้ง 6 องค์ หลังจากช่วยกันแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย
พระลากทั้งหกองค์ของวัดจันทารามนุ่งผ้าโบราณของวัดหลังจากใช้เวลาซ่อมถึง 2 ปี
พระลากแม่ยุภา พระลากองค์ใหม่ลำดับที่ 6 ของวัดจันทาราม
เมื่อถึงวันลากพระ (11 ตุลาคม 2565) ในช่วงหัวรุ่งแต่ละวัดจะมีการตักบาตรพระลากเรียกกันว่า ตักบาตรหน้าล้อ เป็นการตักบาตรก่อนการลากเรือพระออกจากวัด คนนครมีคติการตักบาตรหน้าล้อด้วยต้มคู่กับลูกเห็ดหรือลูกเห็บกันเป็นส่วนใหญ่ ต้มเป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อเป็นทรงสามเหลี่ยม สำหรับต้มของคนนครโดยเฉพาะชาวไทยพุทธนิยมห่อทรงสูงเรียกว่า “ต้มไทย” ซึ่งต่างจากต้มของมุสลิมมลายูทางภาคใต้ตอนล่างที่นิยมห่อทรงต่ำเรียกว่า “ต้มแขก”
ต้มไทยห่อแบบทรงสูงกับลูกเห็ดหรือลูกเห็บชาวบ้านนำมาแขวนไว้ที่เรือพระตามคติความเชื่อของคนนคร
ปัต ห่อด้วยใบจากอ่อนแขวนที่พระลาก
จากการสัมภาษณ์คุณปิติ ระวังวงษ์ นักเขียนวรรณกรรม ชาวไทยพุทธในนครศรีธรรมราช ได้ให้ความเห็นว่าการที่คนนครบางพื้นที่เรียกต้มที่ห่อทรงสูงว่าต้มไทย อาจเพราะเป็นต้มดั้งเดิมของคนนครที่นับถือพุทธ ต่อมาเมื่อมีการเทครัวชาวมลายูมายังเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีวิธีการห่อต้มที่แตกต่างจากคนนครจึงเรียกว่าต้มแขก ทุกวันนี้พบว่ามีคนนครส่วนหนึ่งที่ห่อต้มแบบต้มแขกด้วยเช่นกัน ขณะที่ทางกลุ่มคนมลายูไม่มีการห่อต้มแบบต้มไทยเลย อย่างไรก็ดี นอกจากต้มที่ห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วยังมีต้มที่ห่อเป็นทรงอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ต้มดีปลี ใช้ใบกระพ้อในการห่อ มีลักษณะคล้ายกับดีปลี (long pepper หรือ เรียกว่า Indian long pepper) พริก (Chilli) [1] หรือหลักล่ามวัวควายของคนสมัยก่อนที่ทำจากไม้ ต้มนมสาวใช้ใบมะพร้าวอ่อนนำมาสานเป็นลูกๆ ต้มนกใช้ใบมะพร้าวนำมาสานเป็นรูปนก ข้าวต้มมัด ห่อด้วยใบตองแล้วนำ 2 ชิ้นมามัดเข้าด้วยกัน ปัต ใช้ยอดจากนำมาห่อให้มีลักษณะเป็นแท่งยาวๆ คล้ายกับขี้ไต้ที่คนสมัยก่อนใช้จุดให้แสงสว่าง [2]
ต้มนกทำจากใบมะพร้าวประดับนมพระของวัดท่าสูง อำเภอท่าศาลา
พระลากวัดกำแพงถมมีต้มดีปลีแขวนอยู่
ต้มดีปลีแขวนที่พระลากวัดกำแพงถม
ส่วนลูกเห็ดหรือลูกเห็บมีลักษณะคล้ายกับทอดมันของภาคกลาง ทำจากเครื่องแกง ประกอบด้วยกระเทียม หัวหอม ตะไคร้ กะปิ ตำรวมกันแล้วคลุกผสมกับมะพร้าว ใบชะพลู มันสำปะหลังหรือใบเล็บครุฑ บางพื้นที่ใส่กุ้งและอาจผสมแป้งข้าวเจ้าด้วยแต่ละพื้นที่มีหลากหลายสูตรแตกต่างกันไปวัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่นั้นๆ ปั้นเป็นลูกกลมหรือรีคล้ายเม็ดขนุนหรือแบนๆแล้วแต่ความชอบ แล้วนำมาทอด สันนิษฐานว่า คำว่า “เห็ด” หรือ “เห็บ” กร่อนมาจากภาษาเขมร ในบทความของกฤช เหลือลมัย เรื่อง “อันทอดมันนั้นหรือ คือปลาเห็ด” ที่อ้างถึงพจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน เล่มที่ 2 (พ.ศ.2521) มีคำศัพท์ว่า ปรหิต (ปรอเฮด) หมายถึง ลูกชิ้น ทอดมัน [3]
ต้มและลูกเห็ด
ต้มนมสาวทำจากใบมะพร้าวจากอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
ลากพระจากวัดไปพระธาตุ
หลังจากตักบาตรหน้าล้อเสร็จแล้วแต่ละวัดจะดำเนินการลากพระออกจากวัดเพื่อไปรวมกันที่จุดนัดหมาย ผู้เขียนได้ร่วมสังเกตการณ์ประเพณีลากพระของวัดบูรณาราม ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พบว่าเรือพระของที่นี่มีการประดับบุษบกอย่างสวยงามและมีการแต่งตัวให้พระลากแม่แอบอย่างสตรีเพศ มีการนำต้มและปัตมาทำเป็นอุบะ ทำเป็นบายศรี และนำต้นอ้อยมาประดับเรือพระอย่างสวยงามด้วย ส่วนด้านข้างเรือพระทั้งสองฝั่งจะมีเชือกขึงไว้ให้ชาวบ้านนำต้มและปัตมาแขวนเพื่อเป็นการทำบุญ
ชาววัดบูรณารามตรวจสอบความเรียบร้อยของเรือพระระหว่างรอเวลาลากออกจากวัด
เรือพระของวัดบูรณารามมีการนำต้มและปัตมารอยเป็นอุบะประดับเรือพระอย่างสวยงาม
หนุ่มน้อยขึ้นประจำการเพื่อทำหน้าที่ตีเครื่องดนตรี
ประมาณ 08.00 น. ชาววัดจะเข้าประจำที่ จับเชือก 2 เส้นที่ผูกอยู่ทางด้านหน้าของเรือพระ ในอดีตจะแบ่งเส้นหนึ่งเป็นของผู้ชาย อีกเส้นเป็นของผู้หญิง แต่ปัจจุบันไม่แบ่งแยกชายหญิงแล้ว เด็กๆ ผู้ทำหน้าที่เล่นดนตรีจะขึ้นไปประจำการที่บริเวณหลังนมพระ ท้ายเรือพระ ประเพณีลากพระเมืองนครนั้นใช้เครื่องดนตรีทั้งหมด 3 ชิ้น จึงใช้ผู้เล่นเพียง 3 คน เครื่องดนตรีประกอบไปด้วย 1. กลองแบบที่ใช้ในวงมโหรี มโนราห์ หรือปี่พาทย์ทั่วไป 2. ระฆังวงกลม วงเดือน สามเหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยมแบบใดก็ได้ 3. เครื่องดนตรีที่คนนครเรียก “ปืด” หรือที่คุณสมพงษ์ (ไม่ระบุนามสกุล) เรียกว่า โพน ปืดหรือโพนนี้ เจาะท่อนไม้กลมให้กลวงแล้วขึงหนังเป็นหน้ากลองทั้งสองหน้า [4]
ชาววัดบูรณารามกำลังลากเรือพระออกจากวัดโดยแบ่งเชือกลากออกเป็นสองสาย
และมีผู้ทำหน้าที่เป็นต้นเสียงส่งสัญญาณให้มีการลากเรือพระ คนที่เหลือจะร้องตามด้วยความสนุกสนาน
ชาววัดบูรณารามและประชาชนที่อยู่ริมถนนมาร่วมกันลากพระ บางท่านจะลากพอเป็นพิธีด้วยระยะทางไม่ไกลนัก
ชาววัดโคกธาตุกำลังช่วยกันลากเรือพระของวัดซึ่งเป็นเรือพระโบราณที่ใช้ล้อเลื่อนไม้
ระหว่างทางจะมีวัยรุ่นทำหน้าที่งัดล้อไม้ให้ไปตามทิศทางของถนน
หลังจากสิ้นเสียงประทัด ตามมาด้วยเสียงส่งสัญญาณร้องว่า “อีสาระพา เฮโล เอโล” ทุกคนก็ร่วมร้องตามแล้วชักลากเรือพระออกจากวัด ต้นเสียงร้องต่อว่า “ลากพระวัดไหน” เสียงรับว่า “ลากพระวัดบูรฯๆ” ต้นเสียงว่า “เอาที่เท่าไหร่” เสียงรับว่า “เอาที่หนึ่ง เอาที่หนึ่ง” ซึ่งจะเดินร้องไปตลอดทางจนถึงจุดหมายที่วัดพระธาตุ ระหว่างทางผู้คนจะร่วมทำบุญด้วยเงิน บ้างนำต้มกับลูกเห็ดมาผูกที่เรือพระ บางคนมาช่วยลากเรือพระด้วยก็มี แม้จะเพียงช่วงระยะสั้นๆ พอเป็นพิธี ในงานลากพระเมืองนคร ประจำปี 2565 เรือพระวัดบูรณารามได้รางวัลที่ 2 ประเภทเรือพระประเพณี
ขบวนลากเรือพระขณะผ่านศาลเจ้าจีน สะท้อนถึงความหลากหลายของผู้คนในเมืองนครศรีธรรมราช
เรือพระวัดโคกธาตุขณะลากผ่านพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ปลียอดเป็นทอง
เรือพระของวัดพระนครใช้วัสดุธรรมชาติ นำรวงข้าวมาทำนมพระและฉัตรประดับเรือพระ
ประเพณีลากพระของคนนครศรีธรรมราชและพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ เป็นประเพณีของคนไทยพุทธที่สะท้อนถึงคติความเชื่อทางศาสนาพุทธที่ผนวกกับคติท้องถิ่นที่มีความซับซ้อนของพิธีกรรม พบว่ามีคติพระลากที่เกี่ยวกับสตรีเพศ อย่างไรก็ตาม พระลากที่เป็นบุรุษเพศก็มีเช่นกัน นอกจากนี้ยังเห็นถึงอาหารถิ่น ตลอดจนความสัมพันธ์ของผู้คนกับวัดที่เชื่อมร้อยเข้าด้วยกันผ่านประเพณีที่ยังคงยึดถือปฏิบัติมิเสื่อมคลาย
บรรยากาศงานลากพระหน้าวัดพระธาตุยามค่ำคืน เรือพระมีการประดับไฟอย่างสวยงาม
เรือพระวัดบูรณารามประดับไฟอย่างสวยงามได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง
บรรยากาศงานลากพระหน้าวัดพระธาตุยามค่ำคืน เรือพระและนมพระมีการประดับไฟอย่างสวยงาม
เชิงอรรถ
[1] คนนครศรีธรรมราชเรียกพริก (Chili) ว่า “ดีปลี” ส่วนต้นดีปลี (Long pepper / Indian long pepper) ภาษาถิ่นเรียกว่า “ดีปลีเชือก” ดังนั้น ต้มดีปลีในที่นี้จึงหมายถึง ต้มที่ห่อเป็นรูปร่างเหมือนพริก (Chili) ทั้งนี้พริกไทย (Pepper) คนนครศรีธรรมราชเรียกว่า “พริก” หรือ “พริกดำ”
[2] สามารถ สาเร็ม, ปัต: ขนมร่วมรากต่างศรัทธาผู้คนบนคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ที่มา: https://bit.ly/37UYPia
[3] กฤช เหลือลมัย, โอชากาเล, (กรุงเทพฯ : Way of Book, 2561), 226.
[4] ดิเรก พรตตะเสน, เล่าที่มาของประเพณีลากพระเดือนสิบเอ็ดของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลจนมาสู่ยุคปัจจุบัน, ใน สารนครศรีธรรมราช, (พฤษภาคม ปี 2513), หน้า 21-23.