พลิกหน้าสารบัญ 46.2 พริบพรี

พลิกหน้าสารบัญ 46.2 พริบพรี

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46 ฉบับที่ 2
พริบพรี นครประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

 

 

พริบพรี หรือเพชรบุรี เมืองที่ตั้งซ้อนทับกันหลายยุคสมัย โดยมิเคยร้างราผู้คน จึงเป็นนครประวัติศาสตร์ที่สั่งสมวัฒนธรรม งานช่างชั้นครู อันสืบทอดต่อมาถึงปัจจุบัน.ไม่เพียงงานศิลปกรรมอันล้ำค่า แต่ที่นี่ยังเปี่ยมเสน่ห์ไปด้วยเรื่องราวอันหลากหลาย..

 

ลุ่มน้ำเพชรบุรี / ศรีศักร วัลลิโภดม

การแบ่งพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรม คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่ขึ้นอยู่กับแม่น้ำลำคลอง อันเป็นเสมือนเส้นชีวิตของสังคม เมื่อพูดถึงแม่น้ำลำคลองที่ทำให้เกิดการสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น ผู้เขียนจึงเรียกว่าลุ่มน้ำ ดังเช่น ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำลพบุรี เป็นต้น ซึ่งในแต่ละลุ่มน้ำจะแลเห็นพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานชุมชน เกิดเป็นบ้าน เป็นเมืองและเป็นรัฐขึ้นในที่สุด ลุ่มน้ำเพชรบุรีเป็นที่ลาดลุ่มและราบลุ่มชายทะเลอ่าว ก ในภาคกลางของประเทศไทย แบ่งเป็นลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนบนในที่สูง ตอนกลางเป็นที่ราบ และตอนล่างเป็นช่วงปลายน้ำที่ต่ำออกสู่ทะเล

 

 

เพชรบุรี เพชรน้ำงามแห่งชายฝั่งทะเลไทย / วิยะดา ทองมิตร

เพชรบุรี เป็นเมืองสำคัญที่ไม่เคยว่างเว้นจากการอยู่อาศัยของผู้คนมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังพบเครื่องมือหินในถ้ำหลายแห่ง เรื่อยลงมาถึงสมัยทวารวดีที่พบร่องรอยชุมชนขนาดเล็กตามแนวสันทรายเก่าที่เรียกว่าถนนท้าวอู่ทอง และต่อเนื่องมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเมืองเพชรบุรีในขณะนั้นมีฐานะเป็นหัวเมืองตะวันตกขึ้นกับกรมท่าและเป็นเมืองหน้าด่านระหว่างไทยกับพม่า นอกจากนั้น เพชรบุรียังถูกเลือกให้เป็นที่แปรพระราชฐานของพระเจ้าแผ่นดินอีกหลายพระองค์ด้วย

 

เพชรบุรีก่อนกรุงศรีอยุธยา / วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ถนนท้าวอู่ทอง เป็นแนวชายหาดอ่าวไทยสมัยสุวรรณภูมิ ก่อนที่ในสมัยทวารวดีทะเลจะถอยห่างออกไป เกิดเป็นลำน้ำเพชรบุรี แม่กลอง รวมถึงลำน้ำ ลำห้วยสายเล็กสายน้อยไหลผ่านแนวชายหาดเก่า อย่างไรก็ดี แนวสันทรายชายหาดเก่านี้ ทอดตัวยาวจากเมืองราชบุรีมาจรดพื้นที่แถบเขาบันไดอิฐ เมืองเพชรบุรี เสมือนเส้นทางคมนาคมทางบกสำคัญในภูมิภาคตะวันตกและชุมชนแถบคาบสมุทร เราจึงได้พบร่องรอยหลักฐานของชุมชนบ้านเมืองตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ เรื่อยลงมาถึงสมัยอยุธยา

 

มหาสถูปทวารวดีทุ่งเศรษฐี / ศรีศักร วัลลิโภดม

เชิงเขาเจ้าลายในเขตอำเภอชะอำ ปลายสุดเขตรัฐทวารวดีที่คูบัว เป็นที่ตั้งของมหาสถูปสมัยทวารวดีซึ่งคนในท้องถิ่นเรียกว่าทุ่งเศรษฐี เมืองนี้เป็นเมืองท่าบนเส้นทางการค้าขายทางทะเลแต่สมัยราชวงศ์ถังลงมา เช่นเดียวกันกับเมืองไชยาในมณฑลศรีวิชัยที่อ่าวบ้านดอน เป็นเมืองที่มีเขาเจ้าลายเป็นสัญลักษณ์ทางภูมิทัศน์ของการเดินทางค้าขายทางทะเล โดยการศึกษาพื้นที่ทางภูมิวัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องเมืองท่าของเมืองทุ่งเศรษฐีนี้มีอาณาบริเวณอยู่ในที่ลาดเชิงเขาตอนปลายสุดของเขาเจ้าลาย อยู่ห่างจากชายหาดชะอำขึ้นมาทางตะวันตกราว 4 กิโลเมตร

 

 

ฝรั่งกับความหลังเมืองพริบพรี / นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

ผู้เขียนหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองเพชรบุรีจากหนังสือ “ตามรอยฝรั่ง เล่าความหลังเมืองพริบพรี (เพชรบุรี)” หนังสือที่รวบรวมเอกสารของชาวต่างชาติซึ่งบันทึกภาพเมืองเพชรบุรีตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์มาบอกเล่า ชวนคิด และอธิบายขยายความบางช่วงบางตอนเพิ่มผ่านทัศนะและประสบการณ์ของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว นักปราชญ์เมืองเพชร

 

ถ้ำพระนอนกับแนวคิด "ถ้ำทิวาคูหา" ในเมืองเพชรบุรี / กฤษฎา นิลพัฒน์

ถ้ำพระนอนหลายแห่งในจังหวัดเพชรบุรี มักพบไม่ไกลจากรอยพระพุทธบาท ชวนให้นึกถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนเกาะลังกาอย่างถ้ำทิวาคูหาและเขาสุมนกูฎ ซึ่งตามพุทธประวัติ “ทิวาคูหา” คือ 1 ในสถานที่ 16 แห่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไป โดยหลังจากทรงเทศนาโปรดพระยามณีอักขิกนาคราชแล้ว ได้เสด็จไปประทับรอยพระพุทธบาทไว้เหนือยอดเขาสุมนกูฏและเสด็จลงมาประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่ถ้ำทิวาคูหาใกล้เขานั้น ดังนั้นรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏกับพระนอนในถ้ำทิวาคูหาจึงมีความสัมพันธ์กัน และอาจเป็นต้นเค้าการสร้างถ้ำพระนอนหลายแห่งที่เพชรบุรีด้วย

 

 

ขนอนบ้านลาด ตัวตนและชีวิตผู้คนที่ผันแปร / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

ขนอน หมายถึง บริเวณที่มีการจัดเก็บภาษีสินค้า มักตั้งอยู่บนเส้นทางน้ำสายหลักก่อนเข้าตัวเมือง หรือบริเวณที่เป็นจุดตัดของทางน้ำสำคัญ บ้านขนอนอยู่ในเขตอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ไม่ไกลจากลำน้ำเพชรบุรี โดยมีคลองขนอนและคลองท่าช้าง เป็นทางเชื่อมเข้าออกสู่ชุมชนตอนใน ทั้งนี้แม้ว่าความเป็น “ขนอน” จะหมดไปแต่สมัยอยุธยา แต่คนรุ่นหลังก็รวมตัวกันทำการค้าในรูปแบบนัด มาตั้งแต่ก่อนปีพุทธศักราช 2500 แล้ว นัดขนอนเป็นตลาดชาวบ้านที่ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้

 

วัวเมืองเพชรในวิถีนอกทุ่งนา / อภิญญา นนท์นาท

วัวอยู่ในวิถีชาวนาเพชรบุรีมาแต่โบราณ ก่อนจะถูกลดความสำคัญลงเมื่อมีการนำเครื่องจักรกลมาใช้แทนที่ อย่างไรก็ตาม วัวยังปรากฏความสำคัญอยู่เพียงแต่ต่างบริบทไป ดังสะท้อนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สืบทอดมาจากวิถีชาวนาแบบดั้งเดิม ได้แก่ การเล่นวัวลาน วัวเทียมไถ และวัวเทียมเกวียน ซึ่งถูกปรับให้เข้ากับบริบทสังคมสมัยใหม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม แต่ไม่ละเลยแนวคิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและการท่องเที่ยววิถีท้องถิ่น

 

ผีเขมร ร่องรอยชาติพันธุ์เขมรเมืองเพชร / เกสรบัว อุบลสรรค์

แม้จะไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์หลักและมีจำนวนไม่มากนัก แต่ที่จังหวัดเพชรบุรีก็ปรากฏร่องรอยกลุ่มคนผู้สืบเชื้อสายเขมรกระจัดกระจายอยู่หลายพื้นที่ เช่น กลุ่มเขมรบ้านถ้ำรงค์ และกลุ่มเขมรชะอำ บนเส้นทางอันยาวนานแต่ครั้งบรรพบุรุษรุ่นบุกเบิกอพยพเข้ามาจวบจนถึงปัจจุบัน อาจทำให้วัฒนธรรมความเป็นเขมรเมืองเพชร ทั้งภาษา อาหาร และการแต่งกาย ลบเลือนไป แต่เค้ารอยความเชื่อเรื่องผีเขมร กลับเป็นมรดกแห่งจิตวิญญาณที่ยังคงอยู่และมีความพยายามในการสืบสานเพื่อส่งต่อสู่ลูกหลานชาวเขมรรุ่นต่อไป..

 

 

พระพุทธบาทเขาลูกช้าง ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์กลางป่าเขาย่านชุมชนลาว / พนมกร นวเสลา

รอยพระพุทธบาทเขาลูกช้าง เป็นรอยพระพุทธบาทศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกเมืองเพชรบุรี โดยประดิษฐานอยู่บน “เขาลูกช้าง” ซึ่งเป็นเขาลูกโดด ไม่ไกลจากแม่น้ำเพชรบุรีในเขตอำเภอท่ายาง ลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาสลักลงไปบนเนื้อหิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปครอบไว้ ทั้งนี้บริเวณโดยรอบเขาลูกช้างเป็นที่ตั้งชุมชนเชื้อสายลาวกลุ่มต่างๆ ที่น่าจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสมัยรัตนโกสินทร์

 

เส้นทางเกลือสมุทรจากบ้านแหลม / เมธินีย์ ชอุ่มผล

ในหน้าประวัติศาสตร์ เกลือเป็นหนึ่งในยุทธปัจจัยสำคัญของทุกอาณาจักร แหล่งผลิตเกลือจึงเป็นที่หวงแหนยิ่งนักจนถึงกับมีการทำสงครามแย่งชิงกัน เกลือเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเกลือต้ม ไม่ว่าจะเป็นเกลือสินเธาว์หรือเกลือสมุทรก็ตาม คนไทยที่บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เริ่มทำเกลือมาแต่สมัยอยุธยา ที่นี่จึงกลายเป็นแปลงทดลองนาเกลือแห่งแรกของคนไทย และยังคงเป็นแหล่งผลิตเกลือสมุทรที่สำคัญของไทยมาจนทุกวันนี้

 

คนรุ่นใหม่ผู้สืบสานหนังตะลุงเมืองเพชร / จิราพร แซ่เตียว

“...ตัวหนังตะลุงเมืองเพชรจะมีความละเอียด มีความอ่อนช้อย หน้าของตัวหนังจะหวานกว่า ส่วนเครื่องแต่งกาย ถ้าเป็นผ้านุ่งจะเป็นลายดอกพิกุล ลายดอกประจำยาม หรือลายดอกสี่กลีบ เป็นลวดลายที่มีความเป็นเพชรบุรีอย่างชัดเจน...” หนังตะลุงเป็นมหรสพที่พบในเมืองเพชรมาไม่น้อยกว่าสมัยรัชกาลที่ 5 หรือราวร้อยปีที่ผ่านมา โดยเจ๊กพุดหรือหมื่นเชิดชำนาญศิลป์ กับเจ๊กฉาย ผู้เป็นบิดา ได้ร่วมกันวางรากฐานและเผยแพร่การแสดงหนังตะลุง มหรสพพื้นบ้านจากเมืองใต้จนเป็นที่รู้จักและผูกพันในหมู่คนเมืองเพชร เกิดเป็นคณะหนังตะลุงที่สืบสาน ถ่ายทอด และส่งต่อการแสดงตะลุงมาจนถึงปัจจุบัน

 

การเล่นเข้าแม่ศรี / วราห์ โรจนวิภาต

“...แม่ศรีเอย แม่ศรีสาคร นมยานหน้าอ่อน ผัวเขาเลี้ยงเจ้าไว้ อีกสองสามปี ว่าจะมีผัวใหม่ แค้นอกแค้นใจ เจ้าแม่ศรีเอย...” บางช่วงบางตอนของคำร้องในการเล่นเข้าแม่ศรี ซึ่งเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งที่แฝงไว้ด้วยพิธีกรรม นิยมเล่นกันก่อนวันตรุษสงกรานต์ทั้งในชุมชนคนไทย มอญ ลาว ติดตามเรื่องเล่าจากความทรงจำเมื่อกว่า 70 ปีก่อนของผู้เขียน ฉายภาพการละเล่นโบราณที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน

 

ตำนานคนลับแลเมืองเพชร / ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและโพรงถ้ำมักมีตำนานเรื่องเล่าถึงเมืองใต้บาดาลหรือเมืองในอีกมิติหนึ่งที่คู่ขนานไปกับเมืองมนุษย์ หรือที่เรียกว่าเมืองลับแล และมักเรียกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ว่า คนลับแล พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีซึ่งมีภูเขาและถ้ำอยู่เป็นจำนวนมากก็ปรากฏนิทานประจำถิ่นเกี่ยวกับเมืองลับแลด้วยเช่นกัน ดังเช่นที่ “ถ้ำแกลบ” และ “ถ้ำเปี้ยว” ที่เชื่อกันว่าเป็นเส้นทางสู่เมืองลับแล..

 

ภาพถ่ายเล่าเรื่องบ้านลาด / แสนประเสริฐ ปานเนียม

“...หากอยากเห็นวิถีชีวิตคนเมืองเพชรแบบดั้งเดิมให้ไปที่บ้านลาด...” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึงความสำคัญของอำเภอบ้านลาดที่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นเพชรบุรีแบบดั้งเดิม ทั้งด้านภาษา ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต แม้วันเวลาจะผ่านไปแต่ภาพความทรงจำเกี่ยวกับวิถีคนบ้านลาดในอดีตยังปรากฏแจ่มชัดอยู่ในภาพถ่ายเก่าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญและเรื่องราวของผู้คน ซึ่งเห็นถึงรากเหง้าที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

 

INITIATION ในช่วงเวลา QUARANTINE พรหรือภัยจาก Covid-19 / อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

อีกครั้งแล้วที่มนุษย์ถูกทดสอบด้วยสถานการณ์คับขันที่ผลักให้มนุษย์ต้องดำเนินชีวิตไปในวิถีที่ผิดปกติจากที่เคยปฏิบัติมา การรักษาระยะห่าง การถูกสั่งห้ามรวมกลุ่ม ห้ามเดินทาง ห้ามชุมนุม และห้ามทำกิจกรรมนานาชนิด เป็นการตัดมนุษย์จากวงจรของการแพร่เชื้อ เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์เอง หากมองภาพสะท้อนอีกมุม มนุษย์เองก็มีพฤติกรรมทำลายทรัพยากรโลก ไม่ต่างจากไวรัสร้ายที่อาศัย กัดกินและทำลายมนุษย์ซึ่งเป็น Host นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการทบทวนและย้อนมองพฤติกรรมของตัวมนุษย์เอง

 

วงแหวนแห่งโมริยะ หนึ่งเดียวนอกอินเดีย กับข้อค้นพบใหม่ของโลก / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

เมื่อราวปี พ.ศ. 2556 – 2557 มีการค้นพบวงแหวน ทำจากหินดินดานเนื้อละเอียดจากท่าดูดทรายในลำน้ำท่าตะเภา จังหวัดชุมพร บนวงแหวนนั้น ปรากฏภาพสลักรูปสัตว์ ดอกไม้ ใบไม้ และสตรี นับเป็นโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เพราะ “วงแหวน” เป็นหลักฐานที่พบในประเทศอินเดียมากถึง 64 ชิ้น โดยทั้งหมดเป็นวงแหวนศิลา ในสมัยโมริยะ มีอายุราว พ.ศ. 220 ดังนั้น วงแหวนหินดินดาน ที่พบจากลำน้ำท่าตะเภาจึงถือเป็นหลักฐานนอกอินเดียชิ้นสำคัญที่อาจเป็นกุญแจไขปริศนาบางประการของสุวรรณภูมิในดินแดนไทยได้ในอนาคต

 

คัมภีร์ตรีนิสิงเห มรรคาสู่สุญญตาในแบบชาวสยามโบราณ / ณัฐธัญ มณีรัตน์

ในสังคมไทยมีกลุ่มคนที่เชื่อและศรัทธา “ยันต์” ด้วยหลักคิดทางธรรมกับกลุ่มที่เชื่อในพลังแห่งอิทธิปาฏิหาริย์ คัมภีร์ตรีนิสิงเหมีคุณทั้งทางไสยศาสตร์และคณิตศาสตร์เพราะเป็นการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์แบบไทยมาใช้ นักปราชญ์โบราณใช้เปลือกหุ้มแก่นเพื่อรักษาสมดุลของความเชื่อและความรู้ไว้ ดังนั้น “ไสยเหมือนเปลือก-พุทธเหมือนแก่น” เมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้ ย่อมสามารถรักษาคำสอนที่สำคัญเอาไว้ได้ คัมภีร์ตรีนิสิงเหจึงยังคงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

 

โกสัมพีมหาชนบท / ศรีศักร วัลลิโภดม

ในสมัยพุทธกาล โกสัมพี คือหนึ่งใน 16 นครรัฐที่เรียกรวมกันว่ามหาชนบท เมืองโกสัมพีไม่เพียงมีชื่อเสียงเพราะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมลูกปัดหินรัตนชาติมาแต่สมัยพุทธกาลจนถึงประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาลเท่านั้น แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุจำนวนมากซึ่งแสดงให้เห็นว่า ที่นี่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ศุงคะ ก่อนการสร้างพระพุทธรูป เทวรูป เรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ก่อนทรุดโทรมลงเพราะถูกรุกรานโดยกลุ่มคนอิสลาม

 

 

 

ติดต่อสั่งซื้อ วารสารเมืองโบราณ ฉบับล่าสุด ราคาเล่มละ 150 บาท ได้ที่.. 

ร้านหนังสือริมขอบฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ร้านเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 19.00 น. โทร 02 622 3510

E-mail : rimkhobfabooks@gmail.com / Facebook : m.me/RimkhobfaBookstore

 

ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด

โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113

E-mail : memberskd@gmail.com / Line ID : 0815835040 / Facebook : m.me/membersarakadee

Line MyShop คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/

(ค่าจัดส่ง 1 เล่ม 30 บาท, 2-3 เล่ม 50 บาท และ 4 เล่มขึ้นไป 80 บาท)

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น