"...ก่อนจะเป็นนครลำปางบนสองฟากฝั่งแม่น้ำวัง ทางตอนเหนือมีเขลางค์นครซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยหริภุญชัยอยู่ก่อนแล้วและไม่ได้ร้างรา หากแต่ยังคงมีผู้คนอาศัยสืบมาจนทุกวันนี้..."
พบกับหลากเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองลำปางหลายแง่มุม ทั้งในด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46 ฉบับที่ 4 เขลางค์-นครลำปาง แห่งลุ่มน้ำวัง
เขลางค์นคร-นครลำปาง... เมืองแห่งลุ่มน้ำวัง / วิยะดา ทองมิตร
เมืองลำปางมีร่องรอยเมืองโบราณริมแม่น้ำวังอยู่ 2 สมัยคือเขลางค์นคร ทางฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นเมืองสมัยหริภุญชัยแต่ไม่ใช่เมืองร้างเพราะมีชาวบ้านอาศัยใช้พื้นที่มาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน อีกเมืองคือเมืองลำปาง เป็นเมืองสมัยล้านนา มีตัวเมืองตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำวัง โดยปรากฏชื่อเรียกเมืองนี้ในตำนานต่างๆ หลายชื่อ เช่น กุกกุฏนคร อาลัมภางค์นคร ละกอน ลคร และนครเขลางค์ลัมภางค์ เป็นต้น
เขลางค์ ...นครลำปาง / ศรีศักร วัลลิโภดม
หลักฐานทางโบราณคดีที่สอดคล้องกับตำนานในพื้นที่แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน บอกเล่าถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชนเผ่าบริเวณดอยสุเทพและที่ราบริมแม่น้ำปิงก่อนประสบภัยน้ำท่วมจนต้องอพยพย้ายลงมาตั้งเมืองอีกแห่งที่ลำพูน เป็นเมืองหริภุญชัย ในแอ่งลำปางก็พบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการตั้งชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งสัมพันธ์กับตำนานความเชื่อท้องถิ่น นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าเมืองเขลางค์เป็นหนึ่งในเมืองสมัยหริภุญชัยคู่กับเมืองลำพูนในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนนั่นเอง
ชุมชนและแหล่งถลุงเหล็ก ในเขตรอยต่อสุโขทัย ลำปาง และลำพูน / วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
การพบแหล่งถลุงเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านป่าป๋วย บริเวณแอ่งที่ราบในหุบเขาแถบบ้านโฮ่งต่อเนื่องกับแอ่งแม่ลานเขตเมืองลี้ โดยนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ถือเป็นการค้นพบสำคัญที่มีการศึกษาแหล่งถลุงเหล็กและชนิดแร่เหล็กที่ใช้อย่างละเอียดด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พบว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีค่าอายุร่วมสมัยกับยุคเหล็กในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่าในบริเวณรอยต่อของอำเภอบ้านโฮ่งและอำเภอลี้มีภาพเขียนสีบนเพิงผาหลายแห่ง รวมถึงโบราณวัตถุต่างๆ เช่น หม้อดินเผาใส่กระดูก โครงกระดูก ขวานหิน ใบหอก ลูกปัด และภาชนะดินเผา จากแอ่งเมืองลี้มีเส้นทางที่สามารถเดินทางติดต่อกับลุ่มแม่น้ำวังที่เมืองลำปางโดยเริ่มจากอำเภอเสริมงาม ซึ่งมีห้วยแม่ต๋ำไปสบกับแม่น้ำวัง ตรงห้วยแม่ต๋ำมีทางแยกไปทางดอยจง หากเดินลัดเลาะไปตามแนวเชิงเขาก็จะถึงห้วยแม่ถอด อำเภอเถิน ซึ่งมีเส้นทางเข้าสู่ต้นน้ำแม่ลำพันและไปยังบ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นแหล่งถลุงเหล็กขนาดใหญ่ในเขตรอยต่อระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางได้
จากเวียงเหนือสู่เวียงใต้ ช่วงรอยต่อการย้ายศูนย์กลางเมืองนครลำปาง / ธวัชชัย ทำทอง
คนท้องถิ่นเรียกเมืองเขลางค์นครทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวังซึ่งเป็นเมืองเก่ามาแต่สมัยหริภุญชัยว่าเวียงเหนือ และเรียกเวียงใหม่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงเหนือว่าเวียงใต้ การเปลี่ยนแปลงศูนย์กลางเมืองจากเวียงเหนือสู่เวียงใต้นั้นเกิดขึ้นในสมัยเจ้าหลวงคำโสม แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่อาจมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์คราวกวาดต้อนครัวชาวเชียงแสนเข้ามาเป็นจำนวนมากก็เป็นได้
แก้มื้อนา ร่องรอยศรัทธาข้าพระธาตุลำปางหลวง / เมธินีย์ ชอุ่มผล
ประเพณีการอุทิศสิ่งของ ที่ดิน และแรงงานคนให้กับพระศาสนา ปรากฏเป็นความเชื่อหรือที่เรียกว่าพฤติกรรมทางวัฒนธรรมมาช้านาน ณ พระธาตุลําปางหลวง เมื่อนานมาแล้ว มีกลุ่มคนที่ถูกอุทิศให้เป็นแรงงานคอยดูแลรักษาองค์พระธาตุตราบชั่วลูกหลาน เรียกว่าข้าพระธาตุ ประเพณีหนึ่งที่ประกอบสร้างขึ้นโดยเหล่าข้าพระธาตุ คือประเพณีแก้มื้อนา ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อทดแทนบุญคุณขององค์พระธาตุที่ทำให้ได้มีโอกาสทำมาหากินและตั้งหลักปักฐานบนที่ดินของพระธาตุ
ลัวะห้างฉัตร : จากตำนานสู่ร่องรอยผู้คนบนแผ่นดิน / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
อำเภอห้างฉัตรเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งปรากฏเรื่องราวของคนลัวะ ผู้เป็นคนดั้งเดิมในแถบจังหวัดลำปางและหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ปรากฏเป็นร่องรอยความเชื่อผ่านผู้นำทางวัฒนธรรม ได้แก่ ศาลเจ้าหลวงคำแดงบนลุ่มน้ำแม่ไพร ซึ่งในมิติหนึ่งถือเป็นผีใหญ่ของชาวลัวะ รวมถึงพิธีกรรมเกี่ยวกับสายน้ำ เช่น การเลี้ยงห้วยเลี้ยงห้องบนลุ่มน้ำแม่ตาล และการสืบชะตาน้ำอันมีหิน ๓ ก้อน เป็นองค์ประกอบในพิธีกรรม รวมถึงการพบหลุ่มฝังศพใกล้หินตั้งธรรมชาติ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้สามารถพบได้ในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของลัวะหลายแห่ง
การเดินทางของสินค้าจากสายน้ำวังถึงคาราวานฝิ่น / จิราพร แซ่เตียว
เรื่องราวประวัติศาสตร์ความทรงจำของคนบ้านลำปางกลาง และบ้านหมอสม 2 ชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งลำน้ำวังตอนกลางซึ่งบอกเล่าการเดินทางของสินค้าจากสายน้ำวังถึงคาราวานฝิ่น สินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคหนึ่งของนครลำปาง เรื่องราวของชุมชนทั้ง 2 สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของเส้นทางขนส่งสินค้าช่วงก่อนและหลังการมาถึงของรถไฟสายเหนือ และยังสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้าสำคัญเช่นกาดกองต้าและย่านสบตุ๋ย
เก๊าจาว กาดเก่าในย่านรถไฟนครลำปาง / อภิญญา นนท์นาท
กาดเก๊าจาว หรือตลาดรัตน เป็นกาดหรือตลาดเช้าที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟนครลำปาง กาดแห่งนี้เจริญขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างทางรถไฟสายเหนือมายังลำปางซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2459 มีคำบอกเล่าว่าแต่เดิมบริเวณที่ตั้งตลาดและริมทางรถไฟยังเป็นป่ามีต้นขะจาวสูงใหญ่ขึ้นอยู่หลายต้น เป็นที่มาของชื่อตลาด "เก๊าจาว" ซึ่งหมายถึงต้นขะจาว ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ่อก๋องคำ พรหมไชยวงศ์ คหบดีบ้านสำเภา ร่วมกับภรรยาและญาติพี่น้องสร้างอาคารตลาดพร้อมด้วยเรือนแถวไม้สองชั้นและชั้นเดียวล้อมรอบตลาด แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2492 จากนั้นจึงตั้งชื่อตลาดแห่งนี้ใหม่ว่า "ตลาดรัตน" ที่นี่จำหน่ายสินค้านานาชนิด ตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงเสื้อผ้าและสิ่งของเครื่องใช้ นอกจากนี้แต่เดิมยังมีร้านของพ่อค้าชาวจีนที่ขยับขยายมาจากย่านการค้าสบตุ๋ยใกล้กับสถานีรถไฟอีกด้วย ปัจจุบันกาดเก๊าจาวถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในตัวเมืองลำปาง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ตลอดจนการปรับตัวเพื่อดำรงอยู่ในวิถีสมัยใหม่โดยที่ยังรักษาความเป็นกาดหมั้ว แบบชาวบ้านที่ยึดโยงกับคนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
เจ้าแม่สุชาดา เรื่องเล่า ตำนาน และคำสาปเมือง / เกสรบัว อุบลสรรค์
เรื่องราวของนางสุชาดาหรือเจ้าแม่สุชาดาซึ่งเป็นเรื่องเก่าเล่าขานกันในหมู่คนลำปางนั้นมีที่มาจากตำนานพระแก้วดอนเต้า แม้ในตำนานจะกล่าวถึงเหตุการณ์คราวนางสุชาดาต้องโทษประหารแต่ก็มิได้กล่าวถึงคำสาปแช่งใด และไม่ว่าคำสาปแช่งที่เชื่อว่านางสุชาดากล่าวไว้ก่อนถูกประหารชีวิตจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ตาม แต่คำสาปแช่งของนางสุชาดาก็ดูจะถูกใช้แทนคำอธิบายเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ทางสังคมสำคัญของคนลำปางเสมอ หรือแท้จริงแล้ว.. ลำปางคือเมืองต้องคำสาป?
เจ้าพ่อขุนตาน: ผีบรรพบุรุษของชาวลำน้ำแม่ตาล / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา
เรื่องราวเล่าขานแบบมุขปาฐะถึงเจ้าพ่อขุนตานผู้เป็นวีรบุรุษท้องถิ่น กลายเป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองหลายแห่ง เช่นดอยบาให้ เวียงต้าน หรือเวียงตาน ดอยขุนต้าน หรือดอยขุนตาน บ้านหนองหล่ม หางฉัตรหรือห้างฉัตร เป็นต้น เจ้าพ่อขุนตานถือเป็นวีรบุรุษท้องถิ่นของเมืองลำปางเช่นเดียวกับ ลัวะอ้ายกอน ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก พระนางจามเทวี และหนานทิพย์ช้าง ปูมประวัติศาสตร์ของจังหวัดลำปาง
ภาพเก่าเล่าลำปางมุมมองอดีตสู่ปัจจุบัน / ฐาปกรณ์ เครือระยา
ความสำคัญของลำปางสะท้อนผ่านความเจริญรุ่งเรืองของงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย อันเนื่องมาจากปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และการผสมผสานทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีอยู่อย่างหลากหลายในลำปาง การศึกษาประวัติศาสตร์ลำปางผ่านภาพถ่ายเก่าของสถานที่ต่างๆ จึงสามารถอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเติมเต็มจินตนาการและความทรงจำของลำปางให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น อาทิ ภาพวิหารวัดหลวงกลางเวียงละกอนก่อนถูกสร้างใหม่ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสยาม เช่นเดียวกับคุ้มเจ้าหลวงลำปางที่เปลี่ยนจากอาคารไม้เป็นอาคารตึก 2 ชั้น แบบโคโลเนียล นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายเก่าของวัดสำคัญอื่นๆ เช่น วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม วัดปงสนุก วิหารสุวรรณโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ และวัดที่สร้างขึ้นในรูปแบบศิลปะพม่า-ไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในกิจการค้าไม้กับบริษัทตะวันตก เช่น วัดม่อนปู่ยักษ์ วัดม่อนจำศีล เป็นต้น
ไขความจากรอยลูกปัดในพื้นที่ภาคเหนือ / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
การศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา แม้พบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย แต่มีการเผยแพร่ออกมาไม่มากนัก กระทั่งเดือนสิงหาคม 2554 ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปยังตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย รวมถึงได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านวังหาด จึงพบว่าพื้นที่แถบนี้ซึ่งมีการค้นพบลูกปัด โบราณวัตถุจากสำริด เหล็ก ทองคำ และเงิน รวมทั้งมีการขุดค้นต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปีนั้น ยังเป็นแหล่งถลุงโลหะขนาดใหญ่ซึ่งสะท้อนความเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจยุคโบราณบนเส้นทางข้ามผืนทวีปด้วย
สนใจสั่งซื้อ
- https://shop.line.me/@sarakadeemag/
-
Line : @sarakadeemag
-
Inbox : http://m.me/sarakadeeboranrobroo
-
ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ถนนราชดำเนินกลาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
-
โทร 02 622 3510 E-mail : rimkhobfabooks@gmail.com / Facebook : Rimkhobfabooks
-
สมัครสมาชิก
วารสารเมืองโบราณ 1 ปี 4 ฉบับ ราคา 600 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714