พลิกหน้าสารบัญ 47.3 สุรินทร์

พลิกหน้าสารบัญ 47.3 สุรินทร์

 

❝...เมืองสุรินทร์เป็นเมืองโบราณที่มีร่องรอยการสร้างซ้อนทับถึง 2 สมัย โดยสมัยแรกเป็นเมืองรูปทรงกลมที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ในยุคต่อมาได้ขยายเมืองสร้างผังออกไปเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีแนวกำแพงและคูน้ำ 2 ชั้นล้อมรอบทับลงไปในเขตเมืองเก่า...❞

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 47 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2564 "คูประทาย ปะทายสมันต์ ถึงสุรินทร์" 

 

หากกล่าวถึงกลุ่มชนชาวกูยหรือกวยในจังหวัดสุรินทร์ หลายคนคงนึกถึงกูยเลี้ยงช้าง ตามที่จดจำและได้รับรู้มาจากงานมหกรรมมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ ประเพณีสำคัญซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 60 ปีแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า… นอกจากกลุ่มกูยช้างแล้ว บนเขตที่ราบในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ยังมีกูยชาวนา ที่ตั้งถิ่นฐานกระจายตัว อาศัยหาอยู่หากินและดำรงชีวิตด้วยการทำไร่ทำนาเป็นหลัก โดยยังคงมีการสืบทอดส่งต่อคติความเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษและสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์มาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ทำความรู้จักหลากหลายแง่มุมของกูยสุรินทร์ในวารสารเมืองโบราณฉบับล่าสุด "คูประทาย ปะทายสมันต์ ถึงสุรินทร์" ภายในเล่มมีบทความที่น่าสนใจ อาทิ

 

[1] 

รัฐแรกเริ่มในอีสาน

ศรีศักร วัลลิโภดม

ถึงแม้ว่าภาคอีสานของประเทศไทยจะเป็นดินแดนภายในที่ห่างไกลจากการติดต่อกับภายนอกทางทะเล แต่ด้วยเป็นที่ราบสูงที่มีที่ราบลุ่มและป่าโปร่ง เต็มไปด้วยบึง หนอง และลำน้ำเล็กๆ ที่เหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ดังพบหลักฐานการอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจพบว่าในภาคอีสานมีชุมชนโบราณที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบกว่า 200 แห่ง แสดงถึงพัฒนาการของการสร้างบ้านแปงเมืองที่เปลี่ยนจากสังคมแบบเร่ร่อน ก่อนตั้งหลักแหล่งแบบถาวรเป็นหมู่บ้าน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเมืองและรัฐแรกเริ่ม (Early States) ที่ประกอบด้วยบ้านและเมืองในหลายๆ ท้องถิ่นตามลำดับ ชุมชนโบราณเหล่านี้มักตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มตามลำน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำพอง แม่น้ำปาวในแอ่งโคราช และแม่น้ำสงครามตอนบนในแอ่งสกลนคร โดยมีพัฒนาการสำคัญมาตั้งแต่ยุคสำริดจนถึงช่วงการเกิดเมืองและรัฐแรกเริ่มเมื่อราว 2,500 ปีลงมา ดังเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ การพบชั้นดินที่มีภาชนะดินเผาสีดำขัดมันที่เรียกว่า “พิมายดำ” ร่องรอยของแหล่งถลุงเหล็กและแหล่งเกลือ ประเพณีการฝังหม้อใส่กระดูกในการฝังศพครั้งที่ 2 เป็นต้น

 

 

[2]

สุรินทร์ ดินแดนเขมรป่าดง

วิยะดา ทองมิตร

เมืองสุรินทร์ หรือ “ดินแดนเขมรป่าดง” ในอดีตนั้น มีพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ส่วนทางตอนใต้เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อน เมืองสุรินทร์มีลักษณะของการสร้างเมืองใหม่ทับเมืองเก่า คือมีการสร้างเมืองรูปสี่เหลี่ยมแบบสม่ำเสมอ มีคูน้ำชั้นเดียว ทับลงบนเมืองรูปไม่สม่ำเสมอ เมืองสุรินทร์จึงเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาถึงสมัยทวารวดีและสมัยขอม (สมัยลพบุรี) ดังปรากฏเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดิน และโบราณสถานที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยต่างๆ

 

[3] 

จากคูประทายเป็นประทายสมันต์ ความเป็นมาของเมืองสุรินทร์

ศรีศักร วัลลิโภดม

เมืองสุรินทร์เป็นเมืองโบราณ 2 ยุคซ้อนทับกัน จากเมืองที่มีคูน้ำรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าซึ่งเป็นแบบแผนที่มีมาก่อนสมัยขอมเมืองพระนคร แต่เนื่องจากไม่พบร่องรอยวัตถุสถานแบบขอมอยู่ในเขตเมือง จึงเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเมืองสมัยอยุธยาคล้ายตัวเมืองร้อยเอ็ด ในพงศาวดารอีสาน กล่าวถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 เมืองสุรินทร์หรือคูประทาย ได้รับการแต่งตั้งเป็นเมืองปะทายสมันต์ เป็น 1 ใน 5 เมืองที่มีผู้นำเป็นชาวกูย เป็นกลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับช้าง เมื่อสังคมแปรเปลี่ยนวิถีเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อการท่องเที่ยว แต่พื้นฐานความเชื่อเรื่องพุทธและศาสนาผีก็ยังคงอยู่ในหลายหมู่บ้าน ยังสามารถพบพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติได้อยู่ในยุคปัจจุบัน

 

[4]

กูย ผู้ผลิตเหล็กในอีสานใต้จริงหรือ?

ดร. พรชัย สุจิตต์

กูยเป็นกลุ่มคนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาพนมดงรักและพื้นที่ต่อเนื่อง มีประวัติความเป็นมายาวนาน เคยมีรัฐอิสระ รวมถึงเคยอยู่ใต้การปกครองของสยามและอาณาจักรกัมพูชาด้วย กูยเป็นกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับแหล่งเหล็ก ดังพบหลักฐานว่าคนกูยมีความสามารถในการตีเหล็กและอาจเป็นกำลังสำคัญในการสร้างปราสาทหินและการผลิตเหล็กที่ใช้ในกระบวนการก่อสร้างปราสาทหิน ปัจจุบันกลุ่มคนกูยในหลายพื้นที่ของไทยยังคงยึดอาชีพตีเหล็กอยู่ ส่วนการถลุงเหล็กนั้น แม้จะพบร่องรอยการถลุงเหล็กอยู่ทั่วไป แต่ด้วยเป็นกิจกรรมที่ยุติไปแล้ว จึงไม่สามารถยืนยันแน่ชัดได้ว่ากูยสัมพันธ์กับการถลุงเหล็กสืบต่อเรื่อยมาหรือไม่

 

[5]

บ้านตรึม บ้านอาลึ คติความเชื่อในวิถีกูยชาวนาที่ดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลง

อภิญญา นนท์นาท

กูยเป็นกลุ่มชนที่ยึดถือคติความเชื่อและนับถือผีบรรพบุรุษเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ชาวกูยแต่ละหมู่บ้านมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนรายละเอียดของพิธีกรรมและข้อยึดถือปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ทว่าคติความเชื่อต่างๆ มิใช่สิ่งที่หยุดนิ่ง หากมีการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้เขียนได้เดินทางไปยังหมู่บ้านกูยชาวนา 2 แห่ง ในเขตอำเภอศีขรภูมิ และอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ บ้านตรึม ตำบลตรึม อำเภอศีขรภูมิ ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเชื่อเรื่องผีปู่ตาตะกวด และบ้านอาลึ ตำบลสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ หมู่บ้านอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวกูย ที่เปิดรับการท่องเที่ยวมายาวนานนับ 10 ปี เพื่อศึกษาคติความเชื่อต่างๆ ในวิถีชีวิต ทั้งที่ถูกปรับแปรเปลี่ยนและยังคงดำรงอยู่

 

 

[6]

ความเชื่อเรื่องเต่า ในจังหวัดสุรินทร์ และข้อสังเกตบางประการ

เกสรบัว อุบลสรรค์

ปัจจุบันหลายหมู่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ยังปรากฏร่องรอยความเชื่อเรื่องเต่าทั้งในเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งชื่อบ้านนามเมือง ตำนานท้องถิ่น ประเพณีพิธีกรรม ความเชื่อ โดยพบทั้งในกลุ่มคนเชื้อสายเขมร ลาว กูย ในการรับรู้ของคนพื้นถิ่น เต่าจึงเป็นเสมือนสื่อกลางและตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองหมู่บ้าน เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ เต่าจึงได้รับการอนุรักษ์ดูแลและได้รับการยกเว้นจากการถูกทำร้าย ดังปรากฏเป็นเรื่องเล่าถึงโทษภัยจากการละเมิดฝ่าฝืนเป็นเครื่องเตือนใจมาเล่าสู่กันฟังจากรุ่นสู่รุ่น

 

 

[7]

กูย เหล็ก บนความสัมพันธ์ของชุมชน

ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กูยคือกลุ่มคนดั้งเดิมที่กระจายตัวอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีทรัพยากรเหล็กในอีสานใต้ ปัจจุบันยังพบชาวกูยบางกลุ่มยึดอาชีพตีเหล็กสืบมาถึงปัจจุบัน เช่น กูยบ้านโพธิ์งาม จังหวัดสุรินทร์ นอกจากนั้นในบางชุมชนซึ่งมีเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมเป็นคนกูยก็พบว่ากลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ก็ยึดอาชีพตีเหล็กเช่นกัน ได้แก่ ลาวบ้านโนนหล่อ-โนนแย้ จังหวัดศรีสะเกษ และเขมรบ้านสน จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันบนฐานทรัพยากรเหล็ก โดยมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวบ้านทั่วไปผู้ใช้เครื่องมือเกษตรนานาชนิดและกลุ่มกูยช้างในพื้นที่ เป็นต้น

 

[8]

ผีรักษาคน...ความเชื่อรักษาวัฒนธรรม

เมธินีย์  ชอุ่มผล

ศาสนาดั้งเดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากศาสนาผี ก่อนที่จะมีการแพทย์แผนปัจจุบัน กูยสุรินทร์เป็นกลุ่มคนที่ยังรักษาวิถีความเชื่อดั้งเดิมเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยทั้งหลาย โดยจะมีการทำพิธีร้องขอต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผ่าน “มอ” และ “ออ” ผู้ทำหน้าที่สื่อสารกับผีเพื่อหาหนทางในการรักษาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต คติความเชื่อเหล่านี้ยังสืบส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน นับเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ความเป็นกูยยังคงอยู่ได้

 

[9]

เผชิญอคติ เผยอัตลักษณ์ ความเป็นกูย

จิราพร แซ่เตียว

เรื่องราวของชาวกูยกับการถูกเขียนประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์โดยผู้ปกครองจากกรุงเทพฯ และนักเดินทางจากตะวันตก การเผชิญอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งนำมาสู่การผนึกกำลังทางชาติพันธุ์ในนาม ชมรมชาวกูยแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันนำเสนออัตลักษณ์ผ่านวันกูยโลก กิจกรรมซึ่งเป็นการเชื่อมต่อชุมชนชาวกูยในประเทศและระหว่างประเทศ “การประดิษฐ์อักษรกูย” รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญา สานต่อความภาคภูมิใจไปยังกลุ่มเยาวชน และร่วมกันเผยแพร่วัฒนธรรมกูยให้เป็นที่รู้จัก

 

 

[10] 

พระป่าสายอีสานและการสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์

สุดารา สุจฉายา

การพบรอยพระพุทธบาทที่วัดเขาศาลาฯ อำเภอบัวเชด เมื่อปี พ.ศ. 2550 ของกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ นำมาสู่การหาความจริงว่าเป็นของโบราณหรือสร้างขึ้นใหม่ แต่เมื่อได้รับคำตอบ สิ่งนี้หาได้เป็นสาระสำคัญ หากกลับพบว่าพระป่าสายอีสานยังคงสืบวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ท้องถิ่นแต่ดั้งเดิมผสานกับหลักปฏิบัติแบบธรรมยุติกนิกาย ปฏิบัติธรรมออกธุดงค์อยู่รุกขมูลวิปัสสนา ถือภารกิจรักษาป่าที่เป็นสถานปฏิบัติอันสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา การสร้างศาสนวัตถุอย่างรอยพระพุทธบาทจึงเป็นกุศโลบายหนึ่งในการสร้างผืนป่าบริเวณนั้นให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เกิดความเคารพยำเกรงและร่วมรักษาค้ำจุนพระศาสนาสืบไป

 

 

[11] 

ส่วยตามช้าง ตำนานชาวกูย

ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

คนกวย กุย หรือกูย และอีกหลายชื่อแยกย่อยตามโคตรนั้น เป็นกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมในดินแดนอีสาน คนกลุ่มนี้มีทั้งพวกทำนาและพวกเลี้ยงช้าง โดยอาศัยอยู่มากในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี มหาสารคาม และนครราชสีมา ในพงศาวดารสยามสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกคนกูยเหล่านี้ว่า “เขมร ส่วยป่าดง” เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเกิดขึ้นในช่วงอยุธยาตอนปลายเมื่อคนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมในการติดตามพระยาช้างเผือกแตกโรงกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา 

 

[12]

บทปริทัศน์หนังสือชุดงานวิจัย Ban Chiang, Northeast Thailand Volume 2A, 2B และ2C

พจนก  กาญจนจันทร

งานศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานจากการขุดค้นระหว่าง พ.ศ. 2517-2518 ที่บ้านเชียงและแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมเดียวกันอีก 3 แห่งในพื้นที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ บ้านต้อง บ้านผักตบ และดอนกลาง ผลงานตีพิมพ์ทั้ง 3 เล่มนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาวิเคราะห์โลหกรรมโบราณ เล่มที่ 1 เป็นการสำรวจองค์ความรู้ว่าด้วยโลหวิทยาโบราณกับกระบวนทัศน์การแปลความทางเศรษฐกิจ-สังคม  เล่มที่ 2 นำเสนอข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ของโลหะวัตถุและวัตถุที่เกี่ยวข้องจากการขุดค้น 4 แห่ง เล่มที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ภาพรวมของหลักฐานโลหกรรมในบริบทของโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบทความนี้จะหยิบยกเพียงบางประเด็นมาอภิปรายเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการนำเสนอ

 

[13] 

ซ่อมสายสัมพันธ์ พันธกิจของมนุษย์ในกาลียุค

อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

บทความนี้ผู้เขียนประมวลสิ่งที่ได้เรียนรู้จากชั้นเรียนวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นและการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพมาร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน โดยชี้ให้เห็นถึง “การหวนกลับไปเรียนรู้จากทางที่เราทอดทิ้งเพื่อนำไปสู่การซ่อมสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ” โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์คราวเผชิญชีวิตร่วมกับคนบ้านปากยาม นครพนม ชาวลาดัก และชาวลาวโซ่ง

 

[14]

กูยเหมิงเรน กูยสุรินทร์ คนสุรินทร์

ดร. จักรพงษ์ เจือจันทร์

“ชาวกูย” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในสุรินทร์ คนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “กูย” “กวย” หรือ “โกย”แตกต่างกันที่สำเนียงการออกเสียง แต่ล้วนมีความหมายว่า “คน” ทั้งสิ้น โดยกูยเหมิงเรนหรือกูยสุรินทร์ประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ คือกวยอาเจียง เป็นกลุ่มที่เลี้ยงช้าง ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในเขตอำเภอท่าตูมมากที่สุด และมีบางส่วนในเขตอำเภอจอมพระ อีกกลุ่มหนึ่งคือกูยหวัวแซร หรือกลุ่มกูยทำนา พวกนี้อาศัยกระจายไปทั่วพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะในอำเภอสำโรงทาบ และอำเภอศีขรภูมิ แม้ในปัจจุบันชุมชนชาวกูยสุรินทร์หลายแห่งจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาเมือง แต่เรายังสามารถศึกษาวิถีชีวิตชาวกูยในอดีตได้จากภาพถ่ายเก่า เช่น ลักษณะบ้านเรือนชาวกูย วิถีการทำนาข้าว การเลี้ยงช้าง พิธีเซ่นไหว้ผีปะกำ วัดและโรงเรียนเก่าแก่ของชาวกูยที่บ้านตรึมและบ้านแตล อำเภอศรีขรภูมิ เป็นต้น นับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ทรงคุณค่ายิ่ง

 

 

[15]

ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา

ศรีศักร วัลลิโภดม

จากเดิมที่ไม่ได้รับการยอมรับและมองว่า “สมัยสุวรรณภูมิ” เป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนาน ไม่มีจริง แต่เมื่อมีการค้นพบหลักฐานสมัยสุวรรณภูมิเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนจึงเสนอว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนค่าอายุสมัยของสุวรรณภูมิในไทยเป็นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7-3 โดยหลังจากที่ผู้เขียนและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ได้เข้าร่วมใน “โครงการศึกษาสุวรรณภูมิเพื่อการพัฒนา” จึงนำมาสู่การศึกษาเรื่องราวในสมัยสุวรรณภูมิเพื่อหาความกระจ่างชัดอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น เช่น การสำรวจบริเวณแหลมทอง และการสำรวจความเป็นรัฐแรกเริ่มในชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินในเขตที่ราบสูงโคราช เป็นต้น

 

[16]

ชามอ่างปริศนาแห่งสุวรรณภูมิ

นายแพทย์บัญชา  พงษ์พานิช

การค้นพบชามอ่างสำริดชนิดมีดีบุกผสมที่คลองท่าตะเภา 3 ใบ ชี้ให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอยู่ท่ามกลางเครือข่ายการแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์ที่กว้างขวางทั้งภาคพื้นทวีปและทะเลตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายทำให้เห็นภาพปฏิสัมพันธ์กันของอาณาจักรและเมืองต่างๆ ในคาบสมุทรไทย-มาเลย์กับอ่าวเบงกอลและทะเลจีนใต้ ขับเน้นความสำคัญของพื้นที่สุวรรณภูมิแห่งนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจการค้า-การแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ ให้เด่นชัดมากขึ้นอีกด้วย

 

 

[17]

ชมรมเลี้ยงวัว วัวใครเข้าคอกคนนั้น

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

เรียนรู้สำนวนวัวใครเข้าคอกคนนั้น และความเป็นไปของชีวิตชาวบ้านเมืองกาญจนบุรียุค 100 กว่าปีก่อน ผ่านจิตรกรรมฝาผนังวัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) เมืองกาญจนบุรี และจากปากคำของท่านเจ้าคุณพระกิตติสุวัฒนาภรณ์ (บุญเพิ่ม อานนฺโท) หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดเหนือ ซึ่งกล่าวไว้ช่วงหนึ่งว่า “ความทรงจำในชีวิตของเด็กเลี้ยงวัวเมืองพนมทวนได้ถูกถ่ายทอดจนดูมีชีวิตแจ่มชัดขึ้นมา บรรดาวัวทั้งวัวขาว วัวดำ วัวแดง วัวน้ำตาล ที่กำลังกินหญ้า ป่ายปีนโขดหิน กระโดดโลดคึกออกมาจากรอยสลัวรางของวันวาน

 

 

สนใจสั่งซื้อ

 

สมัครสมาชิก

วารสารเมืองโบราณ 1 ปี 4 ฉบับ ราคา 600 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น