พลิกหน้าสารบัญ 48.1 : ร้อยเอ็ดหรือสาเกตนคร

พลิกหน้าสารบัญ 48.1 : ร้อยเอ็ดหรือสาเกตนคร

 

❝...ร้อยเอ็ดเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของภาคอีสานในพื้นที่แอ่งโคราช ซึ่งในตำนานอุรังคธาตุเรียกเมืองนี้ว่าสาเกตนคร อันหมายถึงเมืองร้อยเอ็ดประตู หากมิได้มีความหมายตรงตามที่ว่าเป็นเมืองที่มี 101 ประตู ด้วยธรรมเนียมโบราณนั้นมักตั้งชื่อเมืองให้ดูยิ่งใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล สาเกตนครหรือเมืองร้อยเอ็ดต้องปกครองดูแลเมืองโดยรอบทั้ง 4 ทิศถึง 11 เมืองด้วยกัน จึงเป็นเมืองที่มีประตูเข้าออกถึง 11 ประตู...❞

 

 

❝...ภายในตัวเมืองยังมีสระน้ำโบราณ ได้แก่ สระทอง สระดู่ สระสิม สระขวาง และสระบัว ซึ่งหลายสระยังเป็นที่ตั้งของวัดในตัวเมือง ส่วนแหล่งน้ำสำคัญคือบึงพลาญชัย ซึ่งอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม มีความเห็นว่าคือกุดน้ำ (Oxbow Lake) อันเป็นลักษณะทางน้ำเก่าที่มีน้ำขังตลอดปี...❞

 

-1-

ร้อยเอ็ด…สาเกตนครในตำนานอุรังคธาตุ / วิยะดา ทองมิตร

ในตำนานอุรังคธาตุ เรียกเมืองร้อยเอ็ดว่า “สาเกตนคร” หรือ “เมืองร้อยเอ็จประตู” ในความหมายว่าเป็นเมืองใหญ่ที่แผ่ขยายอำนาจไปไกลรอบทิศ ในความเป็นจริง ร้อยเอ็ดเป็นนครใหญ่ที่มีเมืองบริวารมากถึง 11 หัวเมือง มีเส้นทางคมนาคมหลายสายและมีประตูเข้าออกเมืองหลวงมากถึง 11 ประตู เมืองร้อยเอ็ดมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีเกลือ เป็นทรัพยากรสำคัญที่ดึงดูดผู้คนและเอื้อต่อการพัฒนาเป็นบ้านเมืองมั่งคั่งในสมัยต่อมา ภายในเขตเมืองร้อยเอ็ดยังมีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ พระธาตุบ่อพันขัน กู่พระโกนา และกู่กาสิงห์ เป็นต้น

 

 

 

 

-2-

เมืองร้อยเอ็ด : อาณาจักรเกลือยุคโบราณ / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

เกลือนับเป็นหนึ่งในทรัพยากรสำคัญที่มนุษย์รู้จักและนำไปใช้ประโยชน์มาเนิ่นนาน ในพื้นที่เมืองร้อยเอ็ดมีแหล่งเกลือสำคัญอยู่บริเวณที่คลองหินลาดและคลองปลาค้าวไหลบรรจบต่อลำน้ำเสียว โดยบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนครจำปาขัน เมืองโบราณซึ่งมีพัฒนาการมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นซึ่งเป็นช่วงที่มีความเป็นไปได้ว่าเกลือจากพื้นที่นี้ได้ถูกลำเลียงส่งต่อไปถึงบ้านเมืองรอบทะเลสาบเขมรด้วย ภายในเมืองนครจำปาขันมี ธาตุบ่อพันขัน กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 หรือสมัยเจนละเป็นโบราณสถานสำคัญของเมือง

 

-3-

หลักฐานการผลิตและใช้เหล็กในชุมชนโบราณ จังหวัดร้อยเอ็ด / ดร. พรชัย สุจิตต์

กรมศิลปากรเคยทำการสำรวจเมืองร้อยเอ็ดและพบโบราณวัตถุจำพวกเศษตะกรันและเครื่องมือเหล็กในชุมชนโบราณหลายแห่ง เช่น บ้านเมืองหงส์ อ.จตุรพักตรพิมาน บ้านสังข์ อ.สุวรรณภูมิ และบ้านจาน อ.สุวรรณภูมิ แต่จากการลงพื้นที่สำรวจของผู้เขียนยังพบชุมชนโบราณที่มีตะกรันเหล็กเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง ได้แก่ เมืองสรวงเก่า อ.เมืองสรวง และบ้านเมืองน้อย อ.ธวัชบุรี เป็นต้น

 

-4-

ชาวนายุคดิจิทัลแห่งทุ่งกุลา / จิราพร แซ่เตียว

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีชาวนาแห่งทุ่งกุลาก็อยู่ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเช่นเดียวกัน ไม่เพียงชาวนาส่วนมากจะเปลี่ยนตนเองมาเป็นผู้จัดการนา ที่ติดต่อว่าจ้างให้คนอื่นทำนาแทนตนผ่านการโทรศัพท์ หรือเป็นชาวนาพาร์ทไทม์ ที่ทำนาไม่เต็มเวลา แต่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เคยมีอย่างหนาแน่นในท้องทุ่งกุลากว่า 500 สายพันธุ์ก็ถูกแทนที่ด้วยพันธุ์ข้าวหอมมะลิ นอกจากนั้น ปัจจุบันชาวนายุคใหม่ยังนำ #นวัตกรรมดิจิทัล และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมการผลิตข้าวแบบครบวงจร และใช้เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขาย เป็นต้น

 

 

-5-

“คูปลาน้อย” วิถีปั้นดินปันน้ำ ภูมิปัญญาชาวกู่กาสิงห์ / ดร. อำคา แสงงาม

คูปลาน้อยเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาของชาวกู่กาสิงห์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดย “คูปลาน้อย” คือ ทำนบดินที่ชาวบ้านอมดา หรือลงแขกร่วมแรงกันสร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากและเปิดช่องเล็กๆ ที่เรียก ช่องคูปลาน้อย เป็นทางน้ำไหลสำหรับดักจับปลาเล็กปลาน้อยที่มากับสายน้ำ ชาวบ้านจะนำปลาที่จับได้ไปผ่านกระบวนการถนอมอาหารเพื่อให้เก็บไว้บริโภคได้นานๆ เช่น ส้มปลาน้อยดอ และปลาน้อยเค็ม เป็นต้น

 

-6-

วิถีคนทำเกลือบ่อพันขัน / เมธินีย์ ชอุ่มผล

แม้ว่าการสร้างฝายกั้นน้ำจะส่งผลกระทบต่อวงจรการทำเกลือที่บ่อพันขัน โดยตรง ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องหันไปทำไร่และปลูกข้าวหอมมะลิตามการสนับสนุนของรัฐบาล สมัยต่อมายังมีเกลือสมุทรจากภาคกลางและมีการตั้งโรงงานผลิตเกลือเชิงพาณิชย์ในระบบอุตสาหกรรมเพื่อรองรับความต้องการของตลาด การทำเกลือต้มแบบดั้งเดิมที่บ่อพันขันจึงมีปริมาณลดน้อยลงแต่ก็ยังไม่หมดไปเพราะคนอีสานส่วนหนึ่งยังนิยมใช้เกลือต้มหมักปลาร้า เชื่อว่าช่วยให้ปลาร้ารสชาติดี สีสวย หอมอร่อย

 

-7-

บทบาทของผีปู่ผ่าน หลังยุคทำเกลือ / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

ปู่ผ่านนับเป็นผีใหญ่ผู้ควบคุมแหล่งเกลือตลอดทั้งลุ่มน้ำเสียวและลำน้ำสาขา ชาวบ้านที่หาอยู่หากินด้วยการทำเกลือโดยเฉพาะในหมู่ชาวบ้านรอบบ่อพันขันล้วนนับถือปู่ผ่านมาแต่โบราณ ในอดีตมีการจัดงานปีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับปู่ผ่านด้วย เช่น งานเลี้ยงลง ในเดือน 3 ก่อนทำเกลือและงานเลี้ยงขึ้น ในเดือน 6 หลังทำเกลือ เป็นต้น อย่างไรก็ดี หลังการสร้างฝายกั้นคลองปลาค้าวต่อลำน้ำเสียวเมื่อปี พ.ศ. 2524 ส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถทำเกลือได้ดังเดิม บางส่วนเปลี่ยนไปทำไร่ทำนา บ้างโยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น ทั้งนี้แม้ชาวบ้านจะยังนับถือปู่ผ่านเช่นเดิมแต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงทำให้รูปแบบพิธีกรรมและข้อบังคับในการเข้าร่วมมีความผ่อนคลายมากขึ้น ในสมัยต่อมายังมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณโนนมะค่าไม่ไกลจากโนนปู่ผ่านให้เป็นวัดบ่อพันขันรัตนโสภณ ปู่ผ่านจึงยังคงอยู่และถูกผสานเข้ากับความเชื่อในพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน

 

 

 

 

-8-

บุญบั้งไฟ-บวชควายจ่า การเล่นเซ่นสรวงบูชา “ปู่ฟ้า-ย่าดิน” / ณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์ และคณะ

นอกจากขบวนแห่บั้งไฟจะเป็นสิ่งที่พบเห็นจนชินตาในงานประเพณีบุญบั้งไฟแล้ว ในหมู่ชาวบ้านแถบอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด ยังมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งร่วมสืบสานพิธีกรรมบวชควายจ่า ซึ่งเป็นหนึ่งในพิธีโบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟ โดยเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งมีอำนาจดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ของฟ้าฝนและพืชพันธุ์ธัญญาหารตามฤดูกาลได้

 

-9-

นาบางซื่อ สวนบางซ่อน เมื่อ 60 กว่าปีก่อน / จิราพร แซ่เตียว

บางซื่อและบางซ่อน ในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยตึกสูงสลับกับบ้านเรือนและอาคารร้านรวงต่างๆ อย่างหนาแน่น รายล้อมด้วยถนนหนทางและระบบขนส่งมวลชนแบบรางรองรับอยู่อีกหลายสาย แต่หากฟังคำคนเก่าในย่านเล่าถึงสภาพพื้นที่เมื่อกว่า 60 ปีก่อน จะพบว่าย่านบางซื่อตั้งแต่สามแยกเตาปูนขึ้นไปทางเหนือถึงเขตจังหวัดนนทบุรีนั้น มีสภาพเป็นท้องนากว้างไกลสุดตา ขณะที่ฝั่งบางซ่อนใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาและริมลำคลองสายเล็กสายรองเป็นพื้นที่สวนที่ปลูกผลไม้นานาชนิด เช่น กล้วย หมาก มะพร้าว ทุเรียน ส้ม และมังคุด เป็นต้น

 

-10-

น้ำสร่างครก... มรดกธรรมชาติที่บ่อพันขัน / เมธินีย์ ชอุ่มผล

ราวเดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่เกลือใต้ดินเริ่มฟูขึ้นและมีปริมาณมากพอให้ชาวบ้านไปหาขูดเพื่อนำมาต้มเกลือ นั่นนับเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แหล่งน้ำจืดในพื้นที่เริ่มขาดแคลน ขณะที่บริเวณบ่อพันขัน ยังมีบ่อน้ำผุดลักษณะคล้ายครกตำข้าวที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำสร่างครก จำนวน 3 บ่อ เป็นแหล่งน้ำจืดให้ชาวบ้านได้อาศัยดื่มกิน แต่หลังการสร้างฝาย มวลน้ำมหาศาลจึงเอ่อเข้าท่วมปากบ่อน้ำสร่างครกและพื้นที่รอบๆ ส่งผลกระทบต่อวงจรการทำเกลือของชาวบ้าน อย่างไรก็ดี ในสมัยต่อมาชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพลิกฟื้นบ่อน้ำสร่างครกให้กลับมาดีดังเดิม

 

-11-

ท้าวคัชชนาม: ต้นวงศ์จำปานครของชาวลาวลุ่มน้ำโขง / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉาย

คัชชนาม คัทธนาม คัดทะนาม หรือคันธนาม คือชื่อของบุรุษผู้มีพละกำลังมหาศาลที่ถือกำเนิดจากน้ำปัสสาวะในรอยเท้าช้าง เรื่องราวของท้าวคัชชนามนั้น นับเป็นวรรณคดีขนาดยาวสมัยล้านช้างที่มีเค้าบางช่วงมาจากวรรณคดีหลายเรื่องแทรกปนอยู่ นอกจากนั้นยังพบการผูกโยงเรื่องราวของท้าวคัชชนามเข้ากับคำอธิบายความเป็นมาของชื่อสถานที่หลายแห่งในภาคอีสานของไทยและในประเทศลาวด้วย เช่น ดงพญาไฟ เชื่อว่ามีที่มาจากคราวสุมไฟล่องูซวงจากฟ้า หลังฝนตกหนักจนกองไฟมอดจึงเกิดเป็นภูเขาที่เต็มไปด้วยไข้พิษ และที่ปราสาทโฮงนางสีดา ใน สปป. ลาว เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ซ่อนตัวของนางสีดา หนึ่งในมเหสีของท้าวคัชชนามเพื่อให้รอดพ้นจากยักษ์ที่เข้ามากินคนในเมือง เป็นต้น

 

-12-

ไม่มีน้ำตาในผู้เขียน ย่อมไม่มีน้ำตาในผู้อ่าน / อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

ในบทความนี้ ผู้เขียนได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เปลี่ยนทัศนคติและบางความเคยชินในวิถีปฏิบัติเดิมให้เป็นคนใหม่ที่เห็นคุณค่าในตนเองและใส่ใจต่อสรรพชีวิตรอบข้างมากกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งหมดเป็นผลมาจากการอ่าน ดังความบางช่วงที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “...พลังของภาษาและถ้อยคำช่างทรงพลานุภาพ นี่กระมัง..ที่ทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรม และนี่กระมัง..ที่ทำให้การปฏิวัติสังคมอย่างถึงรากถึงโคนมักเริ่มต้นที่การกวาดล้างนักปราชญ์ราชครูและกลุ่มปัญญาชน...”

 

-13-

การจัดการศึกษาในสุวรรณภูมิ / ปริญ รสจันทร์

บทความนี้นำเสนอภาพถ่ายเก่า ที่บอกเล่าถึงพัฒนาการด้านการศึกษาในพื้นที่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ตั้งแต่สมัยบุกเบิกเริ่มวางรากฐานถึงยุครุ่งเรือง ดังเช่นภาพอักษรไทยรุ่นแรกที่สิมวัดใต้วิไลธรรม ภาพขณะก่อสร้างอาคารปั้นหยาในโรงเรียนบ้านสุวรรณภูมิ และภาพถ่ายรวมรุ่นนักเรียนกับครูประจำชั้นโรงเรียน ช ประดิษฐิวิทยา เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีภาพวิถีชีวิตของชาว อ.สุวรรณภูมิ ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 รวมอยู่ด้วย

 

-14-

ปริศนาเหรียญโรมันบนคาบสมุทรไทยและสุวรรณภูมิ / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช และไพโรจน์ สิงบัน

ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการค้นพบเหรียญโรมัน และต้นแบบเหรียญโรมันมาแล้วหลายชิ้น เช่น เหรียญโรมันเนื้อทองแดงจากเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กำหนดอายุได้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 สมัยจักรพรรดิวิคโตรินุส จี้ทองคำจากต้นแบบเหรียญทองคำรูปจักรพรรดิอันโตนินุส ปิอุส และจักรพรรดิคอมโมดัส พบที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 2 และจี้ดีบุกจำลองจากเหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิทิเบริอุสผู้ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 14-37 จากควนลูกปัด อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นต้น แม้ว่าการเข้ามายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเหรียญโรมันหรือต้นแบบเหรียญโรมันเหล่านี้ยังคงคลุมเครือและเต็มไปด้วยปริศนา แต่ทั้งหมดก็นับเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเส้นทางการค้าทางทะเลจากโลกตะวันตกสู่ตะวันออกเมื่อช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา ผ่านเส้นทางข้ามคาบสมุทรบริเวณคอคอดกระ ของประเทศไทย

 

 

 

-15-

ญ้อ... บ้านดงย่อ บุรีรัมย์: อดีตที่เลือนหาย / ผศ. สมชาย นิลอาธิ

ส่วนหนึ่งของบรรพบุรุษชาวญ้อที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น ได้อาศัยตั้งหลักแหล่งอยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากชาวญ้อเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องการนับถือผีสืบต่อมานาน ทุกปีจะมีการจัดพิธีทรงเมือง ในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันปีใหม่ญ้อ ในวันงานจะอัญเชิญดวงวิญญาณของผีมเหศักดิ์ ผีบรรพบุรุษ และผีวีรบุรุษทั้งหลายซึ่งชื่อของผีที่ถูกกล่าวถึงสามารถสะท้อนให้เห็นเส้นทางอพยพและตำแหน่งบ้านเมืองที่บรรพบุรุษของญ้อกลุ่มนี้เคยอาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนอพยพโยกย้ายมา

 

-16-

หยูเย้กับบทบาทชาวจีนในภูมิภาคตะวันออก / ธนพล หยิบจันทร์

เนื่องด้วยตั้งอยู่ติดชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ภาคตะวันออกจึงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและอาหารทะเลนานาชนิด ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาหาอยู่หากินด้วยการทำประมงมาแต่โบราณ โดยกลุ่มคนที่ทำให้การประมงในภูมิภาคนี้เติบโตอย่างมั่นคง คือกลุ่มคนจีน เพราะได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องอยู่ในระบบไพร่ ทำให้มีอิสระในการทำงานกระทั่งสามารถเป็นเจ้าของกิจการต่างๆ โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับการประมงได้ คนจีนเหล่านี้จึงเป็นผู้เปลี่ยนการประมงแบบยังชีพที่ทำกันมาแต่เดิมสู่การประมงเชิงธุรกิจและต่อยอดเติบโตเป็นธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย

 

สนใจสั่งซื้อ

Facebook สารคดี-เมืองโบราณ-นายรอบรู้ : http://m.me/sarakadeeboranrobroo

Lineshop : https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/1001810664

หรือสมัครสมาชิก คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714 

 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น