[New Cover] พลิกหน้าสารบัญ ฉบับ 46.1

[New Cover] พลิกหน้าสารบัญ ฉบับ 46.1

 

 

“เขาสามแก้ว” ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.นาชะอัง เป็นกลุ่มเนินเขา 4 ลูกที่มีลักษณะเป็นเขาหินกรวดผสมดิน มีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 20-30 เมตร เนินเขาแต่ละเนินจะมีพื้นที่ราบด้านบน ส่วนเชิงเขาโดยรอบเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ด้วยทางทิศตะวันตกมีคลองท่าตะเภาซึ่งมีต้นน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรีเป็นลำน้ำสายสำคัญพาดผ่าน แล้วไหลไปลงทะเลอ่าวไทยที่บ้านปากน้ำ กลายเป็นแม่น้ำชุมพร ขณะเดียวกันก็มีลำน้ำแยกออกจากคลองท่าตะเภาทางตอนใต้คือ คลองพนังตัก เป็นลำน้ำสำคัญอีกสายหนึ่งที่สามารถออกสู่ทะเลอ่าวไทยได้เช่นกัน

 

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2563) 

"เขาสามแก้ว แหล่งอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกลูกปัดบนฝั่งอ่าวไทย"

ปกภาพวาดเขาสามแก้ว โดย สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย 

 

ภายในเล่มยังมีบทความน่าอ่านอีกมากมายหลายเรื่อง เช่น

 

เขาสามแก้ว_ชุมชนโบราณบนเส้นทางข้ามคาบสมุทร / วิยะดา ทองมิตร

“เขาสามแก้ว” นับเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเรื่อยมาถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น โบราณวัตถุต่างๆ ที่พบ ทั้งเครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผา กลองมโหระทึก เครื่องประดับ และตราประทับ ล้วนเป็นโบราณวัตถุสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “เขาสามแก้ว” ในฐานะชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าจากอันดามันสู่อ่าวไทย

 

อู่ทองถึงเขาสามแก้ว เมืองท่าสุวรรณภูมิฟากฝั่งทะเลจีน / ศรีศักร วัลลิโภดม

จากการศึกษาเกี่ยวกับเมืองท่าในยุคต้นประวัติศาสตร์บริเวณชายฝั่งทะเลเดิมนั้น ปรากฏบ้านเมืองสำคัญ คือ “เมืองอู่ทอง” และ “เมืองลพบุรี” ซึ่งตั้งอยู่บนชายขอบที่ลาดใกล้ทะเลเดิม ทั้งสองเป็นเมืองท่าหลักที่สามารถเชื่อมโยงกับบ้านเมืองทางฟากตะวันออกอีกหลายเมือง เช่น ศรีมโหสถ ตลอดจนบ้านเมืองในเวียดนามและจีน เป็นต้น

 

คอคอดกระ จุดที่โลกจากอ่าวเบงกอลและทะเลจีนใต้พบกัน / วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

จากร่องรอยโบราณวัตถุที่สะท้อนภาพเครือข่ายการค้าของชุมชนเมืองท่าสมัยโบราณ เช่น กลุ่มภาชนะดินเผาจากเอเชียใต้และทะเลจีนใต้ ลูกปัด ตราประทับ เครื่องทอง เครื่องสำริด เหรียญแบบต่างๆ และกลองมโหระทึก นับเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในอาณาบริเวณคอคอดกระ (Kra Isthmus) และแหล่งโบราณคดีต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามันและทะเลอ่าวไทย นำมาสู่ข้อสมมติฐานว่า “คอคอดกระ” อาจเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรสำคัญเมื่อช่วงต้นพุทธกาล ด้วยเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีระยะทางใกล้ที่สุดและไม่มีเทือกเขาสูงขวางกั้น

 

โบราณคดีภาคประชาชนบนเขาสามแก้ว-ปากจั่น / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

ความสนใจเรื่องลูกปัดในฐานะของสวยงามและมีราคานั้น เริ่มในหมู่ชาวบ้านใกล้แหล่งโบราณคดีทางภาคกลางและอีสานก่อนจะขยายลงมายังพื้นที่ภาคใต้ เกิดเป็นกระแสการเสาะหาลูกปัดเพื่อสนองตอบเหล่านักค้าและผู้สนใจ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ต้องการอนุรักษ์ให้ลูกปัดที่พบในภาคใต้ยังคงเป็นสมบัติของคนใต้ ไม่ถูกขายหรือหลุดไปยังตลาดการค้าวัตถุโบราณ คนกลุ่มนี้ถือเป็นผู้มีใจแน่วแน่ในการรวบรวมลูกปัดท้องถิ่น เพื่อรักษา นำมาศึกษา และต่อยอดเพื่อเผยแพร่เป็นความรู้ 

 

ชีวิตและเรื่องเล่าสองฝั่งคลองท่าตะเภา / อภิญญา นนท์นาท

“คลองท่าตะเภา” เป็นลำน้ำสำคัญสายหนึ่งของชุมพร จากต้นน้ำที่บ้านปากแพรก ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ ลงมาถึงปากน้ำชุมพร มีชุมชนย่านเก่าตั้งกระจายอยู่ทั้งสองฝั่ง ถึงแม้ว่าปัจจุบันคลองท่าตะเภาไม่ได้ถูกใช้เป็นเส้นทางสัญจรเช่นในอดีตแล้ว แต่ยังคงเห็นความสืบเนื่องของการตั้งถิ่นฐานที่สะท้อนผ่านโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนซึ่งมีทั้งชาวประมง ชาวนา ชาวสวน และคนค้าขายในย่านตลาด รวมถึงประเพณีความเชื่อที่สะท้อนอัตลักษณ์ของกลุ่มชนและสภาพนิเวศธรรมชาติ

 

รอบเขาสามแก้ว / อภิญญา นนท์นาท

 “เขาสามแก้ว” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งโบราณคดีสำคัญในจังหวัดชุมพร ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งอยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทรในสมัยโบราณ แต่อีกด้านหนึ่งเขาสามแก้วและพื้นที่โดยรอบยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกหลายแง่มุมที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คน ดังปรากฏผ่านที่มาของภูมินามเขาสามแก้วหรือเขาร่อนทอง ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานเจ้าแม่ทองร่อน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาภูเขาแห่งนี้ ตลอดจนการสร้างวัดสามแก้วในสมัยรัชกาลที่ ๗ รวมไปถึงการบุกเบิกที่ดินทำเกษตรกรรมและตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนที่บ้านสามแก้ว

 

สืบศรัทธา โนราถีบแพ / เกสรบัว อุบลสรรค์

หนึ่งในพิธีเก่าแก่ของคนลุ่มน้ำท่าตะเภาที่ทำสืบเนื่องกันมานาน แม้จะไม่มีหลักฐานว่าเริ่มมีขึ้นเมื่อไร แต่คนในท้องถิ่นล้วนเชื่อว่าพิธีนี้น่าจะมีมาไม่ช้ากว่าปี พ.ศ. 2462 ซึ่งเป็นปีที่ “ปู่เจ้าสงฆ์” เทวดาของชาวชุมพรเข้ามาจำพรรษาที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย หรือก็คือพิธีโนราถีบแพน่าจะมีมาราว 100 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย โดยศูนย์กลางความเชื่อสำคัญของพิธีนี้อยู่ที่ “วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย”

 

ท่ายาง-ปากน้ำ วิถีผู้คนปลายคลอง / จิราพร แซ่เตียว

 ชุมชนสำคัญปลายคลองท่าตะเภาก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยมีหลายแห่ง ได้แก่ “บ้านท่ายาง” ชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ สู่ย่านตลาดใหญ่ประจำถิ่นในยุครุ่งเรือง อีกแห่งหนึ่งคือ “บ้านปากน้ำชุมพร” ชุมชนที่เกิดจากการหักร้างถางพงป่าแสม ป่าจากริมคลอง บุกเบิกจนกลายเป็นชุมชนประมงขนาดเล็ก และก้าวสู่เมืองเศรษฐกิจของจังหวัดด้วยการทำประมงพาณิชย์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวที่ไม่ว่าใครมาถึงชุมพรแล้วต้องมาเยือนให้ได้

 

พ่อตาหลวงแก้ว ตำนานผีเจ้าเมือง / เกสรบัว อุบลสรรค์

“พ่อตาหลวงแก้ว” ชื่อแทนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พบในหลายพื้นที่ของจังหวัดชุมพรและระนอง พบทั้งศาลพ่อตาหลวงแก้วที่ปรากฏชื่อท่านองค์เดียวและปรากฏชื่อร่วมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์อื่น แต่จากตำนานปรัมปราที่เล่าต่อกันมาเชื่อว่า พ่อตาหลวงแก้วมีความผูกพันกับเมืองกระบุรีซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดระนองมากเป็นพิเศษ โดยหลายท่านเชื่อว่า พ่อตาหลวงแก้ว คือ “พระแก้วโกรพ” เจ้าเมืองคนแรกของเมืองกระบุรี

 

ชาวกระบุรี เมื่อบ้านเปลี่ยนเมืองเปลี่ยน / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กระบุรีในอดีตเป็นหัวเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันตกของสยาม มีผู้คนตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำ กระทั่งเกิดการปักปันเขตแดนในสมัยรัชกาลที่ ๔ ส่งผลให้ชาวกระบุรีตกค้างอยู่ทางฝั่งพม่าภายใต้การปกครองของอังกฤษเป็นจำนวนมาก หลงเหลือเป็นเรื่องราวผู้คนที่มีเครือญาติทั้ง ๒ ฝั่งน้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความต้องการเป็นคนไทยในแผ่นดินสยามเริ่มมีมากขึ้น นำมาซึ่งการโยกย้ายและทำให้ตัวเองเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ผ่านกฎระเบียบใหม่ที่ผ่อนปรนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

ชุมพรโภชนา ภูมิปัญญาในวัฒนธรรมอาหารถิ่น / โอฬาร รัตนภักดี

อาหารพื้นบ้านชุมพร หลอมรวมขึ้นจากวัฒนธรรมคนเขากับคนเลและวัฒนธรรมภาคกลางกับภาคใต้ ภูมิปัญญาในการคัดเลือกวัตถุดิบ ขั้นตอนการปรุง การถนอมอาหาร ตลอดจนการใช้อาหารแต่ละชนิดในโอกาสที่แตกต่างกัน ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่นชุมพรได้เป็นอย่างดี “ชุมพรโภชนา” จึงไม่ใช่เรื่องของอาหารที่มีไว้เพียง “กินเพื่ออยู่” แต่คือวิถีของอาหารที่ถูกสร้างสรรค์ไว้สำหรับ “อยู่เพื่อกิน” ตามแบบฉบับของคนชุมพร

 

วิถีชนบนตำนาน นางทองร่อนแห่งเขาสามแก้ว / ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

เรื่องเล่าประจำท้องถิ่นที่เล่าถึงหญิงสาวรูปงาม ลูกสาวหัวหน้าชุมชนริม แม่น้ำท่าตะเภา สาวงามที่หนุ่มหลายคนหมายปอง เพื่อพิสูจน์ความจริงใจของชายที่มาสู่ขอจึงเกิดเป็นตำนานชื่อบ้านนามเมืองและเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ในเมืองชุมพร ทั้งชื่อภูเขา และชื่อหมู่บ้านหลายๆ แห่ง

 

รถคิวเมืองระนอง  บรรทัดฐานใหม่แห่งความเจริญ / ธนกร สุวุฒิกุล

เกือบ 70 ปีมาแล้ว ที่ทางการตัดถนนเพชรเกษมผ่านเมืองระนอง “รถคิว” หรือรถสองแถว  พาหนะโดยสารที่ได้รับความนิยมของชาวเมืองระนอง ไม่ว่าจะเดินทางในตัวเมืองหรือข้ามอำเภอ แม้กระทั่งข้ามจังหวัด ไม่ใช่เพียงในรูปแบบรถโดยสารเท่านั้น แต่รถคิวกลายเป็นพาหนะที่ได้รับความนิยมใช้ในการจัดงานสำคัญทั้งงานมงคลและงานอวมงคลของผู้คนในระนอง เช่นงานแต่งงาน งานบวช งานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรือแม้กระทั่งรับเหมาท่องเที่ยว เสมือนว่ารถคิวได้นำพามิติใหม่แห่งการเดินทางมาให้ชุมชนคนระนอง นำพาความเจริญเข้าสู่ตัวเมืองผ่านความสะดวกสบายของการเดินทางด้วยนั่นเอง

 

และคอลัมน์ใหม่ล่าสุด... หลายเหลี่ยม หลากมุม

ฤๅจะถึงกาลชำระ_ครุ่นคำนึงถึงพระมนูและโนอาห์ / อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม

อารยธรรมโบราณหลายแห่ง ล้วนมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ (Act of God) น้ำท่วมโลก และไฟไหม้ที่เกือบจะทำลายล้างโลกให้ดับสูญ สืบสาวไปได้ถึงต้นกำเนิดของมวลมนุษยชาติที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนทุกวันนี้  เรื่องของโนอาห์ในพระคัมภีร์ฉบับพันธสัญญาเดิม และเรื่องพระมนูตามตำนานธรรมของชาวฮินดู มีความคล้ายจนเกือบจะเป็นเรื่องเดียวกัน ชวนให้ครุ่นคิดถึงภัยพิบัติหลายรูปแบบที่กำลังถาโถมสู่สังคมเราในเวลานี้

 

 

ติดต่อสั่งซื้อ วารสารเมืองโบราณ ฉบับล่าสุด ในราคาเล่มละ 150 บาท ได้แล้ววันนี้ ... ที่

 

ร้านหนังสือริมขอบฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ร้านเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 19.00 น. โทร 02 622 3510 

E-mail : rimkhobfabooks@gmail.com  / Facebook : m.me/RimkhobfaBookstore

 

ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด

โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113

E-mail : memberskd@gmail.com / Line ID : 0815835040 / Facebook : m.me/membersarakadee

Line MyShop คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714

(ค่าจัดส่ง 1 เล่ม 30 บาท,  2-3 เล่ม 50 บาท และ 4 เล่มขึ้นไป 80 บาท)

 

ร้านหนังสือออนไลน์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

คลิก http://www.lek-prapaibookstoreonline.com/category/12/วารสารเมืองโบราณ

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น