พลิกหน้าสารบัญ 48.3 เมืองพะเยา-ภูกามยาว

พลิกหน้าสารบัญ 48.3 เมืองพะเยา-ภูกามยาว

 

 

“พะเยาเป็นเมืองใหญ่ในลุ่มน้ำอิงที่ตั้งอยู่เชิงเขาดอยด้วนหรือภูกามยาวมีธารน้ำใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ คือ กว๊านพะเยา ก่อให้เกิดการก่อตั้งถิ่นฐานเป็นเวียงต่างๆ รอบกว๊านหลายแห่ง ที่สำคัญ คือ เวียงน้ำเต้า เวียงพะเยา เวียงพระธาตุจอมทอง เวียงปู่ล่าม และเวียงหนองหวี”

“พะเยาตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีหุบเขาใหญ่น้อยมากมาย ภูเขาที่สำคัญคือ #ดอยด้วน แต่ในพงศาวดารเรียกว่า ภูยาว ภูกาบยาว หรือภูกามยาว เมื่อมีการสร้างบ้านแปงเมืองที่เชิงเขา เมืองนี้จึงได้ชื่อว่าภูกามยาว หรือพะเยามีความหมายว่าเมืองที่ตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีสันยาว”

“บริเวณเชิงเขาดอยด้วน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองพะเยามีเวียงอยู่โดยรอบถึง 5 เวียง คือ เวียงน้ำเต้า หรือเวียงประตูชัย มีโบราณสถานสำคัญคือ วัดลี เวียงพะเยา อยู่ทางตะวันตกของเวียงน้ำเต้า โบราณสถานสำคัญคือ วัดหลวงราชสัณฐาน เวียงพระธาตุจอมทอง อยู่ทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ไม่ไกลจากวัดศรีโคมคำ มีวัดพระธาตุจอมทองเป็นโบราณสถานสำคัญ เวียงปู่ล่าม อยู่ห่างจากเวียงน้ำเต้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัดอารามป่าน้อยเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีของเมือง และเวียงหนองหวี หรือเวียงบ้านศาลา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงปู่ล่าม สันนิษฐานว่าเป็นเวียงแฝดคู่กับเวียงปู่ล่าม”

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 48 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2565) 

เมืองพะเยาหรือภูกามยาว 

 

บทความที่น่าสนใจภายในเล่ม 

ยาบ้า ชุมชนและกฎหมาย / สุดารา สุจฉายา

ปัจจุบันยาเสพติดยังคงเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของยาบ้าหรือยากลุ่มแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นยาเสพติดที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาถูก และส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เสพอย่างรุนแรง ดังปรากฏให้เห็นในหน้าข่าวอาชญากรรมไม่เว้นแต่ละวัน การแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลทุกสมัย แต่นอกจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของภาครัฐที่ต้องเข้มข้นจริงจังแล้ว การบำบัดผู้เสพยาให้กลับคืนสู่สังคมก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนอันเป็นรากฐานของสังคมด้วย

 

พะเยา ขุนเขาและธารน้ำใหญ่ / วิยะดา ทองมิตร

ในตำนานฝ่ายเหนือระบุว่าเมืองพะเยาถูกสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 โดยขุนจอมธรรม ผู้สืบเชื้อสายมาจากลวจักราช ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ปลายดอยด้วน ริมแม่น้ำอิง และมีกว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำสำคัญ ในอดีตจึงพบร่องรอยเวียงใหญ่น้อยตั้งอยู่โดยรอบถึง 5 เวียง คือเวียงน้ำเต้า มีโบราณสถานสำคัญคือ วัดลี เวียงพะเยา หรือตัวเมืองพะเยาในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเวียงน้ำเต้า มีวัดหลวงราชสัณฐานเป็นโบราณสถานสำคัญ เวียงพระธาตุจอมทองอยู่ทางทิศตะวันออกของกว๊านพะเยา ไม่ไกลจากวัดศรีโคมคำ มีวัดพระธาตุจอมทองเป็นโบราณสถานสำคัญ  เวียงปู่ล่ามอยู่ห่างจากเวียงน้ำเต้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีวัดอารามป่าน้อยเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสีของเมือง และเวียงหนองหวี อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเวียงปู่ล่าม สันนิษฐานว่าเป็นเวียงแฝดคู่กับเวียงปู่ล่าม

 

 

จากยุธิษฐิระถึงงำเมืองและเจือง ประวัติศาสตร์แอ่งเชียงรายจากตำนาน / ศรีศักร วัลลิโภดม

เมืองพะเยาตั้งอยู่ตอนปลายของดอยด้วน มีแม่น้ำอิงและกว๊านพะเยาเป็นแหล่งน้ำสำคัญ กลางเมืองมีวัดลี เป็นวัดพระธาตุกลางเมือง ซึ่งเป็นบริเวณที่พบโบราณวัตถุสมัยหริภุญไชยตอนปลายลงมาถึงพุทธศตวรรษที่ 17-18 และสมัยพญางำเมือง รอบๆ ยังมีเวียงปู่ล่ามและเวียงแก้วทางด้านตะวันออก เวียงพะเยาสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่ทางตะวันตกริมกว๊านพะเยา ทางทิศเหนือยังมีเวียงพระธาตุด้วย

 

 

สบร่องขุยกับตำนานสามกษัตริย์ / เกสรบัว อุบลสรรค์

ในพงศาวดารโยนก มีความช่วงหนึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์คราวสามกษัตริย์ คือ พญามังราย พญางำเมืองและพญาร่วง ร่วมพิธีถวายคำสัตย์สาบานว่าจะเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน ณ ปะรำพิธีศักดิ์สิทธิ์ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู ในสมัยต่อมาแม่น้ำขุนภู ถูกเรียกว่าแม่น้ำอิง ส่วนบริเวณที่ตั้งปะรำพิธีในครั้งนั้น ชาวบ้านเชื่อว่าคือบริเวณโบราณสถานร้างสบร่องขุยซึ่งไม่เพียงพบร่องรอยโบราณสถานขนาดใหญ่ร่วมกับโบราณวัตถุจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังพบชิ้นส่วนศิลาจารึกที่กล่าวถึงชื่อลาวงำเมือง หรือพญางำเมืองกับพญาร่วงด้วย

 

เงี้ยว ต่องสู้ถึงไทใหญ่-ปะโอ การมีอยู่ในสังคมชาวพะเยา / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

เงี้ยวหรือไทใหญ่และต่องสู้หรือปะโอ คือกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางจากดินแดนพม่ามายังสยามเมื่อไม่ต่ำกว่าร้อยปีที่แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ลงหลักปักฐานบนเส้นทางการค้าในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งในจังหวัดพะเยา เช่น ย่านสบต๋ำ และย่านบ้านทุ่งบานเย็น อำเภอเชียงคำ จนกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคนพะเยา แม้ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งภายในท้องถิ่นมาอย่างหนักหน่วง แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนเหล่านี้ได้ปรับตัว เกิดการเกี่ยวดองกับคนในพื้นที่ บางส่วนทำการค้าสืบมา ซึ่งยังปรากฏศูนย์รวมจิตใจของชาวไทใหญ่และปะโออยู่หลายแห่ง ถือเป็นร่องรอยการมีอยู่ของผู้ที่เดินทางมาจากแดนไกลในยุคอดีตและคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

 

ประเพณีห้าเป็งที่วัดลี กินแกงขี้เหล็ก ชมของดีพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว / สมโชติ อ๋องสกุล

ที่วัดลี ซึ่งตั้งอยู่ในเวียงน้ำเต้า เมืองพะเยา มีประเพณีสรงน้ำพระธาตุในวันเป็งเดือนห้า หรือวันมาฆบูชาของทุกปี เรียกกันว่าประเพณีห้าเป็ง ในงานจะมีชาวบ้านจะร่วมกันทำแกงขี้เหล็กด้วย ประเพณีห้าเป็งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยที่ครูบาแก้ว คันธวังโส เข้ามาบูรณะวัดเมื่อปี พ.ศ. 2464 นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เวียงพยาว ซึ่งรวบรวมโบราณวัตถุที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก

 

เชียงคำ กับผลพวงยุคสงครามเย็น / จิราพร แซ่เตียว

การต่อสู้ระหว่างรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในยุคสงครามเย็น ไม่เพียงเป็นประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญของประเทศ แต่ยังเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองเชียงคำ จังหวัดพะเยา จากเมืองเกษตรกรรมอันเงียบสงบเรียบง่ายสู่การเป็นฐานที่มั่นหลักตามแนวคิดเมืองล้อมป่า และเป็นแหล่งเสบียงสำคัญที่กองกำลังทหารรวบรวมและนำส่งต่อให้แนวหน้าในสมรภูมิกลางผืนป่าเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์

 

 

ปางมดแดง เมืองพะเยา ชุมชนอีสานไม่ลืมถิ่น / เมธินีย์ ชอุ่มผล

ภาวะแห้งแล้งต่อเนื่องของอีสานเมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวอีสานอพยพย้ายถิ่นครั้งใหญ่ออกไปตั้งรกรากบนพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าถิ่นเดิม  หมู่บ้านปางมดแดงในเมืองพะเยาก็เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่นของพี่น้องชาวอีสานหลายจังหวัด เช่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สกลนคร ฯลฯ แม้ในปัจจุบันหมู่บ้านปางมดแดงจะกลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ แต่ชาวอีสานในหมู่บ้านนี้ ก็ยังไม่ทิ้งประเพณีตามความเชื่อดั้งเดิมที่ส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ ยังคงยึดถือเป็นครรลองสืบทอดต่อมาในชุมชน

 

ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ผู้ขับเคลื่อนเมืองในย่านเศรษฐกิจปทุมวัน / จิราพร แซ่เตียว

จากท้องทุ่งรกร้างริมคลองแสนแสบซึ่งปรากฏในประวัติการสร้างวัดปทุมวนารามว่าเป็นทุ่งนาหลวงชานเมืองบางกอก ถิ่นที่อยู่อาศัยของครัวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ สู่การติดตามประวัติศาสตร์บอกเล่าจากลูกหลานข้าราชบริพารวังสระปทุม และวังเพ็ชรบูรณ์ ชาวชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และผู้คน การปรับตัวและการเผชิญกับความไม่มั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยบนที่ดินทำเลทองใจกลางย่านเศรษฐกิจบนถนนพระราม 1 เขตปทุมวันในปัจจุบัน

 

พระหินเมืองพะเยา มรดกจากประวัติศาสตร์ของชาวพะเยา / เมธินีย์ ชอุ่มผล

งานศิลปะที่บ่มเพาะจากบรรพบุรุษในอดีตที่กลายเป็นมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมืองพะเยาที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับความสนใจและยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปะแขนงหนึ่งของศิลปะล้านนา คือศิลปะสกุลช่างพะเยา โดยเฉพาะพระพุทธรูปหินทราย ที่แกะสลักตามรูปแบบศิลปะสกุลช่างพะเยาที่มีความผสมผสานระหว่างอิทธิพลจากศิลปะเชียงแสนและสุโขทัย คลี่คลายมาตามกาลเวลาและกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการศึกษา หาชมได้ที่เมืองพะเยาเท่านั้น

 

ภาพประกอบ

ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

 

พญางำเมืองแห่งพยาว มหาราชผู้มีปัญญาเสมอพญามังราย / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

เรื่องราวของวีรบุรุษในตำนานและพงศาวดารฝ่ายเหนือของไทยพญางำเมืองแห่งเมืองพยาว หรือพะเยา เมืองสำคัญบนลุ่มน้ำอิง ผู้สืบเชื้อสายมาจากขุนจอมธรรมแห่งนครเงินยางเชียงแสนผู้สร้างเมืองพะเยา ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาและบุญบารมี เสด็จไปที่ใด แดดก็บ่ร้อน ฝนก็บ่ร่ำ พญางำเมืองเป็นสหายกับพญาร่วง และพญามังราย หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้ คือ การกระทำสัตย์สาบานของทั้งสามกษัตริย์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภูหรือแม่น้ำอิงนั่นเอง

 

ครึ่งศตวรรษในความทรงจำไทลื้อ เชียงคำ / ชานนท์ ปัญจะศรี

ภาพถ่ายวิถีชีวิตของชาวเชียงคำที่นำเสนอในบทความนี้ ได้รับการบันทึกโดยนักวิจัยชาวต่างชาติเมื่อราว 50 ปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นภาพของชุมชนชาวไทลื้อเชียงคำ ที่อพยพจากสิบสองปันนามาตั้งบ้านเรือนตั้งแต่ “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเชียงคำก็ยังคงปฏิบัติตามวิถีปฏิบัติดั้งเดิม ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต การสร้างบ้านเรือน และการแต่งกายที่บ่งบอกอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ซึ่งยังปรากฏชัดเจนมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

ลูกปัดที่เพชรบุรี ปริศนาแห่งช่องว่าง / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช และไพโรจน์ สิงบัน

เพชรบุรี เป็นพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางข้ามคาบสมุทรโบราณ สามารถข้ามแดนไปยังฝั่งตะวันตกและตะวันออกของไทยได้ แต่ที่ผ่านมาพบร่องรอยหลักฐานเก่าแก่ เช่น ลูกปัด ในปริมาณน้อย โดยมีรายงานว่าพบที่เขากระปุก อำเภอแก่งกระจาน วัดป่าแป้น อำเภอบ้านลาด แหล่งโบราณคดีบ้านเขากระจิว อำเภอท่ายาง และบ้านบ่อมอญ อำเภอเมืองเพชรบุรี เท่านั้น ลูกปัดที่พบจัดเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยทวารวดี ชิ้นที่น่าสนใจคือลูกปัดหินคาร์เนเลียนสีส้ม ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงสมัยก่อนประวัติศาสต์ และพบมากในพื้นที่ภาคกลางลุ่มเจ้าพระยา-ป่าสัก แต่เป็นที่น่าสนใจว่าเพราะเหตุใดจึงพบในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีค่อนข้างน้อย      

 

เรือพระเลสาบสงขลา ลากพระแหลมโพธิ์ ฟังเพลงเรือ / สามารถ สาเร็ม และ ดร. เอกลักษณ์ รัตนโชติ

ประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวบ้านย่านแหลมโพธิ์ในช่วงหลังวันออกพรรษา คือประเพณีลากพระ หรือชักพระ แม้จะเป็นประเพณีตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา แต่ด้วยเนื้อหาในกิจกรรม เช่น การแข่งเรือระหว่างชุมบ้านต่างๆ การโยนข้าวต้มห่อใบกะพ้อให้กับเด็กๆ ที่มาห้อมล้อมขบวนแห่ นับได้ว่าเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ไปร่วมงานซึ่งมีทั้งชาวพุทธและมุสลิมให้ร่วมสนุกในงานได้โดยไม่มีอติทางศาสนามาเป็นเครื่องกีดขวาง ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์อันดีของผู้คนลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ยังคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

เขาไถ่ “ข้า” ไปเป็นมหาเทวี : ข้อสันนิษฐานถึงพระนางจิรประภาเทวี / ฉัตรลดา สินธุสอน

พระนางจิรประภาเทวี เป็นพระมเหสีในพระเมืองเกษเกล้า และเป็นพระมหาเทวีที่เกี่ยวพันกับราชวงศ์ของอยุธยา สุโขทัย ล้านนา และล้านช้าง อย่างไรก็ตามพระราชประวัติช่วงต้นของพระนางยังเต็มไปด้วยความคลุมเครือ นักวิชาการต่างเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี จากการถอดความศิลาจารึกวัดควาง ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นต้นที่กล่าวถึงครอบครัวของนายไสหรวย ข้าพระเจ้าที่พระมหาเถรลงกาถวายให้แก่วัดควาง เมืองพะเยา ปรากฏว่ามีการจ่ายค่าไถ่ตัวลูกสาวคนโตให้ออกจากการเป็นข้าพระเจ้า เนื่องจากได้ไปอยู่กินกับพระเมืองเกษเกล้า จึงสันนิษฐานว่าหญิงผู้นั้นอาจหมายถึงพระนางจิรประภาเทวีก็เป็นได้

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 48 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2565) 

เมืองพะเยาหรือภูกามยาว 

ราคาเล่มละ 150 บาท
ค่าจัดส่ง (เล่มแรก) 30 บาท


สั่งซื้อได้ที่ 
Lineshop : https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/1003351764
FB inbox : http://m.me/sarakadeeboranrobroo 

สมัครสมาชิก 
https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น