เปิดหน้าสารบัญวารสารเมืองโบราณ 49.4

เปิดหน้าสารบัญวารสารเมืองโบราณ 49.4

 

เมืองสิงห์ มีพื้นที่ราว 640 ไร่ กำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ขนาดกว้าง 880 เมตร ยาว 1,400 เมตร สูง 5 เมตรกำแพงด้านในถมดินลาดเป็นคันกำแพง กำแพงด้านเหนือและตะวันออกมีร่องรอยกำแพงดิน 3 ชั้น ด้านตะวันตกมีกำแพงดิน 7 ชั้น ส่วนด้านใต้ติดกับลำน้ำแควน้อยมีแนวกำแพงขนาดโค้งไปตามลำน้ำ

 

ภายในเมือง พบสระน้ำ 6 แห่ง อาจเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม สิ่งก่อสร้างสำคัญ คือ ปรางค์องค์หนึ่งที่รู้จักกันในชื่อปราสาทเมืองสิงห์ มีขนาดกว้าง 746 เมตร ยาว 800 เมตร ตั้งบนฐานย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดใหญ่ มีมุขยื่นออกไปรับกับมุขด้านในของโคปุระทั้ง 4 ทิศ นอกจากนี้ ยังมีบรรณาลัย โคปุระ และระเบียงคด ผนังด้านในทางทิศเหนือของระเบียงคดปรากฏภาพสลักรูปบุคคล 4 กร

 

 

พบกับบทความที่น่าสนใจภายในเล่ม

[1] 

กาญจนบุรี...ดินแดนสองลุ่มน้ำ / วิยะดา ทองมิตร

กาญจนบุรีเป็นเมืองสำคัญทางฟากตะวันตกที่ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่มีทั้งเขตเขาสูงซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาตินานาชนิด และที่ราบลุ่มแม่น้ำซึ่งเหมาะสำหรับทำการเกษตร โดยแม่น้ำสำคัญที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คนมากมาย ได้แก่ แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่ตำบลปากแพรกก่อนไหลลงทะเลอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสงคราม

 

 

[2]

ปราสาทเมืองสิงห์ในทัศนะของข้าพเจ้า / ศรีศักร วัลลิโภดม 

“เมืองสิงห์” เป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางการค้าภายในที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย โดยมีเส้นทางโบราณที่สามารถตัดข้ามเขตเขาสูงทางทิศตะวันตกไปยังเมืองทวายได้ และหากตั้งต้นจากเมืองสิงห์ริมแควน้อยมาทางทิศใต้จะผ่านด่านทับตะโก ข้ามลำห้วยชินสีห์เข้าสู่เมืองโบราณคูบัว แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพริกและเมืองเวียงทุนริมลำน้ำแควอ้อม ก่อนสมทบกับแม่น้ำแม่กลองและออกทะเลที่อ่าวไทยได้

 

 

 

[3]

“ปราสาทเมืองสิงห์” ถึง “ชุมชนชาวไร่” : ประวัติศาสตร์ของคนตำบลสิงห์ / อภิญญา นนท์นาท

หลังจากถูกทิ้งร้างเป็นเพียงซากโบราณสถานกลางป่าดง “เมืองสิงห์” ปรากฏความสำคัญอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในฐานะ 1 ใน 7 หัวเมืองมอญ และด้วยภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขาและที่ราบลุ่มริมแม่น้ำแควน้อยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าเต็งรังและป่าไม้ไผ่ จึงมีชาวบ้านจากอำเภอต่างๆ ทั้งใน จังหวัดกาญจนบุรีและใกล้เคียงอพยพเข้ามาบุกเบิกจับจองที่ทำไร่อย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อกรมศิลปากรเริ่มทำการบูรณะ “ปราสาทเมืองสิงห์” โดยมีชาวบ้านเป็นแรงงานรับจ้าง นับเป็นหนึ่งในเรื่องราวจากความทรงจำที่ชาวตำบลสิงห์มีร่วมกัน

 

 

[4]

ถ้ำพระ : จิตวิญญาณของชาวบ้านเก่า / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

“ถ้ำพระ” ตั้งอยู่ใน “เขาถ้ำพระ” ซึ่งเป็นเขาลูกโดดทางทิศเหนือของชุมชนบ้านเก่าและแม่น้ำแควน้อย ถ้ำแห่งนี้นับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านรอบๆ ให้ความนับถือสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายในถ้ำไม่เพียงมีผู้สำรวจพบเครื่องมือหิน แต่ยังพบร่องรอยของท่อนไม้ขุดคล้ายเรือซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมโลงไม้ นอกจากนั้น ชาวบ้านยังพบพระแผงและพระพุทธรูปโบราณอีกหลายองค์ บ้างอยู่ในสภาพดี บ้างเหลือเพียงโกลนหินทราย องค์สำคัญที่ถูกเคลื่อนย้ายลงมาเก็บรักษาที่วัดบ้านเก่าในสมัยหลัง คือ “หลวงพ่อศิลาแลง”

 

 

[5]

“ตั้งป่า” หาอยู่หากินกับป่าไผ่ / จิราพร แซ่เตียว

“ตั้งป่า” คือ การที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างเพิงพักในป่าเพื่อตัดไม้ไผ่และไม้รวกขายโดยอาศัยแม่น้ำแควใหญ่และแควน้อยเป็นเส้นทางลำเลียงไม้สู่ “โรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี” ริมลำน้ำแม่กลอง ทั้งนี้ นอกจากถูกนำไปแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษแล้ว ไม้ไผ่และไม้รวกยังถูกใช้ในกิจการต่างๆ อีกหลายประเภท เช่น ประมง ก่อสร้าง และเกษตรกรรม อย่างไรก็ดี ผลจากการมาถึงของเขื่อน นโยบายการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นที่อยู่อาศัยและการขยายที่ทางสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ ล้วนส่งผลให้ “การตั้งป่า” เช่นในอดีตเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในปัจจุบัน

 

 

[6]

การทบทวนเรื่อง “หม้อหรือภาชนะสามขา” สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่ / ดร. พรชัย สุจิตต์

“หม้อสามขา” เป็นหนึ่งในสิ่งของเครื่องใช้ชิ้นเด่นจากวัฒนธรรมบ้านเก่า ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับขวานหินขัด เครื่องประดับ และเครื่องปั้นดินเผารูปแบบต่างๆ บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อทบทวนความเป็นมาของเครื่องปั้นดินเผาแบบหม้อหรือภาชนะสามขา (Tripod Pottery) ในยุคหินใหม่ที่พบทั้งในประเทศไทยและที่อื่น เพื่อสรุปความรู้ความเข้าใจ รูปแบบ เทคนิคการผลิต ลักษณะการกระจายตัว ข้อสมมติฐาน ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาและค้นคว้าต่อไปในอนาคต

 

 

[7]

วัฒนธรรมโลงไม้ในจังหวัดกาญจนบุรี / ศาสตราจารย์ ดร. รัศมี ชูทรงเดช

องค์ความรู้เกี่ยวกับ “วัฒนธรรมโลงไม้” ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้จากการศึกษาทางโบราณคดีในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่เรื่องราวของ “โลงไม้” ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีรายงานการค้นพบตั้งแต่คราวพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสไทรโยค ก่อนได้รับการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นระบบตั้งแต่ราวปี 2503 ลงมานั้น แสดงให้เห็นว่าโลงไม้ในอำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอไทรโยค และอำเภอเมืองกาญจนบุรี มีความคล้ายคลึงกับที่พบในอำเภอปางมะผ้า แต่ก็มีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างกันด้วย เช่น ขนาดของโลงไม้ วัสดุที่ใช้ และรูปแบบการจัดวางภายในถ้ำ เป็นต้น

 

 

[8]

“โมเดลโรงงานกระดาษ” กับเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อเมืองกาญจน์ / เมธินีย์ ชอุ่มผล

การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ “ชาวกาญจนบุรีร่วมใจทวงคืนโรงงานกระดาษ” และการรวมตัวของ “กลุ่มคนเสื้อเขียว” ที่ประกอบด้วยนักวิชาการ เครือข่ายภาคเอกชน นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อทวงคืนพื้นที่ประวัติศาสตร์และคัดค้านการต่อสัญญาเช่าโรงงานฯ ส่งผลให้ภาครัฐต้องทบทวนและยกเลิกการต่อสัญญาในที่สุด ความสำเร็จในครั้งนั้น นับเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นโมเดลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของคนเมืองกาญจน์ที่ยึดถือประโยชน์ของคนเมืองกาญจน์เป็นที่ตั้ง

 

 

[9]

ตามรอยมนุษย์โบราณที่บ้านเก่า / อภิญญา นนท์นาท

ภายใน “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเก่า” โฉมใหม่ จัดแสดงลำดับความเป็นมาและความก้าวหน้าเรื่องโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่กาญจนบุรี หรือ "วัฒนธรรมบ้านเก่า" ในห้วงเวลาที่สงครามมหาเอเชียบูรพายังคุกรุ่น โดยจากการศึกษาที่ผ่านมาทำให้พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ เช่น เครื่องมือหิน เมล็ดพืช กระดูกสัตว์ เขาสัตว์อยู่ภายในถ้ำและเพิงผาหลายแห่งริมแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ หลายแห่งมีพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีการตั้งถิ่นฐานถาวร มีพิธีกรรมฝังศพที่ซับซ้อนก่อนเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองในสมัยต่อมา

 

 

[10]

ท้าวอู่ทอง ปราสาทเมืองสิงห์ / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

"ท้าวอู่ทอง" เป็นเรื่องเล่าที่แพร่หลายในลุ่มน้ำภาคกลางและพื้นที่ใกล้เคียง ดังเช่นที่ปราสาทเมืองสิงห์ในจังหวัดกาญจนบุรีก็ปรากฏตำนานเกี่ยวกับท้าวอู่ทองเช่นกัน เนื้อเรื่องเล่าถึง “ท้าวอู่ทอง” กับ “ท้าวเวชสุวรรณโณ” ผู้เป็นศิษย์พระฤๅษีสำนักเดียวกัน ต่อมามีเหตุให้ทั้งคู่ผิดใจจนเกิดเป็นความแค้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจจากตำนานเรื่องนี้คือ ชื่อเมืองที่ท้าวอู่ทองให้สร้าง ได้แก่ เมืองสระสี่มุมหรือสระโกสินารายณ์ เมืองกลอนโด เมืองสิงห์และเมืองครุฑ ทั้งหมดล้วนเป็นเมืองที่สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19

 

 

[11]

บ้านเราที่ชุกกระโดน / ประพฤติ มลิผล

“ชุกกระโดน” เป็นชุมชนขนาดเล็กตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลอง ในเขตตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี สำหรับที่มาของชื่อชุมชนนั้น คนเก่าคนแก่ในชุมชนเล่าต่อกันมาว่า “ชุกโดน” หรือ “ชุกกระโดน” เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อ “ต้นกระโดน” ซึ่งเคยขึ้นอยู่หนาแน่นบริเวณท่าน้ำชุกกระโดนและริมหาดชุกกระโดน แต่หลังการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ ระดับน้ำที่สูงขึ้นจึงท่วมต้นกระโดนจนตายหมด พร้อมกับกิจกรรมหลายอย่างที่ถูกกลืนหายไปในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น “การฟันปลา” และ “การร่อนกรวด” ที่ริมหาดชุกกระโดน เป็นต้น

 

 

[12]

สี่สมัย สามเมือง หนึ่งย่าน...กาญจนบุรี / ประภัสสร์ ชูวิเชียร

กาญจนบุรีมี “แม่น้ำแควน้อย” และ “แม่น้ำแควใหญ่” เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับอันดามันมาแต่อดีต และเป็นสายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงผู้คนซึ่งเข้ามาอาศัยตั้งถิ่นฐานหาอยู่หากินตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา ดังได้พบงานศิลปกรรมและสิ่งปลูกสร้างจากแต่ละช่วงสมัยหลงเหลือตกทอดมา ไม่ว่าจะเป็นปราสาทหินแบบเขมรที่เมืองสิงห์ วัดสำคัญในเขตเมืองกาญจนบุรีเก่าที่ทุ่งลาดหญ้า และเมืองกาญจนบุรีใหม่ที่ปากแพรก จนถึงย่านตลาดเก่าปากแพรกนั้น ล้วนเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นได้ว่าพื้นที่ในบริเวณนี้มีผู้คนอยู่อาศัยใช้งานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

 

[13]

เรืองรองทองกาญจนา : คุณค่าที่กินได้ / โอฬาร รัตนภักดี

“ทองคำ” มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่เพียงเป็นของมีค่ามีราคาที่ส่องสะท้อนฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ครอบครอง ทองคำบริสุทธิ์ยังจัดเป็นธาตุวัตถุ หนึ่งในเภสัชวัตถุที่เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคภัยหลายขนาน นอกจากนั้น ทองคำยังมีความเกี่ยวพันกับอาหารการกินที่เป็นสิริมงคล ดังปรากฏว่ามีอาหารมงคลหลายชนิดที่ใช้ทองคำเป็นส่วนประกอบ บ้างจงใจทำขนมเลียนแบบสิ่งของเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับทองคำ หรือนำคำว่า “ทอง” มาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อขนมก็มี เช่น ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง เป็นต้น

 

 

 

[14]

ลูกปัดบ้านดอนตาเพชร : จุดบรรจบของโลกตะวันออกกับตะวันตก / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

“ลูกปัด” ที่พบใน “แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร” มีหลายรูปแบบ เช่น ลูกปัดเขียนสี ลูกปัดเขียนลาย ลูกปัดสามสี ลูกปัดแก้วสีเดียวกลุ่มอินโด-แปซิฟิก ลูกปัดแกะสลักรูปสิงห์ และลูกปัดสีฟ้าใสเจียระไนเหลี่ยม เป็นต้น ดร.โกลฟเวอร์ ได้ทำการศึกษาลูกปัดแก้วจากบ้านดอนตาเพชรพบว่า เนื้อแก้วที่ใช้ผลิตเป็นชนิดโพแทสเซียมซึ่งต่างจากที่พบในอินเดีย ขณะที่เทคนิคการผลิตกลับเป็นแบบเดียวกับที่ “เขาสามแก้ว” ซึ่งเป็นแหล่งผลิตลูกปัดที่ใช้เทคนิคอย่างอินเดียและนำเข้าวัสดุจากอินเดียด้วย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีชาวอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเผยแพร่เทคนิคขั้นตอนการผลิตลูกปัดให้ชาวบ้านที่บ้านดอนตาเพชรและเขาสามแก้วตั้งแต่ในสมัยนั้นแล้ว     

 

 

[15]

เรื่องเล่าจากหมู่บ้านนากาญจน์ / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทรงชัย ทองปาน

“นากาญจน์” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองกาญจนบุรี ในบทความนี้ ผู้เขียนอาสาพาทุกท่านออกเดินทางย้อนเวลากลับไปสำรวจบ้านนากาญจน์เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน เพื่อดื่มด่ำเสน่ห์ของบ้านนากาญจน์ผ่านกล่องความทรงจำวัยเด็กที่ยังคงแจ่มชัด ทั้งเรื่องราวของแม่น้ำแควน้อยในแต่ละฤดูกาลก่อนการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) สีสันระหว่างการเดินทางด้วยรถไฟจากสถานีธนบุรีถึงสถานีนากาญจน์ บรรยากาศยามค่ำคืนภายใต้แสงตะเกียงรำไรในยุคที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ชีวิตชาวไร่กับการปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมถึงกิจกรรมงานบุญประเพณีของชาวนากาญจน์ในรอบปี

 

 

[16]

จารึกวัดใหม่ศรีโพธิ์ ความรู้ใหม่ในประวัติศาสตร์อยุธยาตอนปลาย / กำพล จำปาพันธ์

จารึกติดผนังภายในอุโบสถ “วัดใหม่ศรีโพธิ์” หรือชื่อเดิม “วัดพรหมกัลยาราม” จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บันทึกเรื่องราวย้อนกลับไปในปี พ.ศ. ๒๒๙๒ เมื่อมีพระธุดงค์จากเมืองนครศรีธรรมราชมาปักกลดพักแถบนี้ซึ่งเป็นเพียงที่รกร้างทรุดโทรม ท้าวพรหมกันดาลผู้มีพื้นเพจากนครศรีธรรมราชจึงขันอาสาสร้างวัดขึ้นจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๒๙๖ จากนั้นกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ และกรมขุนอนุรักษ์มนตรีซึ่งต่อมาคือพระเจ้าเอกทัศได้เสด็จมาเป็นประธานผูกพัทธสีมาให้ จารึกหลักนี้นับได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในช่วงอยุธยาตอนปลาย

 

 

วารสารเมืองโบราณ 49.4 (ต.ค.-ธ.ค. 2566)​

"เมืองสิงห์บนเส้นทางการค้าผ่านเขาตะนาวศรี"

ราคาเล่มละ 150 บาท

ค่าจัดส่ง 30 บาท

คลิก https://shop.line.me/@pii6708z/product/1006030594 

หรือ

inbox : http://m.me/sarakadeeboranrobroo

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น