แหล่งเกลือโบราณ ‘โนนพญามวย’

แหล่งเกลือโบราณ ‘โนนพญามวย’

 

แอ่งโคราชถือเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรเกลือขนาดใหญ่ของภาคอีสาน ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามบริเวณต่างๆ ในหลายจังหวัด แต่แหล่งที่มีการผลิตเกลือสืบเนื่องมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันและมีความหนาแน่นมากที่สุดอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา โดยเกลืออีสานที่เรียกกันว่า “เกลือสินเธาว์” ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งเพื่อใช้ในการบริโภค การถนอมอาหาร และเป็นสินค้าที่มีมูลค่าไว้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นสืบมานานนับพันปี

 

แหล่งเกลือลุ่มน้ำลำเชียงไกร

ลำเชียงไกร เป็นสายน้ำที่ไหลจากเขตเขาพังเหยในพื้นที่อำเภอด่านขุนทดฝั่งตะวันตก ผ่านที่ราบกว้างใหญ่เข้าสู่เขตอำเภอโนนไทย แล้วไหลมารวมกับลำน้ำมูลในเขตอำเภอโนนสูงซึ่งอยู่ถัดไปทางฝั่งตะวันออก นอกจากนี้ยังมีลำน้ำอีกสายหนึ่งซึ่งเรียกชื่อต่างกันตามแต่ละถิ่น เช่นเรียก ห้วยโคกรัก ห้วยกุดปลาเข็ง หรือห้วยค้างพลู ที่ไหลแยกจากลำเชียงไกรบริเวณตัวอำเภอด่านขุนทดไปยังฝั่งตะวันออกคู่ขนานกันมา ผ่านพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตตำบลด่านนอก อำเภอด่านขุนทด และตำบลบ้านวัง อำเภอโนนไทย ก่อนจะไหลไปสบกับลำเชียงไกรอีกครั้งหนึ่งในเขตตำบลค้างพลู อำเภอโนนไทย

 

พื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรและลำน้ำสาขา อุดมไปด้วยทรัพยากรเกลือ เป็นแหล่งที่ผลิตเกลือสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

บริเวณที่น้ำท่วมถึงในบางฤดูกาล เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำจะแห้ง เห็นเป็นผลึกเกลือสีขาวทั่วบริเวณ

 

สองฝั่งของลำน้ำที่กล่าวถึงนี้มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มและพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงบางฤดูกาล ซึ่งเหมาะต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะการทำนา อีกส่วนหนึ่งที่เป็นพื้นที่ที่มักมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนมีสภาพเป็นหนองบึง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งราวเดือนมกราคม-พฤษภาคม พื้นที่นี้จะแห้งและเกิดผลึกเกลือขาวโพลนอยู่ทั่วไป อันเป็นผลจากการสะสมของตะกอนเกลือในยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งพื้นที่แถบนี้เคยเป็นทะเลก่อนที่ผืนแผ่นดินอีสานจะยกตัวสูงขึ้นและน้ำทะเลเหือดแห้งลง แต่ยังหลงเหลือความเค็มแทรกอยู่ตามตะกอนดินและชั้นหินต่างๆ ผลึกเกลือที่เกิดขึ้นตามแหล่งน้ำและผืนดินเหล่านี้นับเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีค่าที่ผู้คนนับแต่อดีตได้เรียนรู้ในการทำให้เป็นเกลือบริสุทธิ์ ซึ่งยังคงหลงเหลือร่องรอยการทำเกลือแต่โบราณเป็นที่โนนอยู่อาศัยและโนนทำเกลือมากมาย เช่นในเขตตำบลด่านนอกพบโนนเกลือโบราณในแถบบ้านด่านนอกและบ้านพระหัวบึง เช่นเดียวกับในเขตบ้านวัง ตำบลบ้านวัง ที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกราว 10 กิโลเมตร พื้นที่ที่กล่าวมายังคงมีการทำเกลือสืบมาจนถึงปัจจุบัน

 

ลักษณะของโนนเกลือโบราณที่พบได้โดยทั่วไป

 

โนนพญามวย โนนเกลือโบราณ สภาพปัจจุบันถูกแวดล้อมด้วยนาเกลือยุคอุตสาหกรรม (ปรับปรุงจาก Google Earth)

 

แหล่งทำเกลือโบราณ โนนพญามวย

โนนเกลือโบราณอีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากบ้านวังไปทางตะวันออกราว 2 กิโลเมตร หากใช้ถนนหมายเลข 2068 (โคกกรวด-หนองสรวง) มุ่งหน้าไปทางตะวันออก โนนดังกล่าวจะอยู่ซ้ายมือ สามารถมองเห็นเป็นโนนสูงใหญ่ได้แต่ไกล เรียกกันว่า “โนนพญามวย” สภาพปัจจุบันมีลักษณะเป็นโนนสูง เส้นผ่าศูนย์กลางราว 70 เมตร มีความสูงของชั้นดินราว 4-6 เมตร โนนดังกล่าวถือว่าอยู่ห่างจากถนนเพียง 100 เมตร ส่วนทางทิศเหนือที่อยู่ห่างออกไปราว 500 เมตร จะเป็นตำแหน่งของลำห้วยค้างพลู ที่ไหลผ่านตามแนวตะวันตกสู่ตะวันออก

 

ลักษณะของโนนพญามวยที่มีความสูงราว 4-6 เมตร ปกคลุมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่

 

พื้นที่บางส่วนของโนนพญามวยถูกไถปรับพื้นที่จนกลายเป็นที่ราบสีขาวโพลน

 

สภาพโนนพญามวยในปัจจุบันมีร่องรอยถูกไถออกไปราว 1 ใน 4 ส่วน ซึ่งแต่เดิมคงมีขนาดที่กว้างใหญ่กว่านี้ จากร่องรอยของการไถตัดหน้าดินออกไป ทำให้เห็นเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินทั้งแบบมีลายเชือกทาบและแบบเรียบจำนวนมากปะปนอยู่ บ่งบอกถึงร่องรอยการทำกิจกรรมของผู้คนในอดีตที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน ในบทความเรื่อง เกลืออีสาน โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณปีที่ 18 ฉบับที่ 1  (มกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2535) ได้อธิบายสภาพของโนนพญามวยเอาไว้ นับแต่การมาสำรวจครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2526 และครั้งต่อๆ มา โนนแห่งนี้เมื่อแรกสำรวจยังมีสภาพสมบูรณ์ พื้นที่โดยรอบเป็นที่ลุ่มต่ำ หน้าฝนมีน้ำท่วมขัง ส่วนหน้าแล้งน้ำจะแห้งไปจนเกือบหมด นอกจากนี้ในเวลานั้นยังไม่มีสิ่งก่อสร้างใดเกิดขึ้นใกล้บริเวณโนนพญามวย เว้นแต่ร่องรอยการทำเกลือของชาวบ้าน และสามารถพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินอย่างหยาบ มีรอยไหม้ไฟได้ทั่วไป อีกทั้งยังพบเศษเถ้าถ่านที่เกิดจากกิจกรรมทำเกลือมาโดยตลอด

 

เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินลายเชือกทาบพบทั่วไปในบริเวณโนนพญามวย

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 18 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2535) ฉบับเกลืออีสาน  

 

ในอดีตการทำเกลือจะนำน้ำซึ่งมีความเค็มมาเทใส่รางไม้เจาะรู ภายในรางไม้ใส่ดินเอียด (หน้าดินซึ่งมีความเค็ม) ให้น้ำที่มีความเค็มได้ไหลผ่านดินที่มีความเค็มเหมือนกัน เพื่อเป็นการกรองน้ำให้ใสสะอาด น้ำเกลือที่ได้จะไหลลงสู่ภาชนะดินเผาที่นำมารองรับ จากนั้นนำไปต้มจนน้ำงวดเหลือแต่ผลึกเกลือติดอยู่ภายใน ซึ่งการนำเอาเกลือออกจากภาชนะดินเผานั้น จำเป็นต้องทุบให้แตก จึงพบเศษชิ้นส่วนภาชนะดินเผาอยู่โดยทั่วไปในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปการต้มเกลือจากภาชนะดินเผาได้เปลี่ยนไปใช้รางสังกะสีทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งคงเกิดขึ้นในช่วง 100 ปีมานี้ และยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ในปี พ.ศ. 2529 อาจารย์ศรีศักร ได้เดินทางมาสำรวจที่โนนพญามวยอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้พบว่าโนนถูกไถเพื่อนำดินไปถมถนนกว่าครึ่ง แต่หลักฐานที่พบเพิ่มเติมก็คือชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเคลือบเนื้อแกร่งแบบลพบุรี รวมถึงหินดุที่เอาไว้ใช้ดุนในการปั้นภาชนะดินเผา บ่งบอกว่าบนโนนแห่งนี้ยังมีการปั้นภาชนะใช้เอง และเก่าไปถึงสมัยลพบุรีหรือราวพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างน้อย

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อครั้งสำรวจแหล่งเกลืออีสานที่แอ่งโคราช ในปี พ.ศ. 2534 (ภาพโดย พิชญ์ เยาว์ภิรมย์)

 

โนนพญามวยที่ถูกไถออกไปบางส่วน มองเห็นชั้นดินและชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

การทำเกลือของชาวอีสานที่แต่เดิมทำในระดับครัวเรือนช่วงหน้าแล้ง หรือเพียง 3 เดือนต่อปีเท่านั้น แต่การมาเยือนโนนพญามวยของอาจารย์ศรีศักรอีกครั้งเมื่อราว พ.ศ. 2534 กลับพบความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ประการสำคัญคือมีโรงงานทำเกลือขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้กับโนนพญามวย อันมีกรรมวิธีต่างไปจากที่ชาวบ้านทำ กล่าวคือเป็นการทำเกลือในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งมีกำลังการผลิตตลอดทั้งปี ด้วยวิธีสูบน้ำเค็มซึ่งอยู่ใต้ดินขึ้นมาตากในแอ่งน้ำเกลือขนาดใหญ่ มีลักษณะเช่นเดียวกับการทำนาเกลือในเขตชายทะเล แต่ผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นคือทำให้ดินมีความเค็มจนไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลให้เจริญงอกงามได้ จากข้อสังเกตในครั้งนั้น ณ วันนี้การเกิดดินเค็มได้แผ่ขยายไปทั่วทุกหัวระแหง นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ยังปรากฏข่าวการทรุดตัวของผืนดินในบริเวณดังกล่าวรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งมีโรงงานผลิตเกลือขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จนเกิดเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน มีการประกาศให้ชะลอการสูบน้ำเค็มขึ้นมาทำเกลือ เพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดินให้เกิดความสมดุล แต่กระนั้นปัญหาดังกล่าวนี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ปัญหาดินเค็มและดินทรุดยังคงดำรงสืบเนื่องเรื่อยมา อันเป็นผลมาจากการผลิตเกลือจนเกินความสมดุลของธรรมชาติ

 

เมื่อมีโรงงานผลิตเกลือขนาดใหญ่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่โดยรอบมีความเค็มสูง รวมถึงปัญหาดินทรุดตัว

จนไม่สามารถเพาะปลูกพืชให้งอกงามได้ดังเดิม (ภาพจาก Google Street View) 

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ