แหล่งบันเทิงเริงรมย์จากภาพถ่ายเก่า
แวดวงเสวนา

แหล่งบันเทิงเริงรมย์จากภาพถ่ายเก่า

มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ วารสารเมืองโบราณ ชมรมสยามทัศน์ และหอศิลป์กรุงไทยได้ร่วมกันจัดกิจกรรมบางกอกศึกษา ครั้งที่ 9 เรื่อง “แกะรอยแหล่งบันเทิงเริงรมย์จากภาพถ่ายเก่า”  เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุมชั้น 2 หอศิลป์กรุงไทยถนนเยาวราช  

 

“แหล่งบันเทิงเริงรมย์” ถือว่าเป็นสีสันหนึ่งของความเป็นเมืองในทุกยุคสมัย ในบรรดาภาพถ่ายเก่าที่บันทึกภาพอดีตของกรุงเทพมหานครในแง่มุมต่างๆ ทั้งของช่างภาพชาวต่างประเทศและคนไทย มีภาพถ่ายจำนวนไม่น้อยที่บันทึกเรื่องราวของสถานที่บันเทิงเริงรมย์และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ  

 

2

โรงภาพยนตร์คิงส์ ย่านวังบูรพา ศูนย์รวมแหล่งบันเทิงในยุค 2500

 

คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านเยาวราช ได้บอกเล่าถึงสีสันของแหล่งบันเทิงเริงรมย์ในย่านเยาวราชว่ามีความคึกคักทั้งกลางวันและยามค่ำคืน ความเจริญรุ่งเรืองของย่านเยาวราช สะท้อนให้เห็นผ่านการสร้างอาคารตึกสูงตั้งแต่ 6-9 ชั้น ถือว่าเป็นตึกสูงแห่งแรกๆของกรุงเทพฯ และย่านเยาวราชในอดีตนั้นก็เป็นแหล่งรวมมหรสพ ไม่ว่าจะเป็นโรงงิ้ว โรงภาพยนตร์นับ 10 แห่ง เช่น คาเธ่ย์ ศรีเมือง เฉลิมบุรี เทียนกัวเทียน (ฟ้าเหนือฟ้า) เท็กซัส เป็นต้น จุดเด่นของโรงภาพยนตร์เหล่านี้คือ การทำหุ่นกระดาษเป็นตัวละครต่างๆ ติดตั้งไว้ที่ทางด้านหน้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งหุ่นกระดาษเหล่านี้ จะมีร้านทำโคมในเยาวราชเป็นผู้รับจ้างทำ กรรมวิธีทำเหมือนอย่างหุ่นยมบาลองค์ใหญ่ที่ใช้ในงานเทศกาลทิ้งกระจาด คือเป็นโครงไม้ไผ่ แปะด้วยกระดาษสา  

 

 

3

“นางงามตู้กระจก” ในสถานบริการ อาบ-อบ-นวด สมัยก่อน

 

คุณชาญณรงค์ หรือคุณบ๊อบ BKK วิทยากรอีกท่านหนึ่งได้เล่าถึงแหล่งบันเทิงและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ ในยุค 2500 เป็นต้นมา อาทิย่านวังบูรพาที่เจริญขึ้นเป็นศูนย์การค้าและแหล่งบันเทิงที่เลื่องชื่อของคนวัยหนุ่มสาวสมัยนั้น มีโรงภาพยนตร์ที่สวยงามและทันสมัยเกิดขึ้นถึง 3 แห่งด้วยกันคือ คิงส์ควีนส์ และแกรนด์ นอกจากนี้ยังมีแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนที่มีการแสดงประเภทฟลอร์โชว์ที่จะมีหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อยมาเต้นระบำ และร้าน Coffee Shop สำหรับผู้ใหญ่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายรวมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับสถานบริการแบบอาบ-อบ-นวด ที่เริ่มเกิดขึ้นในเวลานั้น  

 

1

บรรยากาศย่านเยาวราชในยามค่ำคืน ภาพถ่ายโดยนิตยสาร LIFE

 

ส่วนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของหนุ่มสาวยุคหลัง 2500 ได้แก่ เขาดินวนาหรือสวนสัตว์เขาดิน ตลาดนัดสนามหลวง รวมไปถึงงานแฟร์ที่มีการออกร้านต่างๆ ซึ่งงานที่เป็นที่รู้จักกันในสมัยก่อนคือ งานฉลองรัฐธรรมนูญหรืองานฤดูหนาว ที่ภายหลังมาจัดที่สวนลุมพินีก่อนจะยกเลิกไป ภายในงานหน่วยงานรัฐและเอกชนจะมาออกร้าน ซึ่งแต่ละซุ้มจะมีการออกแบบและตบแต่งอย่างสวยงามในลักษณะแบบ Pavilion เหมือนอย่างที่จัดแสดงตามงาน Expo ใหญ่ๆนอกจากนี้ภายในงานจะมีมหรสพมาแสดงด้วยไม่ว่าจะเป็น ลิเกรำวง เป็นต้น


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น