“เตาบ้านเขียบ” เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใหญ่โตแห่งหนึ่งของภาคอีสาน อาจารย์สงวน รอดบุญ ได้ทำการสำรวจและศึกษาแหล่งเครื่องปั้นดินเผาเตาบ้านเขียบ และนำเสนอเป็นประเด็นที่น่าสนใจไว้ในบทความเรื่อง เครื่องปั้นดินเผาจาก “เตาบ้านเขียบ” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2522 - มกราคม พ.ศ. 2523 หน้า 79-86
แหล่งเตาบ้านเขียบตั้งอยู่ที่บ้านเขียบ ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม บริเวณที่เป็นที่ตั้งของแหล่งเตาเดิมนั้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดและหมู่บ้านเขียบ ซึ่งเป็นเนินดินกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ทั้งหมดราว 100 ไร่ เป็นเนินดินที่น้ำท่วมไม่ถึง รอบบริเวณมีหนองบึงกว้างใหญ่ วัดบ้านเขียบ มีชื่อเป็นทางการว่า “วัดพุทธไชยาราม” ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งเตาเผาโบราณ
“... ในปี พ.ศ. 2513 ทางวัดได้ทำการปราบพื้นที่ใหม่ให้เสมอกันโดยขุดดินลึกลงไปจากเนินดินเดิมประมาณ 2-3 เมตร พบแต่เศษเครื่องปั้นดินเผามากมาย สำหรับเตาเผานั้นถูกทำลายไปนานแล้ว ยังคงเหลือแต่ดินก่อผนังเตาเผาหล่นเกลื่อนอยู่ ทางวัดได้เก็บมาวางเรียงไว้ตามขอบถนน และยังมีเนินดินซึ่งมิได้ถูกทำลายอีกเพียงเล็กน้อย ซึ่งแสดงให้เห็นระดับดินดั้งเดิมของเนินดินอย่างชัดเจน…”
โบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบในบริเวณนี้ เช่น หม้อไห กะลอทำด้วยดินเผาสำหรับผูกคอวัว โครงกระดูกที่เคยขุดพบได้บริเวณเนินข้างวัด พร้อมกับวัตถุอื่นๆ ผู้เขียนยังได้ทำการสำรวจภายในหมู่บ้านเขียบ พบหลักฐานเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ชาวบ้านขุดพบและยังเก็บไว้ มีทั้งไหขนาดย่อมๆ ไหคอสูง-ปากกว้าง และกระปุกขนาดเล็กๆ นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์เอกชน วัด และสถานศึกษาต่างๆ ที่เก็บรวบรวมเครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาบ้านเขียบเอาไว้
“... ที่วัดมหาชัย อยู่ภายในตัวเมืองจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเจ้าคุณอริยานุวัตร เป็นผู้รวบรวมศิลปวัตถุของภาคอีสานไว้มากมาย… ได้พบเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเข้าใจว่าผลิตจากเตาบ้านเขียบอีกหลายชิ้น เช่น แป้น้ำหรือแป้ใส่เหล้า มีความสูง 28 ซม. มีหู 4 หู สำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้ในการหิ้ว ไหมีความสูง 35 ซม. คอสูงปากกว้าง มีหูเป็นตุ่ม 2 หู และกระปุกดินเผาขนาดย่อมอีก 3-4 ใบ นอกนั้นเป็นไหขอม ซึ่งพบอยู่มากมายในภาคอีสาน มีทรวดทรงเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นไหเคลือบเหล็ก (Iron glaze) ด้วยสีน้ำตาลไหม้”
จากการศึกษาทั้งเศษเครื่องปั้นดินเผาที่แตกหักและที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ อาจารย์สงวนได้สรุปว่า แหล่งเตาบ้านเขียบมีการผลิตทั้งเครื่องดินและเครื่องหิน (ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง) โดยแยกได้หลายประเภท ดังนี้ ภาชนะสีดินแดง ภาชนะสีนวล (สีเหลืองอมน้ำตาล) ภาชนะสีเทาอมดำ ภาชนะสีขาว (เคลือบขุ่น) ซึ่งเป็นการเคลือบขี้เถ้า มักพบเป็นภาชนะขนาดเล็กๆ เช่น กระปุก โถมีฝาปิด ส่วนการประดับตกแต่ง นิยมใช้การปั้นแปะ เช่น การประดิษฐ์หูของไหเป็นแบบต่างๆ เช่น ตุ่มกลม รูปสัตว์ หรือทำรู สำหรับร้อยเชือกเอาไว้หิ้วหรือแขวน นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคลายขูดขีด (incised decoration) และลายกดประทับ (stamped) สำหรับตกแต่งในส่วนบ่าของหม้อไห ส่วนรูปทรงของเครื่องปั้นดินเผาเตาบ้านเขียบมีหลากหลายแบบ ซึ่งออกแบบตามประโยชน์ใช้สอยได้อย่างสวยงามและมีอิสระ
อ่านบทความฉบับเต็มได้ใน “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิก วารสารเมืองโบราณปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (yumpu.com)