รอยลาวในลุ่มน้ำป่าสัก
แวดวงเสวนา

รอยลาวในลุ่มน้ำป่าสัก

 

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณได้จัดกิจกรรม “รอยลาวในลุ่มน้ำป่าสัก” ค้นหาร่องรอยลาวยวน-ลาวเวียงในสระบุรี-อยุธยา ภายใต้โครงการ “เข้าใจบ้าน ล้านถิ่น” ครั้งที่ 1 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยได้เก็บภาพบรรยากาศและสาระการเรียนรู้ของผู้ร่วมเดินทางที่ไม่ย่อท้อต่อแสงแดดจัดจ้ามาฝากทุกท่าน

 

เริ่มออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้าตรู่ มุ่งสู่ปลายทางที่จังหวัดสระบุรี คุณสุดารา สุจฉายา หัวหน้ากองบรรณาธิการ และคุณณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง กองบรรณาธิการ ผู้รับหน้าที่เป็นวิทยากรหลักในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการฉายภาพภูมินิเวศตลอดเส้นทางตั้งแต่กรุงเทพฯ  ปทุมธานี กระทั่งเข้าสู่สระบุรี ผ่านการชวนชมทิวทัศน์ของท้องทุ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางและบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมือง

 

เส้นทางช่วงต้นวิทยากรได้ปูพื้นความเข้าใจถึงสภาพพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยา ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่ภูเขา พื้นที่ลาด และที่ราบรูปพัดทางด้านตะวันตกและตะวันออก ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของผู้คน และพัฒนาการทางสังคมเป็นบ้านเป็นเมืองมาอย่างยาวนาน สำหรับลุ่มน้ำป่าสักที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการเดินทางครั้งนี้ คุณณัฐวิทย์ได้ให้ข้อมูลถึงต้นกำเนิดของสายน้ำและความสัมพันธ์กับเมืองสระบุรีว่า แม่น้ำป่าสักมีต้นกำเนิดอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ในจังหวัดเลย ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ตามแนวเหนือใต้จนเข้าสู่พื้นที่จังหวัดสระบุรีทางฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นเทือกเขาสลับกับที่ราบ ก่อนจะไหลเปลี่ยนทิศทางสู่พื้นที่ราบลุ่มทางฝั่งตะวันตก จากนั้นไหลลงใต้รวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายเกาะเมืองอยุธยา ช่วงที่ไหลผ่านกลุ่มเขามายังที่ราบลุ่มฝั่งตะวันตกในจังหวัดสระบุรี เป็นบริเวณเดียวกับที่มีลำน้ำธรรมชาติจากกลุ่มเขาทางตะวันออกไหลมาสมทบ 3 สาย รวมกันเป็นคลองเพรียว แล้วจึงมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักบริเวณบ้านปากเพรียว อันเป็นตัวจังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน บริเวณนี้เป็นที่ดอนใกล้เขาสูง ก่อนจะลาดเทไปทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ในเขตอำเภอเสาไห้และอำเภอหนองแซงตามลำดับ 

 

คุณสุดารา สุจฉายา และคุณณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง วิทยากรในครั้งนี้

 

ระหว่างการเดินทางวิทยากรยังชี้ชวนให้สำรวจภูมิประเทศที่สำคัญคือกลุ่มเขาอันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำน้อยใหญ่หลายสายบนที่ราบโดยรอบ ความสำคัญของพื้นที่บริเวณนี้สะท้อนอยู่ในหลักฐานทางโบราณคดีและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากทั้งแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ ตำนาน พงศาวดาร บันทึกการเดินทาง วรรณกรรม ในเอกสารหลายยุคหลากสมัย ซึ่งวิทยากรได้หยิบยกมาเล่าโดยเชิญชวนให้เราสังเกตสภาพพื้นที่เครือข่ายลำน้ำ การกระจายตัวของชุมชนและวัดวาอาราม ซึ่งสามารถเชื่อมร้อยกับบริบทเหตุการณ์ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น ลำน้ำป่าสักกับเส้นทางการคมนาคม การตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการความเป็นบ้านเมืองในดินแดนแถบนี้ ชื่อบ้านนามเมือง คลองพระแก้วกับข้อสันนิษฐานถึงเส้นทางการเดินทัพและอัญเชิญพระแก้วมรกต เขาปัถวีภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏทั้งภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์และรอยพระพุทธรูป อันเป็นที่มาของการนับถือสักการะพระพุทธฉาย เขาพระพุทธบาทและเส้นทางการจาริกแสวงบุญตั้งแต่กษัตริย์ ขุนนาง กระทั่งสามัญชน ซึ่งนำไปสู่การจำลองรอยพระพุทธบาทไว้ในวัดสำคัญหลายๆ แห่งในสมัยรัชกาลที่ 3 รวมถึงข้อสันนิษฐานเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของตัวเมืองสระบุรีเก่าที่เสาไห้ก่อนย้ายมาอยู่ที่บ้านปากเพรียวในปัจจุบัน

 

แผนที่เส้นทางลำน้ำในที่ราบลุ่มภาคกลาง 

 

 

จากทิวทัศน์สองข้างทางที่บอกเล่ามิติทางภูมิวัฒนธรรม วิทยากรได้ขยับมาสู่เรื่องราวของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ให้ความสนใจ เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในเมืองไทยที่กระจายตัวอยู่ในที่ต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการทำสงครามและการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คน คำว่า “ลาว” ในปัจจุบัน ที่หมายถึงชื่อประเทศและผู้คนริมฝั่งโขงนั้น ในอดีตมีนิยามที่แตกต่างหลากหลาย และมีการขยับขับเคลื่อนไปของความหมายตามบริบทในแต่ละช่วงเวลา จิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ลาว” เป็นคำนำหน้านามหมายถึงคน เช่นเดียวกับคำว่า “ไทหรือไต” แต่ลาวมีลักษณะที่ยกย่องหรือสะท้อนกลุ่มคนที่มีอารยะกว่า เช่นชื่อของกษัตริย์อาณาจักรเงินยางใช้คำว่า ลาวจก ลาวเก๊าแก้วมาเมือง ลาวเมิง เป็นต้น แต่เมื่อถึงสมัยพญาเม็งราย เลิกใช้คำว่า “ลาว” เปลี่ยนมาใช้คำนำหน้าเป็น “พญา”

 

ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ กลุ่มคนภาคกลางเรียกคนเหนือหรืออาณาจักรล้านนาว่า “ลาวยวน” “ลาวพุงดำ” และเรียกกลุ่มคนริมฝั่งโขงหรือในอาณาจักรล้านช้างว่า “ลาวพุงขาว” โดยคำว่าลาวพุงดำและลาวพุงขาวนี้เรียกจากการจำแนกคนสองกลุ่มจากรอยสัก ซึ่งคนทางเหนือนิยมสักลายตามร่างกาย โดยเฉพาะช่วงเอวลงมาถึงต้นขาจึงเรียกว่า ลาวพุงดำ อีกกรณีคือเรียกตามถิ่นฐานบ้านเมือง เช่นคำเรียก “ลาวพวน” สำหรับคนที่อพยพมาจากเมืองพวน เชียงขวาง และ “ลาวเวียง” สำหรับกลุ่มที่มาจากเมืองเวียงจันทน์ เป็นต้น ในยุคแรกตั้งมณฑลเทศาภิบาลยังมีการเรียกกลุ่มคนตามหัวเมืองรอบนอกว่า “ลาว” หัวเมืองล้านนาเรียกว่ามณฑลลาวเฉียง หัวเมืองอีสานตอนบนเรียกว่ามณฑลลาวพวน หัวเมืองอีสานตอนล่างเรียกว่ามณฑลลาวกาว แต่ต่อมาหลังปี พ.ศ. 2442 ได้มีการปรับเปลี่ยนคำเรียกเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับผู้คนในเวลานั้นให้เรียก “ชาติไทยในบังคับสยาม” ซึ่งการเรียกกลุ่มคนว่า “ลาว” ได้ลดน้อยลงในช่วงเวลานี้

 

บริเวณพื้นที่ราบลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างพบร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณเพิงผาบนที่สูงทางฝั่งตะวันออก ก่อนกระจายตัวลงสู่พื้นราบในยุคต้นประวัติศาสตร์ มีการพบหลักฐานเมืองท่าสมัยทวารวดีในเขตอำเภอหนองแซง และต่อมาพบหลักฐานที่สะท้อนถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำป่าสักอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์มีการกวาดต้อนผู้คนต่างถิ่นเข้ามาไว้ในพื้นที่แถบนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเมืองสระบุรีที่เป็นหัวเมืองชั้นใน ซึ่งมีหน้าที่สั่งสมกำลังไพร่พลเพื่อเป็นแรงงานให้กับราชสำนัก จึงมีผู้คนอพยพเข้ามาหลายระลอกเมื่อมีสงครามหรือเหตุสำคัญทางการเมืองเกิดขึ้น กลุ่มสำคัญที่อพยพเข้ามาจำนวนมากในยุคนี้ก็คือ “ลาว”

 

หลักฐานที่แสดงถึงการอพยพหนีภัยสงครามเข้ามาของชาวลาวเวียงจันทน์ในสมัยกรุงธนบุรีมีปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี และใน ตำนานเมืองสระบุรี โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นอกจากนี้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ก็มีการกล่าวถึงใจความเก่าสมัยกรุงธนบุรีว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในอาณาจักรล้านช้าง พระเจ้ากรุงธนบุรีมีรับสั่งให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์คุมกำลังคนไปยึดนครเวียงจันทน์  โดยครั้งนั้นกวาดครัวลาวกว่าหมื่นคนมาไว้ยังเมืองสระบุรี

 

นอกจากกลุ่ม “ลาวเวียง” ข้างต้น รอยลาวอีกกลุ่มในลุ่มน้ำป่าสักคือ “ลาวยวน” ในพระราชพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 1 กล่าวถึงเหตุการณ์หลวงเทพหริรักษ์ร่วมกับกองทัพจากหัวเมืองเหนือทำการขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงแสนจนเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ. 2347 สงครามดังกล่าวได้มีการกวาดครัวชาวยวนเชียงแสนกว่า 23,000 คน แบ่งไว้ตามหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองสระบุรี เรื่องราวการอพยพของกลุ่มคนยวนจากเชียงแสนในสมัยรัชกาลที่ 1 ดังกล่าวยังได้ถูกรวบรวมไว้เป็นตำนานท้องถิ่นโดยอาจารย์พิเนตร น้อยพุทธา อดีตอาจารย์สอนภาษาไทย โรงเรียนเสาไห้ โดยกล่าวถึงผู้นำการอพยพครั้งนั้น ได้แก่ ปู่เจ้าฟ้า ปู่สิบต๊ะ และปู่คัมภีระ ที่พาผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่ 1 บ้านโบราณ หมู่ 8 บ้านไผ่ล้อม หมู่ 2 และ 3 บ้านเจ้าฟ้า และหมู่ 4 ถึงหมู่ 7 บ้านสวนดอกไม้

 

ตัวอย่างตระกูลสำคัญที่วิทยากรหยิบยกมาเล่า เช่น ปู่คัมภีระ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสระบุรีในรัชกาลที่ 2  มีหน้าที่ดูแลกองโคหลวง ซึ่งเป็นกองพาหนะขนถ่ายสินค้าหลวงตามเส้นทางระหว่างสระบุรีผ่านเทือกเขาดงพญาไฟไปยังนครราชสีมา ซึ่งเป็นหัวเมืองรวมส่วยสินค้าทางฝั่งอีสาน ตำนานของตระกูลดังกล่าวสัมพันธ์กับการกระจายตัวของคนยวนระหว่างเมืองสระบุรีกับนครราชสีมา ปัจจุบันยังสามารถพบคนเชื้อสายยวนนามสกุลคัมภิรานนท์อยู่บนเส้นทางดังกล่าว เช่น บ้านจันทึก บ้านสีคิ้วในเขตจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

 

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้มีลาวกลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนมาก พระราชพงศาวดารกล่าวถึงศึกสงครามระหว่างสยามกับเวียงจันทน์ ซึ่งมีผลให้มีการกวาดครัวลาวเวียงจันทน์และลาวหัวเมืองใกล้เคียงมาไว้ยังหัวเมืองชั้นใน รวมถึงเมืองสระบุรีเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2380 จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 กล่าวถึงการรวบรวมครัวลาวกว่า 1,770 คน ประกอบด้วย ลาวพวน ลาวเวียงจันทน์ และลาวเมืองท่าสารมาไว้ยังเมืองปราจีนบุรี ส่วนครัวลาวเมืองเวียงครังและเมืองพันพร้าวให้ส่งมาไว้ยังเมืองสระบุรี ส่งผลให้สระบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นหัวเมืองชั้นในที่มีครัวลาวเวียงและลาวยวนเชียงแสนตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมากที่สุด

 

สำหรับอยุธยาซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่บนลุ่มน้ำป่าสักและเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการเดินทางครั้งนี้นั้น มีปรากฏหลักฐานการตั้งหลักแหล่งของครัวลาวในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 ว่า ก่อนเหตุการณ์สงครามระหว่างสยามกับเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2369 ได้มีครัวลาวอาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำป่าสักอยู่ก่อนแล้ว และหลังเหตุการณ์สงครามสงบลง ได้มีการนำครัวลาวเวียงจันทน์ ลาวพวน และลาวทรงดำที่ถูกกวาดต้อนไปมาด้วยเหตุสงครามมาไว้ยังบ้านอรัญญิก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นเขตติดต่อกับอำเภอเสาไห้และอำเภอหนองแซง สระบุรี

 

ในลุ่มน้ำป่าสักชุมชนลาวนิยมอาศัยอยู่ริมลำน้ำปะปนกับคนไทยพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่แต่เดิม รวมถึงคนจีนและคนมอญที่ขับเคลื่อนการค้าในพื้นที่ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนลาวในเขตสระบุรี อยุธยาดังที่กล่าวมากระทั่งถึงปัจจุบันจึงยังปรากฏวิถีวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ผ่านประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องการตั้งถิ่นฐานและการอพยพ สำเนียงภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี อาหารการกิน ตลอดจนร่องรอยที่สะท้อนอยู่ในงานศิลปะและสถาปัตยกรรม ทั้งบ้านเรือน วัดวาอาราม และจิตรกรรมฝาผนังที่เราจะได้ไปเยี่ยมชมกันครานี้

 

วัดจันทบุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี คือหมุดหมายแรกของการเดินทางครั้งนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน แต่ด้วยชื่อของวัดซึ่งพ้องกับชื่อ “จันทบุรีศรีศัตนาค” หรือนครเวียงจันทน์ จึงนำไปสู่ข้อสันนิษฐานถึงความเชื่อมโยงกับการเทครัวชาวลาวเวียงจันทน์เข้ามาเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานการตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองสระบุรีของชาวลาว ซึ่งอพยพมาจากเวียงจันทน์ในรัชกาลที่1 และรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้โดยรอบวัดจันทบุรีนี้ยังเคยเป็นตัวเมืองสระบุรีเก่ามาก่อนที่จะย้ายตัวเมืองไปยังบ้านปากเพรียว

 

ผู้ร่วมเดินทางถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันที่ด้านหน้าอุโบสถเก่าวัดจันทบุรี 

 

ข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ชื่อวัดยังพ้องกับพระนามเจ้านายเชื้อสายเจ้าลาวคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี พระองค์เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุก ซึ่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ที่ต่อมาเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 2 ได้รับอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

 

สถาปัตยกรรมที่สำคัญภายในวัดจันทบุรีคืออุโบสถเก่า ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ ไม่ทำช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนหน้าบันก่ออิฐฉาบปูนประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้และสัตว์ในเทพนิยาย เช่น ตัวอรหัน สัตว์ในป่าหิมพานต์ที่มีลักษณะครึ่งคนครึ่งนก นอกจากนี้ยังประดับด้วยถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ เช่นเดียวกับกรอบซุ้มประตูและหน้าต่างที่ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นและถ้วยชามกระเบื้องเคลือบเช่นกัน

 

อุโบสถเก่าวัดจันทบุรี สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นและถ้วยชามกระเบื้องเคลือบ

 

ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังมีเค้าอย่างงานช่างสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จากภาพอาคารต่างๆ ที่นิยมทำลักษณะอย่างเก๋งจีน รวมไปถึงลวดลายประดับอื่นๆ ที่สะท้อนอิทธิพลจีน เช่น ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเป็นภาพผ้าม่านที่ประดับด้วยดอกไม้และผลไม้มงคล เช่น ผลทับทิม พวงองุ่น  

 

ภายในอุโบสถหลังเก่า วัดจันทบุรี 

 

ส่วนผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพฉากมารผจญและพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ส่วนผนังด้านข้างตอนบนเหนือช่องหน้าต่างเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมจำนวน 1 แถว นั่งประนมหัตถ์หันหน้าเข้าสักการะพระพุทธรูปประธาน ระหว่างเทพแต่ละองค์คั่นด้วยพุ่มข้าวบิณฑ์ในลักษณะเครื่องบูชา พื้นหลังเขียนลายดอกไม้ร่วง ซึ่งแสดงถึงฝนดอกไม้ทิพย์ที่โปรยปรายลงมาในเหตุการณ์เทพชุมนุมตามที่ปรากฏในพุทธประวัติ ถัดขึ้นไปด้านบนเขียนเป็นรูปเฟื่องอุบะดอกไม้ที่วิจิตรงดงาม

 

ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านหน้าพระพุทธรูปประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์และตอนมารผจญ

 

ส่วนผนังระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเป็นภาพเล่าเรื่อง ทางด้านขวาของพระพุทธรูปประธานเขียนภาพทศชาติชาดก 5 พระชาติแรก ได้แก่ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก และมโหสถชาดก ส่วนฝั่งด้านซ้ายของพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ ซึ่งในภาพมีการสอดแทรก เรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนท้องถิ่น ทั้งรูปแบบเครื่องแต่งกายและบ้านเรือน ซึ่งละหม้ายคล้ายกลุ่มยวน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขบคิดกันต่อไป โดยในส่วนของจิตรกรรมฝาผนังคุณอภิญญา นนท์นาท กองบรรณาธิการ รับหน้าที่เป็นวิทยากรอีกท่านที่เข้ามาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะกับทุกท่านตลอดรายการ นอกจากนี้ยังมีคุณครูพรทิพย์ สภาพสวัสดิ์ ครูประจำโรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์) ซึ่งเป็นคนในพื้นที่มาร่วมบอกเล่าถึงวิถีชีวิตและสภาพปัจจุบันของกลุ่มคนลาวในลุ่มน้ำป่าสัก

 

จุดหมายต่อไปของเราคือ กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าบ้านต้นตาล ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี โดยมีคุณพยอม สุขเกษม มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาการทอผ้าของหญิงสาวกลุ่มไทยวนหรือลาวยวน ซึ่งชาวคณะพากันซักถามด้วยความสนใจใคร่รู้ พร้อมกับการซื้อหาผลิตภัณฑ์ผ้าทอซึ่งปัจจุบันผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ้านุ่ง กระเป๋า ย่าม ผ้าคลุมไหล่ พวงกุญแจ และที่ตัดเป็นชุดสำเร็จรูปก็มี

 

 

เรียนรู้เรื่องผ้าทอและจับจ่ายสินค้าที่ระลึกภายในศูนย์กลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าบ้านต้นตาล

 

ความรื่นรมย์ในการจับจ่ายยังสามารถดำเนินต่อไปที่ตลาดน้ำโบราณบ้านต้นตาลซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกัน กลุ่มทอผ้าและตลาดตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้านที่มีต้นตาลมาก มีประวัติว่าเป็นบ้านของกลุ่มยวนจากเชียงแสนที่ปัจจุบันเรียกตัวเองเป็นไทยวน ซึ่งยังคงอัตลักษณ์และนำเสนอผ่านสินค้าต่างๆ เช่น การแสดงพื้นถิ่น อาหารถิ่นแบบทางล้านนา เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีขนมโบราณต่างๆ เช่น ขนมกง ตลอดจนผักสด ผลไม้ และเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ  จากตลาดต้นตาลเราเดินทางต่อไปยังวัดสมุหประดิษฐาราม ระหว่างทางนั้นรถจะผ่านแหล่งย่านคนยวน ซึ่งนอกจากบ้านต้นตาลแล้วยังมีบ้านท่าช้าง บ้านเขาแก้ว บ้านพระเยาว์ บ้านปากบาง บ้านยาง เป็นต้น

 

วัดสมุหประดิษฐารามตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เป็นหนึ่งในสามพระอารามหลวงของจังหวัดสระบุรี ถือเป็นวัดสำคัญที่ในสมัยหนึ่งเคยใช้เป็นสถานที่จัดพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเดิมวัดแห่งนี้ชื่อ “วัดไผ่จ้อก้อ” ซึ่งคำว่า “จ้อก้อ” เป็นคำลาวแปลว่า เตี้ยๆ ไม่สูงมาก ต่อมาเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) สมุหนายกในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มาสร้างพระอาราม และน้อมเกล้าถวายแด่รัชกาลที่ 3 จึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดสมุหประดิษฐาราม ต่อมามีการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าสุภัทรายุวดี พร้อมทั้งได้สร้างหมู่กุฏิและจัดตั้งโรงเรียนขึ้นด้วย

 

อุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้  

 

อาคารอุโบสถหันหน้าลงสู่แม่น้ำป่าสัก หน้าบันแบ่งเป็น 2 ส่วน ประดับลวดลายปูนปั้นดอกพุดตานใบเทศ ล้อมรอบตราสัญลักษณ์ในกรอบรูปวงกลม โดยหน้าบันหลักส่วนบนทำเป็นตราประจำรัชกาลที่ 3 ส่วนหน้าบันชั้นลดทำเป็นตราราชสีห์ ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก ส่วนบานประตูเขียน  ลายรดน้ำรูปเซี่ยวกางหรือทวารบาลแบบจีน ยืนถือง้าวเหยียบบนหลังสิงห์ ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามไม่แพ้งานสถาปัตยกรรมภายนอก ตามประวัติวัดกล่าวว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ เขียนเป็นภาพพระมาลัยโปรดสัตว์นรกที่ผนังด้านหลังพระประธานและเรื่องพระสมุทรโฆษและหลวิชัย-คาวีที่ผนังด้านซ้ายและขวา ยังพบว่ามีภาพวิถีชีวิตชาวบ้านและประเพณีท้องถิ่นที่น่าสนใจสอดแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในสระบุรี เช่น ภาพการแห่บั้งไฟขอฝน ซึ่งเป็นประเพณีของกลุ่มลาว ในภาพขบวนแห่มีการเล่นแคน ภาพประเพณีแห่กระทงเสียหัวสะเดาะเคราะห์ ส่วนภาพชาวบ้านนั้น หากเป็นหญิงก็นุ่งซิ่นเกล้ามวยผมอย่างคนยวน หากเป็นชายก็มีที่วาดเป็นลาวพุงดำคือมีรอยสักตามต้นขา เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีภาพวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศของสระบุรีที่มีป่าเขาและอยู่ในเส้นทางการค้าทางบก  เช่น พรานป่าล่าสัตว์ ขบวนพ่อค้าวัวต่าง เป็นต้น

 

ภายในอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม 

 

"พรานล่าเนื้อ" ภาพวิถีชีวิตที่สอดแทรกอยู่ในภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม 

 

บริเวณด้านข้างอุโบสถยังมีเจดีย์ทรงระฆังองค์ใหญ่ ซึ่งเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของมารดา ส่วนอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมและหมู่กุฏิโบราณล้วนสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 สะท้อนถึงความสำคัญของวัดแห่งนี้และจังหวัดสระบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์

 

ผู้ร่วมเดินทางถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกันที่ด้านหน้าอุโบสถวัดสมุหประดิษฐาราม

 

หลังจากร่วมรับประทานอาหารกลางวันเรียบร้อยแล้ว ภาคบ่ายเราเดินทางมุ่งหน้าสู่เขตจังหวัดอยุธยาเพื่อตามร่องรอยลาวเวียงในลุ่มน้ำป่าสัก โดยหมุดหมายแรกที่แวะเยี่ยมชมคือ วัดใหญ่เทพนิมิตร์ ตำบลสามไถ อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้เดิมชาวบ้านเรียก “วัดใหญ่” ต่อมาได้สร้อยนามวัดภายหลัง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก จุดเด่นแรกที่จะสะดุดตาทุกท่านคือธาตุลาวอีสานขนาดใหญ่ที่สุดในเขตอยุธยา-สระบุรี รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม ซึ่งเป็นพระธาตุที่ชาวลาวอีสานให้ความศรัทธา ซึ่งชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงวัดใหญ่เทพนิมิตร์ ในอดีตเป็นกลุ่มคนพูดภาษาลาวเวียงจันทน์ เช่น บ้านสามไถ บ้านโคกมะขวิด บ้านต้นโพธิ์

 

ธาตุลาวอีสานขนาดใหญ่ที่วัดใหญ่เทพนิมิตร์

 

"โปง" หรือระฆังไม้ 

 

นอกจากพระธาตุแล้ว ภายในวัดยังมีสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่  ระฆังไม้หรือ “โปง” ซึ่งพบมากในภาคอีสาน เป็นสิ่งยืนยันถึงอัตลักษณ์ความเป็นลาวในพื้นที่แถบนี้ ส่วนอุโบสถภายในมีงานจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งน่าเสียดายที่ความชื้นทำให้ภาพหลุดร่อนไปมาก แต่ส่วนที่หลงเหลือก็ยังคงความงดงามให้เราได้ชื่นชมไปกับฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพจิตรกรรมเขียนเป็นเรื่องรามเกียรติ์ เทพชุมนุม ส่วนด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนเป็นภาพเจดีย์จุฬามณีและพระมาลัย จากรูปแบบและฝีมือช่างสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลงานของช่างเขียนที่มีความสามารถและความชำนาญในงานเทคนิคจิตรกรรมชั้นสูง โดยเฉพาะภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์ ช่างอาจเคยเห็นหรือเคยทำงานเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดารามมาแล้ว เพราะมีองค์ประกอบภาพและเค้าโครงที่คล้ายคลึงกัน ส่วนหน้าบันพระอุโบสถประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ฝีมือช่างท้องถิ่น ส่วนหน้าบันด้านบนทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค แวดล้อมด้วยลายกระหนกเครือเถา ส่วนช่วงล่างเป็นภาพทศชาติชาดก โดยช่างเลือกฉากสำคัญของแต่ละเรื่องนำมาจัดวางไว้ด้วยกัน

 

 

ภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ในอุโบสถวัดใหญ่เทพนิมิตร์

 

จากวัดใหญ่เทพนิมิตร์เราเดินทางต่อไปที่ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น วัดมเหยงค์ ชุมชนบ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวช่างตีเหล็ก ตีมีด วิถีอาชีพเก่าแก่ของชาติพันธุ์ลาวในอดีตถึงปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรมนี้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการตีเหล็ก ตีมีด รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับวิถีเกษตรกรรม โดยมีพระปรีชา พุทธาโร (หลวงลุงเปี๊ยก) และวิทยากรท้องถิ่นมาช่วยให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนกับทุกท่าน

 

 

พระปรีชา พุทธาโร หรือหลวงลุงเปี๊ยก  วิทยากรศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น วัดมเหยงค์

 

บ้านไผ่หนองเป็นชุมชนชาวลาวเวียงจันทน์ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ลาวเวียงกลุ่มนี้เป็นช่างฝีมือประเภทช่างทำทองกับช่างตีเหล็ก สมัยต่อมาอาชีพช่างทำทองค่อยๆ เลือนหายไป คงเหลือแต่อาชีพช่างตีเหล็กที่ยังได้รับการสืบทอดส่งต่อภูมิปัญญาความรู้มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนบ้านอรัญญิกที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นแหล่งตีเหล็กตีมีดมาแต่ดั้งเดิมนั้น ได้รับคำอธิบายเรื่องนี้ว่าสมัยก่อนชาวบ้านจะนำมีดที่ผลิตได้ไปขายที่บ้านอรัญญิก ซึ่งเป็นชุมทางการค้าสำคัญในย่านและอยู่ไม่ไกลกันนัก เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมมากขึ้น คนทั่วไปต่างพากันเรียกมีดที่ซื้อจากบ้านอรัญญิกด้วยชื่อติดปากว่า "มีดอรัญญิก" ตามแหล่งที่ขาย และเพื่อทดสอบความคมและคุณภาพการใช้งาน ทางทีมงานจึงได้จัดโปรแกรมเลือกชมและเลือกซื้อมีดอรัญญิกได้ตามอัธยาศัยที่ร้านวินัยรวยเจริญ เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้

 

เราปิดท้ายการเดินทางในวันนี้ที่วัดพระนอน ตำบลพระนอน อำเภอนครหลวง ซึ่งมีโบราณสถานที่สะท้อนถึงรอยลาวในลุ่มน้ำป่าสัก คุณณัฐวิทย์ให้ข้อมูลว่าผู้คนบริเวณนี้พบวัดร้างสมัยอยุธยา ซึ่งหลงเหลือเพียงซึ่งพบวิหารขนาดยาวและชิ้นส่วนพระพุทธรูปนอน ต่อมาจึงมีการสร้างวัดขึ้นอีกฝั่งถนนติดแม่น้ำป่าสักเรียกว่า วัดพระนอน ภายในวัดมีธาตุแบบอีสาน ฐานแปดเหลี่ยมรูปแบบคล้ายกับพระธาตุดำที่นครหลวงเวียงจันทน์ นอกจากนี้อาคารสี่เหลี่ยมขนาดเล็กแบบที่ทางอีสานเรียกว่า “อูบมุง”

 

ปิดท้ายการเดินทางในครั้งนี้ที่วัดพระนอนลาว ตำบลพระนอน อำเภอนครหลวง

 

การเดินทางในครั้งนี้ นอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังเต็มอิ่มไปด้วยสาระความรู้เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ลาวในลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งยังปรากฏร่องรอยให้สืบค้นหาในปัจจุบัน ทางกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณขอขอบพระคุณทุกท่านที่ร่วมเดินทางทัศนศึกษาจรไปกับเราในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พบกับทุกท่านในโอกาสต่อๆ ไป  

 

รวมภาพประทับใจจากกิจกรรม "รอยลาวในลุ่มน้ำป่าสัก"  ทาง Facebook : Muang Boran Journal

คลิก รวมภาพกิจกรรม "รอยลาวในลุ่มน้ำป่าสัก"


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ