“...ในฐานะนักมานุษยวิทยา ข้าพเจ้าไม่อาจยอมรับภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้มว่าเป็นเพียงภาพศิลปะถ้ำได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ข้าพเจ้าให้ความสำคัญกับผาแต้มอย่างยิ่งในฐานะแหล่งภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โตที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งหนึ่ง ผาแต้มไม่ใช่แหล่งศิลปะถ้ำ หากเป็นแหล่งพิธีกรรมในฤดูเทศกาลในรอบปีของกลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งอาศัยอยู่บนที่สูงเชิงเขาภูพานและบริเวณชายแม่น้ำโขง ตั้งแต่อำเภอโขงเจียมไปจนถึงอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เลยทีเดียว มีอายุราว 3,000-2,000 ปีเป็นอย่างน้อย หรืออีกนัยหนึ่งราว 1,000 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ...”
บทความเรื่อง “จากโขงเจียมถึงเขมราฐ” เป็นผลงานเขียนในคอลัมน์บทบรรณาธิการของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม โดยได้ตีพิมพ์ลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2560) “โขงเจียมถึงเขมราฐ วิถีคน วิถีวัฒนธรรม” มีเนื้อหาดังนี้...
จากโขงเจียมถึงเขมราฐ
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ให้ความสำคัญกับการสำรวจศึกษาทางด้านโบราณคดีและชาติวงศ์วรรณนาในท้องถิ่นที่เป็นภูมิวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่ฝั่งเหนือของแม่น้ำมูลในเขตอำเภอโขงเจียมขึ้นไปจนถึงอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบริเวณที่มีความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ซึ่งข้าพเจ้าสนใจมาตั้งแต่สมัยมีการสำรวจพบแหล่งภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม โดยชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดีของภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ.2524 ด้วยการเดินทางจากตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม เลาะริมฝั่งโขงขึ้นไปราว 5 กิโลเมตรจนถึงผาแต้ม โดยชาวบ้านนำพาไปพบแหล่งภาพเขียนสีที่ใหญ่โตกว่าแหล่งอื่นๆ ซึ่งเคยพบเห็นมาในดินแดนประเทศไทย เป็นแหล่งที่ชาวบ้านค้นพบมานานแล้ว และออกไปเที่ยวดูกันเอง จนเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนที่ไม่ใช่นักวิชาการ ทำให้เมื่อแรกไปพบเห็น มีร่องรอยของการเขียนสี สลักชื่อทับลงไปทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ต่อมาเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวสารการค้นพบขึ้นทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จึงเกิดความสนใจ กรมศิลปากรและหน่วยงานราชการของจังหวัด โดยเฉพาะกรมป่าไม้ ได้กันพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งเรื่องนี้กรมป่าไม้ที่ต่อมาเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในปัจจุบัน ทำหน้าที่ได้ดีมาก ในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ซึ่งสามารถป้องกันการรุกล้ำของการท่องเที่ยวและกลุ่มนายทุนที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้ดีเป็นพิเศษมาจนทุกวันนี้
ภูมิวัฒนธรรมโดยรอบแหล่งโบราณคดีที่ผาแต้ม
ข้าพเจ้าให้ความสนใจแหล่งโบราณคดีภาพก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้มในเชิงภูมิวัฒนธรรมเป็นพิเศษ คือไม่ได้สนใจอยู่แต่เพียงบริเวณที่เป็นแหล่งโบราณคดีเท่านั้น หากกินรวมไปถึงภูมิประเทศที่กว้างใหญ่ โดดเด่นเป็นอัตลักษณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่ครอบคลุมพื้นที่สูงและภูเขาในอาณาบริเวณตั้งแต่อำเภอโขงเจียมลาดลงสู่บริเวณที่ลาดต่ำในเขตอำเภอเขมราฐด้วย อาณาบริเวณดังกล่าวอาจแบ่งจากระดับความสูงต่ำเป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณที่สูงในระดับ 200-400 เมตรจากระดับน้ำทะเล กินพื้นที่ตั้งแต่ผาแต้มขนานกับลำแม่น้ำโขงไปทางเหนือจนจรดเขตดอำเภอโพธิ์ไทร บริเวณนี้นับเนื่องอยู่ในเทือกเขาลูกเดียวกัน ที่มีแม่น้ำโขงไหลจากเหนือลงใต้ผ่ากลางซีกเขาที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก อันเป็นฝั่งประเทศลาว มีความสูงและปกคลุมไปด้วยป่าทึบ ซึ่งไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์จะเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยได้ ในขณะที่ซีกเขาทางผาแต้มเป็นเขาเตี้ย ลาดลงสู่ที่ลาดต่ำทางตะวันตกซึ่งมีลำน้ำลำห้วยไหลลงจากเขาไปลงลำน้ำที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ก่อนจะไหลไปออกแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม พื้นที่บริเวณฝั่งไทยตั้งแต่ผาแต้มไปถึงอำเภอโพธิ์ไทรนี้ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าโปร่ง มีที่สูงต่ำและภูเขาสลับกับที่ลุ่ม และมีธารน้ำไหลหล่อเลี้ยงในฤดูฝน ซึ่งทางกรมป่าไม้เรียกว่า พื้นที่ดงนาทาม คือสามารถทำนาทามได้ และมีบริเวณที่ราบลุ่มพอตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นชุมชนเล็กท่ามกลางป่าเขาได้
ภาพเขียนสีกลุ่มใหญ่ที่ “ผาแต้ม” บนหน้าผานี้มีภาพคน สัตว์ สิ่งของ
และภาพสัญลักษณ์ต่างๆ รวมกันไม่ต่ำกว่า 300 ภาพ ส่วนมากเป็นภาพมือคน
ลักษณะภูมิประเทศที่เรียกว่า “ดงนาทาม” นี้ นอกจากจะมีลักษณะพิเศษที่เป็นบริเวณเขาหินทรายและโคกเนินสลับไปกับที่ลุ่มที่มีธารน้ำไหลผ่าน ยังอยู่ที่บรรดาเขาลูกเล็กใหญ่และโขดหินที่ล้วนเป็นหินทราย อันเกิดจากถูกลมฝนกระทำ ทำให้เกิดการสึกกร่อน เกิดเป็นโขด เป็นเพิงหินธรรมชาติที่มีรูปร่างต่างๆ ดูแปลกตาและสวยงาม เข้ากันได้ดีกับบรรดาต้นไม้และพืชพันธุ์ของป่าโปร่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติในฤดูกาลที่ต่างกัน โดยเริ่มแต่ฤดูดอกหญ้า ดอกไม้ป่า บานในกลางเดือนมกราคม พอเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมเป็นฤดูใบไม้ร่วงและใบไม้ผลิ คือต้นไม้บางต้นใบแก่ เปลี่ยนสีและเริ่มร่วง ขณะเดียวกันต้นไม้บางชนิดจะผลิใบอ่อนสีต่างๆ สีสันของใบไม้ร่วงและใบอ่อนเริ่มผลินั้น ทำให้เกิดสภาพป่าหลากสีขึ้นอย่างสวยงาม พอปลายเดือนมีนาคมเข้าสู่เดือนเมษายน จะเข้าสู่ฤดูแล้งที่ต้นไม้ใหญ่เล็กใบร่วงเกือบหมด แลเห็นแต่ลำต้นที่บิดเบี้ยวหงิกงอราวกับไม้ดัด รับกับโขดหินและเพิงหินรูปร่างต่างๆ ที่เกิดจากการสึกกร่อน พื้นที่ต่ำที่เป็นพื้นดินซึ่งเคยมีธารน้ำหล่อเลี้ยงก็แห้งเหือดกลายเป็นพื้นทรายสีขาว และปกคลุมไปด้วยหญ้าและวัชพืชแห้งเป็นสีน้ำตาลไปตลอด ทำให้ผู้ที่ได้เห็นสัมผัสกับสิ่งมหัศจรรย์ของฤดูแล้งบนภูผาแห่งนี้ ทว่าความแห้งแล้งดังกล่าว หาได้ครอบคลุมไปทั้งพื้นที่ไม่ เพราะบริเวณใดที่เป็นเขาสูง ยังมีป่าสีเขียวและน้ำพุ น้ำตก ไหลผ่านท้องถิ่นที่ผู้คนสามารถตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนได้ การมีแหล่งที่เป็นน้ำพุ น้ำตก และมีชุมชนเกิดขึ้นนี้ ทำให้ทางกรมอุทยานฯ ได้พัฒนาขอบเขตอุทยานทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวบนบริเวณที่สูงที่เป็นพื้นที่ดงนาทาม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งเสริมต่อจากผาแต้มที่เป็นทั้งแหล่งโบราณคดี วัฒนธรรม และธรรมชาติ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไปผาแต้มและเข้าไปใช้พื้นที่และอาคารบริการนักท่องเที่ยว จะพบการแสดงภาพถ่ายดาวเทียมของบริเวณที่สูงตั้งแต่ผาแต้มไปจนเขตอำเภอโพธิ์ไทร ซึ่งแสดงลักษณะภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่โดดเด่น แลเห็นแหล่งพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยว ตำแหน่งที่มีน้ำตก ชุมชน มีเส้นทางเล็กๆ ผ่านแมกไม้สองฝั่งไปตามถนนที่ผ่านชุมชน แหล่งน้ำตก และถนนที่เป็นเส้นทางคมนาคมจากโขงเจียมผ่านที่ลาดต่ำ ตั้งแต่อำเภอโพธิ์ไทรไปยังอำเภอเขมราฐ อาณาบริเวณตั้งแต่เขตอำเภอโพธิ์ไทรผ่านที่ลาดต่ำลงสู่ที่ลาดลุ่มเข้าสู่อำเภอเขมราฐนั้น นับเนื่องเป็นภูมิวัฒนธรรมที่โดดเด่นในเรื่องธรรมชาติและแหล่งวัฒนธรรมชายฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งมีอัตลักษณ์เช่นเดียวกับบริเวณที่เป็นเส้นทางคมนาคมจากผาแต้มถึงอำเภอโพธิ์โทรทีเดียว
ไม่ใช่แค่ศิลปะถ้ำ แต่เป็นแหล่งพิธีกรรม
แต่สิ่งที่ยังค้างคาใจข้าพเจ้าเกี่ยวกับผาแต้มในขณะนี้ก็คือ การที่ทางราชการโดยเฉพาะจากภาพถ่ายดาวเทียมของกรมอุทยานฯ บนผาแต้มนั้น ให้น้ำหนักความสำคัญของการเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความหมายในระดับภูมิภาคและระดับโลกน้อยเกินไป ด้วยให้ความสำคัญที่จำกัดความรู้ทางสติปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติน้อยมาก สิ่งที่ปรากฏจากคำบรรยายเกี่ยวกับแหล่งภาพเขียนดูสั้นและตื้นเขิน เพียงว่าเป็นภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 3,000-4,000 ปี เป็นภาพที่มีความยาวไปตามหน้าผาเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปช้าง ปลาขนาดใหญ่ ภาพมือแดง ภาพสัตว์และการทำไร่นา เป็นต้น ตลอดจนการตีความภาพเขียนในลักษณะประหลาดๆ ที่ว่า ภาพหมู่ปลาและสัตว์น้ำมีรูป “ตุ้ม” รวมอยู่ด้วย ในลักษณะเป็นแท่งที่มีส่วนยอดเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือบริเวณที่เป็นไร่นามีภาพสัตว์คล้ายวัว ควาย ใช้ในการทำนาปลูกข้าวนาคือ wet rice เป็นต้น ที่สำคัญ หน่วยราชการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบทางโบราณคดีก็ให้ความสำคัญเพียงแค่ว่าบรรดาภาพเขียนคือศิลปกรรมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ศิลปะถ้ำ”
ในฐานะนักมานุษยวิทยา ข้าพเจ้าไม่อาจยอมรับภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้มว่าเป็นเพียงภาพศิลปะถ้ำได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ข้าพเจ้าให้ความสำคัญกับผาแต้มอย่างยิ่งในฐานะแหล่งภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โตที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งหนึ่ง ผาแต้มไม่ใช่แหล่งศิลปะถ้ำ หากเป็นแหล่งพิธีกรรมในฤดูเทศกาลในรอบปีของกลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งอาศัยอยู่บนที่สูงเชิงเขาภูพานและบริเวณชายแม่น้ำโขง ตั้งแต่อำเภอโขงเจียมไปจนถึงอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เลยทีเดียว มีอายุราว 3,000-2,000 ปีเป็นอย่างน้อย หรืออีกนัยหนึ่งราว 1,000 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ เพราะกลุ่มของภาพที่เขียนขึ้นนั้น เป็นที่รวมรูปแบบต่างๆ ของลวดลายสัญลักษณ์ เช่น มือแดง ภาพเรขาคณิต คน และสัตว์ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาตามแหล่งภาพก่อนประวัติศาสตร์ในตำแหน่งต่างๆ ของเทือกเขาภูพาน และทำให้แลเห็นภาพและกลุ่มภาพที่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีในช่วงเวลาสุดท้าย เช่น ภาพช้าง ปลา และขบวนพิธีกรรมที่มีสัญลักษณ์หลากหลาย โดยเฉพาะภาพปลาขนาดใหญ่และช้างนั้น เขียนโดยผู้ที่มีความรู้และมีความชำนาญเป็นพิเศษ จากประสบการณ์ในการศึกษาทางชาติพันธุ์ของคนพื้นเมืองออสเตรเลีย (Australian aborigines) และแหล่งโบราณคดีที่มีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าแลเห็นความคล้ายคลึงในแนววิวัฒนาการของมนุษยชาติ ที่ว่าแหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์บนผาแต้มนั้น เป็นแหล่งพิธีกรรมในรอบปีของชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่ลาดต่ำของเทือกเขาภูพานและที่ลาดลงสู่แม่น้ำโขงในแอ่งสกลนคร
การเป็นแหล่งพิธีกรรมของผาแต้มนั้น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่บนเพิงผาหินที่มีความยาวเกือบ 1 กิโลเมตร จากจุดเริ่มต้นตั้งแต่ทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ คือจากบริเวณที่พบภาพเขียนกลุ่มใหญ่ ที่มีภาพช้างและปลาไปจนถึงผาหมอนทางเหนือ ที่มีภาพการเพาะปลูกแบบข้าวหยอด ผู้คนที่เป็นชนเผ่าต่างมาทำพิธีตรงหน้าผานี้ โดยมีภาพเขียนสีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ (fertility ritual) ในขณะที่ที่ราบสูงบนเขาเหนือหน้าผาเป็นแหล่งที่คนมาชุมนุมกันตั้งที่พักชั่วคราว (camps) ในช่วงเวลาทำพิธีกรรม เป็นบริเวณที่มีหินตั้งซึ่งมีกองหินเป็นสัญลักษณ์ มีธารน้ำไหลผ่านในฤดูกาลที่มาชุมนุมกัน ด้วยเป็นการชุมนุมชั่วคราว จึงไม่พบเศษชิ้นส่วนของวัสดุที่ใช้ในการอยู่อาศัยให้เห็นตามผิวดิน ซึ่งหากมีการสำรวจและขุดค้นคงจะได้พบร่องรอยบ้าง
ภาพเขียนสีที่ “ผาหมอนน้อย” พบภาพคนกำลังล่าสัตว์ด้วยธนูหรือหน้าไม้
และภาพพืชซึ่งอาจเป็นต้นหญ้าหรือต้นข้าวในแปลงนา
ผาแต้ม เทือกเขาภูพาน และแอ่งสกลนคร
ภาพรวมทางภูมิวัฒนธรรม ตำแหน่งของผาแต้มอยู่บนปลายเนินเขาที่ทอดลงมาทางใต้ สัมพันธ์กับพื้นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนที่อยู่ปากแม่น้ำมูลในเขตอำเภอโขงเจียม และพื้นที่ชายเขาริมแม่น้ำโขงที่ตำบลห้วยไผ่ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนริมโขง ตั้งแต่ตำบลห้วยไผ่เลียบแม่น้ำโขงซึ่งเต็มไปด้วยเกาะแก่งกลางน้ำจนถึงตำบลนาโพธิ์กลาง ชุมชนชายแม่น้ำนี้คือพื้นที่การตั้งหลักแหล่งของชุมชนระดับบ้านที่เป็นชุมชนถาวร (sedentary settlements) ตามช่วงเวลาต่างๆ แต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เหนือบริเวณภูเขาตั้งแต่ตำบลนาโพธ์กลางไปจนถึงอำเภอโพธิ์ไทร ภูมิประเทศเปลี่ยนจากที่สูงภูเขา สลับกับที่ราบระหว่างเขามาเป็นพื้นที่ป่าเขาดงนาทาม ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศที่มีร่องน้ำและโขดเขาสลับไปกับที่ราบเป็นหย่อมๆ แต่ชายเขาที่ติดกับแม่น้ำโขงมีลักษณะสูงชัน ไม่มีที่ราบชายน้ำอย่างที่พบที่ผาแต้ม จนถึงตำบลนาโพธิ์กลาง นับเป็นบริเวณที่ไม่น่าจะมีชุมชนตั้งอยู่ ยกเว้นในปัจจุบันที่มีถนนตัดผ่านและพัฒนาแหล่งน้ำตกให้เป็นสถานท่องเที่ยวของกรมอุทยานฯ
สรุปโดยย่อ พื้นที่เขาและที่สูงที่เป็นป่าดงนาทามนี้ ไม่มีพื้นที่ตั้งหลักแหล่งชุมชนริมแม่น้ำโขงไปจนถึงอำเภอโพธิ์ไทรที่อยู่ทางเหนือ แต่ว่าเชิงเขาดงนาทามทางด้านตะวันตก สัมพันธ์กับบริเวณที่ลาดลุ่มที่มีธารน้ำสายเล็กและใหญ่ไหลลงมาสมทบเป็นลำน้ำใหญ่ 2 สาย คือ ลำเซบายและลำเซบก ซึ่งไหลผ่านที่ลาดลุ่มตำบลนาขามไปสมทบกับแม่น้ำมูล ก่อนไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม บริเวณที่ลาดลุ่มดังกล่าว คือบริเวณที่มนุษย์เข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นที่ลาดลุ่มผืนใหญ่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำมูล-ชี จากอุบลราชธานีผ่านอำเภอพิบูลมังสาหารไปออกแม่น้ำโขงที่โขงเจียม และลำน้ำที่มีต้นน้ำมาจากบริเวณเขาและที่สูงจากผาแต้มจนถึงอำเภอโพธิ์ไทรก็คือ ลำเซบก อนึ่ง บริเวณเขาและที่สูงจากผาแต้มมาถึงอำเภอโพธิ์ไทรนี้ คือบริเวณต้นกำเนิดของเทือกเขาภูพานที่เป็นแนวเขาหินทรายและที่สูง ยื่นจากเชิงเขาที่มาจากผาแต้มผ่านตำบลข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไปยังตำบลนาหว้าแล้ววกหักไปทางตะวันตกผ่านอำเภอเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นเหนือผ่านอำเภอเสนางนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร ขึ้นไปกาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี และหนองคาย กลายเป็นแนวเขาบนพื้นที่ราบลุ่มลำเซบก ลำเซบาย ทางตะวันตก ออกจากด้านตะวันออกที่ลำน้ำทุกสายที่ไหลลงจากเทือกเขาภูพานไปออกแม่น้ำโขง และพื้นที่ระหว่างเทือกเขาภูพานกับแม่น้ำโขงดังกล่าวคือบริเวณที่เรียกว่า แอ่งสกลนคร
ส่วนพื้นที่ลาดลงมาจากที่สูงและภูเขาจากผาแต้ม ลงมาถึงอำเภอโพธิ์ไทรจนถึงอำเภอเขมราฐนั้นนับเนื่องอยู่ในแอ่งสกลนคร เพราะอยู่ทางด้านตะวันออกมาเทือกเขาภูพานที่ตัดผ่านเขตตำบลข้าวปุ้นไปยังตำบลนาหว้า มีที่ราบทั้งสองฝั่งเขา ฝั่งตะวันตกในเขตตำบลข้าวปุ้นและตำบลนาหว้า เป็นที่ลุ่มที่หล่อเลี้ยงโดยลำน้ำหลายสายที่ไหลลงจากเทือกเขาภูพานมารวมเป็นลำเซบก ไหลไปออกแม่น้ำมูลทางตอนใต้ของเมืองอุบลราชธานี ไปยังอำเภอพิบูลมังสาหาร ขณะที่ทางด้านตะวันตกของเทือกเขาภูพานเป็นที่ลาดลุ่มกว้างใหญ่ ตั้งแต่อำเภอโพธิ์ไทรขึ้นไปจนถึงอำเภอเขมราฐ นับเป็นบริเวณที่มีความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติ นับเนื่องเป็นภูมิวัฒนธรรมของการเกิดชุมชนบ้านเมืองที่น่าสนใจศึกษาและน่าท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากบริเวณผาแต้มลงมาทีเดียว ความโดดเด่นทางภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ก็คือ เป็นพื้นที่ซึ่งมีภูเขาขนาบทั้งทางตะวันตกและตะวันออก ทางด้านตะวันตกคือแนวเขาภูพานตามที่กล่าวมาแล้ว ส่วนทางตะวันออกเป็นแนวเขาเตี้ยๆ และที่สูงที่ยื่นล้ำจากภูเขาใหญ่ทางฝั่งประเทศลาวผ่านกลางลำแม่น้ำโขง และขนานกับริมฝั่งแม่น้ำโขงที่วกหักจากแนวเหนือ-ใต้ ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่บริเวณหาดทรายสูงไปจนอำเภอเขมราฐ เป็นพื้นที่แคบๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ผ่านชุมชนที่สำคัญ เช่น บ้านนาแวง ไปจนอำเภอเขมราฐ ก่อนที่ลำน้ำโขงจะไหลวกขึ้นเหนือไปยังอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
ชุมชนแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สู่วัฒนธรรมทวารวดีและขอม
พื้นที่ริมโขงตั้งแต่หาดทรายสูงไปจนถึงอำเภอเขมราฐ อำเภอชานุมาน และอำเภอดอนตาล มีความสัมพันธ์กับการตั้งหลักแหล่งของชุมชนและการคมนาคมของผู้คนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก ตอนบนจากอำเภอดอนตาลผ่านอำเภอชานุมาน ลงมาถึงอำเภอเขมราฐ เป็นลำน้ำกว้างใหญ่ มีเกาะใหญ่กลางน้ำไปเป็นระยะ ดูเป็นสิ่งเอื้ออำนวยให้การติดต่อของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนข้ามไปมาได้ง่าย ดังเช่นที่ตำบลดอนตาล บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้กับเกาะใหญ่กลางน้ำ เป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แต่สมัย 500 ปีก่อนคริสตกาลลงมา เป็นแหล่งทำเครื่องมือหินจากหินกรวดชายฝั่งโขง ขุดพบหลุมศพและเครื่องมือ เครื่องประดับ ที่ทำจากสำริดและเหล็ก โดยเฉพาะกลองมโหระทึกขนาดเล็กและแม่พิมพ์ ที่สำคัญก็คือ กลองสำริดขนาดใหญ่ที่เล่ากันว่านำมาจากเกาะกลางแม่น้ำโขง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ วัดกลางหรือวัดมัชฌิมาวาสในอำเภอดอนตาล ต่ำลงมาในเขตอำเภอชานุมาน ทางฝั่งลาวพบปราสาทขอมสมัยนครวัดที่ริมแม่น้ำ คนลาวเรียก เฮือนหิน ซึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปดูและเห็นภูมิวัฒนธรรมโดยรอบที่เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ หล่อเลี้ยงด้วยธารน้ำและลำน้ำเล็กๆ มากมายที่ไหลลงจากที่สูงทางด้านตะวันออกมาลงแม่น้ำโขง ปัจจุบันมีชุมชนขนาดใหญ่และมีวัดธาตุที่สำคัญในประวัติศาสตร์ตั้งอยู่ ทางการลาวได้นำโบราณวัตถุที่พบในบริเวณนี้มาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองสะหวันนะเขต โบราณวัตถุ 3 อย่างที่มีความสำคัญมาก คือ อย่างแรก เครื่องทองที่เป็นศิลปะจาม พบในเขตลุ่มน้ำเซบั้งไฟที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ของรัฐศรีโคตรบูรณ์ เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับความเก่าแก่ของพระธาตุพนมเป็นอย่างมาก อย่างที่สอง กลองสำริดขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบทั้งในดินแดนประเทศไทยและลาว ซึ่งดูสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีที่อำเภอดอนตาล และบรรดากลองสำริดที่พบตั้งแต่อำเภอดอนตาลไปถึงอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และ อย่างที่สาม เสมาหินขนาดใหญ่ สลักภาพสถูปและลวดลายแบบศิลปะเจนละและทวารวดี แบบเดียวกับที่พบตามแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเมืองและอำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ ไปจนถึงจังหวัดยโสธรและมุกดาหาร
การได้เข้าไปศึกษาสถานที่และปราสาทสมัยนครวัดที่เรียกว่า “เฮือนหิน” ในฝั่งลาว ตรงข้ามกับฝั่งอำเภอชานุมานนั้น ทำให้ข้าพเจ้าสามารถปะติดปะต่อการแพร่วัฒนธรรมตามริมฝั่งโขงขึ้นไปยังพระธาตุอิงฮังที่อยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ตลอดจนเขตนครพนมและเมืองหนองหานสกลนครได้พอสมควร เป็นความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่น่าจะแพร่ขึ้นมาจากเมืองเศรษฐปุระซึ่งเป็นศูนย์กลางของรัฐเจนละบก ที่วัดพูในเขตเมืองจำปาสักของลาว การแพร่หลายของวัฒนธรรมขอมตามริมฝั่งโขงดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับบริเวณริมฝั่งโขงในพื้นที่จากอำเภอเขมราฐ บริเวณหาดทรายสูงที่แม่น้ำโขงหักวกลงใต้ ผ่านแนวภูเขาสองฝั่งน้ำลงไปยังเขตอำเภอโพธิ์ไทร ริมฝั่งโขงตั้งแต่อำเภอเขมราฐถึงอำเภอโพธิ์ไทรดังกล่าวนี้ เป็นพื้นที่สำคัญที่มีการเกิดขึ้นของชุมชนมาหลายยุคสมัย เพราะสัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมที่มากับเส้นทางน้ำเซบั้งเหียงจากเมืองสาละวินของฝั่งลาว ข้ามโขงมายังฝั่งอำเภอเขมราฐและตำบลนาแวง
นาแวง : บ้านเมืองสมัยเจนละ
โดยเฉพาะที่ตำบลนาแวง เป็นชุมชนเก่าแก่ที่พบร่องรอยของปราสาทขอมสมัยเจนละและสมัยเมืองพระนครราวพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมา จนถึงสมัยหลังที่คนลาวเข้ามาตั้ง สร้างวัดและสร้างชุมชนทับลงไป ชุมชนบ้านนาแวงเป็นชุมชนชุ่มน้ำที่ชาวบ้านสามารถจัดการน้ำเพื่อการปลูกข้าวและการเพาะปลูกพืชอื่นๆ ได้ตลอดทั้งปี อันเนื่องมาจากลักษณะภมิประเทศที่เอื้ออำนวย คือมีลำน้ำห้วยลาดไหลจากที่สูงและเขาทางด้านใต้ผ่านมาลงแม่น้ำโขง ทำให้ชาวบ้านสามารถชักน้ำเข้าไปใช้ในการทำนาได้มากและนานกว่าที่อื่นๆ และหากน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง ก็สามารถใช้เครื่องสูบน้ำสูบจากแม่น้ำโขงเข้ามาได้ ทำให้ที่นาอันกว้างใหญ่ของชุมชนบ้านนาแวงเขียวสดตลอดทั้งปี จึงโดดเด่นกว่าที่อื่นๆ บริเวณที่ดอนใกล้กับที่นาของชุมชน มีโคกเนินที่เป็นธาตุเก่าสร้างทับบริเวณที่เป็นฐานปราสาทขอมที่เหลือชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมสมัยก่อนเมืองพระนคร หรืออีกนัยหนึ่งสมัยเจนละ ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ลงมา พื้นที่ปัจจุบันโดยรอบเป็นวัดใหญ่ที่เป็นวัดเก่าของชุมชน แต่ปัจจุบันชุมชนขยายตัวออกไปทางริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ตรงท่าเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังชุมชนเก่าแก่ทางฝั่งลาว แต่ที่สำคัญในทางภูมิประเทศของแม่น้ำโขงก็คือ ตรงบริเวณที่แม่น้ำไหลผ่านบ้านนาแวงไปทางตะวันออกจนถึงหาดทรายสูง จนกระทั่งบริเวณวัดปากแซง เป็นบริเวณที่มีเกาะแก่งกลางแม่น้ำไปเป็นระยะ ทำให้ทิวทัศน์ดูสวยงาม เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นตามจุดต่างๆ บริเวณที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ เกาะแก่งเป็นแนวยาวที่อยู่ใกล้ชายฝั่งโขงที่บ้านนาแวง ซึ่งนอกจากจะอยู่ใกล้ชายฝั่งน้ำที่คนบ้านนาแวงเข้าไปปลูกผักและทำการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ยังมีลักษณะเป็นแนวยาวขนานกับชายฝั่งไปกว่าครึ่งกิโลเมตร ซึ่งถ้าดูตำแหน่งที่ตั้งของเกาะแล้ว ควรเป็นเกาะที่อยู่ทางฝั่งของบ้านนาแวงในดินแดนประเทศไทย แต่โดยข้อตกลงแบ่งเขตแดนสมัยที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ไทยถูกบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขที่บรรดาเกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลจากชายฝั่งประเทศไทย ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศลาว ข้าพเจ้าจึงใคร่เพิ่มเติมความสำคัญของเกาะยาวหน้าชายฝั่งบ้านนาแวงนี้ ให้เป็นอนุสรณ์ที่ประจานความชั่วร้ายของฝรั่งเศสไว้ให้คนไทยได้คิดและจดจำ แต่ที่น่ายินดีสำหรับคนบ้านนาแวงและคนลาวที่อยู่ฝั่งตรงข้าม หาได้เอาความชั่วร้ายของฝรั่งชาตินี้มาเป็นอารมณ์ กลับยังธำรงความสัมพันธ์เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ไปมาหาสู่และร่วมในประเพณี พิธีกรรม ระหว่างกัน ความขัดแย้งจึงไม่เกิดขึ้น
หาดทรายสูงกับภาพสลักก่อนประวัติศาสตร์
ถัดจากบ้านนาแวงไปจนถึงหาดทรายสูง แม่น้ำโขงเต็มไปด้วยเกาะแก่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหาดทรายสูงตรงที่แม่น้ำโขงวกลงใต้ไปจนถึงสองคอน เกาะบางเกาะกินพื้นที่เกือบครึ่งแม่น้ำ ทำให้คนทั้งสองฝั่ง คือ ฝั่งไทยและลาวข้ามไปมาได้สะดวก บริเวณนี้มีเวินน้ำ (คุ้งน้ำวน) ที่มีปลาอุดมสมบูรณ์ มีผู้คนลงไปเที่ยวดูหาดทรายและเกาะแก่ง ที่สำคัญคือเป็นบริเวณที่มีการจารึกภาษาและรูปภาพที่สลักบนแผ่นหินและโขดหินกลางเกาะแก่งที่มีอายุหลายรุ่นหลายสมัย บางภาพเป็นรูปคน สัตว์ ที่น่าจะมีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ บางภาพก็เป็นการสลักอักษรจีน ซึ่งอาจนับเนื่องเป็นแหล่งโบราณคดีได้
แม่น้ำโขงไหลวกลงใต้ไปจนถึงบริเวณแขวงสะหวันนะเขตแล้ววกไปทางตะวันตกราว 5 กิโลเมตร จึงไหลลงทางใต้เช่นเดิม บริเวณนี้มีลำน้ำจากประเทศลาวไหลมาสมทบ มวลน้ำที่ไหลมารวมกันนี้ทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนสีจากใสเป็นขุ่นมัวและมีความกว้างมากขึ้น เป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มทั้งฝั่งไทยและลาว โดยเฉพาะทางฝั่งไทย ณ ตำบลพะลาน อันเป็นบริเวณที่คลองปากแซงไหลผ่านบึงน้ำมาออกแม่น้ำโขง เป็นบริเวณที่มีชุมชนค่อนข้างหนาแน่น และมีวัดโบราณที่คนไทยและคนลาวเคารพนับถือร่วมกัน คือ วัดปากแซง เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อที่ผู้คนพากันมากราบไหว้ นับเป็นศูนย์กลางทางประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของคนไทย-ลาวที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง ในทำนองเดียวกับพระธาตุพนม
ภาพสลักรูปบุคคลยืนล้อมรอบช้างบนก้อนหินริมลำน้ำโขง พบบริเวณ “คอนหมู”
ในหาดทรายสูง อำเภอเขมราฐ ซึ่งเป็นช่วงโค้งของแม่น้ำที่หักวกลงมาทางทิศใต้
จากวัดปากแซง แม่น้ำโขงไหลลงใต้ไปยังบ้านพะลานและบ้านนาตาล ที่มีชุมชนสองฝั่งโขงค่อนข้างหนาแน่น เพราะอยู่ในบริเวณที่ลุ่มชุ่มน้ำ มีลำห้วยไหลผ่านไปลงแม่น้ำโขง ตามเส้นทางนี้มีเกาะแก่งไปเป็นระยะ โดยเฉพาะที่แก่งชมดาวในเขตตำบลนาตาล จากนั้นแม่น้ำโขงไหลขึ้นบริเวณเนินสูงและเขาในเขตบ้านสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร ซึ่งมีเกาะแก่งหนาแน่นแทบปิดพื้นน้ำไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า “สามพันโบก” อันหมายถึงบรรดาหลุมสามพันหลุมที่เกิดขึ้นจากการกัดกร่อนของแม่น้ำบนพื้นหินที่เป็นแก่ง เป็นบริเวณที่มีการจัดการท่องเที่ยวแก่งและแม่น้ำโขงโดยชุมชนบ้านสองคอน อาณาบริเวณที่มีเกาะแก่งหนาแน่นสองฝั่งโขงนี้ กินพื้นที่ในแม่น้ำตั้งแต่บ้านสองคอนลงมาจนถึงบ้านเหล่าจาม จากนั้นแม่น้ำโขงไหลขึ้นที่สูงที่เป็นเขาต่อเนื่องไปจนถึงผาแต้ม มีเกาะแก่งมากในเขตบ้านผาชัน และต่อจากนั้นแม่น้ำโขงแคบลง สองฝั่งน้ำเป็นผาชันไปตลอดจนถึงที่ลุ่มระหว่างเขาบริเวณบ้านนาโพธิ์กลางที่แม่น้ำมีขนาดใหญ่ และเป็นบริเวณพื้นที่ชายฝั่งน้ำซึ่งเป็นที่ถิ่นฐานของชุมชน จากบ้านนาโพธิ์กลาง ลำน้ำโขงไหลวกไปทางตะวันตกเข้าสู่ผาแต้มและห้วยใหญ่ อันเป็นบริเวณเริ่มต้นของเขตภูเขาและที่ราบสูงของผาแต้ม