ฝั่งธนฯ
ศรีศักรทัศน์

ฝั่งธนฯ

 

“...ข้าพเจ้าเป็นคนฝั่งพระนคร เพราะเกิดทางฝั่งนี้ แต่รู้จักฝั่งธนฯ เพราะโคตรเหง้าล้วนอยู่ทางฝั่งธนฯ ปู่อยู่หลังวัดใหม่พิเรนทร์ ย่าเป็นเจ้าของสวนทุเรียนตลาดพลู ยายอยู่หลังวัดระฆัง ตาอยู่บางลำพู พ่อรับราชการกรมศิลปากร ซื้อบ้านริมคลองหลังวัดบวรนิเวศ ข้าพเจ้าเกิดที่นั่น เป็นเรือนปั้นหยาสองชั้น จึงเป็นเด็กริมคลองที่ข้ามไปวิ่งเล่นในวัดกับเด็กวัด  สมัยที่ข้าพเจ้าเกิด คลองหลังวัดบวรสกปรกแล้ว เพราะเวลาน้ำลงติดๆ กัน คลองจะเป็นสีดำ เพราะคนชอบทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ซึ่งบางทีก็มีหมาเน่าลอยมาติดหลังบ้านบ่อยๆ แต่พอน้ำขึ้นดูสภาพดี น้ำคลองสีน้ำตาลขุ่นไหลเข้ามา...”

 

บทบรรณาธิการเรื่อง “ฝั่งธน” เป็นผลงานเขียนโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2560) “ธนบุรี : เมืองแห่งลำน้ำคูคลองและย่านสวนใน” มีเนื้อหาดังนี้...

 

ฝั่งธนฯ

สมัยข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก กรุงเทพฯ และธนบุรีเป็นเมืองริมสองฝั่งน้ำเจ้าพระยาเดียวกัน ความเป็นพลเมืองขึ้นอยู่กับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนว่าอยู่ฝั่งไหนของแม่น้ำ ฝั่งพระนครหรือฝั่งธนบุรี ที่เรียกย่อๆ ว่า ฝั่งธนฯ หาได้กลายเป็นกรุงเทพมหานครหรือ กทม. รวมกันอย่างทุกวันนี้ เพราะปัจจุบันการเป็นพระนครหรือ กทม. นั้น มีการขยายพื้นที่บ้านเมืองแผ่กว้างออกไปไกลทั้งสองฝั่งน้ำ ลบความเป็นเมืองริมน้ำด้วยการขยายตัวออกไปตามเส้นถนนใหญ่น้อย จนความเป็นเมืองลุ่มน้ำลำคลองที่มีทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมอย่างแต่เดิมแทบหมดไป ทำให้วิถีชีวิตที่อยู่กันตามริมน้ำลำคลองหมดไปด้วย คนรุ่นลูกรุ่นหลานของข้าพเจ้าในปัจจุบัน แทบไม่รู้และนึกไม่ออกว่ากรุงเทพมหานครในอดีตมีภาพลักษณ์เป็นอย่างใด เพราะแทบทุกคนเกิดในยุคที่มีถนนหนทางบกเต็มไปหมด และบ้านเรือนก็ล้วนเกิดขึ้นตามถนน ส่วนลำน้ำลำคลองที่เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยแต่เดิม ถูกความเป็นเมืองใหม่ถมทับไปเกือบหมด เหลืออยู่ก็แต่เพียงการเป็นร่องน้ำแคบๆ ที่ใช้ในการทิ้งขยะและระบายสิ่งปฏิกูล

 

เมืองสวน เมืองคลอง

ข้าพเจ้าเป็นคนฝั่งพระนคร เพราะเกิดทางฝั่งนี้ แต่รู้จักฝั่งธนฯ เพราะโคตรเหง้าล้วนอยู่ทางฝั่งธนฯ ปู่อยู่หลังวัดใหม่พิเรนทร์ ย่าเป็นเจ้าของสวนทุเรียนตลาดพลู ยายอยู่หลังวัดระฆัง ตาอยู่บางลำพู พ่อรับราชการกรมศิลปากร ซื้อบ้านริมคลองหลังวัดบวรนิเวศ ข้าพเจ้าเกิดที่นั่น เป็นเรือนปั้นหยาสองชั้น จึงเป็นเด็กริมคลองที่ข้ามไปวิ่งเล่นในวัดกับเด็กวัด  สมัยที่ข้าพเจ้าเกิด คลองหลังวัดบวรสกปรกแล้ว เพราะเวลาน้ำลงติดๆ กัน คลองจะเป็นสีดำ เพราะคนชอบทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ซึ่งบางทีก็มีหมาเน่าลอยมาติดหลังบ้านบ่อยๆ แต่พอน้ำขึ้นดูสภาพดี น้ำคลองสีน้ำตาลขุ่นไหลเข้ามา บางบ้านตักน้ำใส่ตุ่มอีเลิ้งหรือตุ่มมังกรแล้วใช้สารส้มแกว่งให้ตะกอนนอนก้น เพื่อจะได้น้ำใสไว้ใช้ แต่ไม่กิน เพราะน้ำกิน น้ำสะอาด ใช้น้ำประปาแทน ซึ่งตอนนั้นมีน้ำประปาใช้กันแล้ว และเริ่มมีการต่อท่อน้ำประปาเข้าบ้าน สำหรับคนไม่มีเงินต่อน้ำประปาเข้าบ้าน ก็ต้องออกไปรองน้ำจากก๊อกสาธารณะริมถนน สมัยนั้นมีการตัดถนนผ่านย่านชุมชนบางส่วนแล้วหลายสาย เกิดห้องแถวริมถนนและตลาด ส่วนคนอยู่กันตามตรอกที่เป็นทางเดินเท้าแคบๆ รกจนเข้าไม่ได้ ข้าพเจ้าเกิดและเป็นคนชาวตรอก แม้ว่าจะอยู่ริมคลองหลังวัดก็ดี เพราะหน้าบ้านหันหลังให้คลอง ไปออกทางตรอกแทน ที่พูดมายืดยาวนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ เมื่อแรกสร้างนั้น ผู้คนยังอยู่กันตามริมแม่น้ำลำคลอง และอาศัยลำคลองภายในพระนครในการเดินทางขนส่ง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 มีการสร้างถนน เกิดห้องแถวริมถนน เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและค้าขาย ซึ่งบางแห่งเกิดเป็นตลาด ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ความเป็นเมือง เป็นนคร แบบตะวันตกในยุคอาณานิคมก็เกิดขึ้น คนใช้ถนนใช้ตรอกซึ่งเป็นทางบกในการคมนาคมและขนส่ง ทิ้งลำคลองให้ใช้การไม่ได้และน้ำเน่าเสีย นี่แหละคือความเป็นบ้านเมืองของกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเกือบ 80 ปีที่ผ่านมา เมื่อข้าพเจ้าอายุยังไม่ครบ 10 ขวบ เหตุการณ์สำคัญในสมัยนั้นของข้าพเจ้ามี 2 อย่าง คือ หนีลูกระเบิดในตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พวกญี่ปุ่นมาครองเมือง และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2485

 

ส่วนทางฝั่งธนฯ อันเป็นถิ่นที่อยู่ของบรรพบุรุษ ยังเป็นเมืองแบบเก่าๆ แตกต่างไปจากฝั่งพระนคร ไม่มีการตัดถนนให้เกิดย่านห้องแถวและร้านค้าที่เป็นตึกราม และมีตรอกริมถนนเท่าใด มีแต่ถนนหลักที่ขนานกับแม่น้ำไม่กี่สาย ถนนแยกและถนนซอยไม่มี เพราะบ้านเรือนยังหันหน้าลงน้ำ ใช้ลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคม ลำน้ำลำคลองจึงยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี มีคลองมากมายหลายสาย เพราะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวน เป็นสังคมชาวสวนที่ต้องใช้น้ำในการทำสวนผลไม้ เป็นเมืองสวนที่มีคนอยู่มากมาแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ที่การตั้งถิ่นฐานอยู่ตามริมน้ำลำคลองที่เรียกกันว่า บาง คำว่า “บาง” ในทางกายภาพก็คือ การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนและวัดตามริมคลองที่มาบรรจบกับลำน้ำใหญ่ ณ บริเวณปากคลอง เกิดเป็นชุมชนใหญ่ มีวัด ศาลเจ้า หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนหลายชาติพันธุ์ ชุมชนปากคลองเหล่านี้อยู่ในระดับชุมชนเมือง ที่มีย่านตลาด มีทั้งร้านค้าที่อยู่อาศัยและใช้ท้องน้ำเป็นตลาดน้ำแลกเปลี่ยนสินค้าในชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่น พื้นที่ทางสังคมของคนฝั่งธนฯ โดยรวมยังเป็นสังคมชาวสวนที่ยังต้องรักษาลำน้ำลำคลอง ลำกระโดง และอื่นๆ เพื่อการใช้น้ำในการเพาะปลูก ซึ่งกินไปถึงการคมนาคมและการอุปโภคบริโภค ความเป็นเมืองที่มีถนนหนทางจึงมีอยู่ในพื้นที่จำกัด ที่ซ้อนทับความเป็นเมืองธนบุรีที่มีมาแต่โบราณ คือบริเวณใกล้ฝั่งแม่น้ำ แต่ปากคลองบางกอกน้อยไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง ที่มีลักษณะเป็นเกาะซึ่งเรียกว่า เกาะบางกอก ที่น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “บางเกาะ” ในสมัยอยุธยา

 

บ้านเรือนและเรือกสวนฝั่งธนบุรี 

 

ถนน 3 สายกับโครงสร้างทางกายภาพของเมืองธนบุรี

รูปพรรณสัณฐานของเกาะบางกอก มีลักษณะครึ่งวงกลม ที่มีฐานอยู่ที่คลองขุดลัดสมัยรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่พุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งทำให้เกิดเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทรขึ้น เป็นเมืองอกแตกที่มีสองฝั่งน้ำ คือฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี การที่รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายพระราชวังที่เป็นศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ทางฝั่งพระนครนั้น ก็เพราะไม่สามารถขยายเขตความเป็นเมืองของพระนครได้ เพราะพื้นที่โดยรอบเกาะทางฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่สวนของสังคมชาวสวน ที่อาศัยอยู่ตามริมน้ำลำคลองแบบแต่เดิมมาช้านานแล้ว การขยายเขตเมืองและพัฒนาเมืองจึงต้องย้ายมาทางฝั่งพระนคร เพราะยังเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ หนองบึง ที่มีเรือกสวนอยู่ตามลำน้ำลำคลองเก่าๆ ไม่กี่สาย เมื่อสร้างเมืองทางฝั่งกรุงเทพฯ แล้ว จึงทำให้ชาวเมืองทางฝั่งธนฯ เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานหางานทำทางฝั่งพระนคร โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่รับราชการเป็นขุนนางตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมืองทางฝั่งพระนครมีพัฒนาการทางการสร้างถนนหนทาง สถานที่ราชการ ห้องแถว ร้านค้า ตามริมฝั่งถนนแทน รวมทั้งขยายพื้นที่เมืองโดยตัดถนนห่างจากริมฝั่งแม่น้ำลำคลองออกไปทางตะวันออก ทางใต้ และทางเหนือ แต่ทางฝั่งธนฯ แทบไม่มีพัฒนาการและมีการตัดถนนหนทางอยู่แต่เพียงพื้นที่ซึ่งเคยเป็นเมืองเดิมริมฝั่งน้ำเท่านั้น ถนนหนทางส่วนมากมักเกิดแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ลงมา มี 2 สาย คือ ตั้งแต่หน้าวัดบางหว้าน้อยหรือวัดอมรินทราราม ผ่านโรงพยาบาลศิริราช เลียบกำแพงเมืองธนบุรีด้านตะวันตก ผ่านวัดระฆังโฆสิตาราม วัดอรุณราชวราราม ข้ามคลองมอญไปยังคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง ถนนนี้นับเนื่องภายในเมืองธนบุรี  อีกสายหนึ่งอยู่ทางตะวันตกนอกเมืองธนบุรี เริ่มแต่สถานีรถไฟธนบุรี ผ่านตลาดบ้านขมิ้น สวนอนันต์ วัดชิโนรสาราม  ข้ามคลองมอญ วัดใหม่พิเรนทร์ ข้ามคลองบางกอกใหญ่ ไปยังเจริญพาศน์และโพธิ์สามต้น และถนนอีกสายหนึ่งอยู่ทางใต้เมืองธนบุรี ขนานกับคลองสาน ผ่านหน้าวัดพิชยญาติการาม และวัดอนงคารามไปถึงปากคลองสาน อันเป็นที่ตั้งของป้อมป้องปัจจามิตรซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาในสมัยหลังจึงเกิดถนนอีกสายหนึ่งทางด้านตะวันตกของเมืองธนบุรี นับเป็นถนนรอบนอกอันเนื่องจากการขยายตัวของเมือง คือถนนจรัญสนิทวงศ์ ที่เริ่มแต่สะพานพระราม 6 ผ่านพื้นที่ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่มีชุมชนริมน้ำริมคลองที่เรียกว่า “บาง” ต่างๆ ซึ่งล้วนมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ข้ามคลองบางกอกน้อย ผ่านบางขุนนนท์ บางขุนศรี สามแยกไฟฉายไปทางท่าพระ บางแค

 

ถนนทั้ง 3 สายนี้ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นโครงสร้างทางกายภาพของเขตเมืองธนบุรี (urban area) ที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นและได้ผ่านไปแต่สมัยยังเป็นเด็ก เพราะได้มีการสร้างถนนตัดในแนวตั้งเป็นตาตะแกรงเชื่อมถนนในแนวนอน เพื่อการคมนาคมของบรรดาชุมชนทั้งหลายที่อยู่ในพื้นที่ช่องว่างระหว่างถนนทั้ง 3 สายดังกล่าว การสร้างถนน 3 สายในแนวนอนที่ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีผลแต่เพียงการตัดผ่านลำน้ำลำคลองใหญ่ที่เป็นเส้นทางคมนาคมเท่านั้น ยังไม่ถึงกับทำให้สังคมชาวสวนเปลี่ยนแปลงแบบล่มสลาย เพราะทางน้ำเล็กที่เป็นลำคลองซึ่งใช้ในการคมนาคมภายในท้องถิ่นยังดำรงอยู่ พร้อมด้วยบรรดาลำกระโดงที่ใช้ในการจัดการน้ำเพื่อการปลูกไม้ผลและอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากคือ การทำถนนตัดในแนวตั้งภายในท้องถิ่น ที่ทำให้คลองเล็กใหญ่และลำกระโดงค่อยๆ หมดไป และเพิ่มการขยายตัวของชุมชนรุ่นใหม่เข้าไปในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นสวนผลไม้

 

ถนนประชาธิปกและวงเวียนเล็ก 

 

อย่างไรก็ตาม ในสมัยข้าพเจ้ายังเป็นเด็กนักเรียนจนเริ่มเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย สภาพของบ้านสวนเมืองสวนทั้งในเขตเมืองและโดยรอบของเมือง ยังมีลำน้ำใหญ่น้อยและลำกระโดงคงเหลืออยู่มากพอสมควร เพราะระหว่างที่เรียนหนังสืออยู่ในชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลย่านสามเสนนั้น ข้าพเจ้าเคยข้ามไปฝั่งธนฯ บ่อยๆ ถ้าไปทางรถเมล์ต้องข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้า ที่มีเวลาปิด-เปิดเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านเข้ามาหน้าเมืองทั้งกรุงเทพฯ และธนบุรี รถเมล์เหล่านี้มีถนนวิ่งไปถึงวงเวียนใหญ่และตลาดพลู หรือห่างออกไปเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงดาวคะนอง ถ้าไม่ข้ามฟากทางสะพานพระพุทธยอดฟ้า ต้องข้ามแม่น้ำโดยทางเรือตามท่าประจำต่างๆ เช่น ท่าเตียน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์  ท่าช้างวังหน้า ท่าพระอาทิตย์ ที่มีเรือเมล์ทำหน้าที่ขนส่งเป็นประจำจากเช้าจรดเย็น แต่ถ้าไม่ข้ามท่าประจำ ต้องข้ามตามท่าเรือจ้างที่เป็นเรือแจวรวมกลุ่มกันอยู่ มีเป็นแหล่งๆ ไป ข้าพเจ้าข้ามแม่น้ำด้วยเรือจ้างบ่อยๆ เพราะชอบไปเที่ยวตามริมแม่น้ำในสวนทางฝั่งธนฯ เป็นประจำ เช่น ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยที่อยู่ตรงข้ามสถานีรถไฟธนบุรี ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว คือไปวัดเสาประโคนหรือวัดดุสิต โดยข้ามเรือจ้างทางฝั่งท่าช้างวังหน้าไปขึ้นท่าวัด เหตุที่เลือกวัดดุสิตเพราะเป็นวัดเก่า มีกล่าวถึงในนิราศของสุนทรภู่ที่เรียกว่า วัดเสาประโคน ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับเสาหิน และเป็นวัดหลวงที่มีศิลปวัฒนธรรมและจิตรกรรมฝาผนังซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

ข้าพเจ้าไม่ชอบค้นคว้าเอกสารเรื่องราวของวัดเก่าแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าต้องไปเห็น ไปสัมผัส เพราะได้อะไรครบเครื่องกว่าในการผจญภัย ด้วยว่าวัดเก่าๆ มักมีเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผีนั้นดูดุเดือดดี ทำให้เกิดอารมณ์กล้าๆ กลัวๆ ผสมกันไป เพราะเวลาไปวัด ไม่ได้เห็นพระแต่เพียงอย่างเดียว ต้องเห็นผีด้วย คือมักผ่านป่าช้า โกดังเก็บศพและที่เผาศพ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีการเผาบนเมรุอย่างในปัจจุบัน และเมรุมีไม่กี่แห่ง สำหรับคนมีฐานะเท่านั้น เพราะฉะนั้นเวลาเข้าวัดที่ใด มักได้เห็นและได้บรรยากาศของกลิ่นศพและคนตายจากป่าช้า  คำว่า “ป่าช้า” นั้น หมายถึงพื้นที่ซึ่งรวมอยู่ในโครงสร้างทางกายภาพของชุมชน วัดและชุมชนเป็นอันเดียวกัน ป่าช้าเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่อยู่ในพื้นที่ชายวัดและชายชุมชน มีต้นไม้ใหญ่ๆ เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นตะเคียน ต้นยาง ที่ชาวบ้านมักเอาซากศาลเก่าหรือสิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรมไปทิ้งไว้ตามโคนต้น วัดใหญ่ๆ มักมีโกดังเก็บศพหรือก่อช่องเก็บศพไว้ ทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มบรรยากาศความน่ากลัวและความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่วัดไม่น้อย ทำให้วัดมีทั้งพระและผีอยู่ด้วยกัน

 

วัดดุสิตหรือวัดเสาประโคนหันหน้าวัดลงแม่น้ำเจ้าพระยา แต่รอบๆ และด้านหลังของวัดเป็นสวนที่มีทางเดินเท้าแคบๆ ที่เรียกว่า ตรอก สามารถเดินผ่านไปยังวัดและชุมชนสวนอื่นๆ ได้ ยังไม่มีถนนรุกเข้าไป ข้าพเจ้าเดินเที่ยวตั้งแต่วัดดุสิตและวัดร้างที่อยู่ใกล้เคียง คือวัดภุมรินราชปักษี ที่มีโบสถ์ร้างสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งสวยงาม มีซากพระเก่า ฐานชุกชีที่มีลวดลาย แต่ก่อนเป็นบริเวณที่คนนำหม้อกระดูกมาวางไว้เต็มไปหมด ดูแล้วขลังดีไม่น้อย จากวัดภุมรินราชปักษี ข้าพเจ้าเดินตามตรอกในสวนข้ามคลองเล็กๆ มายังวัดดาวดึงส์ ซึ่งเป็นวัดเก่าที่มีศิลปวัฒนธรรมสวยงาม และเดินเข้าสวนหลังวัด ข้ามคลองไปยังวัดริมแม่น้ำอีกหลายวัด จำได้ว่ามีวัดหนึ่งที่ยังประทับใจมาจนทุกวันนี้ คือวัดใหม่เทพนิมิตร ขณะนั้นพระอุโบสถอยู่ในสภาพทรุดโทรม หักพัง เผยให้เห็นจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากวัดหนึ่งในละแวกเดียวกัน จากวัดนี้เดินเลาะไปทางด้านหลัง ผ่านสวนลัดเลาะไปจนถึงวัดภคินีนาถ อันเป็นวัดที่สำคัญครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 เหนือวัดภคินีนาถขึ้นมา ข้าพเจ้าไปไม่ถึง เพราะติดที่ดินเอกชน ซึ่งต่อมากลายเป็นพื้นที่ก่อสร้างสะพานกรุงธนหรือสะพานซังฮี้ มีวัดพุทธและมัสยิดสลับกันไปถึงบางอ้อและสะพานพระราม 6 ตามที่กล่าวมานี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ฝั่งธนฯ นั้นเป็นพื้นที่ของสังคมชาวสวน ที่ตั้งชุมชนอยู่ใกล้ลำน้ำเล็กๆ ซึ่งขุดแยกจากแม่น้ำในลักษณะเป็นคลองซอยออกไปทางตะวันตกจนสุดพื้นที่สวน แต่ละสวนแต่ละชุมชนที่สัมพันธ์กับคลองซอยเหล่านี้ ล้วนมีชื่อนำหน้าว่า “บาง” แทบทั้งสิ้น ทุกๆ คลองซอยจะมีวัดใหญ่และชุมชนขนาดใหญ่ มีตลาดเล็กๆ และศาลเจ้าอยู่ปากคลอง

 

ตลาดน้ำวัดไทร เมื่อครั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คึกคัก 

 

สิ้นสูญ “บาง” ในฝั่งธนฯ

การมีบ้านมีวัดอยู่ริมลำคลองซอยของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียกว่า “บาง” นี้ ได้รับการบันทึกไว้ในวรรณคดีประเภทนิราศที่มีมาแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ที่เด่นชัดอยู่ในสมัยที่ใกล้กับปัจจุบันมากที่สุดก็คือ นิราศของสุนทรภู่และกวีร่วมสมัยคนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีผู้จัดการท่องเที่ยวทางน้ำใช้เป็นประโยชน์ในการบรรยายบ้านเมืองสองฝั่งน้ำเจ้าพระยา ถ้าหากนั่งเรือชมวิวริมฝั่งแม่น้ำในปัจจุบันแล้ว อ่านนิราศตามไปก็จะพบว่า บรรดาลำน้ำลำคลองซอยที่มีอยู่มากมาย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนและวัดที่เรียกว่า “บาง” นั้นหายไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว การเที่ยวชมริมฝั่งธนบุรีแบบนี้ ข้าพเจ้าเรียกว่าเป็นการเที่ยวหน้าวัด  จึงแลเห็นวัดและปากคลอง แต่แลไม่เห็นความเป็นสังคมชาวสวนของคนฝั่งธนฯ การเดินเที่ยวชมหลังวัด ผ่านสวนข้ามคลองจากวัดเสาประโคนหรือวัดดุสิต ไปจนถึงวัดภคินีนาถและสะพานกรุงธนนั้น เป็นการเที่ยวที่เข้าถึงภายใน เห็นสวน เห็นคน เห็นชุมชนและสภาพแวดล้อมซึ่งเคยมีได้ลึกกว่าปัจจุบัน  คำว่า “ฝั่งธนฯ”คงเหลือแต่ชื่อที่เล่าขานเท่านั้น เพราะพื้นที่ซึ่งมีมาแต่สมัยอยุธยา สมัยกรุงเทพฯ จนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ราว พ.ศ. 2508 ขึ้นมานั้น ได้สูญไปเกือบหมดแล้ว เพราะทั้งฝั่งธนฯ และฝั่งพระนครที่เป็นบ้านเมืองทางน้ำ ได้กลายเป็นเมืองบก เป็นมหานครที่บ้านเมืองขยายกว้างไกลไปกว่าการตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำลำคลองอย่างแต่ก่อน

 

ในความทรงจำของข้าพเจ้า ภูมิวัฒนธรรม (cultural landscape) ของสองฝั่งแม่น้ำ คือฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ นั้น เริ่มเปลี่ยนแปลงมาแต่สมัยการสร้างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งคนที่เกิดก่อนสมัยการสร้างเขื่อนเช่นข้าพเจ้าเท่านั้น ที่มีโอกาสเห็นและได้สัมผัส ส่วนคนที่เกิดรุ่นหลังเพียงแต่จินตนาการว่าเป็นบ้านเมืองลอยน้ำ หรือเมืองริมน้ำอะไรทำนองนั้น  บางคนก็จินตนาการไปไกลว่าเป็นเวนิสตะวันออก  การสร้างเขื่อนทำให้การขึ้นลงของน้ำตามฤดูกาลเปลี่ยน ก่อนการสร้างเขื่อน น้ำในแม่น้ำมีทั้งหน้าน้ำและหน้าแล้ง ในหน้าแล้งน้ำลดลงเกือบถึงก้นคลอง น้ำสีขุ่นข้น ตลิ่งสูง และท้องน้ำแคบ คลองบางแห่งเรือผ่านแทบไม่ได้ ทำให้แลเห็นบ้านเรือนริมน้ำล้วนตั้งอยู่บนเสาสูงกว่า 2 เมตรขึ้นไป บ้านเรือนส่วนใหญ่ล้วนตั้งอยู่ริมน้ำ บนบกมีไม่มาก เพราะพื้นที่เป็นสวนเป็นวัด พอหน้าน้ำ ระดับน้ำสูงเกือบล้นตลิ่ง หลายแห่งน้ำสูงท่วมตลิ่งก็มาก ลำน้ำกว้าง มีเรือนแพและเรือนเสาสูงตั้งอยู่ปริ่มน้ำ หลังการสร้างเขื่อน ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองค่อนข้างคงที่ คือไม่สูงจนล้นตลิ่งในฤดูน้ำ เป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่และสถาปนิกรุ่นใหม่ไม่สนใจในเรื่องระดับน้ำมากน้ำน้อย มักสร้างบ้านติดพื้นดินหรือใต้ถุนเตี้ย บ้านเรือนใหม่ที่เกิดขึ้นก็เน้นบ้านเรือนริมถนนที่ไม่ยกพื้น บรรดาบ้านเรือนริมน้ำและเรือนแพค่อยๆ ลดจำนวนลง คนหันมาปลูกเรือนแบบใหม่ในลักษณะใต้ถุนเตี้ยหรือติดดินแทน จึงเกิดบ้านเรือนบนพื้นที่ใกล้ตลิ่งและห่างตลิ่งเพิ่มขึ้นมาแทน

 

ประจวบกับในเวลานั้น การพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ได้ขยายถนนหนทาง แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งธุรกิจการค้าและแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อให้คนเข้ามาทำงานในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามาหางานทำและตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ฝั่งธนบุรีและพื้นที่สวนผลไม้ตามลำน้ำลำคลองจึงได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนัก เพราะคนจากที่อื่นพากันเข้ามา เกิดบ้านเรือนแบบใหม่และชุมชนใหม่ๆ ตามชายน้ำและภายในบริเวณสวน บรรดาคนกลุ่มใหม่ที่เข้ามานี้ไม่ได้ทำสวนหรือเป็นชาวสวน แต่เป็นคนที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานทางฝั่งพระนคร แต่การเดินทางโดยทางเรือแบบเดิมนั้นล่าช้า ทำให้เกิดความลำบาก จึงมีผู้นำเรือหางยาวที่มีผู้คิดค้นไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนมาใช้รับส่งคนตามบ้าน ท่าน้ำวัด และชุมชนต่างๆ เข้ามายังฝั่งพระนคร โดยมาขึ้นที่ท่าช้าง ท่าพระจันทร์ ท่าเตียน ท่าเทเวศร์ และท่าอื่นๆ ส่งเสียงดังหนวกหูเรื่อยมา นับว่าในระยะแรกแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นสังคมอุตสาหกรรมนั้น ทำให้มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาทางฝั่งธนฯ เรื่อยไปจนถึงนนทบุรีมากขึ้น และเรือหางยาวก็เป็นนวัตกรรมในการขนส่งคมนาคมที่สำคัญ แต่ฝั่งธนฯ และฝั่งพระนครก็ยังคงอยู่ เพราะยังใช้การขนส่งทางน้ำแบบเดิม จนเมื่อมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่ง คือสะพานกรุงธน หรือสะพานซังฮี้ ข้ามจากฝั่งธนฯ แถวบางยี่ขันมายังสามเสน และ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ข้ามจากตลิ่งชันและบางกอกน้อยมายังท่าช้างวังหน้า สะพานสองแห่งนี้กับบรรดาถนนหนทางที่ผ่านไปตามพื้นที่ต่างๆ ของฝั่งธนฯ ทำให้ทั้งฝั่งธนฯ และฝั่งพระนครกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ฝั่งธนฯ จึงเหลือแต่ชื่อแต่ภาพลักษณ์ที่เป็นภูมิวัฒนธรรมเดิม จึงเหลืออยู่เพียงแต่ในความทรงจำของคนรุ่นปู่ย่าตายายเช่นข้าพเจ้า

 

หากมีการพัฒนาบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีถนนขนาบน้ำจากกรุงเทพฯ ไปถึงนนทบุรีเกิดขึ้นเมื่อใด ก็คงนับเป็นอวสานขั้นสุดท้ายของบ้านเมืองสองฝั่งน้ำที่มีความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมที่มีมาร่วมพันปีให้หมดสิ้นไป เกิดเมืองใหม่ริมฝั่งแม่น้ำแบบเกาหลีหรือยุโรปแทน ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บปวดและทุเรศในใจ เมื่อเห็นเรือท่องเที่ยวแล่นไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา และมัคคุเทศก์หลายคนมักบรรยายบ้านเมืองสองฝั่งน้ำจากนิราศของสุนทรภู่ที่ผ่านย่านและบางต่างๆ ริมฝั่งน้ำและลำคลอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้จินตนาการแบบลมๆ แล้งๆ ถึงสิ่งที่ไม่มีอีกแล้วของอารยธรรมไทย