ความหมายบนเลาทางฯ
หนังสือหนังหา

ความหมายบนเลาทางฯ

 

ความหมายบนเลาทาง : บทความสังเคราะห์ผลงานยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้

เลิศชาย ศิริชัย, สุวิทย์ มาประสงค์ บรรณาธิการ

จัดพิมพ์โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2558

จำนวน 561 หน้า

 

 

ในหนังสือ ความหมายบนเลาทาง : บทความสังเคราะห์ผลงานยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ให้มุมมองและความสำคัญของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากประสบการณ์การวิจัยในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ในช่วงทศวรรษที่ 2550-2560 ไว้อย่างน่าสนใจ ดังความตอนหนึ่งของ อาจารย์เลิศชาย ศิริชัย ว่า

 

สังคมต่างๆ ทั้งระดับใหญ่และระดับเล็กลงมาล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย และไม่มีทางจะเป็นแบบเดียวกันได้... พวกเขามีภาพของอดีตที่พวกเขาตระหนักถึงต่างกัน อดีตจึงเป็นขุมทรัพย์ของคนในปัจจุบัน และเป็นขุมทรัพย์สำหรับการก้าวในอนาคต การที่แต่ละสังคมมีความแตกต่างหลากหลายกันเงื่อนไขสำคัญที่สุดก็คือการที่เขามีอดีตที่แตกต่างกัน...

 

“ประวัติศาสตร์ของชาวบ้านจึงไม่ใช่เป็นการศึกษาอะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องในอดีต แต่เป็นการศึกษาในสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างที่กล่าวมา คือสำหรับกลุ่มคนหรือสังคมที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ควรจะทำให้เขารู้ว่าเขาคือใคร มีดีอะไรควรจะนำเอาสิ่งที่เขาเป็นและมีไปสร้างความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นๆ อย่างไร หรือเลือกดำรงชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างไร

 

“ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มอื่นๆ ได้มองเห็นตัวตนและยอมรับการมีอยู่ของคนกลุ่มนั้นๆ ยอมรับความแตกต่างและศักดิ์ศรีของคนกลุ่มนั้นๆ และควรจะนำไปสู่การไม่ใช้อำนาจเอาเปรียบคนกลุ่มนั้นๆ ด้วย ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตามความหมายที่กล่าวข้างต้น จึงมีความสำคัญต่อการที่ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ จะสามารถเลือกทิศทางไปข้างหน้าของตนเองอย่างเหมาะสม ในขณะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจะเข้าใจมิติความหลากหลายของชุมชน สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาให้เหมาะสมมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ชุมชนต่างๆ สามารถเลือกอนาคตของตนเองได้มากขึ้น

 

จากข้อคิดเห็นดังกล่าวช่วยให้เรามองประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้กว้างมากขึ้น ไม่ได้มุ่งศึกษาแต่ประวัติศาสตร์ในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่มองหาประวัติศาสตร์ที่แตกต่างและสัมพันธ์กับผู้คนและสังคมในปัจจุบัน ทั้งยังต้องมอบโอกาสให้เสียงเล็กๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในความทรงจำมาประกอบสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองได้อย่างมีนัยมากขึ้น การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากคนในจึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคือการศึกษาที่เกิดจากความสนใจของเจ้าของวัฒนธรรมหรือเจ้าของประวัติศาสตร์นั้นๆ

 

ในหนังสือเล่มนี้นำเสนอประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นต่างๆ ของภาคใต้ที่ศึกษาวิจัยและกลั่นกรองโดยกลุ่มยุววิจัยประวัติศาสตร์ฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจร่วมกัน ประกอบด้วยบทความที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ โดย ดร. เลิศชาย ศิริชัย
  2. จากพื้นที่ความทรงจำ : สู่พื้นที่ชุมชนประวัติศาสตร์ โดย ดร. อุทิศ สังขรัตน์
  3. ท้องถิ่นภาคใต้ในระยะเปลี่ยนผ่านโครงเรื่องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและความสัมพันธ์ของผู้คน โดยคุณปริญญา นวลเปียน
  4. เทศะของคุณค่า กาละของความทรงจำ : เรื่องเล่าชุมชนในนิพนธ์ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ โดยคุณพิเชฐ แสงทอง
  5. ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและท้องถิ่นภาคใต้ บทสังเคราะห์จากโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้  โดยคุณตฤณ ไอยะรา
  6. ตลาดเมืองใต้ : บทสังเคราะห์โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ โดยคุณวิทยา อาภรณ์
  7. ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริบทการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่น โดยคุณสุวิทย์ มาประสงค์
  8. วัดในความเปลี่ยนแปลง : ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชีวอำนาจกับการหดและขยายตัวของพื้นที่ส่วนรวมในชุมชนท้องถิ่นภาคใต้ โดยคุณอรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง

 

นอกจากหนังสือ “ความหมายบนเลาทาง” เล่มนี้แล้ว ยังมีหนังสือที่ออกมาในชุดเดียวกันอีก 4 เล่มที่น่าติดตามอ่านเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะได้นำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไป

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ