พระถ้ำเสือ :  หลักฐานอันพิพักพิพ่วน

พระถ้ำเสือ : หลักฐานอันพิพักพิพ่วน

 

พระพิมพ์เป็นของเก่าแก่ที่ได้มีผู้ทำขึ้นตั้งแต่ตอนต้นพุทธศาสนา (คือภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไม่นานนัก) ข้าพเจ้าถือว่าเป็นของที่ควรเคารพนับถือ และเป็นประโยชน์ในการสอบสวนพงศาวดารมาก

 

ข้อความข้างต้น ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ชาวฝรั่งเศส ได้เขียนไว้ในหนังสือ ตำนานพระพิมพ์แสดงให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญกับหลักฐานที่เป็นพระพิมพ์ ว่าสามารถให้ข้อมูลที่อาจนำไปปะติดปะต่อกับเรื่องราวในพงศาวดารได้อย่างหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา พระพิมพ์แบบต่างๆ ที่นักโบราณคดีกรมศิลปากรขุดหรือพบจากกรุต่างๆ ก็ได้รับการยอมรับ นำมาใช้เป็นหลักฐานในการตีความสืบค้นหาอายุของแหล่งโบราณคดีนั้นๆ แต่ดูเหมือนว่า พระถ้ำเสือ เป็นพระพิมพ์กลุ่มเดียวที่อาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้รับการยอมรับที่จะนำมาใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาตีความด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์จากกรมศิลปากร แม้ว่าจะมีการพบเป็นจำนวนมากและปรากฏหลากหลายพิมพ์ อีกทั้งยังพบที่เมืองโบราณอู่ทองเพียงแห่งเดียวก็ตาม ทำไมพระกลุ่มนี้จึงได้รับการปฏิเสธจากนักโบราณคดี? หรือนี่จะเป็นการเสียโอกาสในการใช้หลักฐานที่จะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับการศึกษาทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีเมืองโบราณอู่ทอง ในช่วงรอยต่อระหว่างยุคก่อนประวัติศาสตร์เข้าสู่ยุคทวารวดีกระนั้นหรือ?  

 

1

พระถ้ำเสือเป็นพระพิมพ์ที่มีหลายขนาดและมากพิมพ์ ทั้งยังมีลักษณะเด่น คือ ลำพระองค์มีลักษณะต้อและหลังพระนูนเหมือนหลังเต่าทุกองค์

 

ที่มาแห่งนามและการค้นพบ

อำเภออู่ทองของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งเดียวที่มีการค้นพบพระถ้ำเสือ ซึ่งพระกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่พบภายในถ้ำต่างๆ บริเวณเทือกเขาที่เรียงตัวยาวเป็นพืดอยู่ทางตะวันตกของอำเภออู่ทอง โดยทอดตัวยาวจากทิศใต้ขึ้นไปทางทิศเหนือราว 30 กิโลเมตร เป็นแนวเทือกเขาที่อยู่ด้านหลังของเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งเดิมนักโบราณคดีทั่วไปกำหนดอายุว่าอยู่ในสมัยทวารวดี คือพุทธศตวรรษที่ 12 ลงมา แต่จากหลักฐาน ที่มีการขุดค้นมากขึ้นในระยะหลังทำให้เชื่อว่าเมืองโบราณนี้มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยทวารวดี ดังที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เห็นว่ามีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองมาแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 5 จนเจริญขึ้นเป็นนครรัฐเมืองท่าในสมัยฟูนัน ราวพุทธศตวรรษที่ 8 และสืบต่อมาถึงสมัยทวารวดี เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ฌอง บวสเซอลิเยร์ นักโบราณคดีประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาทำการขุดค้นเมืองอู่ทอง ก็สันนิษฐานว่าอู่ทองเป็นเมืองที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในสมัยฟูนันอาจจะมีฐานะเป็นเมืองหลวงของฟูนัน

 

พระถ้ำเสือเป็นพระพิมพ์ดินเผาที่มีหลายขนาด หลายพิมพ์ และมีลักษณะพระพักตร์และพระเนตรที่ให้อารมณ์ต่างๆ กัน อันเป็นลักษณะพิเศษที่ไม่พบในพระพิมพ์ อื่นๆ  เช่น บางองค์มีอิริยาบถเคร่งขรึม บางองค์สงบนิ่ง บางองค์ดูเคร่งเครียด บ้างก็ดูบึ้งตึง บ้างแสดงความเจ็บปวด บ้างยิ้มแย้มแจ่มใส บ้างสงสัย บ้างเจ็บปวด เป็นต้น และที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระถ้ำเสือ ก็คือ ลำพระองค์มีลักษณะต้อ และหลังพระนูนเหมือนหลังเต่าทุกองค์  สำหรับขนาดองค์พระมีตั้งแต่พิมพ์จิ๋ว (ขนาดกว้างและสูงราว 1 เซนติเมตร)  พิมพ์เล็ก (กว้างราว 1.5 เซนติเมตร สูงราว 2.5 เซนติเมตร) พิมพ์กลาง (กว้างราว 1.57 เซนติเมตร สูงราว 3.5 เซนติเมตร) และพิมพ์ใหญ่ (กว้างราว 2.3-2.5 เซนติเมตร สูง 5.5 เซนติเมตร) ซึ่งพบเป็นส่วนมาก แต่ก็มีบางกรุที่พบว่ามีขนาดต้อ คือ เล็กเตี้ยกว่าพิมพ์เล็กและขนาดใหญ่ กว้างราว 20 เซนติเมตร สูงถึง 30 เซนติเมตร ทีเดียว

 

พุทธลักษณะของพระถ้ำเสือส่วนใหญ่ทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะ คือ พระอุระกว้างและนูนใหญ่ พระอุทรเล็กคอด ครองจีวรห่มเฉียง บางองค์ปรากฏร่องรอยของสังฆาฏิพาดผ่านพระอังสาซ้ายเป็นแถบยาว พระพักตร์เป็นรูปไข่หรือค่อนข้างกลม พระถ้ำเสือถูกค้นพบครั้งแรกราว พ.ศ. 2487 ในถ้ำบนเขาคอก โดยชาวบ้านที่ไปหามูลค้างคาวในถ้ำซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของเสือดำ เสือโคร่ง ชาวบ้านจึงเรียก “ถ้ำเขาเสือ” เมื่อพบพระที่นี่จึงเรียกว่า “พระถ้ำเสือ” ไปด้วย อาจารย์มนัส โอภากุล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพระถ้ำเสือและเป็นนักค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีท้องถิ่นเมืองสุพรรณบุรี ได้บันทึกเรื่องราวการพบครั้งนี้จากปากคำของนายนาม เหมือนศรี ซึ่งเป็นผู้พบพระถ้ำเสือ โดยขณะนั้นยังเป็นเด็ก ไปหามูลค้างคาวกับมารดาและน้องในถ้ำเขาเสือ ได้พระมาเพียง 7-8 องค์ ตอนนั้นไม่ได้ให้ความสนใจ จนนายนามอายุได้ 17 ปีได้กลับไปหามูลค้าวคาวที่ถ้ำดังกล่าวอีกครั้ง คราวนี้ได้พระมาราว 200 องค์ และมีโอกาสนำไปวางขายที่ตลาดในตัวอำเภออู่ทอง แรกๆ ไม่มีผู้สนใจ ต่อมาขายได้องค์ละ 2-3 บาท ข่าวการพบพระถ้ำเสือจึงเริ่มแพร่หลาย มีการไปค้นหาและได้พระตามถ้ำต่างๆ อีกหลายแห่ง ราคาจึงเริ่มถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ พระพิมพ์ที่ได้จากถ้ำในระยะหลังนี้ถูกเรียกพระถ้ำเสือทั้งหมด ด้วยมีลักษณะเหมือนกับที่พบครั้งแรก

 

 

2

 เขาทำเทียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพระพุทธรูป "สมเด็จพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ" เป็นหนึ่งในเทือกเขาหลังเมืองโบราณอู่ทอง และพบพระถ้ำเสือตามถ้ำบนเขาด้วย

 

อ่านบทความ "พระถ้ำเสือ : หลักฐานอันพิพักพิพ่วน" โดย สุดารา สุจฉายา ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 42 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น