เดิน… เข้าใจเมืองที่ย่านเจริญนคร
แวดวงเสวนา

เดิน… เข้าใจเมืองที่ย่านเจริญนคร

 

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายในงานรฦกธนบุรี 250+ ครั้งที่ 1 “เปิดบ้านหลังคาแดง” ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา นอกจากการเสวนาในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับฝั่งธนบุรีแล้ว ในช่วงบ่ายยังจัดให้มีกิจกรรมทัศนศึกษา “เดิน… เข้าใจเมืองที่ย่านเจริญนคร” เพื่อนำคณะผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ย่านคลองสานและถนนเจริญนคร โดยมีคุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต จากศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี และคุณสุดารา  สุจฉายา จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เป็นวิทยากรภาคสนาม

 

การเดินเท้าสัญจรเยี่ยมชม “ย่านเจริญนคร” เริ่มต้นที่ลานด้านหน้าโรงพยาบาลตากสิน ซึ่งเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกๆ ของฝั่งธนบุรี จุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลแห่งนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเกิดกาฬโรคระบาดในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สันนิษฐานว่าต้นเหตุที่ก่อให้เกิดโรคระบาดคือ “หนู” ที่เป็นพาหะนำเชื้อกาฬโรคมาสู่คน ในอดีตบริเวณย่านคลองสานเป็นจุดจอดเรือขนส่งสินค้า บ้างเป็นเรือสินค้าที่มาจากต่างถิ่น เป็นไปได้ว่ามีหนูจำนวนมากโดยสารมากับเรือสินค้าเหล่านี้ และได้แพร่พันธุ์อาศัยอยู่ตามท่าเรือที่มีผู้คนคับคั่ง ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “โรงพยาบาลโรคติดต่อ” ขึ้นที่ย่านคลองสาน เพื่อรักษาผู้ป่วยและระงับป้องกันโรคระบาดที่เกิดขึ้น โดยตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่ 7 ไร่ 74 ตารางวา ต่อมาภายหลังได้ย้ายโรงพยาบาลสำหรับโรคติดต่อออกไป ส่วนโรงพยาบาลเดิมให้เปลี่ยนมารับรักษาโรคทั่วไป และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลตากสิน”

 

เสาธงสัญญาณ ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านหน้าสำนักงานเขตคลองสาน

 

จากโรงพยาบาลตากสิน เดินขึ้นมายังสำนักงานเขตคลองสานที่อยู่ไม่ไกลกัน ด้านหน้าสำนักงานเขตมี “เสาธงสัญญาณ” ตั้งอยู่ ส่วนด้านหลังสำนักงานเขตเป็นที่ตั้งของ “ป้อมป้องปัจจามิตร” ป้อมปราการริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เสาธงสัญญาณใช้สำหรับชักธงของบริษัทเดินเรือต่างชาติที่เข้ามาติดต่อราชการและค้าขายภายในพระนคร เดิมตั้งอยู่ภายในป้อมป้องปัจจามิตร ซึ่งเป็นป้อมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ใกล้กับปากคลองสาน ฝั่งตรงข้ามกันมี “ป้อมปิดปัจจานึก” ตั้งอยู่ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ป้อมทั้ง 2 แห่งนี้ ทำหน้าที่ดูแลเรือที่เข้า-ออก บริเวณชานพระนครฝั่งใต้ ป้อมป้องปัจจามิตร มีลักษณะเป็นป้อมรูปดาวขนาดใหญ่ฐานสูง และมีแนวกำแพงที่มีใบบัง ตามแบบอย่างป้อมปราการ  ส่วนที่เห็นในปัจจุบัน ถูกรื้อถอนออกไปบางส่วน คงเหลือเพียง 1 ใน 4 ส่วนของขนาดป้อมของเดิม

 

ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กำลังฟังวิทยากรบรรยายถึงความสำคัญของป้อมป้องปัจจามิตร (ภาพ: กรรชัย สุนทรอนุรักษ์)

 

ากป้อมป้องปัจจามิตร เดินผ่านสะพานข้ามคลองสาน ใกล้กับปากคลอง เพื่อมุ่งหน้าไปยังโกดังสินค้าเก่าที่ถูกปรับปรุงเป็นร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ เช่น ร้าน The Jam Factory ร้านหนังสือก็องดิด (Candide) ร้านอาหาร The Never Ending Summer เป็นต้น ในอดีตตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ย่านคลองสาน เป็นที่ตั้งของโกดังเก็บสินค้าจำนวนมาก เช่น โกดังเซ่งกี่ เดิมใช้เป็นที่เก็บของป่าและหนังสัตว์ ปัจจุบันยังใช้เก็บสมุนไพรและเครื่องเทศต่างๆ  ส่วนโกดังสินค้าบริเวณปากคลองสานแห่งนี้ นอกจากใช้เก็บสินค้า เช่น โกดังของโรงงานถ่านไฟฉายตรากบ เป็นต้น ยังมีความสำคัญที่เป็นจุดพักสินค้าระหว่างรถไฟและเรือด้วย เพราะแต่เดิมบริเวณเดียวกันเป็นที่ตั้งของ “สถานีรถไฟคลองสาน” ซึ่งเป็นต้นทางรถไฟสายคลองสาน-มหาชัย ในอดีตของทะเลจากมหาชัยจะถูกลำเลียงขึ้นรถไฟ มาส่งที่ท่าเรือคลองสาน เพื่อกระจายไปยังตลาดต่างๆ ในฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร

 

สถานีรถไฟแห่งนี้เปิดทำการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะยุติการใช้งานและถูกรื้อถอนออกไปในปี พ.ศ. 2504 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการจราจรทางถนนที่ติดขัดในบริเวณสถานีคลองสานกับสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ จึงเป็นเหตุให้ยุบสถานีรถไฟคลองสาน คงเหลือต้นสายอยู่ที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนแนวรางรถไฟระหว่างทั้งสองสถานีนี้ได้ถูกปรับเป็นถนนเจริญรัถ ปัจจุบันเป็นย่านขายเครื่องหนังที่สำคัญของฝั่งธนบุรี

 

จากโกดังสินค้าเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดินผ่านท่าเรือคลองสานและตลาดคลองสานที่คึกคักตลอดทั้งวัน ก่อนเข้าสู่ “ถนนเจริญนคร” ที่ตัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 เพื่อเชื่อมต่อกับถนนสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน ไปถึงราษฎร์บูรณะริเริ่มโดยพระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) นายกเทศมนตรีนครธนบุรีขณะนั้น โดยตัดผ่านเรือกสวนที่มีอยู่หนาแน่นตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนชื่อ “เจริญนคร” นั้น ตั้งขึ้นเพื่อให้ล้อกับชื่อถนน “เจริญกรุง” ที่อยู่ในแนวขนานกันทางฝั่งพระนคร 

 

เมื่อเดินมาถึงปากซอยเจริญนคร 7 จะพบป้ายทางเข้า “ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นชุมชนชาวมุสลิมที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร โดยประวัติแล้วชาวมุสลิมที่นี่มีเชื้อสายจาม ซึ่งเป็นเครือญาติสัมพันธ์กับชาวมุสลิมที่กระจายตัวอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ในอดีตชาวชุมชนแห่งนี้มีอาชีพที่เป็นนักประดาน้ำ รับจ้างกู้เรือและงมสิ่งของที่จมหายลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ภายในมัสยิดสุวรรณภูมิ ถนนเจริญนคร

 

“โคมไฟ” เครื่องสังเค็ดที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้มัสยิดสุวรรณภูมิ

 

อาคารมัสยิดสุวรรณภูมิ มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ภายในมัสยิดนอกจากจะเป็นที่ประกอบพิธีกรรม และที่เก็บรักษาพระคัมภีร์ ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ยังมี “โคมไฟ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “เครื่องสังเค็ด” ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้แก่ศาสนสถานต่างๆ เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5  ปัจจุบันชาวชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ยังคงรักษาโคมไฟดังกล่าวไว้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ชาวชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ ยังรับรองผู้มาเยี่ยมชมในวันนั้น ด้วย “น้ำฝาง” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่นำแก่นไม้ฝางมาต้มน้ำ จนได้น้ำสีชมพูอมม่วง มีกลิ่นหอมอ่อน ก่อนเติมน้ำตาลเพื่อให้รสหวาน และ “ขนมซูยี” (Suji) เมนูขนมหวานยอดนิยมของชาวอินเดีย ทำจากแป้งซูยีเม็ดละเอียด กวนกับนมสดและน้ำตาล จนเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน โรยหน้าด้วยลูกเกดและธัญพืช ถือว่าเป็นรสชาติแปลกใหม่สำหรับผู้ที่ไม่เคยลิ้มลอง

 

“ขนมซูยี” ที่ชาวชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิเตรียมไว้รับรองผู้มาเยือน

 

การทัศนศึกษาในครั้งนี้ ทำให้เข้าใจแง่มุมต่างๆ ของย่านคลองสานและเจริญนครมากยิ่งขึ้น ทั้งชุมชนดั้งเดิม และความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งช่วยเติมเต็มภาพประวัติศาสตร์สังคมของฝั่งธนบุรีได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น