ร่องรอย หลักฐาน ความทรงจำ บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ

ร่องรอย หลักฐาน ความทรงจำ บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ

 

ร่องรอย หลักฐาน ความทรงจำ บนเส้นทางรถไฟสายมรณะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริวรรณ สิรวณิชย์

ภาควิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ในพื้นที่กาญจนบุรีช่วงหนึ่ง คือ สงครามโลกครั้งที่สองหรือสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 บริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และกองกำลังบางส่วนเข้ามาทางอรัญประเทศ กระทั่งรัฐบาลไทยนำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดสินใจหยุดการต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่นและยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปยังพม่า ญี่ปุ่นใช้ด่านบ้องตี้เดินทัพเข้ายึดเมืองทวายและใช้ด่านพระเจดีย์สามองค์เข้ายึดเมืองย่างกุ้ง

 

ความจำเป็นทางด้านยุทธศาสตร์ทำให้กองกำลังทหารญี่ปุ่นต้องสร้างเส้นทางรถไฟเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางรถไฟสายใต้ที่ไทยสร้างไปถึงเพชรบุรีแล้วแต่ญี่ปุ่นต้องการเชื่อมทางรถไฟสายแรกจากไทยไปยังพม่าโดยเชื่อมต่อจากสถานีหนองปลาดุก ผ่านกาญจนบุรีไปยังเมืองตันบีอูซายัต สายที่สองคือทางรถไฟสายคอคอดกระ สร้างเชื่อมต่อจากสถานีชุมพรไปยังสถานีกระบุรีในจังหวัดระนอง เพื่อขนส่งทหารลงเรือไปยังพม่า [1] ทางรถไฟทั้งสองสายนี้กองทัพญี่ปุ่นจะขนกำลังพลและเสบียงอาหารไปยังมลายู โดยมีเป้าหมายเพื่อขนส่งกองกำลังบำรุงให้กับแนวหน้าของกองทัพญี่ปุ่นในพม่าเพื่อบุกอินเดียต่อไป ขณะนั้นนายพลนากามูระ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและเข้ามาประจำการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2486 ได้กล่าวว่าในช่วงครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2485  ภาวะสงครามทางพม่ามีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น การส่งกำลังบำรุงทางทะเลถึงย่างกุ้งมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากมีเครื่องบินและเรือดำน้ำของศัตรูปรากฏตัวขึ้น ผู้บัญชาการสูงสุดที่โตเกียวจึงได้คิดวางแผน กำหนดนโยบายจะสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าเพื่อขนส่งกำลังบำรุงทางบกแทนทางทะเลและกำหนดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี [2]

 

สะพานข้ามแม่น้ำแคว ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ /สารคดี-เมืองโบราณ) 

 

จากแนวคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ ทั้งนี้เพื่อให้การเดินทางลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์เป็นไปด้วยดี โดยเริ่มจากทางรถไฟสายใต้ที่บ้านหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เลียบตามลำน้ำแม่กลองตรงไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ขึ้นเหนือข้ามแม่น้ำแควใหญ่ที่บ้านท่ามะขาม แล้วเลียบตามลำน้ำแควน้อยผ่านขุนเขา หน้าผา ป่ารกชัฏไปจนสุดชายแดนไทยที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ เข้าเขตประเทศพม่าจนถึงสถานีตันบีอูซายัต (Tang Bieo Saya) อยู่ระหว่างเมืองมะละแหม่งกับเมืองตองยี ประเทศพม่า รวมระยะทางทั้งหมด 415 กิโลเมตร อยู่ในเขตไทย 303.95 กิโลเมตร อยู่ในเขตพม่า 111.05 กิโลเมตร [3] จากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น ส่งผลให้จังหวัดกาญจนบุรีมีความเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สองในฐานะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญของญี่ปุ่นเพราะเป็นเส้นทางสำคัญที่จะผ่านไปยังพม่าและอินเดีย ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษและกลายเป็นพื้นที่สมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

การสร้างทางรถไฟช่วงประเทศไทยแบ่งได้เป็นสองระยะคือ จากสถานีหนองปลาดุกถึงสถานีกาญจนบุรี และจากสถานีกาญจนบุรีถึงชายแดนพม่า โดยเริ่มขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 ทางรถไฟช่วงแรกเป็นเส้นทางที่สร้างผ่านที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ประกอบด้วยสถานีหนองปลาดุก ลูกแก ท่าเรือ ท่าม่วง เขาดิน ปากแพรก กาญจนบุรีและท่ามะขามหรือสถานีสะพานข้ามแม่น้ำแคว ทางรถไฟช่วงแรกยาวประมาณ 50 กิโลเมตร และสร้างสำเร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2486 [4] การสร้างทางรถไฟช่วงที่สองระหว่างสถานีกาญจนบุรี-พม่า ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยากเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องสร้างทางรถไฟผ่านแม่น้ำแควใหญ่และพื้นที่ในเขตภูเขาและป่ารกชัฏ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินงานและอันตรายต่อแรงงานเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ

 

กองทัพญี่ปุ่นต้องการเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมดและแบ่งงานให้ฝ่ายไทยบางส่วนคือให้ถางป่าทำคันดินเป็นแนวทางจากหนองปลาดุกขึ้นไปจนถึงบ้านท่ามะขาม ริมแม่น้ำแควใหญ่ ส่วนญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการสร้างทางรถไฟ โดยนำเชลยศึกชาวอังกฤษ ดัชต์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเชลยชาวพื้นเมืองเอเชีย ในระยะแรกมีคนไทยไปรับจ้างเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อการสร้างทางได้เข้าไปในป่าลึกมากขึ้น คนไทยจึงไม่ยอมไปรับจ้างเพราะกลัวไข้ป่าและไม่พอใจการบังคับขู่เข็ญของชาวญี่ปุ่น [5]

 

สะพานข้ามแม่น้ำแคว ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ /สารคดี-เมืองโบราณ) 

 

การสร้างทางรถไฟสายนี้จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เนื่องจากเป็นงานเร่งด่วนที่ทำในช่วงสงคราม แรงงานในการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ประกอบด้วย กลุ่มแรงงานทหารญี่ปุ่น กลุ่มเชลยศึกและแรงงานรับจ้าง โยชิฮิสะ มาซูดา อดีตนายทหารช่างญี่ปุ่นที่มาปฎิบัติงานในจังหวัดกาญจนบุรี สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวว่า “การก่อสร้างภายในประเทศไทยนั้น บรรดาเพื่อนทหารญี่ปุ่นด้วยกันได้ควบคุมงานก่อสร้าง โดยตีเส้นทางรถไฟตั้งแต่บ้านหนองปลาดุกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์เป็นระยะทางทั้งสิ้น 400 กว่ากิโลเมตร ซึ่งหากใช้เวลาตามที่คำนวณไว้จะต้องใช้เวลา 5-6 ปีจึงจะเสร็จ แต่ด้วยเวลาของสงครามจึงมีการเร่งงานการก่อสร้างให้เสร็จทันภายใน 1 ปี  โดยระดมกำลัง ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์จากสิงคโปร์ มลายู คือ รางรถไฟ และหัวรถจักรต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เกณฑ์คนงานและจ้างคนงานจากประเทศต่างๆ มาร่วมในการก่อสร้าง” [6]

 

งานศึกษาของวรวุธ สุวรรณฤทธิ์ กล่าวถึงแรงงานก่อสร้างทางรถไฟ โดยระบุว่าการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพราะต้องเร่งรีบให้เสร็จตามกำหนดเวลา ญี่ปุ่นได้เกณฑ์แรงงานโดยจับเชลยศึกของฝ่ายสัมพันธมิตรในเขตเอเชียแปซิฟิกในช่วงปี พ.ศ. 2485-2488 ทั้งชาวอังกฤษ ดัชต์ ออสเตรเลีย อเมริกัน รวมทั้งแรงงานที่เกณฑ์จากชาติต่างๆ ในเอเชีย รวมกว่า 100,000 คน ทางรถไฟสายนี้จึงเป็นสายที่มีผู้คนจากนานาชาติมาเกี่ยวข้องมากที่สุด รวมทั้งหมด 14 ประเทศ ดังนี้ [7] ผู้ควบคุมการก่อสร้าง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี เชลยศึก ได้แก่ อังกฤษ เนเธอแลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และกรรมกร ได้แก่ ไทย พม่า อินโดนีเซีย อินเดีย มลายู เวียดนาม จีน ความยากลำบากที่เหล่าแรงงานต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ การทำงานที่เร่งรีบทั้งวันทั้งคืนไม่มีเวลาพักผ่อน ขาดแคลนอาหาร โรคภัยไข้เจ็บที่มาจากสภาพภูมิประเทศ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง ทำให้เชลยศึกต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก เส้นทางรถไฟสายนี้จึงถูกขนานนามว่า “ทางรถไฟสายมรณะ” (The Death Railway)

 

สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ /สารคดี-เมืองโบราณ)   

 

จอร์จ โวกส์ (George Voges) ผู้เคยรับราชการทหารในกองทัพบกของฮอลแลนด์และถูกจับเป็นเชลยศึกที่อินโดนีเซีย และถูกส่งลงเรือไปยังค่ายคุมขังที่สิงคโปร์และจากนั้นก็ถูกส่งตัวเข้ามาในประเทศไทย และเดินทางด้วยเท้าจากบ้านโป่งไปค่ายไทรโยค เล่าความทรงจำเกี่ยวกับทางรถไฟสายมรณะ ดังความว่า  “..กลุ่มพวกผม ซึ่งมีอยู่ด้วยกันแปดร้อยคน ถูกสั่งให้สร้างค่ายพักด้วยไม้และไผ่ ซึ่งเราก็สร้างแล้วเสร็จตอนปลายปี พ.ศ. 2485 อันเป็นตอนที่พวกที่มาจากสุมาตราและชวามาถึง และสมทบกับพวกเราเริ่มสร้างทางรถไฟสายนี้...พวกเชลยศึกมีค่ายพักอยู่กระจัดกระจายกันไป คือ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำแควไปจดชายแดนพม่า แต่ละค่ายมีเชลยศึกพักประมาณสองร้อยคนและต้องช่วยกันสร้างค่ายของตนเอง โดยแต่ละค่ายจะมีนายทหารญี่ปุ่นเป็นผู้บังคับการ พวกเราบุกป่าฝ่าดงสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ ภายใต้การควบคุมของทหารช่างญี่ปุ่น ป่าทางตะวันตกของกาญจนบุรีนั้นทุรกันดารมาก เราต้องสร้างทางผ่าทะลุหินผาด้วยแรงมือ ไม่มีเครื่องจักรทุ่นแรงแม้แต่ชิ้นเดียว ต้องโค่นไม้ในป่า แล้วแบกลงมาจากภูเขา เอามากองไว้ข้างล่าง ใช้เวลาเป็นเดือนๆ ทีเดียวกว่าจะสร้างทางเสร็จ ทางสายนี้มีสะพานข้ามเหวที่พวกเราสร้างไว้ประมาณแปดสิบแห่ง

 

...ค่ายเชลยศึกที่ผมอยู่นั้น อยู่ตรงทางที่จะไปด่านพระเจดีย์สามองค์ ถึงแม้ว่าค่ายเราไม่มีรั้วลวดหนามกั้น พวกเราก็หนีไม่ได้อยู่ดี ส่วนอาหารที่พวกเราได้รับแจกนั้นแย่เต็มที แถมยังมีอหิวาตกโรคและไข้จับสั่นระบาดไปทั่วบริเวณ ที่ค่ายก็มีเชลยศึกอยู่หลายชาติ คือมีทั้งออสเตรเลี่ยน อังกฤษ อเมริกันและดัชต์ ซึ่งก็เจ็บป่วยล้มตายกันเป็นเบือ ยาก็ไม่มีจะรักษาทั้งยังถูกใช้ให้ทำงานวันละสิบหกชั่วโมงทุกวัน ไม่มีวันหยุดวันพัก อาหารก็มีเพียงข้าวกับปลาเค็มชิ้นเล็กๆ แค่นั้น เพียงเพื่อให้อยู่รอดเท่านั้นเอง.." [8]

 

สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2520 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ /สารคดี-เมืองโบราณ) 

 

"ช่องเขาขาด" หรือที่รู้จักกันในนาม "ช่องไฟนรก" (Hellfire Pass)

 

ความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเชลยศึกที่มีบทบาทในการสร้างทางรถไฟสายนี้ ยังสะท้อนให้เห็นผ่านคำบอกเล่าของพลโทรามศักดิ์ ไชยโกมินทร์ [9]  กล่าวว่า “ประมาณกลางปี 2485 เมื่อสิงคโปร์ป้อมปราการสำคัญของอังกฤษแตกแล้ว พวกเชลยศึกฝรั่ง มีทหารอังกฤษ ทหารออสเตรเลีย และทหารฮอลันดา เชลยเหล่านี้กองทัพญี่ปุ่นได้คุมมาจังหวัดกาญจนบุรีรุ่นแรก เข้าใจว่ามีจำนวนประมาณ 100 คน ขึ้นรถไฟจากทางสายใต้มาลงที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง เชลยศึกพวกนี้มาอย่างสมบูรณ์ด้วยเครื่องแต่งกายข้าวของเครื่องใช้ของทหาร และปรากฏว่ายังมีเครื่องเล่นและเครื่องอำนวยความสะดวก เช่น กีตาร์ เครื่องดนตรีบางชิ้นรวมทั้งเครื่องพิมพ์ดีด แต่เชลยเหล่านี้หารู้ไม่ว่าจากสถานีบ้านโป่งไปยังจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 51 กิโลเมตร นั้นเขาต้องเดินทางด้วยเท้า เชลยเหล่านี้ที่พวกเราได้เห็นกันที่เมืองกาญจน์อยู่ในสภาพน่าสงสาร รองเท้ากัดช้ำบวมเดินโขยกเขยกเป็นส่วนมาก เมื่อมาถึงเมืองกาญจน์ยังไม่มีค่ายพักเชลย ทหารญี่ปุ่นนำไปพักตามวัดตามโรงเรียน

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานรับจ้างที่มีฐานะเป็นกรรมกรซึ่งได้รับค่าจ้างจากฝ่ายญี่ปุ่น แรงงานจ้างทั้งหมดเป็นชาวเอเชีย เช่น ไทย จีน อินเดีย มลายู ดังคำสัมภาษณ์ของนางคำที่เล่าว่าตนเองเคยเป็นกรรมกรที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟ เดินจากบ้านบ่อมาบ้านหนองปลาดุก “...ทำงานขุดดิน ขนหินเพื่อไปทำถนน ได้ค่าจ้างวันละ 50 สตางค์ เป็นเงินญี่ปุ่นสีเขียวอ่อน ขณะนั้นทองคำบาทละ 38 สมัยนั้นขายหมู 3 ตัว ซื้อทองได้ 1 บาท ที่ค่ายทหารญี่ปุ่น มีแม่ค้าเป็นคนในหมู่บ้านใกล้เคียง นำข้าวโพดมาขาย แต่ส่วนมากแอบแจกฟรีให้เชลยศึกเพราะสงสาร..” [10]  รวมถึงแรงงานไทยที่มารับจ้างกองทัพญี่ปุ่นด้วยความสมัครใจ เช่น การรับจ้างเย็บเสื้อผ้าทหารญี่ปุ่น ได้ค่าแรงวันละ 80 สตางค์

 

 นิทรรศการภายในศูนย์ประวัติศาสตร์ช่องเขาขาดบอกเล่าภาพความโหดร้ายของการสร้างทางรถไฟสายมรณะ 

(ที่มา : กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ) 

 

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลงตั้งแต่ พ.ศ. 2488 แต่ร่องรอยความโหดร้ายระหว่างสงครามยังคงมีปรากฏผ่านสถานที่สำคัญต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว อาทิ สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก สุสานทหารสัมพันธมิตรช่องไก่ สะพานข้ามแม่น้ำแคว อนุสาวรีย์ไทยานุสรณ์ ช่องเขาขาดหรือช่องไฟนรก (Hellfire Pass) ค่ายไทรโยคและทางรถไฟที่ด่านพระเจดีย์สามองค์

 

ความทรงจำที่สะท้อนภาพเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากคำบอกเล่าของผู้คน สถานที่สำคัญ และพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความทรงจำแล้วนั้น ยังสะท้อนให้เห็นผ่านสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ ดังเช่น เรื่อง The Railway Man (2013) เล่าเรื่องราวของอีริค โลแมกซ์ ทหารหนุ่มยศร้อยตรี หน่วยสื่อสารจากกองทัพอังกฤษในประเทศสิงคโปร์ที่ถูกจับตัวเป็นเชลยศึกมายังเมืองกาญจนบุรีเพื่อสร้างทางรถไฟให้ฝ่ายอักษะเข้าสู่เขตประเทศพม่า เขาถูกทรมานด้วยความรุนแรงและถูกบังคับให้ทำงานสร้างทางรถไฟร่วมกับเชลยสงครามคนอื่นๆ ดังประโยคหนึ่งในภาพยนตร์ที่กล่าวว่า “แม้พวกเราจะยังมีชีวิตแต่พวกเราก็ไม่ต่างอะไรกับซากศพที่เหมือนตายทั้งเป็น” แม้ช่วงเวลาของสงครามได้ผ่านพ้นไปแล้วแต่หลายคนก็ยังเผชิญกับอดีตที่โหดร้าย ฝังใจยากที่จะลืมเลือน ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำต่างก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น 

 

ภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man (2013) มาถ่ายทำที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว

(ที่มา : Thai Occidental Productions, เข้าถึงจาก https://www.topfilms.tv/portfolio/the-railway-man

 

ภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man (2013) แสดงภาพแรงงานและเชลยศึกขณะกำลังสร้างทางรถไฟสายมรณะ 

(ที่มา : Thai Occidental Productions, เข้าถึงจาก https://www.topfilms.tv/portfolio/the-railway-man)

 

เช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง บุญผ่อง (2556) ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี ที่ดำรงตำแหน่งช่วงปี พ.ศ. 2483-2485  ซึ่งตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บทบาทอีกด้านหนึ่งคือเป็นนักธุรกิจผู้สืบทอดกิจการร้านสิริโอสถและเปิดร้านค้าในชื่อ “บุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์” บนถนนปากแพรก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้รับสัมปทานส่งอาหารให้แก่ค่ายเชลยศึกที่ถูกนำมาสร้างรถไฟสายมรณะ รวมถึงเป็นผู้ประมูลตัดไม้หมอนรถไฟขายให้แก่ทหารญี่ปุ่น คุณบุญผ่องสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างดีจึงสามารถติดต่อกับทหารญี่ปุ่นและบรรดาเชลยศึกได้ เมื่อได้เห็นความทุกข์ยากทรมานของเชลยศึกในค่าย โดยเฉพาะการป่วยไข้มาลาเรียไม่มียารักษา จึงได้ซุกซ่อนยาควินิน ห่อกระดาษไว้แล้ววางไว้ใต้เข่งลักลอบส่งให้เชลยศึกที่อยู่ในค่าย จนถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษสงครามโลกที่มีความกล้าหาญ มีมนุษยธรรม ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องอย่างสูงโดยได้รับสมญานามว่า “The Quiet Lions” [11]   

 

ละครโทรทัศน์เรื่อง บุญผ่อง (2556) 

(ที่มา : https://www.thaipbs.or.th/program/BoonPong) 

 

ร้านสิริโอสถและร้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ บนถนนปากแพรก

(ที่มา : กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ) 

 

“ถนนนานาชาติ” : อนุสรณ์รำลึกเส้นทางรถไฟสายมรณะ

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสไปเดินเล่นในย่านสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง คือ “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” แต่สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาตลอดแนวถนนที่มุ่งไปหาสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ คือ ป้ายบอกชื่อถนน ในที่นี้ขอเรียกว่า “ถนนนานาชาติ” จึงเก็บความสงสัยและมีโอกาสได้ติดต่อสอบถามผู้รู้คือ คุณประพฤติ มลิผล (เล็ก บ้านใต้) [12] หนึ่งในคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ากาญจนบุรี เล่าให้ฟังเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของถนนสายนี้ ซึ่งเดิมมีชื่อเรียกว่า “ถนนพัฒนากาญจน์” บางตอนเปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนเทศบาลบำรุงเมือง” ต่อมาได้มีการขยายเขตเทศบาลไปทางสะพานข้ามแม่น้ำแควจดเทศบาลตำบลท่ามะขามและเทศบาลตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมืองกาญจนบุรี และในราวปี พ.ศ. 2521-2522 นายนิทัศน์ ถนอมทรัพย์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในขณะนั้น ได้เปลี่ยนชื่อจาก “ถนนเทศบาลบำรุง” เป็น “ถนนแม่น้ำแคว” ซึ่งเป็นถนนที่เริ่มต้นจากโค้งประปาส่วนภูมิภาคถึงสะพานข้ามแม่น้ำแคว ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร และตั้งชื่อถนนซอยทั้งหมด 22 ชื่อ เป็นชื่อประเทศต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ เช่น ถนนฮอลันดา ถนนอังกฤษ ถนนออสเตรเลีย ถนนศรีลังกา ถนนมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งมีทั้งชาติที่เป็นเชลยศึกและแรงงานรับจ้างชาวต่างชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาในการสร้างเส้นทางรถไฟแห่งนี้ โดยจัดทำป้ายบอกชื่อถนน เป็นรูป ปลายี่สก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี มีอักษรบอกชื่อประเทศ เริ่มตั้งแต่ซอยที่ 1 ถนนจีน ซอยที่ 2 ถนนญี่ปุ่น จนไปจบที่ซอยที่ 22 ใกล้กับเชิงสะพานข้ามแม่น้ำแคว

 

"ถนนสิงคโปร์" หนึ่งในชื่อถนนนานาชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงเส้นทางรถไฟสายมรณะ

 

หลังจากติดตั้งป้ายบอกชื่อถนนแล้ว ในปี พ.ศ. 2523 นายเจริญสุข ศิลาพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี มีดำริให้จัดงาน Light & Sound การแสดงแสง สี เสียง ในงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว เพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐด้านการท่องเที่ยวในปีการท่องเที่ยวไทย (Visit Thailand Year 1987) ที่ต้องการให้คนไทยและคนต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการประชาสัมพันธ์และกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดกาญจนบุรีเป็นอย่างมาก

 

สะพานแม่น้ำแควในปัจจุบันคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 

(ที่มา : กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ) 

 

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยได้ซื้อทางรถไฟส่วนที่อยู่ในเขตไทยจากฝ่ายสัมพันธมิตรและดำเนินการบูรณะให้สามารถใช้การได้เป็นบางส่วน ปัจจุบันนี้ทางรถไฟสายนี้มีความยาวประมาณ 172 กิโลเมตร มีสถานีปลายทางที่สถานีน้ำตก โดยจุดสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคือช่วงสะพานข้ามแม่น้ำแควและช่วงโค้งมรณะที่ผ่านถ้ำกระแซ ซึ่งเป็นสะพานโค้งเลียบแม่น้ำแควน้อยยาวประมาณ 400 เมตร แม้ว่าเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลงไปแล้ว หากแต่ร่องรอยและความทรงจำที่ปรากฏในจังหวัดกาญจนบุรียังคงย้ำเตือนให้เห็นถึงความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้งมาโดยตลอด ทั้งในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐาน การเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เข้ามาในพื้นที่ด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่ต่างกันออกไปในแต่ละช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พลวัตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ เพื่อรู้จักและเข้าใจตัวตนของผู้คนในท้องถิ่น ตลอดจนมองหาศักยภาพของท้องถิ่นเพื่อนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

เชิงอรรถ

[1] จารุวรรณ ขำเพชร, “พื้นที่และความทรงจำร่วมเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของชุมชนงิ้วราย”, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 17 (ม.ค.-ธ.ค.), 2557, 261-273.

[2] อาเคโตะ นากามูระ, ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: มติชน), 2555, 35-36.

[3] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดกาญจนบุรี, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2543), 62.

[4] มณฑล คงแถวทอง, ประวัติศาสตร์กาญจนบุรี, (กาญจนบุรี : สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎกาญจนบุรี, 2543), 214.

[5] ดำริห์ เรืองสุธรรม, ขบวนการแรงงานไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2544), 101-102.

[6] มณฑล คงแถวทอง, ประวัติศาสตร์กาญจนบุรี, 222.

[7] วรวุธ สุวรรณฤทธิ์, กาญจนบุรี ดินแดนตะวันตก, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2545), 110.

[8] จอร์จ โวกส์ “ความทรงจำเกี่ยวกับทางรถไฟสายมรณะ” ใน ทางรถไฟสายมรณะ Death railway and the bridge over The River Kwai : a grim episode of World War II, Kanchanaburi, Thailand, (Bangkok: Siam Conception, 1982).

[9] มณฑล คงแถวทอง, ประวัติศาสตร์กาญจนบุรี, 224-225.

[10] ชาญวิทย์-นิมิต เกษตรศิริ, บ้านโป่งกับพ่อและแม่ : ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว, (กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557), 144.

[11] ปากแพรก กาญจนบุรี (บุญผ่อง), เข้าถึงเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2566, เข้าถึงได้จาก  https://www.youtube.com/watch?v=FAhLhyRqQ-Q

[12] สัมภาษณ์ประพฤติ มลิผล, คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ากาญจนบุรี, 2 พฤศจิกายน 2566.

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น