“ระบั่น”  เครื่องหอมในพิธีเจ้าเซ็น

“ระบั่น” เครื่องหอมในพิธีเจ้าเซ็น

 

กลิ่น เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ไม่ว่ากลิ่นนั้นจะหอมหรือเหม็นเน่าก็ตาม ด้วยเหตุนี้ในทุกอารยธรรมของมนุษยโลกจึงมีการผลิตหรือใช้เครื่องหอมเพื่อปรุงแต่งร่างกาย อวลอาคารสถานที่ สิ่งของ รวมถึงใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีมงคลหรืออวมงคลก็ตาม

 

หากใครมีโอกาสไปร่วมพิธีกรรมของแขกเจ้าเซ็น (มุสลิมนิกายชีอะห์เชื้อสายเปอร์เชีย) ในค่ำคืนเดือนมุฮัรรอม (หรือคนไทยเรียกว่า มะหะหร่ำ) ที่ “3 กุฎี 4 สุเหร่า” คือ กุฎีหลวง กุฎีเจริญพาศน์ กุฎีปลายนา (มัสยิดดิลฟัลลาห์) และสุเหร่าหรือมัสยิดผดุงธรรม จะได้สัมผัสกับกลิ่นควันหอมที่อวลตลบในแต่ละช่วงของพิธีกรรม ซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะที่บรรดาแขกเจ้าเซ็นจะตระเตรียมและใช้ในการประกอบพิธีเจ้าเซ็นเท่านั้น เครื่องหอมดังกล่าวเรียกขานในหมู่แขกเจ้าเซ็นว่า “ระบั่น” ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสถามไถ่ถึงกรรมวิธีการทำจากคุณยายสะอาด ถมประเสริฐ สัปปุรุษกุฎีหลวง ที่เวลานั้นอายุได้ 96 ปีแล้ว และเรียนรู้วิธีการทำมาจากปู่ย่าตายายที่เป็นคนในบ้านของพระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ในรัชกาลที่ 5

 

ในพิธีของแขกเจ้าเซ็น เมื่อใช้เครื่องหอมในพิธีกรรม จะนำผงระบั่น (สีน้ำตาลข้างพาน) โรยไปบนถ่านไฟในพาน

เกิดเป็นควันและกลิ่นที่อบอวลไปทั่วงาน  (ภาพ : นเรนทร์ อหะหมัดจุฬา)

 

ระบั่น เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาฟาร์ซี (ภาษาอิหร่านในปัจจุบัน) หมายถึง เครื่องหอมหรือกลิ่นหอมการใช้ระบั่นของพวกแขกเจ้าเซ็นนั้นได้ทำกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในบันทึกจดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี ค.ศ. 1685 และ 1686 โดย บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ ที่บรรยายถึงพิธีกรรมของพวกแขกมัวร์ว่า “...พวกแขกมัวร์ที่มั่งมีศรีสุข ก็ตั้งโต๊ะบูชาที่หน้าบ้านของตน เผาเครื่องหอม กำยาน กระแจะจรุณจันทน์...

 

เมื่อนำระบั่นโรยลงบนถ่านที่จุดไฟเตรียมไว้ จะเกิดควันที่ส่งกลิ่นหอมอบอวลและขรึมขลังไปทั่วบริเวณงานพิธี

 (ภาพ : นเรนทร์ อหะหมัดจุฬา)

 

เราต้องตระเตรียมทำระบั่นกันก่อนจะเริ่มพิธีเจ้าเซ็น ทำกันทุกกุฎีเลย เครื่องปรุงที่ใช้ก็เหมือนๆ กัน เพียงแต่แต่ละกุฎีอาจมีสูตรผสมการทำต่างกันไปบ้าง” ยายสะอาดบอกเล่าถึงขั้นตอนการเตรียมเครื่องหอม  พร้อมให้รายละเอียดเครื่องปรุงของกุฎีหลวง ซึ่งประกอบไปด้วยอ้อยแดง ใบชะลูดแห้ง จันทน์หอม เนื้อไม้อย่างดีหรือกัลปังหา กำยาน และน้ำตาลทรายแดง

 

ระบั่นจะนำมาอวลข้าวของเครื่องใช้ในการประกอบพิธี  ในภาพเป็นพวงอุบะดอกกระดังงาที่ใช้ร้อยเสา

ซึ่งประดิษฐานสัญลักษณ์สำคัญของแขกเจ้าเซ็น (ภาพ : นเรนทร์ อหะหมัดจุฬา)

 

จากนั้นนำอ้อยมาปอกเปลือกออกแล้วสับให้ละเอียด ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง ซึ่งยายสะอาดเสริมว่าอ้อยแดงที่ใช้นั้น สมัยก่อนปลูกกันบริเวณกุฎีที่ปากคลองมอญ แต่อ้อยชนิดนี้ให้น้ำหวานน้อย ถือว่ายังไม่ดีนัก หากดีต้องได้อ้อยที่มีน้ำหวานมาก เพราะน้ำตาลในอ้อยจะช่วยการลุกไหม้ได้ดีกว่า แล้วนำใบชะลูดแห้ง จันทน์หอม กัลปังหามาสับให้เป็นเศษเล็กๆ ส่วนกำยานที่มาเป็นก้อนก็ต้องตำให้ละเอียด เมื่อทุกอย่างพร้อมนำน้ำตาลทรายแดงมาเคี่ยวในกระทะให้เหนียวข้น แต่อย่าถึงกับแห้ง แล้วนำเครื่องปรุงทุกอย่างลงไปคลุกเคล้าในกระทะ พร้อมกับเอาผงกำยานซึ่งต้องไม่ตำละเอียดมาก โรยปนเคล้าลงไป เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ตักขึ้นใส่ถาดนำไปผึ่งแดดเพียงแดดเดียว “แค่แดดเช้าก็เพียงพอแล้ว เพราะแห้งเกินไปจะกลายเป็นผง ไม่เหมาะในการจุด” แล้วจัดเก็บใส่ในภาชนะเคลือบที่รักษากลิ่นได้

 

ในขบวนแห่โต้ระบัตหรือพระศพจำลองของท่านฮุเซ็นที่ถูกสังหารยังทุ่งกัรบะลาอ์ ในประเทศอิรัก  (ภาพ: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

การใช้ระบั่นในพิธีกรรมนั้น จะเตรียมถ่านไฟที่ติดจนลุกเป็นถ่านแดง นำระบั่นมาโรยลงบนถ่านไฟที่เตรียมไว้ จะเกิดควันที่ส่งกลิ่นหอมอบอวลและขรึมขลังไปทั่วบริเวณงานพิธี รวมทั้งยังร่ำเสื้อผ้าอาภรณ์ของผู้มาร่วมพิธีอีกด้วย

 


สุดารา สุจฉายา

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ