สุวรรณภูมิถึงสยามประเทศ
ศรีศักรทัศน์

สุวรรณภูมิถึงสยามประเทศ

 

“...ม้ว่า สุวรรณภูมิ จะถูกพูดถึงมาแต่สมัยพุทธกาล และปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ กล่าวถึงช่วงที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระสมณทูตมาเผยแผ่ศาสนายังบ้านเมืองแถบนี้ แต่ก็ยังมีผู้เชื่อว่า สุวรรณภูมิอาจไม่มีอยู่จริง! ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าแนวคิดนั้นอาจขัดกับหลักฐานสมัยรัฐแรกเริ่มที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ชุมชนโบราณก่อนพัฒนาสู่สหพันธรัฐ หรือ มัณฑละ อันมีศูนย์กลางในเชิงรัฐผู้นำที่มีบ้านเมืองอื่นเป็นเครือข่าย นี่อาจถึงเวลาต้องจัดแบ่งลำดับสมัยต้นประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนมากกว่าเรียกรวมเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ดังที่เป็นอยู่...”

 

สุวรรณภูมิถึงสยามประเทศ : ลำดับสมัยเวลาของรัฐในยุคประวัติศาสตร์

โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 47 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2564) “เมืองหนองหารหลวง สกลนคร”

 

สุวรรณภูมิคือดินแดนโพ้นทะเลทางตะวันออกของอินเดีย เป็นชื่อที่คนอินเดียและพ่อค้านานาชาติกล่าวถึงในสมัยพุทธกาล ราว 500 ปีก่อนคริสตกาลลงมา แต่ที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อย่างเช่นใน คัมภีร์มหาวงศ์ ของลังกาที่กล่าวถึงพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งแคว้นมคธ ส่งพระสมณทูตคือพระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ และใน คัมภีร์อรรถศาสตร์ เขียนโดยพราหมณ์เกาฏิลยะ ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวถึงการค้าขายกับสุวรรณภูมิ ทำให้มีรายได้ทางเศรษฐกิจแก่ราชอาณาจักร

 

นอกจากนั้นยังมีคัมภีร์อื่นๆ ทางศาสนาเช่นมิลินทปัญหาและชาดกอีกมาก ที่กล่าวถึงการเดินทางข้ามทะเลของพ่อค้าชาวอินเดียมาค้าขายที่สุวรรณภูมิ โดยเฉพาะชาดกเรื่อง “พระมหาชนก” ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำมาพระราชนิพนธ์ แสดงถึงความวิริยอุตสาหะของพระโพธิสัตว์ เพื่อสอนคุณธรรมให้แก่ประชาชนในบ้านเมือง ทรงให้ความหมายของคำว่า “สุวรรณภูมิ” คือดินแดนทอง ในเชิงสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งทางทรัพยากรและเศรษฐกิจ และได้ทรงพระราชทานชื่อสนามบินนานาชาติของประเทศว่า “สนามบินสุวรรณภูมิ” การที่ทรงสนพระทัยให้ความหมายของคำว่าสุวรรณภูมินี้แตกต่างจากการรับรู้และความสนใจของผู้คนในชาติและประเทศอื่นๆ เช่น พม่า มอญ ที่รู้จักสุวรรณภูมิเพียงเรื่องการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

 

แผนที่ของปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกที่เขียนขึ้นราว ค.ศ. 100 แสดงถึงดินแดนที่รับรู้ในโลกโบราณ

ที่สำคัญในแผนที่กล่าวถึงดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเขียนกำกับว่า avrea cersonese

แปลว่า แผ่นดินทอง ซึ่งระบุตำแหน่งอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน (ที่มา : www.wikipedia.org)

 

แต่ก่อนนักประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งไทยและต่างประเทศมักมองว่าสุวรรณภูมิเป็นเพียงดินแดนในตำนาน (Myth) ที่ไม่มีอยู่จริง เพราะไม่ปรากฏหลักฐานทางจารึกหรือเอกสารในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชราว 300 ปีก่อนคริสตกาล คงมีแต่คนกลุ่มน้อยอย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเห็นว่าสุวรรณภูมิหาได้เป็นดินแดนในตำนาน หากเป็นดินแดนที่มีอยู่จริงในสมัยประวัติศาสตร์ ที่เรียกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แทนการเรียกชื่อแต่เดิมซึ่งนักประวัติศาสตร์สมัยยุคล่าอาณานิคมเคยเรียกว่า อินโดจีน อันหมายความว่าเป็นดินแดนที่ล้าหลังและป่าเถื่อน ซึ่งคนอินเดียเข้ามาครอบงำให้เป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรม ปัจจุบันการค้นคว้าและการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีมีความก้าวหน้ากว่าเดิม ดังเห็นได้จากการค้นคว้าแหล่งโบราณคดีที่เห็นพัฒนาการของบ้านเมือง เช่น บ้านเชียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น ที่มีความเจริญในสมัยยุคเหล็กตอนปลาย ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นสมัยเวลาที่มีรัฐแรกเริ่ม (Early state) เกิดขึ้นแล้ว เป็นความเจริญที่มีหลักฐานการติดต่อกับภายนอกด้วยเส้นทางการค้าระยะไกล ทั้งทางตะวันออกคือยูนนาน และทางตะวันตกเช่นอินเดียและตะวันออกกลาง

 

ผลของความก้าวหน้าทางวิชาการในปัจจุบัน นักวิชาการที่เป็นคนไทยส่วนหนึ่งและนักวิชาการต่างประเทศได้ทำลายแนวคิดทฤษฎีเดิมในเรื่องภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเคยเป็นอาณานิคมทางวัฒนธรรม (Colonization) ของอินเดีย โดยถูกแทนที่ด้วยแนวคิดใหม่ที่เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับดินแดนภายนอก ทั้งทางตะวันตกและตะวันออกนั้นเป็นเรื่องของการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า (Navigation) ระหว่างพ่อค้ากับบุคคลต่างๆ จากภายนอก และบ้านเมืองที่เป็นรัฐภายใน จนเกิดความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมตามมา

 

จิตรกรรมมหาชนกในอุโบสถวัดจันทบุรี อ. เสาไห้ จ. สระบุรี ที่กล่าวถึงการเดินทางข้ามทะเลของพ่อค้าชาวอินเดีย

 

ตามที่กล่าวมาก็เพื่อเสนอว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่มีอยู่จริงทางประวัติศาสตร์ มีการนับถือพุทธศาสนา เช่น ไทย พม่า มอญ ลาว และเขมร ที่ต่างก็อ้างสิทธิ์ว่าบ้านเมืองของตนเป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองในสมัยสุวรรณภูมิ ซึ่งคณะสมณทูตของพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงเป็นเหตุให้มีการถกเถียงหาข้อยุติไม่ได้ เช่นเดียวกับคนในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ต่างก็อ้างสิทธิ์ในการเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโบราณชื่อ “ศรีวิชัย” ปัญหาเรื่องนี้ปัจจุบันค่อยสงบลง เนื่องจากการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความก้าวหน้ากว่าเดิม ที่เคยเชื่อว่าศรีวิชัยเป็นมหาอาณาจักร (Kingdom/Empire) เป็นรัฐรวมศูนย์ที่มีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลาง แต่ความเป็นจริงเป็นกลุ่มของนครรัฐในบริเวณหมู่เกาะและคาบสมุทรที่มีการรวมตัวกันในลักษณะสหพันธรัฐที่เรียกว่า มัณฑละ มีการยกย่องกษัตริย์ที่มีบารมีของรัฐใดรัฐหนึ่งให้เป็นศูนย์กลางในทางสัญลักษณ์ เช่น คำว่า “พระเจ้ากรุงศรีวิชัย” ที่แสดงให้เห็นว่าศรีวิชัยคือชื่อของสหพันธรัฐหรือมัณฑละนั่นเอง

 

โบราณวัตถุยุคเหล็กตอนปลายที่พบตามแหล่งโบราณคดีในไทย บอกถึงการนำเข้ามาจากต่างประเทศ

เช่น กลองมโหระทึก ภาชนะสำริด เครื่องปั้นดินเผา และบรรดาลูกปัดประเภทต่างๆ

จากภาพคือหน้ากลองมโหระทึกที่พบที่บ้านเกียกกาย ต. ท่าเรือ อ. เมือง จ. นครศรีธรรมราช   

 

ในเรื่องการเป็นอาณาจักรของศรีวิชัยเช่นเดียวกับการถกเถียงเรื่องรัฐทวารวดีในประเทศไทย ที่พยายามหาว่าเมืองศูนย์กลางของรัฐอยู่ที่ใด ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าอยู่ที่นครปฐม แต่ปัจจุบันมีการคิดกันว่าทวารวดีเป็นกลุ่มนครรัฐที่เป็นมัณฑละเช่นเดียวกับศรีวิชัย มีช่วงเวลาอยู่ในสมัยไล่เลี่ยกัน คือราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 หากต่างกันในลักษณะที่ทวารวดีเป็นมัณฑละในแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่คาบสมุทรและเกาะอย่างเช่นศรีวิชัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นต้นไป ทำให้เกิดมีรัฐรวมศูนย์ขนาดใหญ่ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักร พัฒนาขึ้นในกัมพูชาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 ในนามอาณาจักรเมืองพระนคร พม่าในนามอาณาจักรพุกาม และเกาะชวาในนามอาณาจักรมัชปาหิต ส่วนประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่เป็นกลุ่มของนครรัฐอิสระซึ่งเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ  เช่น ภาคเหนือมีหริภุญชัยที่ต่อมาเป็นล้านนา ภาคใต้มีนครศรีธรรมราช ภาคกลางมีสุพรรณภูมิ อโยธยา และสุโขทัย จนกระทั่งในพุทธศตวรรษที่ 21 จึงมีการรวมตัวของนครรัฐเหล่านี้เป็นราชอาณาจักรอยุธยา ซึ่งคนภายนอกเรียกว่าอาณาจักรสยาม มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง ในขณะที่พม่ามีเมืองหงสาวดีเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร

 

จากสุวรรณภูมิถึงสยามประเทศ

จากหลักฐานเรื่องราวของสุวรรณภูมิตามที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า สุวรรณภูมิไม่ใช่ดินแดนที่อยู่นิ่ง โดยไม่เกี่ยวข้องกับภายนอก หากเป็นดินแดนที่มีผู้คน บ้านและเมืองที่มีการค้าขายติดต่อกับภายนอก ซึ่งกล่าวถึงการมีพ่อค้านานาชาติผ่านอินเดียเข้าไปค้าขายที่สุวรรณภูมิ พ่อค้าที่ไม่ใช่คนอินเดียก็คือชาวกรีก เปอร์เชีย อียิปต์ โรมัน และอาหรับที่มาจากตะวันออกกลาง ผ่านเอเชียใต้ไปสุวรรณภูมิหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกไกล อันมีจีนเป็นที่สุด ทั้งหมดนี้ทำให้สามารถวิเคราะห์สุวรรณภูมิได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ดินแดนที่เป็นที่สุดของการเดินทาง เช่น คนอินเดียไปแล้วกลับมายังอินเดีย กับบรรดาพ่อค้าที่นอกจากไปค้าขายกับสุวรรณภูมิแล้ว ยังใช้เป็นทางผ่านไปยังภูมิภาคอื่น เช่น เวียดนามและจีน เป็นเหตุให้มีการบันทึกและเรื่องเล่าของพ่อค้าที่มาจากกรีกและโรมันในสมัยต้นคริสตกาลลงมา ที่ผ่านสุวรรณภูมิไปทางเวียดนามและจีน พ่อค้าชาวกรีกและโรมันไม่เรียกดินแดนที่ผ่านไปว่าสุวรรณภูมิแบบคนอินเดีย หากเรียกว่า ไครเซ (Chryse) หมายถึงบริเวณที่เป็นแหลมหรือคาบสมุทรที่เป็นทอง เพราะเป็นดินแดนหรือพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรไปยังตะวันออกไกล จึงพออนุมานดินแดนสุวรรณภูมิออกได้เป็น 2 ระยะ ระยะแรกคือเป็นที่หมายทางการค้าในตัวเอง และระยะหลังที่มีชื่อว่าไครเซ เป็นช่วงเวลาที่สุวรรณภูมิเป็นเส้นทางผ่านไปตะวันออกไกลซึ่งมีที่หมายอยู่ที่จีน ทำให้คำว่าไครเซที่นักเดินเรือชาวกรีกและโรมันเรียกนั้น คือพื้นที่สุวรรณภูมิที่เป็นรูปธรรม

 

ลูกปัดรูปแบบต่างๆ ที่ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี

 

ไครเซที่บรรดานักวิชาการตะวันตกสมัยอาณานิคมเชื่อก็คือดินแดนคาบสมุทรที่เรียกว่าแหลมทอง และเรียกว่าคาบสมุทรมลายู เป็นดินแดนทางผ่านระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จากฝั่งทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดียไปยังฝั่งทะเลจีนในมหาสมุทรแปซิฟิก การเดินทางข้ามคาบสมุทรดังกล่าวคือที่มาของเส้นทางสายไหมที่นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศตั้งขึ้นเมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมา  แต่ในที่นี้มองเส้นทางสายไหมเพียงช่วงเวลาราว 2,000 ปีหรือต้นคริสตกาลลงมา แต่ในความเป็นจริงเมื่อเอาอคติในเรื่องสุวรรณภูมิเป็นดินแดนอาณานิคมของอินเดียมาเป็นการค้าขายข้ามภูมิภาคทางทะเลแล้ว จะพบว่ามีเส้นทางการค้าทางทะเลจากตะวันออกกลางผ่านอินเดียมายังสุวรรณภูมิแต่ราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาลในรูปแบบที่เรียกว่าเส้นทางสายเครื่องเทศ (Spice Route) ที่เชื่อมโยงมาแต่อียิปต์ เมโสโปเตเมีย เปอร์เชีย มายังบ้านเมืองในสมัยวัฒนธรรมฮารัปปาของลุ่มน้ำสินธุในอินเดีย และสุวรรณภูมิครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อราว 300 ปีก่อนคริสตกาล

 

ลูกปัดรูปแบบต่างๆ ที่ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี

 

หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อบนเส้นทางการค้าทางทะเลจากอินเดียที่ชัดเจนมี 2 ประการ อย่างแรกเป็นเครื่องปั้นดินเผาสีดำขัดมันที่พบที่ชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี กับที่แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดนครราชสีมาและในภาคกลาง เช่น จังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์ อย่างที่ 2 คือบรรดาลูกปัด เครื่องประดับ และภาชนะสำริด ทั้งสองอย่างนี้ล้วนเป็นของที่มีอายุราว 600 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงราวต้นคริสตกาล หลักฐานทางโบราณคดีมีทั้งที่มีอายุร่วมสมัยกับบรรดาโบราณวัตถุทำจากสำริดและเหล็ก รวมทั้งลูกปัด เครื่องประดับ และกลองมโหระทึกที่มาจากยูนนานและเวียดนามทางตะวันออกไกล อันแสดงให้เห็นว่าดินแดนประเทศไทยในสมัย 500 ปีก่อนคริสตกาล ไม่ควรเรียกว่าอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หากเป็นยุคประวัติศาสตร์แล้ว เพราะมีบ้านเมืองและรัฐแรกเริ่มเกิดขึ้นแล้ว

 

การพัฒนาทางสังคมขึ้นเป็นบ้านเป็นเมืองในระยะแรกเกิดขึ้นทั้งบริเวณชายทะเล (Coastal region) และดินแดนภายใน อันเกิดจากการแลกเปลี่ยนสินค้าและการซื้อขายนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ทำให้อารยธรรมอินเดียจากภายนอกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าบริเวณชายฝั่งทะเลหรือบริเวณภายในเป็นบ้านเมืองใหญ่โตที่เป็นศูนย์กลางของเมืองและรัฐในสมัยสุวรรณภูมิ จะอยู่ในดินแดนประเทศไทยหรือที่อื่น แต่เราสามารถกำหนดพื้นที่ของความเป็นสุวรรณภูมิและสมัยสุวรรณภูมิได้ดีและชัดเจนกว่าบ้านเมืองในภูมิภาคอื่นในยุคสมัยเดียวกัน นั่นคือบริเวณที่เป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทร (Trans-Peninsular Route)

 

กระดิ่งสำริด พบ ณ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนคูณ อ. คอนสาร จ. ชัยภูมิ

 

เหตุผลว่าทำไมต้องเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทร เพราะก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 การเดินทางผ่านสุวรรณภูมิที่เป็นคาบสมุทรและแผ่นดินใหญ่ยังไม่มีเรือใหญ่ที่สามารถแล่นอ้อมแหลมมะละกา และฝ่าการปล้นสะดมของคนพื้นเมืองที่เป็นโจรสลัดจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังฟากทะเลจีนใต้ แต่ต้องข้ามมหาสมุทรอินเดียมายังฝั่งทะเลอันดามันก่อน แล้วขนถ่ายสินค้าเดินทางบกมายังฝั่งทะเลจีน ก่อนจะต่อไปยังเวียดนามและจีน จวบจนพุทธศตวรรษที่ 12 อันเป็นสมัยราชวงศ์ถังของจีนที่การค้าข้ามภูมิภาคมีการเติบโต มีเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่สามารถอ้อมแหลมมะละกาได้ และเกิดสหพันธรัฐศรีวิชัยที่เป็นรัฐตัวกลาง สามารถดูแลความปลอดภัยให้กับพวกพ่อค้านานาชาติได้ การขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทรจึงคลายความสำคัญลง

 

การค้าขายระหว่างอินเดียและจีนในสมัยราชวงศ์ถังนับเนื่องเป็นเส้นทางสายไหมที่มีพัฒนาการตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น คือราว 100 ปีก่อนคริสตกาล และนับเป็นระยะเวลาแรกๆ ที่มีการค้าขายผ่านสุวรรณภูมิไปจีน ครั้นต้นคริสตกาลราว 2,000 ปีที่ผ่านมา เส้นทางการค้าทางทะเลข้ามภูมิภาคเติบโตกว่าแต่ก่อน เส้นทางสายไหมทางทะเลจึงไม่เพียงเป็นเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิเท่านั้น หากเป็นเส้นทางการค้าระหว่างโรมันกับจีนด้วย เพราะทั้งอินเดียและสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่สามารถเดินทางผ่านไปยังจีนและตะวันออกไกล เป็นเส้นทางที่ผ่านบรรดาบ้านเมืองที่เป็นรัฐ (States) และเกิดแหล่งท่าจอดเรือและเมืองท่าขึ้นมากมายในดินแดนสุวรรณภูมิ มีรัฐใหญ่ๆ เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็นเมืองท่า (Port Polity) สำคัญในราวคริสต์ศตวรรษที่ 3-4 ซึ่งรู้จักกันในจดหมายเหตุจีนยุคสามก๊ก รัฐสำคัญที่ว่านี้คือฟูนัน ทางฟากฝั่งทะเลจีนในบริเวณปากแม่น้ำโขง ร่วมสมัยกับรัฐฟูนันมีนครรัฐชายทะเลบนเส้นทางสายไหมทางทะเลในเขตอ่าวไทยและคาบสมุทรหลายแห่ง เช่น กิมหลิน พันพัน เชียะโท้ว เตียนซุน และอีกหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ที่มีเส้นทางข้ามคาบสมุทร มีการขนถ่ายสินค้าจากฝั่งทะเลจีนไปยังฝั่งทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย

 

เศษภาชนะดินเผาทาน้ำดินสีแดง ขัดมัน เขียนลวดลายที่พบ ณ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนคูณ อ. คอนสาร จ. ชัยภูมิ

 

พัฒนาการของบรรดาบ้านเมืองและรัฐในเขตสุวรรณภูมิในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3-4 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 นับเป็นสมัยฟูนันที่มีมาก่อนบ้านเมืองชายทะเลที่เป็นสหพันธรัฐในสมัยทวารวดีและศรีวิชัยซึ่งเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ถัง จนถึงสมัยทวารวดีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12-15 อันเป็นช่วงเวลาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ที่มีบ้านเมืองทั้งรัฐชายทะเลและรัฐภายในเกิดขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ มีเส้นทางการค้าและการคมนาคมจากชายฝั่งทะเลเข้ามาในดินแดนภายใน เป็นเหตุให้เกิดรัฐที่มีอำนาจทางการเมืองรุ่นใหม่ขึ้นมา จนในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เกิดพื้นที่ทางการเมืองเป็นประเทศขึ้น เช่น กัมพุชเทศะ สยามเทศะ รามัญเทศะ มลายู และอื่นๆ ซึ่งในดินแดนเหล่านี้กัมพุชเทศะเกิดอาณาจักรเมืองพระนคร (Angkor) มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองยโสธรปุระ ในขณะที่ดินแดนอื่นๆ ยังเป็นนครรัฐอิสระที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ ไม่มีแห่งใดเป็นราชอาณาจักรที่มีเมืองหลวงเป็นศูนย์กลาง

 

สุวรรณภูมิคือสยามประเทศ

ตามที่กล่าวมาข้างต้นพอสรุปได้ว่า สุวรรณภูมิคือดินแดนโพ้นทะเลที่คนอินเดียในสมัยพุทธกาลเรียก เป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง ที่คนอินเดียและพ่อค้านานาชาติเดินเรือจากอินเดียไปทำการค้ากับบรรดาคนพื้นเมืองที่อยู่กันเป็นบ้าน เป็นเมือง และเป็นรัฐ พ่อค้าที่เข้ามาติดต่อค้าขายมีการตั้งรกรากอยู่เป็นกลุ่มๆ ตามสถานีการค้าที่มีช่างฝีมือผลิตสินค้า เครื่องประดับ และสิ่งของมีค่าเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าป่า แร่ธาตุ และอื่นๆ ของคนพื้นเมือง ผลที่ตามมาก็คือมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอารยธรรมอินเดียและจากบ้านเมืองภายนอกทั้งทางตะวันตกและตะวันออกเข้ามาผสมผสาน แม้ว่าจะเกิดบ้านเมืองที่มีอิทธิพลอารยธรรมอินเดียเข้ามาก็ตาม แต่ไม่อาจกำหนดได้ว่าดินแดนสุวรรณภูมิทั้งหมดมีที่ใดเป็นราชอาณาจักรใหญ่โตหรือเป็นศูนย์กลางทั้งการเมือง การปกครอง และอารยธรรม แต่เราก็สามารถกำหนดพื้นที่ที่เป็นบริเวณสำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิได้

 

จากหลักฐานทางเอกสารที่พ่อค้าและนักเดินเรือเมื่อราว 200 ปีก่อนคริสตกาล เรียกดินแดนที่เดินทางผ่านสุวรรณภูมิจากมหาสมุทรอินเดียไปยังทะเลจีน และบ้านเมืองทางตะวันออกไกล เช่น จีนและเวียดนาม อันนับเป็นเวลาที่เส้นทางสายไหมเกิดขึ้นแล้ว บริเวณที่มีการข้ามผ่านสุวรรณภูมิในเอกสารของพ่อค้าเรียกว่าไครเซ หมายถึงแหลมทองหรือคาบสมุทรมลายู ซึ่งเป็นบริเวณที่พบแหล่งโบราณคดีลูกปัดและเครื่องประดับที่มีอายุถึง 400 ปีก่อนคริสตกาล เป็นแหล่งที่พบเส้นทางคมนาคมค้าขายข้ามคาบสมุทรจากฝั่งทะเลอันดามันทางตะวันตก ผ่านสันปันน้ำของเทือกเขาตะนาวศรีมายังฝั่งทะเลจีนในเขตจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี

 

เศษภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ พบจากการขุดค้นในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

(ที่มา : อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย กรมศิลปากร)

 

ในการสำรวจศึกษาเส้นทางข้ามคาบสมุทรซึ่งอยู่ในสมัยหลังสุวรรณภูมิ ยังพบต่ำลงมาตั้งแต่นครศรีธรรมราชจนถึงปัตตานี ถ้าดูตำแหน่งในทางภูมิศาสตร์การเมืองแล้ว ล้วนอยู่ในดินแดนประเทศไทย เพราะพ้นจากเขตปัตตานีเข้าไปในเขตแดนประเทศมาเลเซียแล้ว ไม่พบร่องรอยของเส้นทางข้ามคาบสมุทรเลย ในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์เหม็งกล่าวถึงบ้านเมืองที่อยู่ในคาบสมุทรมลายูว่ามี 2 ดินแดน ตอนบนอยู่ในเขตแดนตั้งแต่จังหวัดสงขลาขึ้นไปจนถึงเพชรบุรี นับเนื่องเป็นแดนสยาม (เสียม) และต่ำลงไปทางใต้ของปัตตานีเป็นแดนมลายู จากหลักฐานที่เกี่ยวกับดินแดนและผู้คนของจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง อาจกล่าวได้ว่าบริเวณเส้นทางข้ามคาบสมุทรในสมัยสุวรรณภูมิอยู่ในเขตคาบสมุทรสยามมากกว่าการตั้งชื่อคาบสมุทรมลายูที่คนตะวันตกในยุคอาณานิคมตั้งขึ้น

 

จึงใคร่สรุปว่าประเทศไทยในสมัยพุทธกาลอยู่ในดินแดนโพ้นทะเลทางตะวันออกของอินเดีย ที่คนอินเดียและคนจากทางตะวันออกกลาง เช่น อียิปต์ กรีก เปอร์เซีย และอาหรับเรียกว่า สุวรรณภูมิ เป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์ทั้งทางทรัพยากรและแร่ธาตุ อยู่ในเส้นทางการค้าระยะไกลที่เป็นแหล่งเป้าหมายและทางผ่านข้ามคาบสมุทรไปค้าขายกับตะวันออกไกล เช่น จีนและเวียดนาม บริเวณคาบสมุทรที่เส้นทางการค้าข้ามผ่านจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียไปยังฝั่งทะเลจีนในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น อยู่ในดินแดนประเทศไทยที่ในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 เรียกว่า สยามประเทศ เป็นดินแดนที่มีพัฒนาการเป็นรัฐแรกเริ่มแต่สมัยสุวรรณภูมิลงมาถึงฟูนัน ทวารวดี-ศรีวิชัย ลพบุรี และอยุธยาตามลำดับ