หอไตรเสาเดียวที่วัดไผ่ล้อม สระบุรี

หอไตรเสาเดียวที่วัดไผ่ล้อม สระบุรี

 

บ้านไผ่ล้อม อยู่ในตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ชาวบ้านที่นี่มีบรรพบุรุษเป็นคนไทยวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 2347 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีปู่คัมภีระ เป็นผู้นำในการอพยพคราวนั้น ปู่คัมภีระพาชาวบ้านเข้าหักร้างถางพงและเลือกลงหลักปักฐานบริเวณวัดไผ่ล้อม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “ปู่คัมภีระ” ผู้นำไทยวนบ้านไผ่ล้อมเป็นพระยารัตนกาศ เจ้าเมืองสระบุรี ภายในวัดไผ่ล้อมมีอาคารเสนาสนะตั้งอยู่หลายหลัง แต่สิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นตั้งอยู่ด้วย นั่นคือหอไตรเสาเดียว

 

หอไตรเสาเดียวจากภาพถ่ายเก่าของวัดไผ่ล้อม

 

 

 

แม้ปัจจุบันหอไตรหลังนี้จะเหลือเพียงเสาไม้ แต่คุณลุงบุญเลิศ คัมภิรานนท์ ผู้อาวุโสในชุมชนบ้านไผ่ล้อมยังมีภาพจำว่า “หอไตรเสาเดียว ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ไม่ไกลจากพระอุโบสถและวิหาร เมื่อเวลาผ่านไป หลังคาได้พังเสียหายจึงมีผู้รื้อลงและเปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสี จากนั้นไม่นานชิ้นส่วนต่างๆ ทยอยผุพังจนยากแก่การบำรุงดูแลจึงถูกถอดออกและเก็บกองรวมกันไว้ใต้ศาลาวัดมานานหลายสิบปี”  

 

คุณวรพัฒน์ ชื่นใจ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสระบุรี สืบค้นเรื่องราวของหอไตรหลังนี้เพิ่มเติมและพบบทความกล่าวถึงหอไตรเสาเดียวช่วงที่ถูกมุงหลังคาด้วยสังกะสีความว่า “...สร้างเป็นทรงมณฑป วางอยู่บนเสาเดียวสูง มีชานออกมาโดยรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใช้สังกะสีตัดเป็นช่องหน้าต่างตีกั้นทุกด้านเพื่อมิให้ฝนสาด แต่ทำให้ตัวมณฑปที่เขียนลายรดน้ำทั้ง 4 ด้าน หมดความสวยงามไปสิ้น...” (พ.อ. ดำเนิร เลขะกุล, “ตระเวนวัดใกล้ๆ ตัวเมืองสระบุรี” ใน อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 10 ฉบับที่ 7, 2513) 

 

 

เสาหอไตรที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

 

พระสมบูรณ์ มหาปุญโญ ระหว่างการสำรวจและทำความสะอาดในเบื้องต้น

 

ลูกกรงระเบียงหอไตรที่พบ

 

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ได้กรุณาวิเคราะห์จากลวดลายของชิ้นส่วนเครื่องไม้ประกอบหอไตรที่ถูกถอดออกว่า “ตัวกระหนกค่อนข้างหนาและลายสลักแบน สันนิษฐานในเบื้องต้นว่าอาจเป็นศิลปะช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ถึงสมัยรัชกาลที่ 4”

 

พระสมบูรณ์ มหาปุญโญ พระลูกวัดได้ทำการสำรวจและรวบรวมชิ้นส่วนเครื่องไม้ประกอบหอไตรที่กระจัดกระจายอยู่ใต้ศาลาในวัดไผ่ล้อม เช่น หน้าบัน ซี่ลูกกรง แผ่นไม้สลักลายประดับกระจก และแผ่นไม้ลายรดน้ำเล่าเรื่องพุทธประวัติ ตลอดจนชิ้นส่วนไม้ที่แตกหักไม่สมบูรณ์ แต่คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของหอไตรเสาเดียวมาเก็บรักษาไว้ภายในอาคารเอนกประสงค์เพื่อให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมและเปิดโอกาสให้ผู้รู้เข้าศึกษาเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการต่อไป 

 

 

หน้าบันทั้ง 4 ด้านเท่าที่พบ สลักลวดลายเครือเถา

 

หน้าบันทั้ง 4 ด้านเท่าที่พบ สลักลวดลายเครือเถา
 

 

หน้าบันทั้ง 4 ด้านเท่าที่พบ สลักลวดลายเครือเถา
 

 

หน้าบันทั้ง 4 ด้านเท่าที่พบ สลักลวดลายเครือเถา
 

 

แผ่นไม้สลักในส่วนฐานสิงห์รองรับหอไตรส่วนบน

 

แผ่นไม้สลักในส่วนฐานสิงห์รองรับหอไตรส่วนบน
 

 

แผ่นไม้ลงรักปิดทองเรื่องราวในพุทธประวัติที่อาจเป็นส่วนผนังตามข้อมูลในหนังสือ อ.ส.ท.

 

        

  


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ