มองมอญวัดท่าข้าม
แวดวงเสวนา

มองมอญวัดท่าข้าม

 

“วัดท่าข้าม” ตั้งอยู่ริมคลองสนามชัยหรือคลองด่าน บางขุนเทียน มีประวัติเล่ากันมาว่าเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวมอญในย่านนี้มาแต่โบราณ ร่องรอยหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพวิถีชีวิตในอดีตของชาวมอญย่านนี้ ปรากฏในภาพจิตรกรรมที่เขียนอยู่บนแผ่นไม้บริเวณคอสองและท้องจันทัน ภายในศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดท่าข้าม  ซึ่งสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงราวรัชกาลที่ 4 - 5

 

ศาลาการเปรียญวัดท่าข้าม สร้างด้วยไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ขนาดกว้าง 11.14 เมตร ยาว 17.90 เมตร ด้านในมีภาพจิตรกรรมเขียนลงบนแผ่นไม้คอสองเป็นภาพทศชาติชาดก ส่วนที่บริเวณท้องจันทัน เขียนเป็นภาพเล่าเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้านและนรกภูมิ ส่วนเพดานเขียนลวดลายเครือเถาสลับภาพนกคาบ หัวเสาเขียนลายก้านแย่งต่อด้วยลายเฟื่อง เป็นต้น  ปัจจุบันสภาพของศาลาการเปรียญหลังนี้มีความทรุดโทรม ทั้งในส่วนโครงสร้างและภาพจิตรกรรมภายใน ด้วยปัญหาน้ำท่วมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในชุมชนเล่าว่า เดิมเป็นอาคารยกพื้น มีบันไดขึ้นสู่ศาลา 4 - 5 ขั้น จากปัญหาน้ำท่วมทำให้ทางวัดถมพื้นให้สูงขึ้น สภาพของศาลาการเปรียญจึงไม่มีใต้ถุน อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ด้วยคุณค่าของจิตรกรรมภายในศาลาการเปรียญ วัดท่าข้าม มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับวารสารเมืองโบราณ จึงจัดงานเสวนา “มองมอญวัดท่าข้าม” เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมชิ้นสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายในวัดเก่าแก่ริมคลองด่าน โดยมี อาจารย์พิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษา และอาจารย์อำพล คมขำ ครูโรงเรียนวัดท่าข้ามและผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมวิถีมอญในศาลาการเปรียญ เป็นวิทยากร

 

บรรยากาศในงานเสวนา 

 

จิตรกรรมโบราณที่ซ่อนตัวอยู่…

อาจารย์อำพล คมขำ เป็นคนสมุทรสาคร จบการศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง ก่อนมาบรรจุเป็นครูสอนศิลปะที่วัดท่าข้าม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ค้นพบและสนใจศึกษางานจิตรกรรมที่ซ่อนตัวอยู่ในวัดท่าข้ามที่อยู่ใกล้โรงเรียนแค่เพียงกำแพงกั้น

 

อาจารย์อำพล คมขำ ผู้ศึกษางานจิตรกรรมวิถีมอญ วัดท่าข้าม

 

จากความประทับใจฝีมือเชิงช่าง และเห็นถึงความสำคัญของวัดท่าข้ามที่ตั้งอยู่ริมคลองสนามชัยหรือคลองด่าน ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองในภูมิภาคตะวันตกของสยาม จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ประกอบกับขณะนั้นกำลังศึกษาต่อปริญญาโทที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้นำความรู้ทางงานช่างและวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ภาพเขียนชุดนี้  

 

อาจารย์อำพล กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพศาลาการเปรียญและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เช่น เดิมใกล้กับศาลาการเปรียญ จะมีศาลาเทียบอยู่ทางด้านข้าง แต่ปัจจุบันสภาพเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจารย์พิศาลได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาลาการเปรียญใช้สำหรับทำพิธีกรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม ส่วนศาลาเทียบเป็นที่สำหรับเตรียมสำรับอาหาร ตั้งโอ่ง อ่าง และเก็บข้าวของต่างๆ ศาลาเทียบบางแห่งจะสร้างอยู่ต่อจากศาลาการเปรียญโดยมีระดับพื้นเสมอกัน 

 

ส่วนบริเวณด้านหน้าศาลาการเปรียญ แต่เดิมมีบ่อน้ำอยู่ เพราะบริเวณนี้เป็นน้ำกร่อย จึงต้องมีบ่อน้ำไว้สำหรับใช้อุปโภคบริโภค เมื่อยามที่น้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำในคลองเค็มเกินไปจนไม่สามารถใช้ได้ บ่อน้ำดังกล่าวนี้ถูกถมเพื่อปรับสภาพพื้นที่ไปเมื่อไปกี่ปีมานี้

 

อาคารศาลาการเปรียญวัดท่าข้าม เมื่อครั้งยังมีบ่อน้ำอยู่ทางด้านหน้า

 

ปัจจุบัน สภาพศาลาการเปรียญวัดท่าข้ามอยู่ในสภาพทรุดโทรม ทั้งในส่วนโครงสร้างและภาพจิตรกรรมภายใน อันเนื่องมาจากปัญหาน้ำท่วมและความชื้นเป็นสำคัญ

“ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาสำคัญ จากภาพถ่ายของปีก่อนๆ จะเห็นว่ามีน้ำท่วมศาลาการเปรียญ ส่งผลให้ปัจจุบันศาลาอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก สมัยที่ผมไปบรรจุ (ที่โรงเรียนวัดท่าข้าม) แรกๆ ยังมีโอกาสได้เห็นคนมอญมาถือศืล ค้างคืนที่วัดในวันโกน ก่อนวันพระ นอนกันบนศาลานี้เลย แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไปแล้ว เพราะกลัวถล่ม เป็นที่น่าเสียดาย… ดังนั้น เป้าหมายหนึ่งของการศึกษาจิตรกรรม คือ หวังให้มีการอนุรักษ์ ซึ่งทำมานับ 10 ปีแล้ว ล่าสุดกรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดี ทางด้านเจ้าอาวาส แม้ท่านอยากจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ทำเมรุเผาศพ แต่จากพูดคุยท่านเป็นคนมีเหตุผล ทุกวันนี้ท่านก็รับฟัง และยังไม่รื้อไป”

 

ด้านรูปแบบงานจิตรกรรม อาจารย์อำพลมีความเห็นว่า ฝีมือเชิงช่างมีความสวยงามมากกว่าที่จะเป็นงานช่างในระดับชาวบ้าน ภาพจิตรกรรมถูกเขียนอยู่บนแผ่นไม้คอสองและท้องจันทัน โดยบริเวณคอสองแสดงภาพทศชาติ ด้านสกัดทางทิศตะวันออกและตะวันตกเขียนเป็นภาพมโหสถชาดกและพระเวสสันดรชาดก ส่วนทางด้านข้างทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ เขียนชาดกด้านละ 4 เรื่อง

 

“ที่ด้านสกัด ด้านหน้า เขียนเรื่อง ‘มโหสถชาดก’ บนแผ่นไม้คอสอง 2 แผ่น แผ่นหนึ่งเป็นตอนพระมโหสถขุดอุโมงค์ อีกแผ่นหนึ่งเขียนตอนพระมโหสถถือพระขรรค์ปราบพระเจ้าจุลนีพรหมทัต ซึ่ง 2 ฉากนี้พบในงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4-5 ค่อนข้างเยอะ ก่อนหน้านั้นมักจะเขียนตอนที่พระมโหสถหลอกให้เกวัฏพราหมณ์ก้มเก็บแก้วมณี”  อาจารย์อำพลอธิบายฉากสำคัญเรื่องมโหสถชาดกที่ปรากฎ

 

ภาพจิตรกรรมภายในศาลาการเปรียญ 

 

ส่วนบริเวณท้องจันทันที่อยู่ต่ำลงมา เขียนภาพวิถีการทำนา ตั้งแต่ขั้นตอนการไถนา ตกกล้า ดำนา ไปจนถึงการเกี่ยวข้าว สอดคล้องกับสภาพนิเวศน์ดั้งเดิมของพื้นที่ที่เคยเป็นนาข้าวมาก่อนจะเปลี่ยนเป็นสวนส้ม ย่านชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรมดังที่เห็นในปัจจุบัน ถัดจากภาพวิถีการทำนา เป็นภาพพิธีการทำศพตามคติมอญ นับตั้งแต่การเจ็บป่วยที่ต้องมีคนเฝ้าไข้ดูแล การต่อโลงศพ การเคลื่อนศพ และที่สำคัญคือภาพพิธีโยนผ้าลาไฟ ส่วนที่ท้องจันทันอีกฝั่งหนึ่งเขียนเป็นเรื่องนรกภูมิ

 

ภาพวิถีการทำนา สอดคล้องกับสภาพนิเวศน์ดั้งเดิมของพื้นที่ที่เคยเป็นนาข้าวมาก่อน

 

จากรูปแบบศิลปกรรมและเรื่องราวที่ปรากฎในภาพจิตรกรรมนี้ อาจารย์อำพลกำหนดอายุไว้ว่า น่าจะเขียนขึ้นราวรัชกาลที่ 4-6

“การใช้พื้นหลังสีดำ เพื่อผลักระยะและขับเน้นรูปให้เด่น พบในงานจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และพบว่ามีการใช้สีฟ้า โคบอลต์ บลู (Cobalt Blue) ซึ่งมีการค้นพบในสมัยนั้น … เห็นว่ามีภาพนักโทษคู่หนึ่ง มีห่วงโซ่คล้องไว้ด้วยกัน ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม ได้ศึกษาวิจัยภาพนักโทษเช่นนี้ที่พบในงานจิตรกรรมว่า เป็นนักโทษพม่าที่ถูกปล่อยให้ขโมยข้าวของหากินกันเอง พบในจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นที่วัดสุทัศน์ วัดกัลยาณมิตร และจากการค้นคว้าเพิ่มเติม พบว่าการจองจำในลักษณะนี้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงสันนิษฐานว่าภาพจิตรกรรมที่ศาลาการเปรียญวัดท่าข้าม น่าจะเขียนขึ้นก่อนรัชกาลที่ 6”

 

การใช้พื้นหลังสีเข้มเพื่อผลักระยะและขับเน้นรูปให้เด่นชัด 

 

มอญท่าข้ามและปริศนาธรรมในภาพจิตรกรรม ?

อาจารย์พิศาล ได้กล่าวถึงความสำคัญของภาพจิตรกรรมชุดนี้ว่า เป็นเรื่องราวที่สอดแทรกภูมิปัญญาลึกซึ้ง นอกจากความงามทางศิลปกรรมแล้ว ยังเห็นถึงการผูกโยงคติของคนมอญที่มีศรัทธาแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา โดยเสนอว่า ภาพวิถีชีวิตที่ปรากฎอยู่คู่กับภาพทศชาติชาดกนั้น น่าจะเป็นภาพที่มีปริศนาธรรมซ่อนอยู่ อันเป็นความนิยมของชาวมอญที่ชอบอุปมาอุปไมยหลักธรรมคำสอนออกมาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมหรือภาพจิตรกรรม ซึ่งภาพจิตรกรรมชุดนี้ อาจแสดงถึงความสำคัญของ “วัดท่าข้าม” ในฐานะวัดสำคัญแห่งหนึ่งของกลุ่ม “มอญน้ำเค็ม” ในย่านนี้

 

“วัดท่าข้าม ไม่ใช่วัดในเมือง ชุมชนมอญในย่านนี้เดิมเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ … แม้จะกล่าวกันว่าส่วนใหญ่เป็นมอญมาจากทางพระประแดงหรือที่บางไส้ไก่ เพราะอยู่ใกล้  แต่ผมมองว่า มอญที่ท่าข้ามมีความแตกต่างกับมอญบางไส้ไก่และพระประแดง ทั้งด้านภาษาพูดและการเกล้าผม อีกทั้งมอญทางคลองสนามชัย-มหาชัย ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เช่น ผ้าสไบ (ผ้าที่ปักเป็นลายดอกพิกุลของมอญบางกระดี่) เราจึงเรียกมอญทางนี้ว่า ‘มอญน้ำเค็ม’ ส่วนพวกเรา ‘มอญน้ำจืด’ หมายถึงมอญแถบนนทบุรี สามโคก ปทุมธานี แม้ว่าจะมีอะไรต่อมิอะไรที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ ความเคร่งครัดทางพระพุทธศาสนา”

 

อาจารย์พิศาล บุญผูก (ด้านซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษา 

 

อาจารย์พิศาลยังได้อธิบายถึงการหาอยู่หากินของคนมอญในแถบคลองด่าน-มหาชัย ว่า 

“มอญท่าข้ามเกิดจากการขยายแหล่งทำมาหากินของมอญจากมหาชัย ซึ่งมอญที่มหาชัย ไม่ได้ทำนาอย่างเดียว แต่ทำฟืน ทำถ่านไม้แสม โกงกาง ซึ่งมีอุดมสมบูรณ์ในย่านคลองด่าน และยังทำจากมุงหลังคา… เคยมีคนมอญอยู่แถวสำเพ็ง เยาวราช นำไม้โกงกางที่ตัดให้ได้ขนาด มัดอย่างดี ส่งขายให้พวกเจ้าสัวใช้ทำฟืนหุงหาอาหาร ถือเป็นฟืนคุณภาพดี

“สังเกตว่าคนมอญในแถบบ้านไร่ (ตำบลพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร) บางกะดี่ ท่าข้าม สะแกงาม หัวกระบือ ค่อนข้างมีฐานะดี ไม่ใช่แค่มีที่นาเยอะๆ แต่ดูที่บ้านช่อง พบว่ามีเรือนฝากระดานดีๆ ในแถบนี้ เป็นเพราะการค้าจากมุงหลังคาและการค้าฟืน ซึ่งมีตลอดคลองสนามชัย คนมอญก็ขยับขยายมาเรื่อยตามแนวคลองสนามชัย”

 

ภาพวิถีการทำนาที่แสดงขั้นตอนวิธีทำอย่างละเอียด ตั้งแต่การไถนาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว

 

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง และอาจเกี่ยวโยงกับความสำคัญของวัดท่าข้าม คือ การเป็นวัดธรรมยุติ ซึ่งอาจารย์พิศาลได้แสดงทัศนะไว้ว่า “วัดท่าข้าม” เป็นวัดธรรมยุติที่ในย่านนี้มีแค่ 2 วัด คือ วัดท่าข้ามกับวัดบ้านไร่ ส่วนที่อำเภอมหาชัย สมุทรสาคร มีวัดมหาชัยคล้ายนิมิตเป็นวัดธรรมยุติ เดิมเป็นวัดมอญหรือรามัญนิกาย ส่วนความหมายในภาพจิตรกรรมนั้น ในมุมมองของอาจารย์พิศาล นอกจากสะท้อนถึงวิธีการทำนาและขั้นตอนในพิธีศพของชาวมอญโดยตรงแล้ว ยังอาจมีปริศนาธรรมซ่อนอยู่ให้พุทธศาสนิกชนได้ตีความ

 

“ภาพการทำนาอาจแฝงปริศนาธรรมเรื่องสัมมาอาชีวะ และผลของการทำดี ช่วงแรกที่ทำการไถ หว่าน จะเห็นว่าชาวนาใส่ชุดธรรมดา แต่พอถึงการเก็บเกี่ยว เสื้อผ้าอาภรณ์เปลี่ยนไป สวมเสื้อแบบราชประแตน นุ่งโจงอย่างดี อาจบ่งบอกถึงการเริ่มต้นด้วยความวิริยะ แล้วจึงได้เก็บเกี่ยวผลดี… ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมีภาพตีรันฟันแทงและนรกภูมิ  แค่เพียงเรามองภาพ 2 ฝั่ง ยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ฝั่งที่เขียนภาพการทำนาให้ความรู้สึกสงบร่มเย็น ส่วนอีกฝั่งร้อนรุ่ม จิตเราไม่สงบตามไปด้วย เป็นไปได้ว่าคนโบราณพยายามผูกเรื่องเพื่ออธิบายถึงกุศลกรรมและอกุศลกรรม ซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตคนมอญมาก”  

 

ภาพคนตีรันฟันแทง  

 

ภาพนรกภูมิอันน่าสยดสยอง

 

เช่นเดียวกับเรื่องพิธีกรรมเกี่ยวกับความตาย อันเป็นสิ่งที่คนมอญยึดถืออย่างเคร่งครัดและมีการสอดแทรกคติธรรมคำสั่งสอนในทุกๆ ขั้นตอนของพิธีกรรม เพื่อพึงระลึกว่าความตายอยู่ใกล้ตัว ถือเป็นการเจริญสติอย่างหนึ่ง

“ปริศนาธรรมมักจะสอดแทรกอยู่ในพิธีศพมากที่สุด เพราะในพิธีอื่นๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน เป็นพิธีที่คนให้ความสำคัญกับความสนุกสนาน ต่างจากงานศพที่มีการพลัดพรากสูญเสีย จึงเป็นบรรยากาศที่สอดแทรกคำสอนได้ดี ทั้งเรื่องสติ ความไม่ประมาท และมรณานุสติ”  อาจารย์พิศาลกล่าว 

 

ภาพพิธีศพแบบมอญ

 

ดังนั้น องค์ประกอบต่างๆ ในพิธีศพของมอญจึงมีความหมายหมด เช่น  ที่ตั้งศพ ภาษามอญเรียก โจ๊งเนี๊ยะหรือโจ้งแนะ ภาษาไทยแปลว่า เตียงชนะ เชื่อว่าถ้านอนบนเตียงชนะ หมายถึงการชนะกิเลสทั้งปวง ดอกไม้จะใช้ 8 ดอก หมายถึง มรรค 8 เป็นต้น ในความเชื่อของคนมอญ งานศพจึงมีความสำคัญยิ่งและเป็นช่วงเวลาที่ต้องไปช่วยงานกัน แม้เคยมีเรื่องบาดหมาง ย่อมอโหสิกรรมให้แก่กัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิถีเช่นนี้เริ่มเลือนราง เช่นเดียวกับพิธีกรรมอื่นๆ ที่เคยยึดถือกันมา

 

ภาพพิธีศพแบบมอญ

 

จากงานเสวนาครั้งนี้ จะเห็นว่าจิตรกรรมในศาลาการเปรียญวัดท่าข้ามมีคุณค่าอย่างยิ่ง นอกเหนือไปจากความงามทางศิลปกรรมแล้ว ยังเป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตในอดีตและการสอดแทรกคติธรรมของชาวมอญท่าข้าม ริมคลองสนามชัย ย่านบางขุนเทียน คงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งนัก หาก “ความเสื่อมสลาย” จะเป็นปริศนาธรรมสุดท้ายที่ศาลาโบราณแห่งนี้ทิ้งไว้


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น