“จีนมีความสัมพันธ์กับเมืองไทยมาช้านานไม่ยิ่งหย่อนกว่าทางอินเดีย… ขณะที่ประชาชนในประเทศไทยสัมพันธ์กับอินเดียในทางวัฒนธรรมนั้น ก็มีความสัมพันธ์กับจีนในทางสังคมและเศรษฐกิจ คนจีนเข้ามาค้าขายในดินแดนนี้มาแต่ต้นคริสตกาล การจดบันทึกของชาวจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังลงมาทำให้เราทราบถึงบ้านเมือง แว่นแคว้น การปกครอง ศาสนา และขนบธรรมเนียมของคนในประเทศไทยดีกว่าเอกสารหรือหลักฐานในด้านอื่นๆ"
ในบทความเรื่อง “จีนในไทย” โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้นำเสนอมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน จากการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งที่ปรากฏในนิทาน ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนหลักฐานจากการสำรวจและขุดค้น ความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างจีนกับดินแดนไทยนั้น เริ่มเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่ตอนปลายสมัยราชวงศ์ซ้อง ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา อันเป็นช่วงเวลาที่จีนขยายกิจการค้าขาย แต่งเรือสำเภาเดินทางมายังบ้านเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการตั้งหลักแหล่งการค้าตามเมืองต่างๆ รวมทั้งได้แต่งงานปะปนกับคนพื้นเมืองด้วย
ชายชาวจีนและหญิงพื้นเมืองในภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ วัดตะปอนน้อย จังหวัดจันทบุรี
จากตำนาน พงศาวดาร และนิทานท้องถิ่นหลายเรื่อง พบว่ามีการกล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในดินแดนไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยการสร้างกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะการแต่งงานระหว่างชาวจีนกับกลุ่มชนชั้นปกครอง ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง ดังเช่น ตำนานพระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมาก นอกจากนี้ยังมีนิทานพื้นบ้านอีกหลายเรื่อง ที่กล่าวถึงพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนที่เข้ามาแต่งงานกับเชื้อสายของกษัตริย์พื้นเมือง
ตำนานพระเจ้าอู่ทอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไทย ใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวันวลิต ได้กล่าวถึงพระโอรสของกษัตริย์ในดินแดนจีนองค์หนึ่ง ได้ถูกเนรเทศออกจากบ้านเมือง จึงเสด็จโดยกองเรือสำเภามาตั้งบ้านเมืองในดินแดนไทยหลายแห่ง แม้เป็นเพียงตำนาน แต่ก็แสดงถึงการคลี่คลายทางสังคม การขยายตัวของบ้านเมืองและรัฐในดินแดนไทย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา อันเนื่องมาจากการติดต่อทางการค้ากับจีน
ตลับดินเผาทรงกลม เคลือบขาว อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส สงขลา
ทางด้านหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมา พบสินค้าประเภทเครื่องถ้วยชามสมัยราชวงศ์ซ้องแพร่หลายอยู่แทบทุกภาคของประเทศไทย และยังเป็นไปได้ว่ามีการถ่ายทอดอิทธิพลในด้านรูปแบบและเทคนิควิธีการมาจากเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง เช่น แหล่งเตาเครื่องปั้นดินเผาที่พบในเขตอำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งพบเครื่องปั้นดินเผาชนิดเคลือบและไม่เคลือบจำนวนมาก เป็นไปได้ว่าได้รับอิทธิพลมาจากเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ซ้อง ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ได้เกิดแหล่งเครื่องปั้นดินเผาขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย สันกำแพง เมืองพาน เวียงกาหลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลวดลายปูนปั้นและภาพจิตรกรรมประดับศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลจีน เช่น ลวดลายเครือเถา ใบไม้ ดอกไม้ ภูเขา เป็นต้น
สิงโตศิลาจีน เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส สงขลา
ส่วนสินค้าที่มาจากจีนจะได้รับการยกย่องว่าเป็นของมีค่าและเป็นเครื่องแสดงฐานะ ดังจะเห็นได้จากความนิยมนำเครื่องสังคโลกของจีนมาใช้เป็นผอบบรรจุอัฐิก่อนนำไปไว้ภายในพระสถูปเจดีย์ และการสั่งซื้อ-สั่งทำเครื่องปั้นดินเผาจากจีน เช่น เครื่องลายคราม เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องลายน้ำทอง เป็นต้น
ตุ๊กตาศิลาจีน สลักเป็นรูปบุคคล ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ
ส่วนบทบาทของชาวจีนในสมัยอยุธยานั้น นอกจากเป็นพ่อค้าวานิชแล้ว บางคนยังเข้ารับราชการเป็นขุนนาง หรือเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง เช่น แพทย์ งานช่าง ตลอดจนอาชีพทางการเกษตรกรรม เช่น ทำสวน ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู ตลอดจนรับจ้างเป็นกรรมกรในกิจการต่างๆ ด้วย ซึ่งบทบาททางสังคมของชาวจีนดังที่กล่าวมานี้ คงสืบเนื่องมาถึงยุคสมัยต่อมาคือ กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกหลอมรวมผสมผสานจนเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยจวบจนปัจจุบัน
อ่านบทความเรื่อง “จีนในไทย” โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม-กันยายน 2522) หน้า 39-43 ฉบับเต็มใน “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/en/document/view/67682806/-5-6