ปุจฉวิสัชน์ : อันเนื่องมาจาก ‘อูบมุง’
คลังบทความ

ปุจฉวิสัชน์ : อันเนื่องมาจาก ‘อูบมุง’

 

ปุจฉวิสัชน์ เป็นคอลัมน์หนึ่งในวารสารเมืองโบราณ ที่นำเสนออย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีแรก เพื่อเปิดพื้นที่ในการนำเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเมื่อหวนกลับไปอ่าน ย่อมเห็นถึงแนวความคิดและความเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาการในห้วงเวลานั้น 

 

ว่าด้วย “อูบมุง” และ “อุโมงค์” 

สืบเนื่องจากบทความ “ที่มาของความเชื่อเรื่องอุโมงค์ในองค์เจดีย์พระธาตุพนม” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2510 กล่าวถึงความเชื่อที่สืบต่อมาในท้องถิ่นว่ามีอุโมงค์อยู่ใต้องค์พระธาตุพนม บ้างว่าเป็นอุโมงค์ของพญานาค ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาพระธาตุ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า “อุโมงค์” แท้จริงแล้วคลาดเคลื่อนมาจากคำว่า “อูบมุง” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมลาวรูปแบบหนึ่ง อันเนื่องมาจากการชำระเอกสารเกี่ยวกับพระธาตุพนมในสมัยหลัง สงวน รอดบุญ ได้แสดงทัศนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง “อูบมุง” และ “อุโมงค์” ในพระธาตุพนม ลงในคอลัมน์ปุจฉวิสัชน์ ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2510

 

คำว่า “อูบ” หรือ “กะอูบ” ในภาษาลาว ใช้เรียกที่ใส่สิ่งของที่มีรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม มีฝาปิดและมีขนาดใหญ่กว่า “แอบ” เช่น ตู้ใส่พระธรรมคัมภีร์ก็เรียกว่ากะอูบ เป็นต้น ส่วนภาชนะขนาดเล็กๆ มีฝาปิด สำหรับใส่หมากพลู ยาสูบ เรียกว่า “แอบ” เช่น แอบหมาก แอบยา เป็นต้น

 

อูบพระเจ้าองค์หมื่น วัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

 

ส่วนคำว่า “อูบมุง” เป็นชื่อเรียกพุทธสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งของลาว มีลักษณะเป็นอาคารขนาดเล็ก แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูน มีบันไดและประตูทางขึ้นอยู่ทางด้านหน้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป มีเนื้อที่เพียงเล็กน้อยสำหรับเป็นที่บำเพ็ญศีลภาวนาของพระภิกษุ ใน ตำนานพระธาตุพนม ฉบับที่มหาเสวกตรี พระยาเพ็ชรรัตนสงคราม (เลื่อง ภูมิรัตน) เมื่อครั้งเป็นพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลเพชรบูรณ์นำมาถวายไว้ในหอพระสมุดฯ ต่อมาพระพนมนครานุรักษ์ได้ขอจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2474 ปรากฏคำว่า “อูบมุง” อยู่ในบางช่วงบางตอน เช่น 

 

ให้คนทั้งหลายไปเอาหินมาก่อไว้ แต่เมืองหนองหารหลวง อันบ่แล้วนั้น จึงก่ออูบมุงใส่อุรังคธาตุพระพุทธเจ้าเทอญ” 

แล้วปั้นดินอิฐก่ออูบมุงขึ้น แล้วจึงสุมไฟโน้นเทอญ” 

และท้าวพระยาทั้ง 5 จึงเอาอุรังคธาตุฐาปันนาไว้ในอูบมุงนั้นแล

 

จากข้อความในตำนานพระธาตุพนมจะเห็นว่า “อูบมุง” ที่ก่อด้วยอิฐนั้นมีลักษณะเป็นห้องคูหา มีหลังคาปกคลุมสำหรับเป็นที่บรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็คือพระอุรังคธาตุ อย่างไรก็ตาม ใน “ประวัติย่อพระธาตุพนม” และ “อุรังคนิทาน” เรียบเรียงโดยพระเทพรัตนโมลี ใช้คำว่า “อุโมงค์” แทน “อูบมุง” ซึ่งสงวน รอดบุญ ได้แสดงทัศนะถึงเรื่องนี้ว่าเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายกว่าการใช้คำว่าอูบมุงซึ่งเป็นภาษาลาว

 

ท่านคงต้องการให้มีความรู้สึกอย่างไทยๆ โดยอนุโลมว่าเป็นการก่ออุโมงค์ตื้นๆ แคบๆ มากกว่าที่จะหมายถึงช่องหรือทางที่ขุดลงไปในดินหรือภูเขา ดังที่พจนานุกรมไทยได้กล่าวไว้ หรือมุ่งที่จะให้เป็นอุโมงค์พญานาค ดังที่นิทานพื้นบ้านพื้นเมืองเล่าต่อกันมาแต่ประการใดไม่” 

 

อ่านบทความฉบับเต็ม 

ที่มาของความเชื่อเรื่องอุโมงค์ในองค์เจดีย์พระธาตุพนม โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67648066/-3-4

 

ปุจฉวิสัชน์ : อันเนื่องมาจาก ‘อูบมุง’  โดย สงวน รอดบุญ

คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67660113/-4-1 
 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น