แผงรูปถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเก็บหนังตะลุงที่มีมาแต่อดีต และไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเลย มีเพียงลวดลายและขนาดเท่านั้นที่จะต่างออกไป ศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ได้อธิบายความหมายของแผงรูปไว้ในหนังสือ พจนานุกรมหัตถกรรมเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ดังนี้
“แผงรูป (ถิ่น-ใต้) คือแผงสำหรับเก็บหนังตะลุง เพื่อขนย้ายเดินทางไปแสดงยังที่ต่างๆ สานด้วยตอกไม้ไผ่หรือเปลือกคลุ้ม เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 50 นิ้ว ยาวประมาณ 70 นิ้ว บางทีสานด้วยตอกไม้ย้อมสีหรือเขียนลวดลายตกแต่งเพื่อความสวยงามเอาไว้ด้วย ลายที่ทำกันมากคือลายลูกแก้ว
“แผงรูปทั่วไปจะมีกรอบไม้ไผ่โดยรอบทั้งสี่ด้านหรือหวายผูกเข้าขอบ และมีไม้หนีบแผงขนาบตามแนวกว้างของแผงข้างละ 1 คู่ มีไม้พายแผงหรือไม้สะพายแผงซึ่งเป็นไม้กลมๆ ขนาดเท่าข้อมือ ยาวเท่ากับความยาวของแผง ผูกโยงเข้ากับไม้หนีบแผง เพื่อให้คนแบกแผงหรือนายแผงแบกขณะเดินทางไปไกลๆ
“แผงรูปมีลักษณะเช่นเดียวกับสมุดเก็บภาพหรือแฟ้ม แต่แผงรูปเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทำขึ้นสำหรับเก็บตัวหนังตะลุงของคณะหนังตะลุงที่มีมาแต่โบราณ แผงรูปช่วยให้เก็บตัวหนังไว้อย่างเป็นระเบียบและไม่ฉีดขาดเสียหาย จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญของคณะหนังตะลุงที่ปัจจุบันยังใช้กันทั่วไป”
แผงรูปส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่เพราะช่วยระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้มีความชื้นสะสมในตัวหนัง ราก็จะไม่ขึ้นตัวหนัง เพราะอากาศผ่านเข้าออกได้ดี หนังแต่ละตัวจะมีไม้คันชักทาบอยู่ทั้ง 2 ข้าง ทำให้ตัวหนังไม่แนบติดกัน แม้แผงหนังตะลุงจะเป็นเครื่องจักสานใช้เฉพาะเก็บหนังตะลุงเท่านั้น แต่ราคาแผงหนังตะลุงที่สานขายกันนั้น สนนราคาหลายพันบาท เพราะต้องใช้ไม้ไผ่ที่แก่จัด มีสีเหลืองทองสวย นิยมใช้ผิวของไม้ไผ่สีสุกที่มีความยาวกำลังดี ก่อนจะจักเป็นตอกต้องนำไปแช่น้ำไว้นานราว 1 เดือนเพื่อกำจัดมอดไม้ไผ่ออกไป จากนั้นจึงนำมาจักตอกตามความยาวที่ต้องการสาน
นายหนังฟลุ๊ค นายหนังตะลุงรุ่นใหม่ของจังหวัดเพชรบุรี ยังเก็บรักษาตัวหนังทั้งหมดไว้ในแผงรูปแบบดั้งเดิม
แผงรูปที่นิยมใช้ในเพชรบุรีนั้นเป็นแผงที่มีขนาดใหญ่ เพราะหนังตะลุงเมืองเพชรเป็นหนังตัวใหญ่ ระยะเวลาในการสานแผงหนังตะลุงสักชุดจึงกินระยะเวลาเดือนกว่าถึงจะเสร็จสิ้น ส่วนลวดลายนั้นแล้วแต่ว่าจะบอกคนสานว่าอยากได้แบบสีสันหรือแบบลายธรรมดา เช่น ลายสามหรือลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก
“สมัยก่อนมีหนังตะลุงเร่ นายหนังเขาเดินแบกแผงรูปเร่ไปตามหมู่บ้าน ส่วนใหญ่หนังเร่ที่เข้ามาในเมืองเพชรบุรีก็จะเป็นหนังเร่มาจากชุมพรเสียมาก” คำบอกเล่าของนายหนังฟลุ๊ค จิตรภาณุ คล้ายเพชร นายหนังตะลุงรุ่นใหม่แห่งคณะมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร จังหวัดเพชรบุรี วัย 28 ปี ผู้พยายามเสาะหารูปหนังเก่าๆ เอามาเก็บสะสมไว้ ส่วนหนึ่งเพราะใจอยากอนุรักษ์ เพราะรูปหนังเก่านั้นมีฝีไม้ลายมือของคนแกะเป็นเอกลักษณ์และสวยงามต่างจากปัจจุบัน นอกจากนี้คนแกะหนังตะลุงรุ่นก่อนๆ มักฝากลายเซ็นของตัวเองเอาไว้ในรูปหนังที่แกะทุกตัว การตามหาและสะสมรูปหนังของบรมครูแกะหนังรุ่นเก่า ก็ไม่ต่างจากการค้นหาสมบัติที่กระจัดกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ
หนังตะลุงที่เพชรบุรีนิยมใช้แผงรูปขนาดใหญ่ เพราะหนังตะลุงเมืองเพชรเป็นหนังตัวใหญ่
“โบราณเขาคิดมาแล้วว่าเหมาะสม” หนังฟลุ๊คเล่าให้ฟังขณะกำลังเปิดแผงรูปให้ชม ส่วนลำดับการเรียงตัวหนังในแผงรูปนั้นก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยจะเรียงลำดับตามยศของของตัวหนัง พวกตัวหนังรูปสัตว์อยู่ข้างล่างสุด ต่อมาคือพวกมนุษย์ จากนั้นเป็นเสนาฝั่งยักษ์ แล้วก็ตัวนางตัวพระ ลำดับต่อมาคือตัวตลกสำคัญ สูงขึ้นมาก็จะเป็นตัวหนังรูปฤาษี พระนารายณ์ และผ้ายันต์เรียงตามลำดับ เหนือสุดเป็นครูใหญ่ ซึ่งก็คือพ่อแก่ ในแผงรูปของหนังฟลุ๊คที่เปิดให้ชม รูปหนังของพ่อแก่มีธนบัตรหลายใบเหน็บอยู่ เมื่อถามว่าทำไมจึงเหน็บเงินไว้เช่นนี้ นายหนังบอกว่าเป็นเงินที่ได้รับจากคนที่มาดูแล้วตกรางวัลให้ นายหนังจะเหน็บเอาไว้ที่ตัวพ่อแก่ สำหรับเอาไว้ใช้ในการไหว้ครู ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คุยกันแล้วในคณะ แต่หนังตะลุงคณะอื่นๆ อาจเอารางวัลนี้แจกจ่ายให้กับลูกน้องที่มาร่วมแสดงในแต่ละครั้ง ซึ่งแล้วแต่จะตกลงร่วมกัน
การจัดเรียงตัวหนังตะลุงในแผงรูป ต้องเรียงลำดับตามลำดับศักดิ์ของตัวหนัง โดยต้องวางพ่อแก่อยู่ด้านบนสุด
แผงรูปที่หนังฟลุ๊คใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นแผงที่สั่งทำขึ้นมาเมื่อตอนจะเริ่มตั้งคณะหนังตะลุงมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร น้ำหนักของรูปหนังต่างๆ ที่อยู่ในแผงรูปนี้ เมื่อลองคะเนจากที่เห็นนายหนังแบกออกมาจากห้องเก็บมาให้ดู ก็น่าจะอยู่ที่ราว 20-30 กิโลกรัม แต่ละวันที่คณะหนังตะลุงออกไปเล่น จะนำแผงรูปไปเพียงแผงเดียวหรือบางทีก็มากกว่านั้น แล้วแต่ว่าไปเล่นที่ไหน หรือเล่นในกิจกรรมใด
นายหนังฟลุ๊คกำลังแกะไม้ประคับที่ตรึงแผงรูปหนังไว้ ซึ่งช่วยให้ตัวหนังยังคงรูปเดิม ไม่หักงอ
อาจารย์วาที ทรัพย์สิน ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อธิบายเรื่องการใช้แผงรูปหนังจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องหนังตะลุงในเอเชียและเคยได้แลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งเล่นหนังตะลุงร่วมกับหนังจากประเทศอื่นๆ อาจารย์บอกว่าทั้งหนังประโมทัยหรือหนังบักตื้อในภาคอีสานของไทย หนังวายังกุลิต (Wayang kulit) ของอินโดนีเซีย หนัง Tholu bommalata และ Togalu gombeyaata ของอินเดีย ล้วนเก็บรูปหนังในกล่องไม้ มีเพียงหนังตะลุงทางภาคใต้ของไทยที่ใช้แผงรูปหนังเป็นที่เก็บตัวหนังตะลุง เพื่อความสะดวกในการขนย้ายของคณะหนัง หรือนายหนังสามารถแบกขึ้นหลังไปเล่นที่ใดได้ง่าย เพราะหนังตะลุงในอดีตมีทั้งแบบที่ตั้งโรงและเร่ไปเล่นตามพื้นที่ต่างๆ ในภาคใต้ อาจารย์ให้ข้อคิดเห็นว่าแผงรูปหนังของภาคใต้มีข้อดีในเรื่องการระบายความชื้น สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศของภาคใต้ ทำให้ตัวหนังไม่ขึ้นราง่าย อีกทั้งรูปหนังจะไม่ผิดรูปไป เพราะบางครั้งการเก็บไว้ในลังไม้ หากตัวหนังที่เล่นมีความชื้น เมื่อนำมาเก็บลงลัง อาจทำให้ตัวหนังบิดงอผิดรูป สีเลือนหรือซึม รวมทั้งขึ้นราได้ง่าย แผงรูปหนังที่สานจากไม้ไผ่และใช้หวายรัดไว้นั้นจะช่วยให้ตัวหนังคงรูปเดิมและอยู่ได้นานขึ้น
อาจารย์วาที ทรัพย์สิน ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน จังหวัดนครศรีธรรมราช
กล่องเก็บตัวหนังวายังของอินโดนีเซีย (ที่มา : https://www.indoindians.com/history-of-wayang-in-indonesia/)
ตัวหนังประโมทัยหรือหนังบักตื้อ ซึ่งเป็นหนังตะลุงในภาคอีสานของไทย เก็บรักษาอยู่ในลังไม้
(ที่มา : รายการชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร ตอน หนังบักตื้อ น้ำปลีกบรรเทิงศิลป์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส)
ปัจจุบันที่ผู้ชมเห็นแผงรูปหนังมีสีสันลวดลายสวยงามนั้น เพิ่งจะเริ่มนิยมไม่เกิน 30 ปีมานี้ ช่วงที่นายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ยังคงเล่นหนังตะลุงไปตามหมู่บ้านต่างๆ ของนครศรีธรรมราชนั้น ก็ใช้เพียงแผงรูปหนังสีธรรมชาติเท่านั้น แต่เรื่องลวดลายแล้วแต่ว่านายหนังจะสั่งให้ทำลวดลายแบบใด ส่วนแผงหนังที่แต่งแต้มสีนั้น มีทั้งแบบที่ย้อมสีตอกก่อนแล้วค่อยจักสานกับแบบที่จักสานเป็นลวดลาย แล้วค่อยมาแต้มสีภายหลัง โดยในพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน นอกจากจะจัดแสดงตัวหนังเก่าแก่หลากหลายรูปแบบที่ช่างแกะหนังฝากฝีไม้ลายมือไว้แล้ว ยังมีแผงหนังตะลุงสวยๆ ให้ชมอีกด้วย
ตัวหนังและแผงรูปที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน
แผงรูปที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์บ้านหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน มีทั้งแบบที่มีสีสันฉูดฉาดและแบบธรรมดาที่ดูเรียบง่าย
(ที่มา : www.atfirstclick.bloggang.com)
ขอขอบคุณ
อาจารย์วาที ทรัพย์สิน พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
คุณจิตรภาณุ คล้ายเพชร นายหนังคณะมหาฟลุ๊ค ลูกเพชร บ้านบางทะลุ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี