คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และวารสารเมืองโบราณ ร่วมกันจัดงานเสวนา “คน พระ ผี วิถีท่าแร่” วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ณ ห้องประชุมชั้น 4 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร. พิเชฐ สายพันธ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์กัณฐิกา กล่อมสุวรรณ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สกลนคร และคุณจารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ นักวิจัยอิสระ นำเสนอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเชื่อ และวัฒนธรรมของชุมชนท่าแร่ จังหวัดสกลนคร โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมอภิปรายในหลายมิติ ตั้งแต่แนวคิดเรื่อง “ผี” ในเชิงมานุษยวิทยาและศาสนา ไปจนถึงการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม และภาพสะท้อนในสื่อร่วมสมัย
นิยามของ "ผี": จากพลังธรรมชาติสู่ปีศาจในศาสนา
การเสวนาเริ่มต้นด้วยการตีความคำว่า “ผี” จากหลายมุมมอง อาจารย์พิเชฐได้อธิบายถึงผีในมุมมองเชิงมานุษยวิทยาว่า ผี (Spirit) คือพลัง (Force) และอำนาจ (Power) ที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมาจากสองแหล่งหลัก คือ 1) ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เราอธิบายไม่ได้ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ และ 2) สิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้ว โดยเฉพาะบรรพบุรุษ ความเชื่อนี้พัฒนากลายเป็น “ศาสนาพื้นเมือง” (Indigenous Religion) ที่มีโครงสร้างซับซ้อน ตั้งแต่ผีบรรพบุรุษในระดับตระกูล (ผีตระกูล-Lineage, ผีโคตรวงศ์-Crane ) ขยายไปสู่ผีอารักษ์ประจำชุมชน (ผีบ้านผีเมือง) จนถึงผีธรรมชาติที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ระดับควบคุมจักรวาล เช่น ผีแถน ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับพระเจ้า (God) ในศาสนาอื่น
ทางด้านมุมมองเชิงศาสนาคริสต์ในบริบทของชุมชนคาทอลิกท่าแร่ อาจารย์กัณฐิกาอธิบายว่า “ผี” ไม่ได้หมายถึงวิญญาณบรรพบุรุษ แต่ถูกตีความใหม่ให้เป็น “ผีปีศาจ” หรือซาตาน ซึ่งเป็นวิญญาณชั่วร้ายที่ต่อต้านพระเจ้าและพยายามชักนำมนุษย์ให้หลงผิด ด้านคุณจารุวรรณได้เสนอว่าเนื่องจากผีเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น มนุษย์จึงจำลองการมีอยู่ของอำนาจเหนือธรรมชาตินี้ผ่านผัสสะต่างๆ โดยเฉพาะ “เสียง” (Sound Scape) และ “กลิ่น” (Smell Scape) ซึ่งปรากฏชัดในพิธีกรรมต่างๆ
ประวัติศาสตร์และวิถีท่าแร่ : การสถาปนาชุมชนคาทอลิก
ชุมชนท่าแร่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2427 โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้พาผู้คนที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายทั้งย้อ ลาว และเวียด อพยพข้ามหนองหารหลวงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ ในพื้นที่ของบ้านท่าแร่ที่แต่เดิมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวข่า แต่ก็รกร้างไปนานแล้ว
ชุมชนยุคแรกประกอบด้วยกลุ่มคนชายขอบของสังคมในขณะนั้น ได้แก่ คนพลัดถิ่น คนป่วย คนชรา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ปอบ” ราว 40 คน บาทหลวงได้สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้การดูแลรักษาด้วยยาแผนตะวันตก และมอบโอกาสในการประกอบอาชีพ การเข้ามาของศาสนาคริสต์และวิทยาการตะวันตกได้สร้างการปะทะกับความเชื่อและอำนาจดั้งเดิมในท้องถิ่น ศูนย์กลางความเชื่อได้เปลี่ยนจาก “ผี” มาเป็น “พระเจ้า” และบทบาทของหมอพื้นบ้าน (หมอเหยา) ถูกแทนที่ด้วยการแพทย์สมัยใหม่ คุณพ่อโยเซฟ กอมบูรีเออ ผู้เป็นเจ้าอาวาสยาวนานถึง 52 ปี ได้วางรากฐาน “วิถีท่าแร่” ผ่านกระบวนการที่เข้มข้น ทั้งการควบคุมสังคมด้วยกฎศาสนจักร การให้การศึกษาแก่เด็กทุกคน และการส่งเสริมให้แต่งงานเฉพาะในกลุ่มคาทอลิก เพื่อสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและค่อยๆ ลดทอนความเชื่อดั้งเดิมลงไปทีละรุ่น
ในทศวรรษ 2480 ชุมชนท่าแร่เผชิญกับการกดขี่อย่างรุนแรงจากนโยบายรัฐนิยมชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมองว่าศาสนาคริสต์เป็นภัยต่อความเป็นไทยมีการบังคับให้เลิกนับถือคริสต์ ปิดโรงเรียน และทำลายสัญลักษณ์ทางศาสนา หลังผ่านพ้นยุคนี้ไป ชุมชนได้ฟื้นฟูตัวเองขึ้นใหม่จนกลายเป็นชุมชนคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และได้รับการยกสถานะเป็น “อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง”
การจัดการผีและภาพลักษณ์ในสื่อร่วมสมัย
การขับไล่ผีในแบบคาทอลิก (Exorcism) เป็นกระบวนการที่เป็นทางการและไม่ใช่ทางเลือกแรก โดยจะมีการทำงานร่วมกับแพทย์และจิตแพทย์เพื่อแยกแยะอาการป่วยทางกายและจิตใจออกไปก่อน ผู้ทำพิธีต้องได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ และใช้ศาสนวัตถุ เช่น ไม้กางเขนนักบุญเบเนดิก สายประคำ และน้ำเสก ในการประกอบพิธี อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมากในท่าแร่
ปัจจุบันวัฒนธรรมอีสานถูกนำเสนออย่างแพร่หลายในสื่อสมัยใหม่ จากเดิมที่วัฒนธรรมอีสานเคยถูกมองว่าเป็น “ความเป็นอื่น” และถูกสร้างภาพจำเชิงลบ กลับได้รับความนิยมและถูกทำให้ “ป๊อป” มากขึ้นในปัจจุบัน ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์และดนตรี แนวคิดเรื่อง “ขวัญ” ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมก็ถูกนำมาใช้ในมิวสิกวิดีโอเพลงป๊อป ขณะที่เครื่องดนตรีและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ได้กลายเป็นรากฐานให้กับวัฒนธรรมบันเทิงสมัยใหม่ เช่น หมอลำซิ่ง และรถแห่ เป็นต้น
เร็วๆ นี้ภาพยนตร์เรื่อง “ท่าแร่” โดยสหมงคลฟิล์มกำลังจะเข้าฉาย ซึ่งเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ใช้ฉากหลังเป็นชุมชนท่าแร่ ปฏิกิริยาของคนท่าแร่ต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะสร้างความกังวลในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนในชุมชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเพียงเรื่องแต่งและอาจช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตาม ทางศาสนจักรยังคงระมัดระวังและไม่อนุญาตให้ถ่ายทำในพื้นที่โบสถ์จริง สะท้อนให้เห็นถึงการเจรจาต่อรองระหว่างการสร้างสรรค์สื่อกับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่จริง