แต่เที่ยวลัดทุ่งท่าเหมือนหน้าน้ำ ทั้งสองลำล่องเลื่อนจนเฟือนหลง
ไปถึงบ้านปากไห่เหมือนใจจง แล้ววกวงออกทุ่งเที่ยวมุ่งมอง
ตอนหนึ่งใน “นิราศสุพรรณ” ของนายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) ปรากฏชื่อบ้านปากไห่ ซึ่งก็คืออำเภอผักไห่ทุกวันนี้ที่มีแม่น้ำน้อยไหลผ่านกลางอำเภอ ชาวผักไห่ต่างคุ้นชินกับการใช้ชีวิตเป็นชาวน้ำบ้างในบางฤดู ในอดีตแม่น้ำน้อยเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชาวผักไห่ การเดินทางและการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ใช้เรือเป็นพาหนะ ริมสองฝั่งแม่น้ำมีทั้งย่านราชการ ย่านตลาด และย่านชุมชนที่มีทั้งบ้านเรือนริมน้ำและเรือนแพ เช่นเดียวกับย่านตลาดที่มีทั้งตลาดบกที่อยู่ริมแม่น้ำและเรือนแพค้าขายที่เปิดเป็นร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่ร้านโชห่วยขายของจิปาถะไปจนถึงแพขายน้ำมันสำหรับเรือเครื่องยนต์ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้แม่น้ำน้อยจึงเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีความสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจ
การสัญจรในแม่น้ำน้อยจึงเป็นภาพที่ชินตาของคนผักไห่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปมาค้าขายและในเส้นทางบุญของพุทธศาสนิกชน เช่น พายเรือไปวัดในวันพระ รอตักบาตรที่ริมน้ำทุกเช้า ขบวนแห่นาคและกฐินทางน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ผักไห่ช่วงหน้าน้ำยังเป็นภาพที่คุ้นชินมาถึงปัจจุบัน หลายคนพูดตรงกันว่า “ผักไห่น้ำท่วมทุกปี” เพียงแต่ว่าจะไปท่วมตรงบริเวณไหน ถ้าที่ตลาดผักไห่น้ำท่วม น้ำก็จะไหลบ่าจากแม่น้ำน้อยเข้าสู่คลองต่างๆ และเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมแม่น้ำ ส่วนบ้านเรือนแพก็จะได้เปรียบกว่าเพราะตั้งอยู่ในน้ำอยู่แล้ว แต่ต้องผูกแพให้แน่นหนายิ่งขึ้นเพราะกระแสน้ำอาจไหลแรง
เรื่องราววิถีชีวิตชาวผักไห่ที่มีแม่น้ำน้อยและท้องทุ่งนาเป็นฉากหลังนั้น มักถูกกล่าวถึงเพียงสั้นๆ อยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์ จึงต้องอาศัยคำบอกเล่าของชาวบ้านมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันถึงจะเห็นภาพชีวิตชาวผักไห่ที่กระจ่างชัดขึ้น หลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงภาพอดีตของผักไห่ได้ชัดเจนที่สุดคือภาพถ่ายเก่า สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงามในอดีต ช่วยให้เราได้สัมผัสถึงความผูกพันของชาวผักไห่กับสายน้ำและความทรงจำอันล้ำค่า จากการค้นคว้าและรวบรวมภาพถ่ายเก่าของคนในท้องถิ่นผักไห่พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ จึงคัดเลือกมานำเสนอบางส่วน ดังนี้
ภาพขบวนเรือทอดกฐินประกอบด้วยเรือเมล์สองชั้น เรือพาย และเรือลากจูง ในแม่น้ำน้อย บริเวณอำเภอผักไห่
จะเห็นว่าริมฝั่งแม่น้ำมีบ้านเรือนตั้งอยู่เรียงรายทั้งบนบกและเรือนแพริมน้ำ
ภาพถ่ายโดย โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Robert Larimore Pendleton) เมื่อ พ.ศ. 2480
เรือนไม้สองชั้นริมแม่น้ำน้อยเปิดเป็นร้านขายโอ่และตับจาก ถัดไปมีเรือนแพค้าขายหลังเล็กๆ ตั้งเรียงรายบริเวณริมแม่น้ำน้อย
ลักษณะหลังคาเรือนและเรือนแพมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ทรงปั้นหยา ทรงจั่ว และทรงมะนิลา
ภาพถ่ายโดย โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Robert Larimore Pendleton) เมื่อ พ.ศ. 2480
ภาพน้ำท่วมอำเภอผักไห่ น้ำจากแม่น้ำน้อยค่อยๆ เอ่อล้าเข้าท่วมบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอและตัวตลาดผักไห่
ชาวบ้านต่างใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจรเกือบทั้งฤดู
ในภาพเห็นหอนาฬิกา และเด็กๆ บ้านสุขเตียระพันธ์ออกมาพายเรือเล่นบริเวณสนามหน้าอำเภอ (ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ภาพอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจคือขบวนเรือแห่นาคทางน้ำของพี่ชายคุณลัดดา สุขเตียระพันธ์ ราวปี พ.ศ. 2511 เส้นทางขบวนแห่เริ่มต้นจากท่าเรือตลาดผักไห่ วิ่งทวนน้ำขึ้นไปยังศาลเจ้าพ่อสองพี่น้องที่บริเวณปากคลองบางคี่ (คลองลาดชะโด) ซึ่งครอบครัวสุขเตียระพันธ์เป็นผู้อุปถัมภ์ เพื่อให้นาคได้ทำการสักการะบอกกล่าว จากนั้นจะล่องลงมาจนถึงหน้าวัดตาลานเหนือซึ่งมีชุมชนเรือนแพอยู่หลายหลังริมแม่น้ำ แล้ววกกลับมาจอดที่ท่าเรือบริเวณข้างบ้านหลังเดิมของครอบครัวสุขเตียระพันธ์ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดใกล้กับที่ว่าการอำเภอผักไห่ จากนั้นขบวนแห่นาคจะพากันเดินเท้าผ่านตลาดสุขเจริญผล เพื่อเข้าไปทำพิธีบวชที่โบสถ์ของวัดโพธิ์ผักไห่ คัดเลือกภาพมาให้ชมบางส่วน ดังนี้
ภาพบ้านเรือนริมสองฝั่งแม่น้ำน้อยบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอผักไห่ (ทางด้านซ้ายมือของภาพ) ช่วงปี พ.ศ. 2511
โดยมากเป็นเรือนแพค้าขายซึ่งผูกแพอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และมีท่าเทียบเรือโดยสารจอดรอรับผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ
เช่น ลาดชะโด ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง กรุงเทพฯ เป็นต้น ฝั่งตรงข้ามกันมีบ้านเรือนตั้งอยู่บนบก
ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง บางหลังทำทางเดินหรือแพยื่นลงมาในแม่น้ำเพื่อใช้เป็นท่าเทียบเรือหรือเพื่อใช้ขึ้นลงสินค้า
(ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ขบวนแห่นาคในครั้งนั้นได้จ้างเหมา "เรือประกายแก้ว" ซึ่งเป็นเรือโดยสารชั้นเดียวที่วิ่งจากผักไห่ไปยังอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
รอบเช้าหนึ่งเที่ยวและรอบบ่ายอีกหนึ่งเที่ยว คนผักไห่นิยมเช่าเหมาเรือเพื่อเดินทางไปทำบุญ
หรือนมัสการพระศักดิ์สิทธิ์บนเส้นทางที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำน้อย เช่น หลวงพ่อโต วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น
(ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ขบวนเรือผ่านชุมชนริมแม่น้ำน้อย เช่น บ้านตาลานเหนือ อำเภอผักไห่ ซึ่งในอดีตมีเรือนแพอยู่หลายหลังที่ด้านหน้าวัด
(ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ขบวนเรือแห่นาคผ่านด้านหน้าโรงเรียนวัดตาลานเหนือ
(ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ขบวนเรือแห่นาคผ่านศาลเจ้าพ่อสองพี่น้องที่ปากคลองบางคี่ (คลองลาดชะโด)
(ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ท่าเรือบริเวณข้างบ้านหลังเดิมของตระกูลสุขเตียระพันธ์ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าตลาดใกล้กับที่ว่าการอำเภอผักไห่
(ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ขบวนแห่นาคพากันเดินเท้าผ่านตลาดสุขเจริญผล เพื่อเข้าไปทำพิธีบวชที่โบสถ์ของวัดโพธิ์ผักไห่
(ที่มา : คุณลัดดา สุขเตียระพันธ์)
ภาพวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำของชาวผักไห่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการสร้างถนนสาย เสนา-ผักไห่-ป่าโมก ชาวบ้านที่จะเดินทางไปยังตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ เริ่มใช้เส้นทางคมนาคมทางบกมากขึ้น ตลาดริมแม่น้ำเริ่มซบเซาลง เช่นเดียวกับเรือนแพค้าขายต่างๆ ที่เลิกค้าขาย ส่วนที่ยกแพขึ้นบก บ้างเปิดเป็นร้านค้าขายเช่นเดิม บ้างเป็นเพียงที่อยู่อาศัย