กลุ่มปราสาทตาเมือนในคลังภาพอาจารย์มานิต วัลลิโภดม
ข้างหลังภาพ

กลุ่มปราสาทตาเมือนในคลังภาพอาจารย์มานิต วัลลิโภดม

 

 

“กลุ่มปราสาทตาเมือน” ตั้งอยู่บริเวณช่องตาเมือน หรือช่องตาเมียงในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มปราสาทตาเมือนประกอบด้วยปราสาทหิน 3 หลัง ตั้งเรียงต่อกันจากขนาดใหญ่ไปเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน

 

กฤช เหลือลมัย อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ เล่าถึงบรรยากาศคราวอาจารย์มานิต วัลลิโภดม และคณะลงพื้นที่สำรวจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2502-2504 ว่า “...ในเล่ม คือภาพและเรื่องที่กลั่นจากหยาดเหงื่อ เวลา แรงงาน และการเสี่ยงชีวิตของนักโบราณคดีอย่างอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ช่างสำรวจอย่างอาจารย์จำรัส เกียรติก้อง และทีมงานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งร่วมกันตระเวนภาคอีสานช่วงกึ่งพุทธกาลด้วยรถจิ๊ปกลาง เต้นท์สนาม และอุปกรณ์ครัวอย่างง่ายๆ ชนิดค่ำไหนนอนนั่น พวกเขาเผชิญสภาพถนนลูกรัง ทางเกวียน หล่มทราย และต้องบุกตะลุยป่าที่ปกคลุมปราสาทโบราณนานนับศตวรรษด้วยสองมือที่ทั้งถากถาง ทำผัง จดบันทึกรายละเอียดเท่าที่จะพอทำได้ในเวลาและโอกาสนั้น...”

 

อีกตอนหนึ่ง กฤชได้กล่าวถึงทับหลังชิ้นงาม ณ ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งเคยปรากฏในชุดภาพถ่ายของอาจารย์มานิต แต่กลับไม่พบจากการสำรวจโดยกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณเมื่อปี พ.ศ. 2532 ความว่า “...ผมพยายามหาว่าทับหลังสวยๆ ของปราสาทตาเมือนธมที่อาจารย์มานิตถ่ายไว้อยู่ตรงไหน แต่ก็หาไม่พบ มันคงถูกกะเทาะเอาไปเสียแล้วในปีใดปีหนึ่งระหว่าง พ.ศ.2502-2532...”

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทับหลังสลักรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล หนึ่งในทับหลังชิ้นสำคัญที่เคยประดับ ณ ปราสาทตาเมือนธมถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ The MET สหรัฐอเมริกา คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุไทยในต่างประเทศมีมติทวงคืนทับหลังชิ้นนี้กลับสู่ประเทศไทยซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานที่ต้องเฝ้าติดตามต่อไป

 

อย่างไรก็ดี ภาพชุดกลุ่มปราสาทตาเมือนที่คัดสรรมาให้ชมในครั้งนี้ เป็นผลงานของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ปราชญ์ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี คราวที่ท่านได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างปี พ.ศ. 2502-2504 “...ในปี พ.ศ. 2503-4 กรมศิลปากรได้รับเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นปีที่ 2 และที่ 3 ตามโครงการสืบต่อจากปีแรก คือ พ.ศ. 2502 จึงมอบหมายให้นายมานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอก กับนายจำรัส เกียรติก้อง หัวหน้าแผนกสำรวจ กองโบราณคดี เป็นเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการ โดยใช้รถยนต์จิ๊ปเป็นพาหนะ เนื่องด้วยโบราณสถานส่วนมากตั้งอยู่ในป่า และในหมู่บ้านที่ห่างไกลจากถนนหลวง ต้องบุกบั่นไปตามเส้นทางเดินเท้าหรือทางเกวียนล้อเลื่อนประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งพาหนะที่ใช้เป็นรถยนต์จิ๊ปมีอายุ ตรากตรำงานออกท้องที่มานานตั้ง 7 ปีเศษแล้ว มักเกิดความขัดข้องเสียหายระหว่างการเดินทางเสมอๆ เป็นอุปสรรคทำให้ดำเนินงานตามจุดหมายแต่ละแห่งไม่ได้สะดวกและเสียเวลานานๆ...”

 

 

อ.มานิต ออกสำรวจที่ภาคอีสานในสมัยนั้นต้องใช้ม้าเป็นพาหนะ

 

รถจี๊ปบุกบั่นไปตามเส้นทางเดินเท้าหรือทางเกวียนทุรกันดาร

 

อ.มานิต ออกสำรวจที่ภาคอีสานกับคณะ โดยใช้ช้างเป็นพาหนะ

 

คณะสำรวจใช้ช้างเป็นพาหนะ ขณะเดินทางผ่านหมู่บ้าน

 

คณะสำรวจใช้ช้างเป็นพาหนะ เดินทางไปตามลำห้วย

 

รถจิ๊ปคันเก่าที่ใช้ลงพื้นที่สำรวจ มักเกิดความขัดข้องเสียหายระหว่างการเดินทางเสมอๆ

 

อ.มานิต และคณะสำรวจ 

 

ปราสาทหินตาเมือน จ.สุรินทร์

 

แผ่นศิลาจำหลักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ปราสาทหินตาเมือน จ.สุรินทร์

 

ปราสาทหินตาเมือนโต๊ด จ.สุรินทร์

 

ปรางค์ใหญ่และมุขโถงที่ปราสาทหินตาเมือนธม จ.สุรินทร์

 

ลายจำหลักที่ปรางค์ใหญ่ในปราสาทหินตาเมือนธม จ.สุรินทร์

 

ศิลาทับหลังประตูปรางค์ใหญ่ด้านเหนือในปราสาทหินตาเมือนธม จ.สุรินทร์

 

ศิลาทับหลังประตูปรางค์ใหญ่ด้านตะวันตกในปราสาทหินตาเมือนธม จ.สุรินทร์

 

ทับหลังสลักรูปพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาลที่ซุ้มประตูของมุขโถงปราสาทหินตาเมือนธม จ.สุรินทร์

 

วิหารริมกำแพงปราสาทหินตาเมือนธมด้านตะวันออก จ.สุรินทร์

 

ใบเสมามีคำจารึกที่ริมประตูกำแพงปราสาทหินตาเมือนธมด้านใต้ จ.สุรินทร์

 

ใบเสมาที่ริมกำแพงปราสาทหินตาเมือนธมมุมตะวันออกเฉียงใต้ จ.สุรินทร์

 

รูปสิงห์ศิลา ปราสาทหินตาเมือนธม จ.สุรินทร์

 

 

อ้างอิง

กรมศิลปากร, โครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2502, พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2503.

กรมศิลปากร, รายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาค 2 พ.ศ. 2503-2504, พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, 2510.

กฤช เหลือลมัย, “ตาเมือน ตาควาย ฯลฯ กับการเปลี่ยนไปของชายขอบ” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2547) หน้า 180-184.

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ