เปิดหน้าสารบัญ 50.1 บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทยใหม่

เปิดหน้าสารบัญ 50.1 บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทยใหม่

 

“บ้านสะแกกรังพัฒนาจากบ้านท่า ในการขนส่งสินค้า ข้าว ซุง และของป่า ผ่านลำน้ำสะแกกรัง จนขยายเติบโตเป็นย่านตลาดและศูนย์การปกครองใหม่ของเมืองในที่สุด”

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 50 ฉบับที่ 1 มกราคม - มีนาคม 2567 นำเสนอเรื่องราวของ “บ้านสะแกกรัง เมืองอุไทยใหม่” พิเศษพร้อม “แผนที่อุทัยธานี พ.ศ. 2490-2510” (Limited Edition) ขนาด 22.9x19.6 นิ้ว พับสอดในเล่ม

 

 

ภายในเล่มพบกับหลากหลายบทความที่น่าสนใจ อาทิ

[1]

บทสัมภาษณ์... “50 ปี วารสารเมืองโบราณ คนคิด คนทำ คนอ่าน” และคอลัมน์เปิดเล่ม.. “50 ปีกับการเปลี่ยนแปลง” โดย สุดารา สุจฉายา หัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ

 

 

 

[2]

สะแกกรัง... หัวใจของเมือง / สุดารา สุจฉายา             

อุทัยธานีในอดีตคือเมืองปิด มีเพียงแม่น้ำสะแกกรังเป็นเส้นทางติดต่อออกสู่บ้านเมืองอื่นๆ บรรดาพ่อค้าข้าวจึงพากันนำผลผลิตมาลงเรือตามท่าต่างๆ ริมลำน้ำนี้ ก่อเกิดเป็นชุมชนบ้านท่าและขยายเติบใหญ่กลายเป็นย่านตลาดบ้านสะแกกรัง ซึ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการปกครองของเมืองอุทัยใหม่ในที่สุด แม้เมื่อประสบเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ บ้านสะแกกรังก็หาหยุดความเจริญ ชาวจีนยังคงพากันหลั่งไหลเข้ามาสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ กำหนดพื้นที่และวางผังโครงสร้างของเมืองใหม่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญทางกายภาพของเมืองตราบจนทุกวันนี้

 

 

[3]

ก่อนจะเป็น “เมืองอุไทยใหม่” / เกสรบัว อุบลสรรค์

ในเมืองอุทัยธานีพบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อยู่ในถ้ำหลายแห่ง เช่น เขาปฐวี เขานาค เขาแหลม เขาฆ้องชัย ภูปลาร้า และเขาผาแรต กระทั่งเมื่อเข้าสู่สมัยทวารวดียังพบเมืองโบราณร่วมสมัยอีกหลายแห่ง เช่น เมืองการุ้ง เมืองทับตาอู่ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า เมืองโบราณบ้านน้ำวิ่ง เมืองโบราณบ้านด้าย และเมืองโบราณบึงคอกช้าง เป็นต้น จากนั้นในสมัยสุโขทัยและอยุธยาจึงพบการสร้าง “เมืองอุทัยเก่า” ในอำเภอหนองฉาง เป็นเมืองสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่าน ก่อนที่ระยะต่อมาศูนย์กลางความเจริญจะขยับมาอยู่ที่ “บ้านสะแกกรัง” ริมแม่น้ำสะแกกรัง และพัฒนาสู่ “เมืองอุทัยใหม่” ในที่สุด

 

 

[4]

เมืองโบราณบึงคอกช้าง / วิยะดา ทองมิตร

เมืองโบราณบึงคอกช้างเป็นเมืองสมัยทวารวดีที่มีผังเมืองรูปวงกลมล้อมรอบด้วยผังเมืองขยายรูปสี่เหลี่ยมมุมมน ภายในเขตเมืองไม่เพียงพบเนินโบราณสถานราว 10 แห่ง เนินดินที่มีร่องรอยกิจกรรมการถลุงเหล็ก กับโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา อิฐผสมแกลบ หลุมเสา ใบมีดเหล็ก แวดินเผา และลูกปัด แต่ยังพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญร่วมด้วย คือ “จารึกเมืองบึงคอกช้าง” จำนวน 3 หลัก กำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ปัจจุบันจัดเก็บและจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดอุทัยธานี

 

 

[5]

เศรษฐกิจข้าว เศรษฐกิจอู่ไทย / เมธินีย์ ชอุ่มผล

อุทัยธานีเป็นเมืองในเขตที่ราบภาคกลางทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเหมาะกับการปลูกข้าว ทำให้เมืองอุทัยกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจค้าข้าวของสยามมาแต่อดีต มีท่าข้าวหลายแห่งซึ่งส่วนมากเป็นของพ่อค้าชาวจีนทำหน้าที่เสมือนตัวกลางส่งข้าวเข้ามายังพระนครอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างไรก็ดี แม้ในปัจจุบันรูปแบบการค้าข้าวทั้งระบบจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ “ข้าว” ยังคงเป็นสินค้าหลักของจังหวัดอุทัยธานีไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

[6]

บันทึกชีวิตชาวนาบ้านดอน / อภิญญา นนท์นาท

“บ้านดอน” เป็นคำที่ชาวบ้านย่านตลาดริมแม่น้ำสะแกกรังใช้เรียกพื้นที่ที่อยู่นอกตัวเมืองออกไป ไม่ว่าจะเป็นอำเภอหนองขาหย่าง ทัพทัน สว่างอารมณ์ และหนองฉาง เพราะมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนกว่าเขตตัวเมือง อย่างไรก็ดี อำเภอหนองฉางซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางเมืองอุทัยธานีเก่าสมัยอยุธยานั้น นับเป็นแหล่งทำนาข้าวที่สำคัญ ปัจจุบันชาวบ้านหนองฉางยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทว่าวิถีชีวิตชาวนาแบบดั้งเดิมกลับเลือนหายไป เหลือเพียงคำบอกเล่า ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวดั้งเดิม การลงแขกดำนาเกี่ยวข้าว และโรงสีขนาดเล็กในท้องถิ่น 

 

 

[7]

ทำไม้ ของป่า ถึงโต๊ะรับพระงานตักบาตรเทโว / สุดารา สุจฉายา

ข้าวไม่ใช่พืชเศรษฐกิจสำคัญเพียงอย่างเดียวของอุทัยธานี ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ายังเป็นสินค้าส่งออกที่นำรายได้เข้าสู่เมืองอุทัยในอดีตอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการให้สัมปทานตัดป่าในเขตบ้านไร่ ลานสัก และห้วยคต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ จึงมีผู้ทำไม้และโรงไม้หลายเจ้าภายในเมือง รวมถึงประเพณีตั้งโต๊ะรับพระด้วยการประดับงาช้างตามอาคารบ้านเรือนในงานตักบาตรเทโว ก็ยืนยันได้ถึงความมั่งคั่งของผืนป่าเมืองอุทัย แม้กระทั่งปัจจุบันป่าหัวยขาแข้งก็ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีกด้วย

 

 

[8]

เยือนเรือนเก่าย่านตลาดสะแกกรัง / อภิญญา นนท์นาท

อาคารบ้านเรือนนับเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่น ดังเช่นที่ย่านตลาดสะแกกรัง พบว่ามีบ้านเรือนเก่าแก่ตั้งอยู่ตามหย่อมย่านต่างๆ นับตั้งแต่บ้านใต้แถบวัดพิชัยปุรณาราม มี “เรือนพระยารามราชภักดี” ซึ่งเป็นเรือนข้าราชการหลังใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ถัดมาที่ย่านวัดใหม่จันทรารามเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของตระกูลคหบดี ได้แก่ “ปาลวัฒน์วิไชย” และ “พิทักษ์อรรณพ” ส่วนพื้นที่ย่านวัดหลวงราชาวาสก็มีเรือนข้าราชการตั้งอยู่ด้วย เช่น “เรือนขุนกอบกัยกิจ” (ตั้งอุยสุ่น) ซึ่งเป็นเรือนรุ่นเก่าที่ตกแต่งแบบจีนและสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

 

 

[9]

ชาวน้ำ ชาวแพ สะแกกรัง / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

เนื่องจากชุมชนย่านตลาดสะแกกรังอยู่ติดแม่น้ำสะแกกรังทำให้การตั้งบ้านเรือนมีลักษณะกึ่งบกกึ่งน้ำ โดยพบทั้งการสร้างอาคารบ้านเรือนบนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำและบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเรือนแพ ซึ่งพบชาวบ้านอาศัยผูกเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังสืบต่อกันมาตั้งแต่ยุคสมัยที่การคมนาคมทางน้ำยังเป็นเส้นทางเข้าออกหลัก แม้ในปัจจุบันชุมนุมชาวเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังจะมีจำนวนลดน้อยลงเพราะการคมนาคมทางบกเข้ามามีบทบาทแทนที่แต่กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นกลับช่วยพลิกฟื้นวิถีชาวน้ำและต่อลมหายใจชาวเรือนแพแห่งแม่น้ำสะแกกรังให้คงอยู่ต่อไป

 

  

 

[10]

ฮกแซตึ๊ง : หน้าที่ใหม่ของร้านยาเก่า / จิราพร แซ่เตียว

ในความรับรู้ของชาวเมืองอุทัยธานี “ฮกแซตึ๊ง” ไม่เพียงเป็นอดีตร้านขายยาจีนต้นตำรับยาหอมและยาลมจีนซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในของดีประจำจังหวัดเท่านั้น แต่สถานที่แห่งนี้นับเป็นสาธารณสมบัติที่สร้างขึ้นโดยชาวจีนโพ้นทะเลเพื่อใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมสังสรรค์ และที่พักอาศัยชั่วคราวของชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นบุกเบิก ระยะต่อมาจึงใช้เป็นโรงเจในเทศกาลกินเจ หน้าที่การใช้งานของฮกแซตึ๊งนั้น ถูกประยุกต์ปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามยุคสมัย ซึ่งเป็นเรื่องน่าติดตามต่อไปว่าฮกแซตึ๊งโฉมใหม่หลังผู้เกี่ยวข้องได้น้อมเกล้าฯ ถวายอาคารพร้อมที่ดินแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะปรับเปลี่ยนไปสู่ทิศทางใด

 

 

[11]

สืบรากมอญถิ่นหนองฉาง / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กลุ่มคนเชื้อสายมอญเข้ามาลงหลักปักฐานที่เมืองอุทัยเก่าในอำเภอหนองฉางตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏตำนานเรื่อง “พญาทะละ” ผู้เป็นกษัตริย์มอญองค์สุดท้ายตกทอดสืบมาในหมู่ลูกหลานชาวมอญหนองฉาง รวมทั้งมีการจัดงานบวงสรวงดวงวิญญาณบรรพชนชาวมอญอย่างสม่ำเสมอทุกปี นอกจากนั้น ในพื้นที่อำเภอหนองฉางยังมีร่องรอยโบราณสถานอย่างมอญหลงเหลือให้เห็นด้วย เช่น เจดีย์ทรงลอมฟาง 2 องค์ที่วัดใหญ่ เป็นต้น

 

 

[12] 

แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ หลอมรวมศรัทธาชาวตลาด / จิราพร แซ่เตียว

ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองอุทัยธานี นับเป็นงานใหญ่ของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล 3 กลุ่ม คือ จีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ และจีนฮากกา (จีนแคะ) ที่มาอาศัยลงหลักปักฐานในตลาดเมืองอุทัยร่วมกับคนไทยพื้นถิ่นและคนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่บ้านสะแกกรังมาอย่างยาวนาน งานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่จึงเป็นเสมือนการสืบสานตำนานความศรัทธาจากรุ่นสู่รุ่นนี้ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยในงานจะมีการอัญเชิญเทพเจ้าจากศาลเจ้าย่านตลาดเมืองอุทัยทั้ง 4 แห่ง คือ ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าปุงเถ่ากง (เจ้าพ่อหลักเมือง) และศาลเจ้าปุงเถ่าม่า (เจ้าแม่ละอองสำลี) ออกแห่แหนไปรอบๆ และแวะเวียนไปยังบ้านเรือนของชาวตลาดเพื่อความเป็นสิริมงคล

 

 

[13]

วิถีกะเหรี่ยงด้ายเหลืองบ้านไร่ / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กะเหรี่ยงโปว์ หรือกะเหรี่ยงโพล่ง เป็นกลุ่มคนที่อาศัยในเขตพื้นที่สูงของอุทัยธานี กะเหรี่ยงกลุ่มนี้สามารถจำแนกแยกย่อยได้อีกหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ “กะเหรี่ยงด้ายเหลือง” ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือพุทธศาสนาผสมความเชื่อในพลังธรรมชาติ โดยสะท้อนออกมาเป็นประเพณีต่างๆ เช่น “พิธีไหว้แม่โพสพ” เพื่อขอพรให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตดี และ “พิธีไหว้เจดีย์” ด้วยการนำด้ายไปวางที่เจดีย์ในวันสงกรานต์ก่อนนำมาผูกข้อมือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นต้น

 

 

[14]

ปืน มีด และผ้าทอ / เมธินีย์ ชอุ่มผล

แม้ว่า “ปืนอีโบ๊ะ” ปืนไทยประดิษฐ์แห่งลุ่มน้ำสะแกกรังจะเป็นปืนเถื่อน แต่มีคุณภาพดีจึงเป็นที่ต้องการของบรรดานักเลงลุ่มน้ำ ต่อมาหลังถูกทางการกวาดล้างอย่างหนัก บรรดาช่างทำปืนจึงหันเหเปลี่ยนมาเป็น “ช่างทำมีด” และด้วยฝีมือที่ประณีต ประกอบกับเลือกใช้เหล็กดี จึงทำให้มีดเมืองอุทัยกลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อ เช่นเดียวกับผ้าทอมือของกลุ่มชาวลาวครั่งในอำเภอบ้านไร่ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีลวดลายสวยงามแฝงด้วยความเชื่อและภูมิปัญญาที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ อีกทั้งมีสีสันที่เป็นเอกลักษณ์จึงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

 

[15]

โรงเรียนเชลยศักดิ์ จากรุ่งเรืองสู่ร่วงโรย / จิราพร แซ่เตียว

โรงเรียนเชลยศักดิ์ โรงเรียนบุคคล และโรงเรียนราษฎร์ คือคำเรียกสถานศึกษาของเอกชนมาแต่เดิม กระทั่ง พ.ศ. 2525 ได้เปลี่ยนมาเรียกว่าโรงเรียนเอกชนจนถึงปัจจุบัน ในอดีตผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเรียนในโรงเรียนเอกชนที่ตั้งอยู่ในละแวกบ้าน และเรียกชื่อโรงเรียนตามชื่อครูที่เป็นเจ้าของหรือครูใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงความใกล้ชิดผูกพันระหว่างบ้านกับโรงเรียน ศิษย์กับครู โรงเรียนชาวบ้านคู่ชุมชนเหล่านี้สูญหายไปมากในพื้นที่ย่านเก่ากรุงเทพฯ เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและเมือง

 

 

[16]

นิทานเขานาค เมืองอุทัย

เรื่อง / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา

ภาพ / สกนธ์ แพทยกุล

นิทานที่บอกเล่ากำเนิดของลักษณะภูมิประเทศในแต่ละท้องที่นั้น มักมีโครงเรื่องคล้ายกัน ดังเช่น นิทานเรื่องนี้ที่มีฉากหลังอยู่ที่ “เขานาค” ภูเขาขนาดเล็กริมแควตากแดด ไม่ไกลจากเมืองโบราณบ้านด้ายในอำเภอเมืองอุทัยธานี ก็มีนิทานเรื่องเล่าในทำนองเดียวกัน โดยมีเนื้อเรื่องกล่าวถึง การต่อสู้ระหว่างพญานาคกับเจ้าหลวงเพื่อแย่งชิงหญิงสาวรูปงามคนหนึ่ง แม้จะสู้รบกันจนแผ่นดินแยกกลายเป็น “แควตากแดด” แต่ก็ไม่อาจหาข้อสรุปได้ ร้อนถึงเทวดาซึ่งเปรียบได้ดังผู้มีอำนาจสูงสุดต้องเข้ามาจัดการ เทวดาจึงสาปให้เจ้าหลวงเป็น “เขาหลวง” พญานาคเป็น “เขานาค” ส่วนหญิงสาวก็ถูกตัดนมทิ้ง ข้างหนึ่งเป็น “เขานมนาง” อีกข้างเป็น “เขาแหลม”

 

 

[17]

หมุนเข็มนาฬิกาถอยหลังที่อุทัยธานี / ประภัสสร์ ชูวิเชียร

บทความชวนสำรวจตัวเมืองอุทัยธานีด้วยมุมมองทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อทำความเข้าใจพัฒนาการของเมืองอุทัยธานีริมแม่น้ำสะแกกรังซึ่งสะท้อนผ่านหมู่อาคารร้านเรือน และกลุ่มศาสนสถานเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ อันได้แก่ วัดอุโปสถาราม วัดพิชัยปุรณาราม วัดธรรมโฆษก (วัดโรงโค) วัดขวิด วัดใหม่จันทราราม วัดหลวงราชาวาส วัดมณีถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) วัดสังกัสรัตนคีรี รวมถึงศาลเจ้าจีนหลายแห่งที่ซุ่มซ่อนอยู่ในย่านตลาดสะแกกรัง

 

[18]

กินข้าวกินปลา / โอฬาร รัตนภักดี

เนื่องจากคนไทยนิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองมาแต่อดีต เราจึงคุ้นชินกับสารพัดเมนูอาหารจากปลา ไม่ว่าจะนำไปปิ้ง ย่าง ต้ม แกง หมก ทอด นึ่ง ผัด ตามแต่ชนิดของปลา ความนิยมและภูมิปัญญาของชาวบ้านแต่ละท้องถิ่น นอกจากนั้น ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของปลาที่มีจึงนำไปสู่การถนอมอาหารด้วยกรรมวิธีที่หลากหลาย เช่น การทำปลาเค็ม ปลารมควัน ปลาแห้ง รวมทั้งยังมีสำนวน สุภาษิต หรือคำพูดติดปากมากมายที่มีคำว่า “ปลา” รวมอยู่ในนั้น เช่น กินข้าวกินปลา ข้าวใหม่ปลามัน ปลาติดร่างแห และเหล้ายาปลาปิ้ง เป็นต้น

 

[19]

ผอบพระธาตุที่คอคอดกระ...

หลักฐานการเผยแผ่พุทธศาสนา การค้าและขนผ่านพระธาตุ? / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช

แม้ในประเทศอินเดียจะมีรายงานการค้นพบ “ผอบพระธาตุ” (Relic Casket) ไม่มากนัก แต่ในจำนวนนั้นบางชิ้นมีจารึกอักษรพราหมีกำกับไว้ แปลได้ว่า “ของพระมัชฌิมะ ผู้เป็นบุตรของนางโกฑินี...” และ “(พระธาตุ) ของพระโคติบุตร...” มีผู้สันนิษฐานว่านั่นอาจเป็นนามของพระธรรมทูตที่พระเจ้าอโศกส่งไปเผยแผ่พุทธศาสนา อย่างไรก็ดี ผู้เขียนระบุว่าพื้นที่บางส่วนของพม่าและคอคอดกระก็มีการค้นพบผอบเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่ปรากฏคำจารึก แต่ผอบหลายชิ้นพบร่องรอยการแกะสลักเป็นรูปบุคคลและลวดลายพรรณพฤกษาคล้ายงานศิลปะสมัยโมริยะ-ศุงคะ ผอบเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการบูชาพระธาตุ หรืออาจถูกใช้เป็นภาชนะสำหรับบรรจุสินค้าขนาดเล็กเพื่อการค้าขายทางไกลก็เป็นได้ เป็นปริศนาที่ต้องศึกษาและค้นคว้าต่อไป

 

 

สั่งซื้อได้แล้ววันนี้

ราคาเล่มละ 195 บาท

ค่าจัดส่ง 30 บาท

ดูตัวอย่างและสั่งซื้อ > https://shop.line.me/@pii6708z/product/1006294766

หรือ Inbox : http://m.me/sarakadeeboranrobroo

 

เปิดรับสมาชิก...

เข้าใจบ้านเมือง รู้จักตัวเอง ไปกับวารสารเมืองโบราณ พร้อมรับสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกเท่านั้น

ส่วนลดพิเศษ! 10–20% สำหรับซื้อหนังสือใหม่ ในเครือบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด

รับสิทธิ์ส่วนลดในการซื้อหนังสือร้านหนังสือริมขอบฟ้าเทียบเท่าสมาชิกร้าน

รับสิทธิ์ส่วนลดค่าเข้าร่วมกิจกรรมในทริปต่างๆ

รับแจ้งข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ

.

สมัครสมาชิกใหม่

คลิก https://shop.line.me/@pii6708z/product/1006106245

ต่ออายุสมาชิก

คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714

.

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

Line : @sarakadeemag

Facebook : http://www.m.me/muangboranjournal

.

ติดต่อฝ่ายสมาชิก memberskd@gmail.com

โทร 0-2547-2700 ต่อ 112, 116

คุณชัชพร ตรีทศกุล / คุณสุพจน์ ขำคำ

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น