10 คำถามกับคนหลังภาพ (วาด)

10 คำถามกับคนหลังภาพ (วาด)

 

หากใครติดตามวารสารเมืองโบราณในระยะ 2-3 ปีมานี้ จะเห็นว่าหน้าปกหรือภายในเล่ม จะมีภาพวาดเมืองประวัติศาสตร์หรือเมืองโบราณสำคัญๆ ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่กว่าจะมาเป็นภาพแผนที่ดังกล่าวได้นั้นมีวิธีการขั้นตอนอย่างไรในการสร้างสรรค์ขึ้นมา ...วันนี้จะได้มาพูดคุยกับ คุณสุทธิชัย  ฤทธิ์จตุพรชัย ผู้เขียนแผนที่ดังกล่าว

 

1) พื้นเพของคุณสุทธิชัยเป็นเช่นไร และด้วยเหตุผลอะไรถึงก้าวเข้ามาจับงานวาดภาพนี้ได้ ?

"ผมเป็นคนตลาดพลู ธนบุรี จบจากวิทยาลัยเพาะช่าง-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในสาขาวิชาศิลปะไทย วิชาเอกจิตรกรรมไทย เมื่อเรียนจบใหม่ๆ ก็ได้ทำงานด้านจิตรกรรมอยู่หลายที่ ก่อนจะเข้ามาทำงานกับมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลวารสารเมืองโบราณอีกทอดหนึ่ง การเข้ามาทำงานวาดภาพแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ให้กับวารสารเมืองโบราณนั้นเพราะมีรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมืองโบราณสมุทรปราการ ซึ่งเป็นเครือข่ายกับทางมูลนิธิฯ เป็นผู้ชักนำ โดยมีอาจารย์พรชัย เหมรัฐ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมซึ่งทำงานอยู่ที่นั่นกำลังต้องการลูกมือเพื่อช่วยทำแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ให้สำเร็จ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ ซึ่งงานชิ้นแรกคือแผนที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเริ่มเขียนขึ้นราวปี 2552"   

 

2) งานชิ้นแรกได้มีส่วนสร้างสรรค์ในเรื่องใดบ้าง?

"เริ่มแรกเมื่อเข้ามาช่วยอาจารย์พรชัย ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของชิ้นงานแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ ท่านจะเป็นคนร่างรายละเอียดต่างๆ ของแผนที่รวมถึงภาพตามที่ได้ทำการศึกษาจากนักวิชาการของมูลนิธิฯ ที่ป้อนข้อมูลให้ คือ คุณวิยะดา ทองมิตรส่วนตัวผมทำหน้าที่ลงสีตามส่วนต่างๆ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องที่ได้วางแผนกันไว้"  

 

 วารสารเมืองโบราณปกภาพวาดแผนที่ ฉบับแรกเริ่ม “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” สู่ฉบับล่าสุดที่วางแผงแล้ว “อโยธยาศรีรามเทพนคร”

 

3) อุปสรรคหรือความยากง่ายเมื่อเข้ามาทำแผนที่ประวัติศาสตร์คืออะไร?

"ด้วยการเป็นผู้ที่เรียนมาทางสายจิตรกรรมโดยเฉพาะ จึงมีพื้นฐานความรู้ด้านประวัติศาสตร์ไม่มากนัก แต่เพราะเป็นคนชอบศึกษาเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาทั้งในรูปแบบศิลปะ สกุลช่างอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นเรื่องไม่ยากนักที่จะหาอ่านตำราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยเพิ่มเติม เสมือนได้ทำการบ้านไปในตัว"  

 

4) การทำแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ ต้องใช้เทคโนโลยีด้านอื่นเข้ามาช่วยหรือไม่ อะไรคือความยาก-ง่ายที่เกิดขึ้น?

"ด้วยการทำแผนที่ ณ เวลานั้น จะต้องทำงาน 2 ส่วนเข้าด้วยกัน คือตัวเองจะเป็นผู้วาดและลงสี อีกส่วนหนึ่งจะมีทีมงานใช้คอมพิวเตอร์มาประมวลภาพส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ด้วยการสื่อสารที่ยากลำบากของสองส่วนงานนี้ จนเกิดการล่าช้าไปถึง 2-3 ปี ตัวเองจึงตัดสินใจที่จะเรียนการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าช่วยในการทำภาพแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ถือเป็นความยากลำบากที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ก็แลกมาด้วยความสำเร็จในงานชิ้นนั้น"   

 

5) ที่ผ่านมาได้จัดการกับข้อมูล ทั้งข้อเท็จจริงและข้อสันนิษฐานอย่างไร?

"หลังจากแผนที่เมืองประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาเสร็จสิ้นลง ทางทีมงานกำลังเก็บข้อมูลเพื่อที่จะทำแผนที่เมืองสุโขทัยกันต่อ แต่ขณะนั้น อาจารย์พรชัย เหมรัฐ ก็ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ จึงได้เข้ามาช่วยดูแลงานชิ้นนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยท่านได้เป็นที่ปรึกษาในเรื่องข้อมูลต่างๆ มาโดยตลอด และจากงานชิ้นแรกที่สำเร็จลงไปแล้วนั้น ได้กลายมาเป็นแรงผลักดันว่าแม้เนื้อหาจะยากสักแค่ไหน ก็ต้องทำให้สำเร็จ หากมีปัญหาในเรื่องข้อมูลอาจารย์ศรีศักรและคุณวิยะดา จะคอยช่วยชี้แนะจนงานชิ้นต่อๆ มาสำเร็จลุล่วงลงไปได้ " 

 

6) กับงานชิ้นอื่นๆ คอมพิวเตอร์ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นบ้างไหม?

"จากที่ไม่เคยเชื่อมั่นในคอมพิวเตอร์ เพราะเราเรียนมาทางการวาดภาพด้วยมือตั้งแต่ต้น แต่กลับต้องมาเรียนรู้การใช้โปรแกรมวาดภาพมาร่วมด้วยตั้งแต่งานชิ้นแรก และใช้ควบคู่กับวาดด้วยมือในชิ้นต่อๆ มา ทำให้เรารับรู้ว่าคอมพิวเตอร์นั่นเป็นเครื่องมือสำคัญเช่นกัน สามารถช่วยให้งานเสร็จสิ้นลงได้รวดเร็วขึ้น และสุดท้ายก็ต้องพึ่งคอมพิวเตอร์ในกระบวนการพิมพ์จนถึงขั้นสุดท้ายที่ออกมาเป็นรูปเล่ม"  

 

7) ขั้นตอนการทำแผนที่โดยภาพรวมเริ่มจากอะไรและจบลงอย่างไร?

"นับตั้งแต่งานชิ้นแรกคือแผนที่เมืองประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ด้วยการใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ก็ได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลของเมืองโบราณอื่นๆ ไปด้วย เพราะในเนื้อหาแล้วจะมีการอ้างอิงพูดถึงเมืองข้างเคียงด้วย จากการศึกษาข้อมูลข้างเคียงในช่วงแรกได้ส่งผลให้งานชิ้นต่อมาไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย มีความคุ้นชินในข้อมูลอยู่บ้าง ถือเป็นประสบการณ์ที่เคยผ่านตาสั่งสมมา นับเป็นต้นทุนที่ทำให้งานชิ้นต่อมาสำเร็จลงได้"  

 

8) ความพึงพอใจและความคาดหวังที่สะท้อนกลับมาเป็นเช่นไร แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?

"ที่ผ่านมาได้มีเสียงตอบรับทั้งบวกและลบ ข้อเสนอแนะก็มีเข้ามามากมาย จริงๆ แล้วการทำแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ และการจัดทำที่ผ่านมาก็พร้อมรับฟังทุกข้อคิดเห็น สามารถนำมาแก้ไขได้ทุกชิ้นงาน"  

 

คุณสุทธิชัย กำลังอธิบายถึงสิ่งที่ยากและความคาดหวังของผู้อ่าน

 

9) งานแต่ละชิ้นมีความยากง่าย ขึ้นอยู่กับอะไร?

"ยกตัวอย่างงานชิ้นแรกคืออยุธยา แม้จะเป็นงานเริ่มต้น แต่ถ้าพูดในเชิงข้อมูลแล้วถือว่ามีอยู่มากมายและหลากหลาย ต่างจากบางชิ้น เช่น แผนที่เมืองประวัติศาสตร์อู่ทอง สำหรับตัวเองแล้วพบว่าเป็นเมืองที่มีข้อมูลน้อยกว่าอยุธยามาก ดังนั้นการแก้ปัญหาก็คือเตรียมคำถามข้อสงสัยให้มากที่สุด เพื่อจะนำไปซักถามกับอาจารย์ศรีศักรให้ช่วยชี้แนะต่อไป"     

 

11) โครงการต่อไปในอนาคตของแผนที่ประวัติศาสตร์ คืออะไร ?

"ทุกชิ้นงานที่ได้ผลิตออกมา ล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้งานที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความคาดหวังของตัวเองคืออยากให้แผนที่เหล่านี้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกเพศทุกวัยได้เข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย อย่างไรก็ดี แม้งานแต่ละชิ้นจะต้องทำแข่งกับเวลาอยู่เสมอ แต่ก็พร้อมที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในวันข้างหน้า"

 

 แผนที่เมืองประวัติศาสตร์กรุงเทพทวารดีศรีอยุธยา ถือเป็นบททดสอบสำคัญ ทั้งยังเป็นต้นทุนให้กับแผนที่ฉบับต่อๆ มา

 

จากจุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบัน ภาพแผนที่เมืองประวัติศาสตร์ ยังคงก้าวเดินเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคน

 

ภาพถ่ายโดย : จตุพร ทองขันธ์ 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ