บันทึกเรื่องหาดเสี้ยว
เปิดหน้าวารสาร

บันทึกเรื่องหาดเสี้ยว

 

อวบ สาณะเสน ได้ทำการศึกษาประวัติและมรดกวัฒนธรรมของกลุ่มชาวลาวพวนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย นำเสนอเป็นบทความเรื่อง “บันทึกเรื่องหาดเสี้ยว” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2522) หน้า 9-24 จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ที่บ้านหาดเสี้ยวกล่าวว่า เดิมเป็นชุมชนชาวลาวจากเวียงจันทน์ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก่อนจะถูกพวกแกว (ญวน) เก็บส่วยขูดรีด จึงโยกย้ายไปที่อื่น ต่อมามีกลุ่มชาวลาวจากเมืองพวน ทางตอนใต้ของเมืองหลวงพระบาง อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองลาวลงมาเป็นจำนวนมาก

 

มรดกวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวลาวพวนที่บ้านหาดเสี้ยวคือ การทอผ้า ซึ่งเป็นงานฝีมือของฝ่ายหญิง ในขณะที่ผู้ชายจะเป็นช่างตีเหล็ก  หญิงสาวชาวพวนจะต้องเรียนรู้เรื่องการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก เมื่อถึงคราวที่ต้องออกเรือนไป จะเป็นฝ่ายที่ตระเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของตนเองและเจ้าบ่าว รวมถึงเครื่องใช้ที่ทำด้วยผ้า เช่น  ที่นอน  ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า ถุงย่าม เป็นต้น  ซึ่งในบทความนำเสนอถึงประเพณีการแต่งกาย ลักษณะของเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ที่ทำด้วยผ้าแบบต่างๆ และที่สำคัญคือลวดลายตีนจกที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหาดเสี้ยว

 

ลวดลายตีนจกที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหาดเสี้ยว

ลวดลายตีนจกที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหาดเสี้ยว

 

นอกจากเรื่องการทอผ้า ยังได้กล่าวถึงประเพณีอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การบวชช้าง ซึ่งเป็นการแห่นาคบนหลังช้าง  การทำบุญควาย หลังหน้านา ประเพณีการเกี้ยวสาวในช่วงหน้าหนาว การเคารพผู้อาวุโส ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่คอลัมน์ “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิกที่ https://issuu.com/muangboranjournal/docs/0601-2522  


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น