นาเก็น : ยุคหินแผ่นดินเถื่อน

นาเก็น : ยุคหินแผ่นดินเถื่อน

 

 

ขวานฟ้า หรือ เสียมตุ่น เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขวานหินขัดตามความเข้าใจและความเชื่อส่วนตัว ด้วยลักษณะเหมือนหินทั่วไป แต่มีความแกร่งและคม ลักษณะเหมือนฟันหน้าของตัวตุ่นที่ใช้กัดกินพืชผลทางการเกษตร จึงเรียกว่าเสียมตุ่น หรือนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องเมขลากับรามสูรซึ่งเป็นเกร็ดตอนหนึ่งจากเรื่องรามเกียรติ์ เนื้อเรื่องเล่าถึง เมขลา นางฟ้าผู้มีหน้าที่คอยพิทักษ์รักษามหาสมุทร นางมีดวงแก้ววิเศษดวงหนึ่งซึ่งได้รับประทานมาจากพระนารายณ์ทำให้มีอิทธิฤทธิ์ เมื่อเหาะไปแห่งหนใดเมขลาก็ถือดวงแก้ววิเศษนี้ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อเจ้ายักษ์รามสูรเห็นแสงแวววาวของดวงแก้ววิเศษก็นึกอยากได้จึงรีบเหาะติดตามหมายจะชิงมาเป็นของตน เมขลาถือดวงแก้วล่อหลอกเหาะหนี ฝ่ายรามสูรก็ควงขวานเพชรไล่ติดตามอย่างไม่ลดละ พอเข้าใกล้รามสูรจึงขว้างขวานในมือใส่ แต่แสงประกายของดวงแก้วทำให้รามสูรตาฟ้าฟาง ขวานจึงพลาดเป้าแล่นแฉลบไปตามหมู่เมฆ ทำให้ขวานที่ขว้างไปนั้นตกลงมาถึงพื้นดินเกิดเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น

 

ขวานหินรูปแบบต่างๆ ที่พบในบริเวณบ้านนาเก็น

 

ขวานหินขัดพบที่บ้านนาเก็น 

 

เหตุการณ์ในเรื่องนี้กลายเป็นตำนานอธิบายถึงที่มาของปรากฏการณ์ธรรมชาติอันได้แก่ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่านั่นเอง ชาวบ้านยุคก่อนเชื่อว่าเมื่อฟ้าผ่าลงพื้นดิน จุดนั้นคือขวานของรามสูรที่ตกลงมาจากฟ้า เมื่อชาวบ้านไปทำการเกษตรและพบขวานหินในบริเวณนั้น จึงเรียกว่าขวานหินที่พบว่าขวานฟ้า เมื่อใช้มือสัมผัสพบว่ามีความคมและผิวมันลื่น ส่วนทางโบราณคดีเรียกว่า “ขวานหินขัด” เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีลักษณะเป็นก้อนหินที่ขึ้นรูปด้วยการกะเทาะแล้วขัดแต่งให้เกิดความคมเพื่อนำไปใช้ตามความต้องการและความจำเป็นในการดำรงชีวิต


 

ขวานหินขัดพบที่บ้านนาเก็น บางชิ้นมีขนาดเพียงไม่กี่เซนติเมตร 

 

ในบริเวณชุมชนหมู่บ้านนาเก็น ตำบลหนองแวง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ชาวบ้านพบขวานหินเป็นจำนวนมากตามพื้นที่ทำเกษตรกรรม ปัจจุบันได้เก็บรวบรวมไว้ที่ศูนย์นาเก็นศึกษา (NAKEN Study Centre) ณ โรงเรียนบ้านนาเก็น เพื่อทำการศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชุมชนและอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน อีกทั้งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณบ้านนาเก็นปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์มาตั้งแต่อดีต เป็นแหล่งพักพิงของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงการตั้งถิ่นฐานแบบกึ่งถาวร มีพัฒนาการทางการเกษตร


ขวานหินขัดพบที่บ้านนาเก็น

 

ขวานหินที่พบมีทั้งชิ้นที่สมบูรณ์และชิ้นที่ยังทำไม่แล้วเสร็จ 

 

ขวานหินที่พบมีหลายรูปทรง เช่น รูปยาวรี รูปทรงหยดน้ำ ขวานหินชนิดมีบ่าและไม่มีบ่า เป็นต้น ไม่เพียงแต่มีขวานหินขัดเท่านั้น ยังพบเครื่องมือหินชนิดอื่นๆ อาทิ จอบหิน ค้อนหิน หินลับ สะเก็ดหิน รวมถึงขวานหินที่ขึ้นรูปไว้แต่ยังทำไม่แล้วเสร็จอีกด้วย เรื่องราวของมนุษย์ยุคหินบริเวณบ้านนาเก็นนี้ มีประเด็นเชื่อมโยงกับแหล่งพบแร่เหล็กบนเทือกเขาภูพานน้อย ซึ่งควรศึกษากันต่อไป

 

จอบหินที่พบในบ้านนาเก็น ขนาดกว้าง 11.90  ซม. ยาว 15.60 ซม. หนา 2.50 ซม. 

รูสำหรับสอดไม้ กว้าง 3.40  ซม. ด้านปลายแตกหัก

 

ขวานหินชิ้นที่เล็กที่สุด ขนาดความยาว 3 ซม. ด้านหน้าขวานกว้าง 3.20 ซม.

ด้านท้าย 1.40 ซม. ความหนา 0.60 มม.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : 

ว่าที่พันตรีฉัตรวัชระ เสนะบุตร์ ปัจจุบันเป็นครูที่โรงเรียนบ้านนาเก็น และเป็นนักวิชาการอิสระที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์-โบราณคดีภาคอีสาน

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น