วิธีคิด วิถีคราฟท์ (ใหม่ๆ) ณ โหล่งฮิมคาว

วิธีคิด วิถีคราฟท์ (ใหม่ๆ) ณ โหล่งฮิมคาว

 

ถนนสายเชียงใหม่-สันกำแพงที่เคยเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญด้านงานหัตถกรรมหรืองานคราฟท์ของเชียงใหม่ในอดีต ปัจจุบันกลับเงียบเหงาซบเซา ไม่เพียงเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด แต่ก่อนหน้านั้น ความรุ่งเรืองคึกคักสองฝั่งถนนที่เคยคราคร่ำด้วยร้านค้าขายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง หรือไม่ก็โยกย้ายเข้าไปในหรือใกล้ตัวเวียงที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นสันกำแพงยังคงเป็นถิ่นอาศัยของบรรดาสล่าและช่างฝีมือที่ยังคงผลิตงานหัตถกรรมออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยกระจายอยู่ตามตำบล หมู่บ้านต่างๆ มิได้มาตั้งรวมอยู่กันบนถนนสายสันกำแพงเหมือนดังก่อน และนี่อาจเป็นโจทย์หนึ่งที่ชาวสันกำแพงกลุ่มหนึ่งกำลังร่วมขบคิดกันว่าจะรื้อฟื้นความเป็นย่านงานคราฟท์ของตนให้กลับมาโดดเด่นและมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งได้อย่างไร

 

ท้องนา ป่าไมยราพ ริมน้ำคาว

และสวนธรรมดา

บ้านมอญ หมู่ 2 ตำบลสันกลาง ที่ตั้งประชิดอยู่ริมน้ำคาวเมื่อราว 30 กว่าปีก่อน อาจยังไม่เป็นที่รู้จักของคนเชียงใหม่มากนัก ด้วยเป็นพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนเมืองแยกออกมาจากถนนสันกำแพงลึกเข้าไปในซอยบริเวณใกล้กับวัดสีมารามของชุมชนชาวเขิน ที่ไม่ใช่ชาวมอญ จนสร้างความสับสนกับชื่อบ้านที่มีประวัติสันนิษฐานว่า เมื่อชาวเขินถูกกวาดครัวให้มาตั้งบ้านยังบริเวณป่าไม้หม่อนหรือต้นหม่อน ที่ภายหลัง เรียกกลายเป็น “บ้านมอญ” ไป

 

ที่นี่นับว่าไกลจากตัวเมือง เงียบสนิท พื้นดินเป็นลูกรัง สองข้างทางเป็นป่าไมยราพ สำหรับเลี้ยงควายและมีการทำนาอยู่บ้าง พอมาเห็นไต่ถามจนรู้ว่าผืนดินตรงนี้เป็นของลุงมา แกทำสวน ไร่นา และเลี้ยงควาย สร้างเพิงพักอยู่หัวไร่ปลายนา เลยขอแบ่งซื้อที่ดินจากลุงเพื่อมาทำสวนเกษตรตามที่ฝันไว้ แล้วก็ลงมือปลูกไม้ผล อย่างมะม่วง ลำไย พร้อมกับขุดบ่อเลี้ยงปลา ตั้งชื่อสวนนี้ว่า ‘สวนธรรมดา’ ตอนนั้นมีสวนของผมกับลุงมาในบริเวณนี้เท่านั้น ส่วนที่ดินส่วนใหญ่รอบๆ ถูกขายให้กับคนกรุงเทพฯ หมด และปล่อยทิ้งรกร้าง ไม่มีคนดูแล” ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่รกร้างแห่งนี้ให้กลายเป็นชุมชน และดำรงตำแหน่งประธานชุมชนในวันนี้ ได้ย้อนเล่าถึงวันเวลาเมื่อแรกพบที่ดินผืนนี้

 

หลังจากดูแลทำสวนมาได้ราว 15 ปี เจ้าของที่ดินรอบๆ ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ก็ตัดสินใจขายโดยเริ่มแรกจากฝั่งถนนเดียวกับสวน ทำให้ต้องไปชวนเพื่อนพ้องญาติมิตรที่เคยทำงานร่วมกันและมีแนวคิดรักธรรมชาติและศิลปะวัฒนธรรมมาช่วยกันซื้อ มี 9 คนก็ซื้อแบ่งกันคนละงานสองงาน ต่อมาอีก 2 ปี เจ้าของที่ดินอีกฝั่งถนนบอกขายเช่นกัน เลยต้องหาต้องชวนคนรู้จักเพื่อนฝูงมาร่วมกันซื้ออีกครั้ง ชัชวาลย์จำกัดความว่าเป็นยุครวมคนมาซื้อที่ดินคืนชุมชน เมื่อจัดแบ่งพื้นที่เสร็จ หลายคนค่อยๆ ทยอยสร้างบ้านสร้างเฮือน โดยคุยตกลงกันว่าอยากให้บ้านที่จะสร้างขึ้นเป็นแบบล้านนาและปลูกต้นไม้เพื่อให้เกิดความร่มรื่น

 

บ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นก่อนแล้วคือบ้านของอุษา ผู้เป็นน้องสาวของเขาเอง สร้างขึ้นติดกับสวนธรรมดา แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มเกิดบ้านขึ้นทีละหลังสองหลัง โดยระยะแรกปลูกบ้านกันในแบบเฮือนล้านนา โดยเพื่อนบางคนโยกย้ายเฮือนมาจากบ้านเดิมจากอำเภอแม่แจ่ม หรือบางคนก็ซื้อบ้านเก่ามาแปงใหม่ บ้างสร้างใหม่ใช้ไม้ร่วมกับปูนจนแต่ละหลังต่างก็มีเอกลักษณ์ของตนเอง

อย่างร้านเฮือนเปิงใจ๋ เป็นคนแม่แจ่ม มาเรียนเย็บผ้าที่เชียงใหม่ตอนที่แม่บ้านผมเปิดร้านขายผ้าปาเกอะญอที่ไนท์บาซาร์ ตอนมีจาว--ลูกสาวคนแรกก็ชวนเขามาเป็นพี่เลี้ยงลูก พอมีจอม ลูกสาวอีกคนก็ชวนเฮือนล้านฝ้ายงามมาช่วยเลี้ยง เราจึงมีความสัมพันธ์ที่ผูกพันกัน เมื่อมาซื้อที่ร่วมกัน พี่ต่าย (เจ้าของเฮือนเปิงใจ๋) ก็สร้างบ้านแบบแม่แจ่มขึ้นใหม่ที่นี่ หรืออย่างบ้านเฮือน ณ ใจ๋ ก็ย้ายบ้านจากอำเภอแม่แจ่มมาสร้างที่นี่ เป็นการร่วมด้วยช่วยกันสร้างบ้านสร้างชุมชน โดยระยะแรกๆ เรามุ่งหวังจะให้ที่นี่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยยามแก่เฒ่าในบรรยากาศที่สงบเงียบ แวดล้อมด้วยธรรมชาติและคนที่รู้ใจ โดยมีวัดสีมารามและมีสถานปฏิบัติธรรมที่สวนธรรมดาเพื่อความสุขสงบทางใจ

แต่เมื่อกาลเวลาเดินทางมาถึงจังหวะชีวิตที่ลูกสาวจะออกเรือน สร้างครอบครัวใหม่ เป้าหมายที่ตั้งใจก็มาถึงจุดเปลี่ยนเพื่อการเดินทางสู่ฝันครั้งใหญ่

 

ถนนสายกลางหมู่บ้านถูกประดับประดาเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน 

 

ลานกิจกรรมภายในโหล่งฮิมคาว 

 

จากสวนธรรมดาถึงร้านมีนา

เปลี่ยนเฮือนเป็นฮ้าน

บริเวณหลังวัดสีมารามในซอย 11 ที่เคยรกร้างเริ่มเป็นชุมชนเล็กๆ มีบ้านตั้งอยู่ห่างๆ กับบนสองฝั่งถนนซอย แต่อย่างน้อยทุกหลังก็รู้จักหน้าค่าตา เป็นเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือกันและกัน จนวันหนึ่งเมื่อจาวลูกสาวคนโตจะแต่งงานและวางแผนจะย้ายตามสามีไปเปิดร้านอาหารไทยที่ประเทศออสเตรเลีย ชัชวาลย์จึงตัดสินใจยกพื้นที่สวนธรรมดาให้เป็นที่ทำร้านอาหารแก่ลูกสาว

 

พูดตรงไปตรงมาคือไม่อยากให้ลูกไปไกลถึงออสเตรเลีย อยากให้อยู่ใกล้ๆ” นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนเล็กๆ ไปสู่การเป็นหย่อมย่านงานคราฟท์แห่งใหม่ของสันกำแพง เมื่อตัดสินใจเช่นนั้น ทองดี ลูกชายคนเล็กของผมก็เลยเสนอพี่สาวให้จัดงานแต่งงานบริเวณที่จะเปิดร้านเสียเลย เพื่อให้คนที่มาร่วมงานได้เห็นพื้นที่และรู้ว่าจะมีร้านอาหาร ณ ที่นี้ในอนาคต จึงชวนพี่น้องและเพื่อนๆ ของลูกมาทำความสะอาดตัดแต่งพื้นที่ให้กลายเป็นสถานที่จัดงาน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่คนนอกเริ่มรู้จักพื้นที่

 

และเมื่อเกิดร้าน “มีนา” ร้านอาหารใต้ยุ้งข้าวในสวนที่มีแนวคิดในการนำเสนอคุณค่าของท้องนาและข้าวที่มีคุณประโยชน์มากมายต่อผู้คนผ่านเมนูอาหารหลากชนิดที่รังสรรค์จากข้าวที่เป็นส่วนประกอบในการปรุง แม้ช่วงแรกยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่ด้วยคนในชุมชนช่วยกันชักชวนเพื่อนฝูงมากิน...จากปากต่อปาก รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์ประชาสัมพันธ์จากบรรดาลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพียงไม่นานร้านมีนาที่อยู่ลึกเข้ามาในซอยก็เป็นที่กล่าวถึง มีลูกค้าทั้งคนเชียงใหม่และจากกรุงเทพฯ มาเยือนมากขึ้นเรื่อยๆ นำมาสู่การพูดคุยกันในชุมชนที่เจ้าของบ้านแต่ละหลังต่างก็มีผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่ทำมาค้าขายกันที่ห้างในเมือง บางคนต้องเสียค่าพื้นที่ ค่าฝากวางสินค้า และต้องย้ายหาทำเลใหม่อยู่บ่อยครั้ง ให้หันกลับมามองที่ชุมชน เปิดเฮือนเป็นฮ้านขึ้นที่บ้าน จาก 1 เป็น 2, 3, 4 ... พร้อมโจทย์ใหญ่ที่จะทำอย่างไรเพื่อดึงคนเข้ามาที่นี่ มากิน มาจับจ่าย มาบอกกล่าวถึงอัตลักษณ์ตัวตนของชุมชน

 

เมื่อมาโซ๊ะกั๋นจึงเกิด...

 

หุ่นไล่กาและนาข้าวของร้านอาหาร "มีนา"

 

ไอเดียจัดตลาดนัดแบบกะดิน “โละครัวฮอมตอมครัวฮัก” ชื่อที่ อ.วิลักษณ์ ศรีป่าซางให้ชื่อไว้ที่ร้านมีนา ในเดือนมีนาคม 2558 บ้านไหนมีอะไรก็โละมาขาย เชิญคนมาตอมมาซื้อของเก่า เสื้อผ้า งานฝีมือหัตถศิลป์ต่างๆ ได้รับความสนใจมากจนต้องจัดอีกครั้งในปลายปีนั้น (เดือนพฤศจิกายน) และครั้งนี้มีผู้คนเข้ามามากขึ้นจนไปแออัดบริเวณร้านและที่จอดรถของร้านมีนา จึงต้องขยับขยายออกมาจัดงานบนพื้นที่ด้านนอกในปีถัดมา ส่งผลให้แต่ละบ้านเปิดเฮือนให้มีหน้าร้านเพื่อวางโชว์สินค้า พร้อมกับชักชวนบรรดาเพื่อนที่ทำงานคราฟท์ประเภทต่างๆ ตลอดจนงานผีมือและอาหารแฮนด์เมดมาวางขายตลอดสองฝั่งถนนที่ยาวราว 400 เมตร พร้อมกับการตกแต่งชุมชนให้สวยงามเพื่อสร้างบรรยากาศและดึงดูดผู้คนให้เข้ามา และครั้งนั้นเองเป็นเหตุให้ต้องมีการปรึกษาหารือถึงการเรียกขานชื่อชุมชนและชื่องานที่เริ่มมีลักษณะและขอบเขตกว้างขวางขึ้น รวมทั้งเป้าหมายที่ทุกคนคาดหวังและตั้งใจร่วมกัน โดยสรุปชื่อชุมชนมาจากชาวบ้านดั้งเดิมที่เรียกพื้นที่แถวนี้ว่า โหล่งฮิมคาว อันมีที่มาจากลักษณะภูมิประเทศ คือ เป็นพื้นที่โล่ง ที่คนเหนือเรียกว่า “โหล่ง” ส่วน “ฮิมคาว” คือตั้งอยู่ริมแม่น้ำคาว และชื่องานที่จะจัดขึ้นก็ได้มาจากแนวคิดของจาว เจ้าของร้านมีนา ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งทุกอย่างต้องรีบเร่ง มีชีวิตที่แข่งขันกัน จึงอยากรณรงค์ให้หันกลับมาสู่วิถีดั้งเดิมที่ทำอะไรอย่างช้าๆ แบบ slow life ช่วยกันคิดจนนำมาสู่ชื่องานในภาษาพื้นเมืองว่า กาดต่อนยอน ภายใต้สโลแกน “เดินช้าๆ กินช้าๆ ซื้อขายช้าๆ อู้จ๋ากันม่วนๆ” สร้างความสุขให้กับทั้งเจ้าบ้านและผู้มาเยือน

 

 

สโลแกน “เดินช้าๆ กินช้าๆ ซื้อขายช้าๆ อู้จ๋ากันม่วนๆ” สร้างความสุขให้กับทั้งเจ้าบ้านและผู้มาเยือน

 

งานปักผ้าเก๋ๆ มีให้เลือกชมได้ที่โหล่งฮิมคาว 

 

กาดต่อนยอนเปิดตัวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยจัดขึ้นในช่วงเทศกาลยี่เป็งซึ่งถือเป็นงานบุญสำคัญของชาวล้านนา ด้วยต้องการที่จะร่วมสืบสานประเพณีตามวัตถุประสงค์หนึ่งของชุมชนที่จะผดุงรักษาศิลปวัฒนธรรมล้านนาไว้ ประกอบกับเป็นช่วงอากาศหนาวเย็นสบายใกล้จะก้าวข้ามสู่ปีใหม่ อันเป็นฤดูกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริง จึงมีการตกแต่งบ้านเรือน ทำซุ้มประตูป่า แขวนโคมยี่เป็ง และจุดผางประทีปเพื่อเป็นพุทธบูชาร่วมกันระหว่างสมาชิกชุมชน ผู้มาออกร้าน และผู้มาร่วมงาน ตลอดแนวถนนยามเย็นย่ำ ก่อให้เกิดแสงเงาแปลกตาในอีกมิติหนึ่งของชุมชน นับแต่นั้นกาดต่อนยอนก็ได้กลายเป็นงานประจำปีในช่วงเทศกาลยี่เป็งของชุมชน โดยจะจัดขึ้นรวม 3 วัน ซึ่ง ณ วันนี้ (กรกฎาคม 2564) ชุมชนได้จัดงานกาดต่อนยอนผ่านมาแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการวางแนวคิด การตกแต่งสร้างบรรยากาศแตกต่างกันออกไป

            ครั้งที่ 1 เริ่มด้วย “ติ้วซ้ามาจ่ายกาด” รณรงค์ให้คนมาแอ่วแต่งชุดพื้นเมืองและหิ้วตะกร้าหรือซ้ามาจับจ่าย

            ครั้งที่ 2 “เตวกองดอก” หรือเดินบนถนนดอกไม้ มีการปลูกไม้ดอกสีเหลืองตามแนวถนน เช่น ดอกคำปู้จู้ (ดอกดาวเรือง) ดอกปอเทือง เป็นต้น

            ครั้งที่ 3 “ผ้าฝ้ายงาม ผ้าครามสวย” เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายและการย้อมสีคราม

            ครั้งที่ 4 “ต่อนยอน on craft street” เดินช้าๆ บนถนนสายหัตถกรรม ด้วยในปีนั้นเชียงใหม่ได้รับการประกาศเป็นเมืองศิลปหัตถกรรมจาก Unesco ชุมชนจึงร่วมเฉลิมฉลอง มีการเชิญสล่าล้านนามาสาธิตงานหัตถกรรมต่างๆ เช่น แกะสลักไม้ ปั้นดิน ผ้าทอ งานไม้ไผ่ งานโลหะ ฯลฯ ตลอดแนวถนน    

            ครั้งที่ 5 “ตัวตนคนโหล่ง ชุมชนคนสร้างสรรค์” แต่ละบ้านในชุมชนนำเสนอผลงานศิลปหัตถกรรมงานสร้างสรรค์ของตนที่บ้าน

 

หน้าบ้าน น่ามอง 

 

กาดหนุ่มสาวในเวิ้งฉำฉา

การผลักดันให้เกิด “กาด” และสร้างกิจกรรมเพื่อดึงดูดให้ผู้คนจากนอกชุมชนได้รู้จักโหล่งฮิมคาว ไม่ได้เกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เกิดจากความพร้อมใจของคนในชุมชนที่เป็นทั้งเจ้าบ้าน เจ้าของร้าน หรือเจ้าของที่ดิน รวมถึงบรรดาลูกหลานในวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมคิด ร่วมทำ และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้สำแดงฝีมือและทดลองแนวคิดของตนเอง กาดฉำฉา ตลาดเล็กๆ ในเวิ้งใต้ต้นฉำฉำฉาจึงก่อรูปขึ้น ในลักษณะตลาดนัดจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมทุกสัปดาห์เมื่อแรกเริ่ม แล้วค่อยๆ พัฒนาเพิ่มเติมกิจกรรมต่างๆ ให้เวิ้งแห่งนี้เป็น Heart Space @ เวิ้งฉำฉา ที่นั่งทำงาน ที่ประชุมที่ทำเวิร์คชอป  พื้นที่เล่นดนตรีเปิดหมวก หรือจะแค่เพียงนั่งจิบกาแฟดื่มด่ำกับบรรยากาศรอบตัวก็ย่อมได้

 

หมวกปักลวดลายสีสันสดใสก็มีวางขายด้วยเช่นกัน 

 

หลังจากจัดงานกาดต่อนยอนไปได้ 2 ปี ทองดี-ลูกชายผมและหลานสาว-น้ำ (ดวงกมล มังคละคีรี) ที่ช่วยจัดงานด้วยกันมาแต่แรก เรียนจบจากมหาวิทยาลัยหมดภาระเรื่องการเรียน ก็มาเสนอกับชุมชนว่ากาดต่อนยอนที่ทำกันปีละครั้ง มันทิ้งช่วงเวลานานเกินไป อยากจัดตลาดนัดเพื่อดึงคนให้เข้ามาชุมชนมากขึ้น โดยจะจัดทุกสัปดาห์ ทุกคนเห็นด้วยจึงเกิดเป็น กาดฉำฉา อย่างทุกวันนี้ โดยมาขอใช้ที่ดินใต้ร่มฉำฉาซึ่งผมและภรรยาทำสวนครัวปลูกผักไว้แต่เดิม ทองดีมาเริ่มสร้างร้านขายเสื้อผ้าและสินค้าพื้นเมือง ซึ่งเอามาจากร้านปาเกอะญอของแม่ จากนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ที่พระเอกมีบัสเฮ้าส์ จึงไปตระเวณหาซื้อรถโดยสารประจำทางเก่าๆมาทำเป็นบ้านพักของตนในเวิ้งฉำฉา ที่ต่อมาพัฒนาเป็น Bus pizza เพราะสนใจและได้ไปเรียนทำพิซซ่าสูตรอิตาลี พอทำขายก็เห็นว่าควรมีร้านเครื่องดื่ม จึงไปชักชวนเพื่อนมาเปิดร้านกาแฟ น้ำ ดวงกมลรับบทผู้จัดการกาดฉำฉา ใช้สื่อออนไลน์หาร้านค้าต่างๆ หรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามาขายพวกงานหัตถศิลป์ งานแฮนด์เมดต่างๆ จนปัจจุบันในเวิ้งฯ มีร้านราว 50-60 ร้าน การดูแลจัดการกาดฉำฉาทุกวันนี้ น้ำกับทองดีเป็นคนจัดการเอง ผมและชุมชนแค่เป็นที่ปรึกษาอยู่ห่างๆ

 

กาดฉำฉา มีทั้งงานคราฟท์และอาหารทานเล่น เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์

 

จากเปิดกาดแค่สัปดาห์ละครั้งในวันเสาร์ ก็ขยายเป็น 2 วัน เสาร์-อาทิตย์ และเริ่มมีองค์กรภายนอกมาให้การสนับสนุน อย่าง TCDC เชียงใหม่ (Thailand Creative & Design Center) มอบตู้คอนเทนเนอร์ให้ 3 ตู้ เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ทองดีจึงนำมาจัดวางไว้ในเวิ้งฯ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้เป็นร้านจำหน่ายสินค้าประเภทสร้างสรรค์ รวมทั้งเปิดพื้นที่ด้านบนให้เป็นสถานที่ประชุมและทำเวิร์คชอป มีผู้ให้ความสนใจมาก จนต้องจัดสรรพื้นที่ให้ทำเป็นร้านเล็กๆ พร้อมกับนำห้องเช่า 3 ห้องที่เคยทำเป็นห้องพักให้นักท่องเที่ยวและสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีก 2 ห้องเปลี่ยนเป็นพื้นที่เช่าทำร้านค้าและที่อยู่อาศัยระยะยาว ภายในเวิ้งจึงเกิดเป็นร้านค้าเล็กๆ กระจายอยู่เต็มพื้นที่ เช่น ร้านกาแฟ ร้านน้ำชา ร้านขายสมุนไพร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายของแฮนด์เมดต่างๆ ฯลฯ โดยเป็นร้านค้าประจำอยู่ 12 ร้าน นอกเหนือจากนั้นจะมาจัดวางเต็มพื้นที่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่กาดเปิด นอกเหนือจากการขายสินค้าบางช่วงเวลาได้จัดกิจกรรมมีการเล่นดนตรีโฟล์ค งานแสดงศิลปะ หรืองานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

 

พวงกุญแจพู่ไหมพรมหลากสีสันเป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อติดมือกลับไป 

 

กาดฉำฉาจึงไม่เพียงเปิดพื้นที่ชุมชนโหล่งฮิมคาวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเดิมที่มีงานเพียงปีละครั้ง แต่ในทุกสุดสัปดาห์จะมีคนเข้ามาเที่ยวมาชม มาซื้อหาสินค้าหัตถกรรม ซึ่งไม่อยู่แค่ในเวิ้งฉำฉา แต่ขยายออกไปยังร้านค้าตามเฮือนต่างๆ สองฝั่งถนน สร้างความคึกคักให้กับชุมชน และแม้ในวันธรรมดาที่อาจไม่มีร้านค้ามากอย่างวันเปิดกาด แต่ตามเฮือนที่เปิดฮ้านก็ยังค้าขายทุกวัน ก็จะมีบางร้านหยุดในวันพุธบ้าง

 

สินค้างานคราฟท์ที่มีวางขายในโหล่งฮิมคาว มีทั้งที่ผลิตในเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง 

 

รวมพลัง สืบต่อ สู่ฝัน

โหล่งฮิมคาวเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งคนเชียงใหม่ คนกรุงเทพฯ คนในจังหวัดใกล้เคียงหรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐที่ให้ความสนใจ สนับสนุนเป็นจุดท่องเที่ยวงานหัตถกรรมของสันกำแพงและเชียงใหม่ ร้านค้าขยายมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องมีผู้ดูแลจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในตัวสินค้า การทำความสะอาดและการจัดการด้านภูมิทัศน์ของพื้นที่ ทั้งในแง่เก็บขยะมูลฝอย ตัดหญ้า รวมถึงปลูกและตัดแต่งต้นไม้ ทำให้เกิดแนวคิดที่จะต้องมีคณะกรรมการในการบริหารจัดการและเรียนรู้หาประสบการณ์จากชุมชนท่องเที่ยวอื่นๆ ดังนั้นหลังจากจัดงานกาดต่อนยอนครั้งที่ 2 แล้ว ผู้อาศัยและร้านค้าในชุมชนจึงพากันไปดูงานที่ชุมชนแม่กำปองซึ่งเป็นชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการบริหารการท่องเที่ยวชุมชน

 

หลังกลับมาจากดูงานจึงตกลงร่วมกันในการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน มีการกำหนดกติกาของชุมชนร่วมกัน รวมถึงแต่ละบ้านแต่ละร้านค้าพยายามพัฒนาสินค้าหัตถกรรมของตนเองให้มีเอกลักษณ์เด่นชัด ไม่ผลิตงานซ้ำและตัดราคากัน หรือหากมีปัญหากระทบกระทั่งระหว่างกันก็ให้มีการประชุมพูดคุยแบบพี่น้อง พร้อมกันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่แต่ละบ้านจะจ่ายเงินเป็นกองทุนของชุมชนในทุกเดือนๆ ละ 300 บาท เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและนำมาจัดกิจกรรมของชุมชน ชัชวาลย์ได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของชุมชนและยังคงปฏิบัติหน้าที่มาจนถึงปัจจุบัน

 

ชุมชนโหล่งฮิมคาวถือเป็นหมวดบ้านหรือคุ้มบ้านของบ้านมอญ หมู่ 2 แม้ผมจะถูกเลือกเป็นประธานของโหล่งฯ แต่ก็เป็นกรรมการวัดสีมารามและเป็นกรรมการชุมชนท่องเที่ยวไทเขินสีมารามอีกด้วย จึงมีบทบาทในการพัฒนาของดีของบ้านมอญ หมู่ 2 ร่วมไปด้วย หากจะสรุปพัฒนาการของโหล่งฯ อย่างสั้นๆ อาจแบ่งได้เป็นช่วงๆ คือ ช่วงแรกเป็นลักษณะร่วมด้วยช่วยกัน...เป็นกลไกตามธรรมชาติ และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือมีคนเข้ามาในพื้นที่มากนัก พอช่วงที่ 2 เริ่มขยายตัวก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน สร้างกติกาของชุมชนให้ชัดเจนขึ้น ช่วงนี้คือช่วงที่ 3 ซึ่งกำลังเผชิญการระบาดของโควิด 19 มีการปิดชุมชนมา 3 ระลอกแล้ว ทุกร้านได้รับผลกระทบเพราะนักท่องเที่ยวลดลง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปก่อน จากนั้นนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นอย่างกรุงเทพฯ ก็ลดลงมาก เหลือแต่คนเชียงใหม่ด้วยกันเอง เชื่อว่ายังมีระลอก 4 อีก ทำให้ต้องมาร่วมกันคิดค้นแนวทางจัดการใหม่ อาจเป็นกาดออนไลน์มากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวกัน หรือจัดทำกิจกรรมออนไลน์ประเภทเวิร์คชอปงานที่คนจะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ ขณะเดียวกันก็อาจต้องทำเนื้อหาเพื่อเล่าเรื่องราวของโหล่งฯ ในแง่มุมต่างๆ สู่สาธารณะมากขึ้น อย่างเวลานี้เรารณรงค์ให้ปลูกผักกินเองในแต่ละบ้าน หากเหลือก็นำมาขายในวันเสาร์-อาทิตย์ที่มีกาด เราใช้ชื่อ ‘แผงผักต๊ะต่อนยอน’ มีรายได้กันเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นกิจกรรมร่วมที่ทำให้ได้พบปะพูดคุยกันทุกสัปดาห์ ทุกคนช่วยกันนำเสนอสตอรี่ของชุมชนลงใน เพจโหล่งฮิมคาว

 

เจ้าของบ้านหลังต่างๆ ที่อยู่สองฝั่งถนน ร่วมกันประดับตกแต่งหน้าบ้านให้สวยงาม หลายแห่งกลายเป็นจุดถ่ายรูปยอดนิยม 

 

เมื่อถูกถามถึงอนาคตของโหล่งฯ ว่าจะเป็นอย่างไร?

จะเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวที่บูมขึ้นระยะต้น แล้วค่อยๆ ถอยลงเมื่อเกิดแหล่งใหม่ๆ ขึ้น

หรือจะเชื่อมโยงกับหย่อมย่านงานคราฟท์อื่นๆ ที่มีอยู่หลายแห่งในย่านสันกำแพง เพื่อพัฒนาให้สันกำแพงเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ย่านงานคราฟท์ของเชียงใหม่ตามที่คาดหวังได้มากน้อยเพียงใด

 

ชัชวาลย์มีคำตอบและความเห็นว่า...

อย่างที่บอกแต่แรกว่าโหล่งฯ ไม่ใช่แค่ตลาดเพื่อค้าขาย แต่เป็นมากกว่านั้น เป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ของการเรียนรู้ พื้นที่ของการสืบสานศิลปวัฒนธรรม ที่ผู้อยู่ต้องการอยู่อย่างมีความสุข …ในอนาคตชุมชนโหล่งฮิมคาวจะถูกยกฐานะให้เป็นชุมชนในเขตเทศบาลตำบลสันกลาง ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงจะขยายพื้นที่ตั้งแต่วัดสีมารามไปจนถึงริมแม่น้ำคาวเลย ซึ่งทางกรรมการชุมชนก็ได้มีการวางแผนอนาคตที่จะเชิญชวนคนกลุ่มใหม่ๆ ที่ต้องการเปิดตัวและผลงานเข้ามาร่วมทำงานในพื้นที่ชุมชน อาทิ กลุ่มที่สนใจทำกิจกรรมเวิร์คชอปทั้งแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมและร่วมสมัย เพื่อให้พื้นที่นี้คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทักษะงานหัตถกรรมและอาชีพที่น่าสนใจ กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ที่ต้องการพื้นที่สาธารณะในการนำเสนอเรื่องราวของวิถีชนเผ่า ภูมิปัญญาแบบของตน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ของชนเผ่าเอง เราก็จะเกิด ‘กาดชนเผ่า’ ขึ้น กลุ่มที่ 3 กลุ่มชุมชนที่ต้องการพัฒนาชุมชนในแนวทางชุมชนสร้างสรรค์ หรือต้องการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โหล่งฯ จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานของกลุ่มชุมชนต่างๆ

 

“ตอนนี้เรากำลังจะเปิดพื้นใหม่เป็นโหล่งฮิมคาว 2 ซึ่งจะเชื่อมโยงกับพื้นที่เดิม แต่จะเป็นพื้นที่โล่ง โปร่งกว่าพื้นที่เดิม ได้ลงไม้ลงมือช่วยกันปลูกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ตามแนวถนนกว่า 100 ต้น หากช่วงที่ดอกออกก็จะสวยงามน่าชมทีเดียว เป็นจุดถ่ายภาพได้เลย ที่แห่งใหม่จะเพิ่มโฮมสเตย์ แคมป์ใกล้เมือง สตูดิโอของนักดีไซน์นักออกแบบ ทำสวนผลไม้ สวนผักอินทรีย์ และมีร้านค้าแนวเก๋ๆ ต่างจากพื้นที่เดิม อันนี้ต้องดูกันต่อไปว่าที่ฝันไว้จะเป็นดังที่วาดหวังหรือไม่

 

ตุ๊กตางานทำมือ ทุกตัวมีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ  

 

สำหรับแนวคิดการสร้างสันกำแพงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ย่านงานคราฟท์ของเชียงใหม่ที่หลายฝ่ายกำลังร่วมมือกันผลักดัน และพยายามรื้อฟื้นงานหัตถกรรมหลากหลายประเภทที่ชะลอตัวลงจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่กำลังพลิกเปลี่ยน หรือแม้แต่การปรับวิถีการค้า-การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงงานฝีมืออีกมากมายที่ยังเร้นตัวอยู่ในหมู่บ้าน ขาดการโอบอุ้มสนับสนุนหรือเผยโฉมออกสู่สาธารณะ

ตอนนี้มีผู้นำเครือข่ายจากชุมชน หลายฝ่ายและยังประสานความร่วมมือกันอยู่ มีการประชุมวางแผนกันว่าจะทำแผนที่แหล่งหัตถกรรมต่างๆ ของสันกำแพง รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ถ้าถามถึงบทบาทของโหล่งฮิมคาวต่อการผลักดันในเรื่องนี้ เราก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถขับเคลื่อนโดยผู้เดียว ผมคิดว่าทุกแรงมือของทุกกลุ่มต้องช่วยกันผลักดัน ...ผมไม่ปฏิเสธว่าวันนี้โหล่งฯ เป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง แต่เราก็มีศักยภาพจำกัด ต้องอาศัยมืออื่นๆ เข้ามาช่วยมาผลัก ผมคิดว่าบทบาทของโหล่งฯ เป็นตำบลแรกจึงเสมือนประตูสู่สันกำแพง มีหน้าที่เปิดให้ผู้สนใจก้าวเข้ามา แต่เมื่อเขาเข้ามาแล้วจะทำอย่างไรให้เขาได้เห็นจุดคราฟท์อื่นๆ ของสันกำแพง ให้เขารู้จักพื้นที่ เห็นตัวตนของสันกำแพงมากกว่าเพียงแค่ข้าวของที่ซื้อหาไป ตรงนี้ต้องช่วยกันคิดต่อ วางแผนสร้างกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม อย่างบางคนเสนอจัดกิจกรรมทัวร์ชุมชนหัตถกรรม...ก็น่าสนใจครับ การสร้างพื้นที่สันกำแพงให้เป็นย่านสร้างสรรค์งานคราฟท์ได้สำเร็จ ผมขอย้ำว่าต้องช่วยกันทุกฝ่าย โดยเฉพาะพวกคนรุ่นใหม่เขามีความคิดดีๆ เยอะ แล้วชำนาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ หากทุกกลุ่มดึงคนหนุ่มสาวเข้ามา แล้วมีโอกาสแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างคนที่มากประสบการณ์กับเด็กๆ เขาจะเป็นแรงขับเคลื่อนและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของงานนี้ด้วย อย่างโหล่งฯ เป็นตัวอย่างที่ดีที่เห็นความร่วมมือของคนสองรุ่น ซึ่งอนาคตหนุ่มสาวเหล่านี้แหละจะเป็นผู้รับไม้ต่อและสานฝันที่เราและเขาสร้างร่วมกัน รวมทั้งการสนับสนุนจากหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆของจังหวัดด้วย ขอให้ทุกฝ่ายช่วยติดตาม ให้กำลังใจและช่วยสนับสนุนกันต่อไปนะ

 

(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)

 


สุดารา สุจฉายา

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ