“หมู่บ้านท่าเข็น” เป็นนวนิยายสะท้อนสังคมของ อุดม วิเศษสาธร ซึ่งเป็นคนบ้านท่าเข็น อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ประพันธ์ขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2534 ขณะนั้นคุณอุดมในวัย 49 ปี มีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาการผลิต การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เขาใช้ยามว่างจากการทำงานเขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านท่าเข็น
คุณอุดม วิเศษสาธร ผู้เขียนนวนิยาย "บ้านท่าเข็น" (ที่มา : http://www.praphansarn.com)
ในนวนิยายความเปลี่ยนแปลงของบ้านท่าเข็นสะท้อนผ่านชีวิตของตัวละครชื่อ หนูนุ้ย ที่ต้องเผชิญเรื่องราวต่างๆ มากมาย หนูนุ้ยเป็นชาวประมงพื้นบ้าน ออกหาปลามาเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัว กระทั่งเมื่อเรือประมงพื้นบ้านลำเล็กๆ ของเขาถูกเรืออวนลากขนาดใหญ่เฉี่ยวชนจนเรืออับปางลง เป็นอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่ทำให้หนูนุ้ยเกือบจบชีวิตลงบนผืนน้ำแห่งนี้
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความลำบากยากแค้นที่หนูนุ้ยต้องเผชิญ อันเป็นผลมาจากความเจริญทางวัตถุจากภายนอกที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามายังท้องถิ่นบ้านเข็นอย่างช้าๆ ...
ความเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านท่าเข็นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเป็นอยู่ของผู้คนค่อยๆ แร้นแค้นขึ้นทุกขณะ ประเพณีทำบุญเดือน 10 ของหมู่บ้านต้องโรยราลงเพราะความยากจนขัดสนของชาวบ้าน เพื่อนบ้านของหนูนุ้ยจำนวนมากต้องขายที่นา บ้างบ่ายหน้าไปหางานทำในตัวเมืองใหญ่ และมีจำนวนไม่น้อยที่หันเหชีวิตไปประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลา ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางทำกินที่สร้างร้ายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าการทำนาข้าวและขึ้นตาลโตนดที่สืบกันมาหลายชั่วคน
ปกนวนิยาย "หมู่บ้านท่าเข็น" ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผู้จัดการ พ.ศ. 2535 (ที่มา : http://su-usedbook.com)
การบุกเบิกพื้นที่ทำนากุ้งได้แผ่ขยายลงมาจากภาคกลางจนถึงบ้านท่าเข็น ผ่านนายหน้าที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำบ่อเลี้ยงกุ้งกุลา ชาวบ้านท่าเข็นที่คล้อยตามก็ทิ้งการทำนาข้าวหันมาเลี้ยงกุ้ง เช่นเดียวกับหนูนุ้ยที่ต้องเลือกระหว่างการทำนาที่สืบทอดกันมาบนผืนดินบรรพบุรุษ หรือเสี่ยงกับการลงทุนเลี้ยงกุ้งกุลาโดยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น น่าเสียดายที่การทำนากุ้งไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อกุ้งเกิดโรคระบาด เงินที่ลงทุนไปก็สูญเปล่า ส่วนน้ำที่เคยใสสะอาดเริ่มเน่าเสีย เช่นเดียวกับผืนแผ่นดินที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับกลายเป็นเพียงภาพอดีต
ชีวิตของหนูนุ้ยและชาวบ้านท่าเข็นจะเป็นอย่างไร? คงต้องติดตามอ่านกันต่อไปในนวนิยายเรื่องนี้...
นวนิยายเรื่องนี้ของอุดม วิเศษสาธร ได้รับรางวัลรวี โดมพระจันทร์ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2534 และเข้ารอบ 5 เล่มสุดท้ายในรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2537 ด้วยว่าเป็นงานเขียนที่ดำเนินเรื่องด้วยความกระชับ มีการสร้างบรรยากาศด้วยรายละเอียดของเนื้อหาที่ประณีต และสะท้อนภาพชีวิตผู้คนบนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านดีและด้านร้าย ทั้งยังเป็นข้อเตือนใจให้เห็นถึงคุณค่าของถิ่นฐานบ้านเกิด