ย้ายเมืองหรืออยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ?”
แวดวงเสวนา

ย้ายเมืองหรืออยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ?”

 

สรุปเสวนา “ย้ายเมืองหรืออยู่ต่อ หากกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ?”

ร่วมวงเสวนาระดมความคิดเพื่อหาทางรับมือ

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น.-16.00 น.

ณ ห้องประชุมริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

“ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และธรณีสัณฐานวิทยาของเมืองกรุงเทพฯ”

โดย ผศ.ชวลิต ขาวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ผศ.ชวลิต เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง “สุวรรณภูมิ” ดินแดนคาบสมุทร บนเส้นทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างแผ่นดินโพ้นทะเลตะวันตก-ตะวันออก ว่า “สุวรรณภูมิคือดินแดนที่มั่งคั่ง เราเป็น Hub ศูนย์กลางที่เชื่อมต่อเส้นทางการค้า ทำเลที่ตั้งที่เราอยู่คือพื้นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บริเวณนี้มีเมืองโบราณเป็นพันๆ เมืองที่มีคนในอดีตอาศัยอยู่กันมานานนับพันปี ที่ราบเจ้าพระยาตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่ม เป็นทะเลเก่า มีรอยเลื่อน ในอดีตราว 6,000 ปีมาแล้ว น้ำทะเลเคยขึ้นไปถึงนครสวรรค์ และค่อยๆ ร่นลงมาตามระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาแต่ดั้งเดิม ราว 5,000 มาแล้วน้ำทะเลเคยขึ้นไปสูงถึงสี่เมตร จนกระทั่งค่อยๆ ลดลง”

 

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว

 

อีกประเด็นสำคัญที่วิทยากรเน้นย้ำคือ ภูมิปัญญาการจัดการน้ำด้วยระบบคูคลองของเมืองโบราณในพื้นที่ภาคกลางซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยทวารวดี กระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ “พื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาเป็นพื้นที่รับน้ำมาแต่เดิม กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม ซึ่งคนพัฒนาภูมิปัญญาในการตั้งถิ่นฐานเพื่ออยู่กับน้ำมาตลอดเวลา พบหลักฐานความสัมพันธ์ของเมืองโบราณกับแนวชายฝั่งทะเลเดิม เมืองโบราณในพื้นที่ภาคกลางมีการจัดการน้ำด้วยระบบคูคลอง เป็นเมืองคูคลองหรือชุมชนขนาบน้ำ ตัวอย่างเช่น เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมืองอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี รวมไปถึงอยุธยา และกรุงเทพฯ ที่รู้จักกันในนามเวนิสตะวันออก”

 

ธันวาคม พ.ศ. 2328 : น้ำท่วมพื้นท้องพระโรง พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานสูง 4 ศอก 10 นิ้ว (ท้องสนามหลวง ลึก 8 ศอกคืบ 10 นิ้ว)”  นี่คือหนึ่งตัวอย่างสถิติน้ำท่วมในอดีตที่ ผศ.ชวลิตนำมายืนยันเพื่อให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ เผชิญน้ำท่วมกันมาเป็นร้อยปีเป็นเรื่องปกติ และยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมต่อไป แต่สิ่งที่จำเป็นในการจัดการคือการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเรียนรู้สภาพภูมิประเทศและรื้อฟื้นภูมิปัญญาการจัดการน้ำด้วยระบบคูคลองนำมาใช้แก้ปัญหา  

 

         

“ถอดบทเรียนประเทศเพื่อนบ้านกับการย้ายเมืองหลวง: กรณีศึกษาประเทศอินโดนีเซีย”

โดย ผศ.ดร. อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ผศ.ดร. อรอนงค์ให้ข้อมูลถึงแผนการย้ายเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียว่า “เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทุกท่านคงจะได้ยินข่าวคราวของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งค่อนข้างจะเป็นข่าวที่ครึกโครมว่า อินโดนีเซียมีแผนการย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปที่เกาะกาลิมันตัน (บอร์เนียว) เกาะกาลิมันตัน หรือเกาะบอร์เนียวนี้เป็นเกาะที่มีความสำคัญในทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเป็นเกาะซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศถึง 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน... พื้นที่ซึ่งจะกลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซียคืออำเภอ Penajam Paser Utara เป็นอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก โดยตำแหน่งที่ตั้งของเกาะกาลิมันตันถือได้ว่าอยู่ในจุดที่เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของประเทศ”

 

ผศ.ดร. อรอนงค์ ทิพย์พิมล

 

หนึ่งในประเด็นข้อถกเถียงคือเรื่องชื่อเมืองหลวงใหม่ “มีการตั้งชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่ว่า นูซันตารา (Nusantara) ชื่อนี้เป็นภาษาชวาเก่าซึ่งมีหลายความหมาย สำหรับในแวดวงวิชาการหรือคนนอกประเทศ คำนี้จะหมายถึงหมู่เกาะอินโดนีเซียทั้งหมด หรือในอดีตคำนี้ถูกใช้ในความหมายว่าคือ หมู่เกาะรอบนอกที่อาณาจักรมัชปาหิตครอบครองไปไม่ถึง ซึ่งก็ทำให้เกิดประเด็นคำถามที่ว่าเป็นการมองชวาเป็นศูนย์กลางเกินไปหรือไม่”

 

ด้านคำถามว่าทำไมจึงต้องย้ายเมืองหลวง ผศ.ดร.อรอนงค์ ให้ความเห็นว่า “วิกฤตของจาการ์ตาคือเรื่องจริง ด้วยพื้นที่เสี่ยงจมน้ำ ประชากรหนาแน่นมาก ประชากรในจาการ์ตาและปริมณฑลรวมกันมีจำนวนกว่า 30 ล้านคน นำมาสู่ปัญหาการจราจร มลพิษทางน้ำและอากาศ การเผชิญปัญหาน้ำท่วมหนักทุกปี เหตุผลทางด้านกายภาพจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดประการหนึ่งในการตัดสินใจย้ายเมืองหลวง” นอกจากนี้แผนการย้ายเมืองหลวงดังกล่าวยังเกิดขึ้นเพื่อการผลักดันให้เกิดการพัฒนาในเขตอินโดนีเซียตะวันออก การเปลี่ยนวิธีคิดที่เน้นชวาเป็นศูนย์กลางไปสู่อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลาง และยังต้องการให้เมืองหลวงใหม่ของประเทศได้นำเสนออัตลักษณ์แห่งชาติซึ่งประกอบไปด้วยความหลากหลายของผู้คน สาเหตุของการเลือกเกาะกาลิมันตัน “เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวาง จำนวนประชากรยังไม่หนาแน่นนัก มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงทางภัยพิบัติต่ำ อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพร้อม และมีที่ดินที่เป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว”

 

 

ผศ.ดร. อรอนงค์ ฉายภาพประวัติศาสตร์ความเป็นมาว่า “ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด นำเสนอแนวคิดในการย้ายเมืองหลวงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 โดยมีการตั้งทีมศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ และจัดทำข้อเสนอออกมา 3 แนวทาง คือ 1. จัดระบบที่จาการ์ตาใหม่ 2. ย้ายเมืองหลวงไปเมืองอื่นในเกาะชวา 3. ย้ายเมืองหลวงไปที่เกาะอื่น อย่างไรก็ตามแนวคิดในการย้ายเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียนั้นเกิดขึ้นมาแล้วหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยที่เป็นอาณานิคมของดัตช์ สมัยประธานาธิบดีซูการ์โน และประธานาธิบดีซูฮาร์โต แต่การดำเนินงานในสมัยประธานาธิบดีโจโก วีโดโดนี้ดูจะเป็นรูปธรรมที่สุด มีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนโดย ปี 2022-2024 จะดำเนินการสร้างทำเนียบประธานาธิบดีและย้ายเจ้าหน้าที่รัฐปีละ 25,500 คน ปี 2025-2035 จะสร้างเมืองและศูนย์กลางการลงทุน และปี 2035-2045 จะสร้างสาธารณูปโภคให้เป็นเมืองสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ มีการจัดทำร่างกฎหมาย Undang-Undang Ibu Kota กฎหมายเมืองหลวงที่ชัดเจน การผลักดันการย้ายเมืองหลวงอย่างเป็นรูปธรรมนี้ ยังรวมไปถึงเหตุผลทางการเมืองอื่นๆ เช่น การได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนหนึ่ง กระบวนการประชาธิปไตยในประเทศ และการกระจายอำนาจไปสู่พื้นที่ต่างๆ”

 

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นท้าทายว่าการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2024 หรือหากมีอุบัติเหตุทางการเมืองอื่นๆ หรือวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีข้อถกเถียงอีกว่าอนาคตของจาการ์ตาจะเป็นเช่นไร ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไป

 

รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ กล่าวว่ากรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 10,000 ปี ก่อนนั้นบริเวณพื้นที่ทั้งหมดในกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นท้องทะเลมาก่อน  วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปเพราะการคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงจากการคมนาคมทางน้ำเป็นถนนหนทาง อย่างไรก็ตาม เราเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการอยู่อาศัย เราอยู่ในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้โดยไม่มีการป้องกัน ในอดีตที่ผ่านมาปัญหาเรื่องน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร โดยทั่วไปก็จะมีน้ำท่วมราว 10 ปี/ครั้ง โดยมีปัญหามาจาก 3 น้ำด้วยกัน น้ำแรกคือน้ำเหนือ ซึ่งราว 50 กว่าปีก่อนเริ่มมีการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำเหล่านั้นไม่ให้เข้ามาท่วมกรุงเทพมหานครและเพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด น้ำที่ 2 คือ น้ำฝน และน้ำที่ 3 คือ น้ำทะเล แต่เมื่อปี พ.ศ. 2526  มีการสร้างคันกั้นน้ำหรือที่เราเรียกว่า King Dike บริเวณตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร และ พ.ศ. 2540 เริ่มมีกำแพงกั้นแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาวทั้งหมด 88 กิโลเมตรซึ่งใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมดราว 20 กว่าปี และมีการจัดสรรพื้นที่ Floodway บริเวณกรุงเทพฯ ตะวันออกโดยใช้ระบบคลองที่กรุงเทพฯ ตะวันออกมีอยู่แล้ว หลังปี พ.ศ. 2554 มีการสร้างกำแพงกันน้ำท่วมมากขึ้น ในอดีตอัตราการทรุดตัวของกรุงเทพมหานครอยู่ราว 10 เซนติเมตรต่อปี ทำให้ภายใน 10 ปี กรุงเทพฯ ทรุดตัวไปแล้วราว 1 เมตร  แต่เมื่อปี พ.ศ. 2540 มีการออกกฎหมายควบคุมการใช้น้ำบาดาลของกรุงเทพมหานครทำให้อัตราการทรุดตัวของกรุงเทพฯ ลดลงจนหยุดนิ่งแล้ว ปัจจุบันไม่มีการทรุดตัวแล้วถือว่าเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จของกรุงเทพฯ

 

รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

 

ต่อมาก็มีความพยายามสร้างระบบกักเก็บน้ำ เช่น สร้างประตูน้ำ Water Bank อุโมงค์น้ำลอด และพยายามสร้างทางระบายน้ำที่กลางถนนใหญ่ขึ้นมา แต่ปัญหาสำคัญที่สร้างอุปสรรคให้กับทุกสิ่งที่สร้างกันมาคือปัญหาขยะ ทำให้การระบายน้ำไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ การจัดการน้ำที่สำคัญคือการทำให้ทางน้ำใช้งานได้จริง ทั้งระบบอุโมงค์น้ำใต้ดินและระบบคูคลองที่มีอยู่แล้ว สำหรับคำถามที่ว่าคนกรุงเทพมหานครจะปรับตัวกันอย่างไร ? เห็นว่าสิ่งสำคัญคือ การจัดการและปรับเปลี่ยน Mindset (แนวความคิด) ของผู้ปฏิบัติงานและชาวกรุงเทพมหานคร การยอมรับ (Acceptable) และปรับตัว จุดร่วมที่สำคัญของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการนำความรู้ทางวิศวกรรมมาใช้อยู่ที่การยอมรับความเสี่ยง (Acceptable Risk) และการยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องบอกกล่าวคนในสังคมและยอมรับร่วมกัน

 

รศ.ดร. สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

 

นอกจากวิทยากรทั้ง 3 ท่านแล้ว ภายในงานเสวนายังมีตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ มาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น คุณสุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ ประธานชุมชนหัวตะเข้  เขตลาดกระบัง เสนอว่า พื้นที่เขตลาดกระบังในปี พ.ศ. 2565 ถูกน้ำท่วมมากกว่าปี พ.ศ. 2554 เสียอีก ทุกครั้งที่เข้าสู่หน้าฝน หรือฤดูน้ำหลาก ทั้งคุณสุวัฒน์และทีมงานก็จะออกไปดูน้ำกันถึงเขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อดูว่าเขื่อนปล่อยน้ำหรือไม่ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ลาดกระบังจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม  เพราะจริงๆ พื้นที่ลาดกระบังนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก ยังมีลำราง-ลำคลองมากถึง ๔๕ คลอง ซึ่งไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่รับผิดชอบที่จะทำให้ลำรางเหล่านั้นใช้การได้จริง เป็นพื้นที่รับน้ำหากเกิดน้ำท่วมหรือน้ำหลากที่จะช่วยผันน้ำออกทะเลได้เร็วขึ้น เกิดการรุกล้ำลำรางสาธารณะ เกิดปัญหาการละเลยการทำงานของภาครัฐที่ไม่ได้เชื่อมโยงของหน่วยงานรัฐกับภาคประชาชนที่รัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับชุมชนที่ตั้งอยู่เดิมในพื้นที่ อยากทำอะไรทำ ไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาคล้ายๆ กันทุกเขตคือ ปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เมื่อไม่มีการจัดการขยะที่ดี ขยะทั้งเล็กทั้งใหญ่ก็ถูกโยนทิ้งน้ำ กลายเป็นปัญหาเรื่องการจัดการและการระบายน้ำซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก ถ้ามีการจัดการเรื่องระบบลำราง-ลำคลองให้มีประสิทธิภาพแล้วน้ำท่วมก็ท่วมได้แต่จะระบายได้เร็วเพราะระบบการจัดการมันทำงาน

 

คุณสุวัฒน์ พรหมมณีรัตน์ ประธานชุมชนหัวตะเข้  เขตลาดกระบัง ร่วมแสดงความคิดเห็น 

 

ทางด้าน คุณจำรัส กลิ่นอุบล ตัวแทนจากชุมชนริมคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง เสนอความเห็นว่า ระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ที่มีอยู่นั้น ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของกรุงเทพฯ ที่ไปเร็วมาก ระบบระบายน้ำของ กทม. ปัจจุบันใช้ได้ไม่เกิน 20% ผมเข้ามาอยู่ กทม. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 น้ำก็ท่วม ปี พ.ศ. 2538 น้ำก็ท่วม ปี พ.ศ. 2554 น้ำก็ท่วม ในปี พ.ศ. 2554 ผมไปอยู่แนวหน้าป้องกันและคอยเฝ้าระวังน้ำท่วมที่คลองลาดพร้าว พบปัญหาว่าเราระบายน้ำไปไหนไม่ได้ คลองย่อยที่อาจารย์ฉายภาพให้เห็นไม่สามารถใช้ระบายน้ำได้เลย เคยคุยกับทาง ผอ.สำนักระบายน้ำ กทม. ว่าจะทำให้คลองย่อยเหล่านี้กลับมาใช้ระบายน้ำได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะท่วมแล้วท่วมอีกเช่นนี้

 

คุณจำรัส กลิ่นอุบล ตัวแทนจากชุมชนริมคลองลาดพร้าว ร่วมแสดงความคิดเห็น 

 

วันนี้สิ่งที่อาจารย์แต่ละท่านรวมถึงท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติได้นำเสนอนั้นควรให้ประชาชนได้มาร่วมรับรู้รับทราบ เพื่อโอกาสในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ระบบคลองในการแก้ปัญหา ผมอยู่คลองลาดพร้าวที่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่บุกรุก เป็นคลองซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่องแนวสันเขื่อนและโครงการบ้านมั่นคง ซึ่งยังพบปัญหาเยอะมากเพราะไม่ได้รับความร่วมมือ เนื่องจากชาวบ้านต้องการให้ขยายคลองในแนวดิ่งคือขุดคลองลึกขึ้น แต่สำนักระบายน้ำต้องการให้ขยายคลองให้กว้างขึ้น จึงยังตกลงกันไม่ได้ ผมคิดว่าทุกโครงการควรจะมีการประชาสัมพันธ์ มีการทำประชาพิจารณ์ มีเวทีพูดคุยที่มากขึ้น โครงการต่างๆ จึงจะสำเร็จไปได้ ส่วนประเด็นการย้ายเมืองหลวง ผมคิดว่าสาเหตุคงจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาการจัดการน้ำท่วม แต่ขณะนี้ก็มองว่าการย้ายเมืองหลวงยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากอยู่

 

ทางด้าน คุณอาณัติ ปลอดโปร่ง ตัวแทนกลุ่มรักษ์คลองฝั่งธนฯ ได้สะท้อนภาพการใช้ชีวิตในลำคลองของชาวฝั่งธนฯ การขุดคลองในกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ละคลองมีความลึกเฉลี่ยราว 4 เมตร ซึ่งถูกใช้เป็นเส้นทางหลักในการเข้ามายังพระนครของชาวฝั่งธนบุรี สมุทรสงคราม และพื้นที่ไกลออกไป แต่ปัจจุบันคลองขุดเหล่านั้นที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมกลับตื้นเขินลงเพราะไม่มีการเดินเรือ เหลือเพียงบางคลอง เช่น คลองด่าน ที่ยังมีการสัญจรอยู่บ้าง ค่าเฉลี่ยความลึกของคลองลดน้องลงเหลือเพียง 2-3 เมตรเท่านั้น แต่ถ้าเราจริงจังกับการนำสภาพคลองเหล่านี้ให้กลับมาใช้ประโยชน์มากขึ้นร่วมกับการพัฒนาพื้นที่ทางด้านวิศวกรรมเข้าไปด้วย ปัญหาเรื่องน้ำท่วมและการระบายน้ำไม่ทันอาจจะบรรเทาลงไปได้

 

คุณอาณัติ ปลอดโปร่ง ตัวแทนกลุ่มรักษ์คลองฝั่งธนฯ ร่วมแสดงความคิดเห็น 

 

ผศ.ดร. ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีตัวอย่างของการย้ายเมืองหลวงอีกแบบหนึ่งก็คือ กรณีของประเทศมาเลเซียที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาเมืองขยาย ปัญหาความแออัด ปัญหาการจราจร ด้วยการไปสร้างเมืองหลวงทางราชการแห่งใหม่ที่เมืองปุตราจายา (Putrajaya) อยู่ห่างออกไปจากเมืองหลวงหลักทางเศรษฐกิจอย่างกัวลาลัมเปอร์ แต่ก็อยู่กึ่งกลางระหว่างเส้นทางไปยังสนามบินหลักของประเทศ ทำให้เกิดความสะดวกระหว่างคนที่จะมาทำภารกิจต่างๆ กับหน่วยงานราชการไม่ต้องเดินทางเข้าไปถึงในเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ และหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งระดับกระทรวงหรือหน่วยงานสามารถประชุมงานต่างๆ กันโดยใช้การเดินทางเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น

 

ผศ.ดร. ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เมืองหลวงทางราชการของมาเลเซียถือว่าเป็นเมืองทางราชการจริงๆ การย้ายหน่วยงานราชการหลักของประเทศ ได้แก่ ที่ทำงานของนายกรัฐมนตรี กระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง หน่วยงานการทำงานของข้าราชการทั้งหมดที่อยู่ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ไปอยู่ที่เมืองปุตราจายา เกิดขึ้นในช่วงที่ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะมีการต่อต้านและเสียงบ่นจากทั้งประชาชนที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงกลุ่มข้าราชการที่จะต้องถูกย้ายออกไป อีกทั้งต้องใช้เงินลงทุนในการสร้างอาคารสถานที่ของกระทรวงต่างๆ  ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคทั้งที่พักอาศัยและระบบคมนาคมที่ครอบคลุม แต่ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของมาเลเซีย เพราะข้าราชการก็มีที่พักอาศัยภายในเมืองปุตราจายา ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของการเดินทางไปทำงานได้มาก ความสวยงามของอาคารสถานที่ต่างๆ ภายในเมืองปุตราจายากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของมาเลเซียไปด้วยในตัว สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ เมื่อกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวมีการเก็บค่าเข้าชมตัวเมือง ซึ่งมาเลเซียเองก็นำเอารายได้ส่วนนั้นมาใช้ในการบูรณะเมืองปุตราจายาให้เป็นเมืองดูแลตัวเองได้

 

การย้ายหน่วยงานราชการของประเทศมาเลเซีย เป็นการนำปัจจัยที่ทำให้เกิดรถติดหรือความแออัดในเมืองออกไป ถือเป็นอีกตัวอย่างที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการย้าย ประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกรณีของประเทศเพื่อนบ้าน  เพราะนโยบายหลักเหล่านี้เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครไม่ได้มีหน้าที่จัดการ แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดการเรื่องนี้

 

เชิญชมเสวนาย้อนหลังได้ทาง YouTube Muang Boran journal คลิก https://youtu.be/wRiYmVLt0gw

Highlight งานเสวนา คลิก https://youtu.be/tYdqmHgjzOk

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น