หากใครที่เดินผ่านถนนเจริญกรุง หรือแวะเวียนเข้ามากราบไหว้เทพเจ้าหรือทำพิธีสะเดาะเคราะห์ที่วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) คงสังเกตเห็นอาคารตึก 3 ชั้น ที่มีบานประตูไม้เก่าๆ ทาด้วยสีเขียว ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนมังกร บริเวณด้านข้างอาคารมีร้านข้าวแกงตั้งอยู่ ซึ่งในช่วงเช้าของทุกวันจะเห็นคนนั่งรับประทานข้าวแกงอยู่เรียงราย กลายเป็นภาพที่คุ้นตาของคนในย่านนี้
ในสายตาของคนที่เดินสัญจรผ่านไปมา เพียงภายนอกของอาคารหลังนี้ อาจคิดว่าเป็นร้านค้าธรรมดาที่ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย เพียงแต่โดดเด่นด้วยอาคารสถาปัตยกรรมที่ดูเก่าแก่ ถึงแม้จะมีการบูรณะ แต่ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมมากนัก สำหรับคนย่านนี้ต่างรู้กันดีว่าอาคารหลังนี้เป็นที่ตั้งของ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี” ร้านโชห่วยเก่าแก่ที่เปิดค้าขายมาเกือบ 100 ปี
อาคารพาณิชย์ 3 ชั้นของห้างหุ้นส่วนจำกัดเอี๊ยะเซ้ง กงษี ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ตรงหัวมุมถนนมังกร
ต้นกำเนิดร้านเอี๊ยะเซ้ง
กว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นจากน้ำพักน้ำแรงของ นายบักเกว้ง แซ่เตีย ชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางมาจากหมู่บ้านหนำโปว อำเภอเตี่ยเอี๊ยะ มณฑลกวางตุ้ง ในสมัยนั้นคนจีนที่อพยพเข้ามายังประเทศไทย โดยมากมักไปทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ตามห้างร้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับนายบักเกว้งที่ยังมีฐานะค่อนข้างยากจน ก็ไปทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ที่ร้านค้าของญาติในย่านวัดไทร บางโคล่ และต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่ร้านโชห่วย ย่านถนนตก
นายบักเกว้งเป็นคนขยันขันแข็ง เมื่อทำงานเก็บเงินจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้แล้ว จึงอยากขยับขยายมีกิจการเป็นของตนเอง เริ่มจากการขอเช่าพื้นที่ของคุณแฉ่ง สาขากร ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นเพียงบ้านไม้ขนาดเล็กๆ เปิดเป็นร้านขายธูปเทียนและเครื่องกระดาษไหว้เจ้า ควบคู่ไปกับร้านขายน้ำแข็งไส ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งเป็นย่านชุมชน
เมื่อกิจการค้าขายจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น นายบักเกว้งที่บริหารกิจการอยู่เพียงคนเดียวไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงชักชวนญาติพี่น้องให้มาช่วยกันดูแลและเริ่มขยายกิจการโดยนำสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ผลไม้ ข้าวสาร ถั่วชนิดต่างๆ เข้ามาจำหน่าย ในเวลานั้นร้านเอี๊ยะเซ้งยังไม่ได้ทำการจดทะเบียนการค้า เพราะยังเป็นร้านค้าขนาดเล็กมีเพียงป้ายชื่อร้านเป็นตัวอักษรจีน 2 ตัวติดกัน เขียนว่า “益成” อ่านว่า เอี๊ยะเซ้ง ซึ่งคำว่า “เอี๊ยะ” หมายถึงประโยชน์ต่อคนทั่วไป แล้วค่อยมาเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา ส่วนคำว่า “เซ้ง” หมายถึงให้กิจการมีความรุ่งเรือง
นายปรีชา เดชะวัฒนไพศาล ทายาทรุ่นที่ 3 ของเอี๊ยะเซ้ง กงษี กำลังอธิบายความหมายของชื่อร้านและปรัชญาการค้าของตน
ส่วนอาคารพาณิชย์ 3 ชั้นของร้านเอี๊ยะเซ้งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2474-2475 โดยคุณแฉ่ง สาขากร เจ้าของที่ดิน ต้องการสร้างอาคารพาณิชย์ขึ้นในพื้นที่ แต่เนื่องจากมีกรณีพิพาทกับเจ้าของที่ดินในบริเวณใกล้เคียง ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ จึงยังไม่สามารถสร้างได้ นายบักเกว้งซึ่งเป็นผู้เช่าในขณะนั้นและมีความสัมพันธ์เกื้อหนุนกับคุณแฉ่งมาโดยตลอด จึงร่วมสมทบทุนสร้างอาคารหลังนี้ขึ้น แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งนายบักเกว้งได้ขอเช่าอาคารพาณิชย์หลังนี้ในการดำเนินกิจการค้าขายสืบต่อมา โดยมีบุตรชายคือ นายจุงเฮ้า แซ่เตีย เข้ามาดูช่วยดูแลกิจการ
เนื่องจากร้านเอี๊ยะเซ้งประกอบธุรกิจค้าขาย การสร้างอาคารจึงใช้หลักฮวงจุ้ยตามความเชื่อของชาวจีนเข้ามามีส่วนในการออกแบบลักษณะของอาคาร เพื่อช่วยเสริมในเรื่องการค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง เช่น ถ้าหากมองจากถนนฝั่งตรงข้ามจะเห็นว่า ตัวอาคารมีลักษณะเหมือนเรือสำเภาจีนทอดยาวลงไป ด้วยว่าคนจีนสมัยก่อนใช้เรือสำเภาในการขนส่งสินค้าและเคลื่อนย้ายคน ถ้าสังเกตระเบียงที่ยื่นออกมาจากชั้น 2 ชั้น 3 และบนดาดฟ้า จะเห็นว่ามีมุมองศาที่ไม่เท่ากันเปรียบเสมือนลำดับชั้นของเรือสำเภา
ป้ายชื่อร้าน ของเก่าแก่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493
ก้าวสู่... “ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี”
ในปี พ.ศ. 2489 นายบักเกว้งเริ่มมีอาการเจ็บป่วย จึงมอบหมายให้ นายจุงเฮ้า แซ่เตีย บุตรชายคนโตเข้ามาดูแลกิจการ ซึ่งในช่วงเวลานั้นร้านเอี๊ยะเซ้งเริ่มมีบทบาทเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัท Lever Brothers จากเดิมที่เคยจำหน่ายแค่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ก็เริ่มมีสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น สบู่ ผงซักฟอก นมผง นมข้นหวาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ ทำให้ร้านเอี๊ยะเซ้งในเวลานั้น ไม่ต่างจากร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบัน จากการขยายตัวของกิจการในช่วงเวลาดังกล่าว ร้านเอี๊ยะเซ้งจึงได้จดทะเบียนการค้าเป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี” ต่อมาเมื่อนายบักเกว้งเสียชีวิตลง นายจุงเฮ้าได้เข้ามาบริหารกิจการอย่างเต็มตัว และดำเนินกิจการไปด้วยดีเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 นายจุงเฮ้าเริ่มชราภาพจึงมอบหมายให้ นายปรีชา เดชะวัฒนไพศาล บุตรชายคนโต เข้ามาดูแลกิจการสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
นายปรีชา เดชะวัฒนไพศาล ทายาทรุ่นที่ 3 ของเอี๊ยะเซ้ง กงษี
ในระยะแรกที่นายปรีชาเข้ามาดูแลกิจการ เป็นช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจเริ่มฝืดเคือง โดยเฉพาะภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2540 ประกอบกับเริ่มมีร้านสะดวกซื้อของบริษัทใหญ่เกิดขึ้นมากมาย แต่ด้วยความรักและการเอาใจใส่ของคุณปรีชามาตั้งแต่เริ่มแรก จึงเห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าภายในร้าน เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคก็เลิกไป และหันมาเน้นการจำหน่ายสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น แป้ง ถั่วลิสง ข้าวสาร ทำให้ปัจจุบันร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี มีความโดดเด่นในสินค้าประเภทนี้ โดยเฉพาะสินค้าประเภทแป้งชนิดต่างๆ ที่นายปรีชามีความรู้ความเชี่ยวชาญจนสามารถให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งความเอาใจใส่ต่อลูกค้าเช่นนี้ไม่ปรากฏในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป
บริเวณหน้าร้านห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี
นอกจากนี้ด้วยชื่อเสียงของร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาอย่างยาวนาน เป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพสินค้าที่ดีเหมาะสมกับราคา ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ราคาสินค้าต่าง ๆ จะมีสูงกว่าร้านทั่วไปเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ลูกค้าลดน้อยลง ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาประจำที่คุ้นเคยมาแต่ดั้งเดิม ความไว้เนื้อเชื่อใจของลูกค้าที่มีต่อร้าน ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ยังดำรงความเป็นร้านโชห่วยอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
แป้งสำหรับทำขนมนานาชนิด นมสดและนมข้นบรรจุกระป๋อง เป็นสินค้าที่ขาดไม่ได้ของร้าน
ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี เป็นร้านค้าประเภท “ยี่ปั๊วะ” คือ รับสินค้ามาจากผู้ผลิตโดยตรง บริษัทผลิตแป้งที่ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ติดต่อซื้อขายกันมาอย่างยาวนาน เช่น แป้งมันตรามังกรของตระกูลกาญจนชูศักดิ์ ถือว่ามีความสนิทสนมเพราะซื้อขายด้วยกันมา 3 – 4 ชั่วอายุคน ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี สามารถสั่งจากบริษัทต่างๆ ได้โดยตรงว่าต้องการแป้งชนิดไหน ปริมาณมากเท่าไหร่ เพราะในแต่ละช่วงเทศกาล ลูกค้าจะมีความต้องการแป้งแต่ละชนิดมากน้อยต่างกัน เช่น ในช่วงเทศกาลทำขนมไหว้พระจันทร์ ลูกค้าส่วนใหญ่นิยมใช้แป้งบัวแดง ซึ่งเป็นแป้งสำหรับทำขนมที่ต้องการความฟูนุ่ม ในช่วงนั้นแป้งชนิดนี้จะถูกสั่งเข้ามาไว้ที่ร้านในปริมาณมาก เพื่อให้เพียงพอต่อกลุ่มลูกค้าที่เป็น “ซาปั๊วะ” คือร้านที่รับซื้อสินค้าต่อจากยี่ปั๊วะอีกที เมื่อก่อนที่ตลาดท่าเตียนก็มีลูกค้าที่เป็นซาปั๊วะของร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษีอยู่หลายร้าน แต่ปัจจุบันปิดกิจการหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลกินเจ เป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศการซื้อขายภายในร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษีคึกคักมาก ด้วยมีคนจากหลายพื้นที่เข้ามาซื้อหาแป้งและวัตถุดิบสำหรับทำขนมชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ชื่นชอบการทำขนมหรือผู้ที่กำลังจะเปิดร้านขนมเข้ามาเป็นลูกค้ารายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะรู้จักร้านจากคำแนะนำในอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์
บรรยากาศการค้าขายภายในร้าน แม้ไม่ใช่ช่วงเทศกาลสำคัญ แต่ก็มีลูกค้าแวะเวียนมาตลอดทั้งวัน
นอกจากคุณภาพของสินค้าแล้ว สภาพของร้านที่ยังคงความเก่าแก่ดั้งเดิมเอาไว้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดลูกค้าให้สนใจร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ดังเช่น บานประตูไม้ทาสีเขียวที่ไม่เคยถูกปรับเปลี่ยนมากว่า 80 ปีแล้ว ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ลูกค้าสามารถจดจำได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับความสัมพันธ์กับ ร้านข้าวแกงเจ็กปุ้ย ที่เปิดขายอยู่บริเวณด้านข้างของร้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 จนถึงปัจจุบัน ร้านเอี๊ยะเซ้งไม่เคยเรียกเก็บค่าเช่าที่หรือค่าน้ำค่าไฟจากร้านข้าวแกงเจ็กปุ้ยเลยตั้งแต่เริ่มเปิดขาย ด้วยเพราะนายบักเกว้งเคยลำบากมาก่อน สมัยที่ยังไม่มีร้านค้าเป็นของตัวเอง ก็เคยเป็นพ่อค้าหาบเร่แผงลอยด้วยเช่นกัน เมื่อถึงเทศกาลสำคัญอย่างวันตรุษจีนและสารทจีน ร้านข้าวแกงมักจะนำผลไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากเพื่อตอบแทนและแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนญาติมิตร ด้วยเหตุนี้ทั้งสองร้านจึงมีความสัมพันธ์อันดีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
“มากกว่าร้านโชห่วย...”
อนาคตของเอี๊ยะเซ้ง กงษี
การสืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นและการปรับตัวของร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ร้านโชห่วยเก่าแก่แห่งนี้ให้ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับอาคารเก่าแก่ของร้านที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมในพื้นที่ย่านโดยรอบจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ด้วยประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและอาคารสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ส่งผลให้ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2561 ประเภทอาคารพาณิชย์ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนเข้ามาสนใจพื้นที่แห่งนี้ในมุมมองอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการเป็นร้านโชห่วย
ส่วนหนึ่งในงานนิทรรศการศิลปะ “The House Of Flowing Reflections”
เมื่อวันที่ 1 - 23 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา พื้นที่อาคารของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี ถูกใช้เป็นสถานที่ในการจัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะ “The House Of Flowing Reflections” ในรูปแบบ Video Installation Art โดย คุณจัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส ผู้จัดนิทรรศการต้องการเล่าเรื่องของอดีตที่ซ้อนทับกับปัจจุบัน ด้วยวิธีการใช้เครื่องฉายภาพลงบนผนังของร้าน ในระหว่างการจัดนิทรรศการมีผู้คนจากหลากหลายพื้นที่ ทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเป็นอันมาก การจัดงานแสดงศิลปะในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ภายในตัวอาคารได้ นับตั้งแต่ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี เปิดดำเนินกิจการมา
การแสดง Video Installation โดยใช้ผนังของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี เป็นพื้นที่ฉายภาพ
สื่อให้เห็นถึงอดีตที่ใช้เส้นทางน้ำเป็นหลักในการนำพาผู้คน สินค้า และการสื่อสาร จากแม่น้ำออกสู่ท้องทะเล
น่าสนใจว่าแนวคิดในการเปิดพื้นที่ร้านเอี๊ยะเซ้ง กงษี ในแง่มุมใหม่ ๆ คงไม่หยุดนิ่งอยู่เพียงเท่านี้ ทางด้าน คุณปุ๋ย บดินทร์ เดชะวัฒนไพศาล ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้าน มีแนวคิดพัฒนาต่อยอดจากร้านโชห่วยไปสู่การเปิดพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีร้านกาแฟอยู่ในตัว หรือ Cafe Museum
คุณปุ๋ย บดินทร์ เดชะวัฒนไพศาล ทายาทรุ่นที่ 4 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี
คุณปุ๋ยเห็นว่ากลิ่นอายความเก่าแก่ของร้านและบรรยากาศร้านโชห่วยที่ยังคงดำเนินกิจการค้าขายผลิตภัณฑ์การเกษตรต่างๆ น่าจะเป็นสิ่งดึงดูดให้คนเข้ามาสนใจ อีกทั้งสถานที่ตั้งร้านอยู่ใกล้กับวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาอยู่ตลอด ในอนาคตจึงจะปรับส่วนพื้นที่ของร้านที่ไม่ได้ใช้งาน ทำเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่มีร้านกาแฟควบคู่ไปด้วย ให้เป็นเหมือนจุดนัดพบแห่งใหม่ในย่านนี้ อีกทั้งคุณปุ๋ยเป็นผู้มีความรู้ความสนใจเกี่ยวกับเทพเจ้าจีน จึงอยากทำส่วนจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับเทพเจ้าจีน เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมได้รับความรู้ก่อนจะเข้าไปกราบไหว้ในวัดเล่งเน่ยยี่ นอกจากนี้จะเล่าถึงประวัติความเป็นมาของร้านและอาคารหลังนี้ เพื่อให้คนทั่วไปได้ทำความรู้จักห้างหุ้นส่วนจำกัด เอี๊ยะเซ้ง กงษี เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ขอขอบคุณ
คุณปรีชา เดชะวัฒนไพศาล คุณบดินทร์ เดชะวัฒนไพศาล คุณปองขวัญ ลาซูส และคุณเพ็ญจันทร์ ลาซูส
แหล่งอ้างอิง
กรณิช รัตนมหัทธนะ. “ตำนานร้านอร่อยในบางกอก” ใน ครัว. ปีที่ 23 ฉบับที่ 266 สิงหาคม 2559, หน้า 84-85.
ณัชยา ราทิกุลกรลักษณ์. จะซื้อซะอย่าง. (กรุงเทพฯ : สารคดี), 2546.
เรื่อง-ภาพ : อารียา หลาทอง นิสิตฝึกงานจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ