ตะกั่วป่า ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพังงา แต่ในอดีตเคยมีฐานะเป็นจังหวัด ด้วยเป็นเมืองใหญ่ที่มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจากการทำเหมืองแร่ดีบุก ความเจริญรุ่งเรืองของเมืองตะกั่วป่าในอดีตนั้น นอกจากสะท้อนผ่านความคึกคักของ ย่านตลาดใหญ่ อันเป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองแล้ว ยังเห็นได้จากการส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่เด็กๆ ในท้องถิ่น ผ่านการตั้งโรงเรียนแห่งต่างๆ ที่มีประวัติสืบย้อนไปได้ถึงราวสมัยรัชกาลที่ 5
โรงเรียนเก่าแก่ในตะกั่วป่ามีหลายแห่ง ที่สำคัญคือ โรงเรียนเสนานุกูล ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดเสนานุชรังสรรค์ เปิดการเรียนการสอนถึงระดับมัธยมศึกษา ต่อมาย้ายไปยังตำบลบางนายสี เยื้องกับโรงพยาบาลตะกั่วป่า ส่วนที่ตั้งเดิมเปิดเป็นโรงเรียนประถมศึกษา ปัจจุบันคือโรงเรียนเทศบาลบ้านเสนารังสรรค์
โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่เดิมเปิดการเรียนการสอนอยู่ภายในบริเวณวัด คือ โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีตะกั่วป่า (ประชาราษฎร์รังสรรค์) ในสมัยแรกทำการเรียนการสอนกันที่กุฏิวัดปทุมธารา (วัดหน้าเมือง) ต่อมาย้ายไปยังวัดศรีนิคม (วัดหัวสะพาน) ก่อนจะย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2499
นอกจากโรงเรียนประชาบาลแล้ว ยังมี โรงเรียนเต้าหมิง ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกและแห่งเดียวของตะกั่วป่า เดิมเป็นโรงเรียนของเอกชนที่ตั้งสอนกันเอง เน้นวิชาอ่าน-เขียนภาษาจีน ก่อนจะจัดตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนที่ถูกต้องตาม พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 เมื่อปี พ.ศ. 2463
คณะครูและนักเรียน ถ่ายภาพด้านหน้าโรงเรียนเต้าหมิง ไม่ทราบปีที่ถ่าย (ที่มา : คุณเอกสิทธิ์ เอียบสกุล)
จากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งโรงเรียนต่างๆ ในตะกั่วป่า ผู้เขียนพบว่ามีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การขอตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ เมื่อ ร.ศ. 118 (พ.ศ 2442) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมของชนชั้นนำและกลุ่มพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลในแถบมณฑลภูเก็ต ที่ให้บุตรหลานเรียนภาษาจีนควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อสัมพันธ์กับชาวตะวันตกที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ ดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2456 ว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้เคยปรารภกับกระทรวงธรรมการถึงการตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนในมณฑลภูเก็ต ความตอนหนึ่งกล่าวว่าเมืองใหญ่อย่างภูเก็ตและตรังควรจะมีการสอนภาษาอังกฤษเสริมด้วย
เหตุนี้ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีจึงมักจะส่งบุตรหลานไปเรียนต่อที่เมืองปีนัง หรือที่เกาะสอง ประเทศพม่า ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองระนอง ตรงบริเวณปากแม่น้ำกระบุรี โดยในสมัยที่เป็นเขตอาณานิคมของอังกฤษ เรียกว่า วิคตอเรีย พอยท์ (Victoria Point) นอกจากการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนที่ต่างบ้านต่างเมืองแล้ว ก็มีการเปิดโรงเรียนเอกชนสอนภาษาอังกฤษด้วย เช่นที่ตะกั่วป่ามีหลักฐานว่าเคยมีการตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อตั้งโดย พระพิทักษ์ฤทธิรงค์ ข้าหลวงว่าราชการเมืองตะกั่วป่า โดยมีใบบอกขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ ร.ศ. 118
ในเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงชื่อเฉพาะของโรงเรียนนี้ กล่าวเพียงว่าเป็นโรงเรียนหนังสืออังกฤษ ตั้งอยู่ที่เมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต สันนิษฐานว่าคงตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของเมืองเวลานั้น คือ บริเวณย่านเมืองเก่าตะกั่วป่าในปัจจุบัน ครูผู้สอนเป็นคนในบังคับอังกฤษที่รับมาจากเกาะหมาก (ปีนัง)
โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแห่งนี้ เริ่มเปิดการเรียนการสอนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ร.ศ. 118 ในชั้นต้นตั้งแต่วันเปิดโรงเรียน มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 19 คน ในจำนวนนี้เป็นบุตรของคณะกรรมการโรงเรียน 7 คน และบุตรราษฎรพ่อค้าจีนในเมืองตะกั่วป่า 12 คน โดยเก็บเงินจากนักเรียนคนละ 3 เหรียญต่อเดือน จ่ายเป็นเงินเดือนครูเดือนละ 50-60 เหรียญ ซึ่งสกุลเงิน “เหรียญ” ในเอกสารดังกล่าวนี้ เข้าใจว่าเป็นสกุลเงินในระบบเงินตราแบบอาณานิคมอังกฤษที่ใช้กันแพร่หลายในพื้นที่นิคมช่องแคบ
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ผู้มีบทบาทในด้านการจัดการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ได้ทรงให้ความเห็นถึงการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่ตะกั่วป่า ตามใบบอกของพระพิทักษ์ฤทธิรงค์ว่า “พระพิทักษ์ฤทธิรงค์ได้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นที่เมืองตะกั่วป่า 1 แห่ง แลได้จ้างครูฝรั่งมาจากปีนัง ด้วยเงินเรี่ยรายจากนักเรียนนั้นแล้ว เห็นว่าพระพิทักษ์ฤิทธิรงค์ คิดถูกต้องแล้ว แลจ้างครูได้ถูก… หวังว่าได้จัดตั้งขึ้น คงจะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง”
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนยังไม่สามารถสืบค้นได้ว่าโรงเรียนแห่งนี้เปิดดำเนินกิจการจนถึงช่วงเวลาใด และมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และมีข้อสังเกตว่าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่มีการออกพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 ก็มีเพียงโรงเรียนเต้าหมิงแห่งเดียวที่ยื่นขอจัดตั้งโรงเรียนมายังกระทรวงธรรมการ ถึงแม้ประวัติของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษของพระพิทักษ์ฤทธิรงค์จะยังไม่กระจ่างชัดนัก แต่ก็ถือเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความรุ่งเรืองของเมืองตะกั่วป่าในกาลก่อนได้ประการหนึ่ง
(ภาพปก : ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า ถ่ายโดย Robert Larimore Pendleton ช่วงทศวรรษที่ 2480 ที่มา : www.collection.lib.uwm.edu )
เอกสารอ้างอิง
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศธ.51.12/16. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มณฑลภูเก็ตจัดตั้งโรงเรียนภาษาจีน (24 มีนาคม พ.ศ. 2455 - พฤษภาคม พ.ศ. 2456)
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศธ.51.12/3 เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระพิทักษ์ฤทธิรงค์ บอกตั้งโรงเรียนอังกฤษขึ้น 1 โรง ที่เมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต ประจำศก 118 (พ.ศ. 2442)
อภิญญา นนท์นาท. “เต้าหมิง โรงเรียนจีนแห่งเมืองตะกั่วป่า” ใน วารสารเมืองโบราณ. ปีที่ 44 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2561), หน้า 54-66.