แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจะทรงย้ายพระราชวังอันเป็นศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ภายหลังจากที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. 2325 แต่ความสำคัญของฝั่งธนบุรีอันเป็นที่ตั้งพระราชวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น มิได้ถูกลดความสำคัญลงแต่อย่างใด เพราะเป็นบ้านเมืองเก่าที่มีผู้คนอยู่สืบเนื่องกันมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นนิวาสสถานเดิมของพระมหากษัตริย์และเจ้านายในราชวงศ์จักรี รวมถึงขุนนางสำคัญๆ ของบ้านเมือง
200 กว่าปีที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ล้วนมีพระราชกรณียกิจที่สัมพันธ์กับพื้นที่ในฝั่งธนบุรีด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง การพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงพยาบาล เส้นทางรถไฟ ถนนหนทางและสะพาน อีกทั้งยังทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงทำนุบำรุงทุกศาสนา
ช่วงระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยือนฝั่งธนบุรีในโอกาสสำคัญต่างๆ หลายครั้ง รวมถึงยามเกิดวิกฤตปัญหา เช่น ภัยธรรมชาติ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปแก้ไขปัญหาด้วยพระองค์เอง ถือเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ราษฎรในฝั่งธนบุรีเสมอมา และยังเป็นภาพประทับอยู่ในใจของผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าฯ รับเสด็จ
เนื่องในวาระโอกาสครบรอบ 250 ปี กรุงธนบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณจึงได้รวบรวมภาพพระราชกรณียกิจและเหตุการณ์อันน่าประทับใจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวเนื่องกับฝั่งธนบุรี เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่และผู้คนในฟากฝั่งธนบุรีมาตลอดรัชสมัย ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ 43.4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561) "ธนบุรี : เมืองแห่งลำน้ำคูคลองและย่านสวนใน"
(ที่มาภาพ : มัสยิดต้นสน)
"ในหลวงรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชา เสด็จมัสยิดต้นสน"
เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชา ซึ่งต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช รัชกาลที่ 9 ทั้ง 2 พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมมัสยิดต้นสนเป็นการส่วนพระองค์ โดยเสด็จทางชลมารคเข้าคลองบางกอกใหญ่ เรือพระที่นั่งจอดเทียบ ณ ท่าน้ำของมัสยิดต้นสน จากภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและสมเด็จพระอนุชาเสด็จเยี่ยมมัสยิดต้นสน โดยมีจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ เฝ้าฯ รับเสด็จและนำชมโดยรอบมัสยิด
(ที่มาภาพ : กุฎีเจริญพาศน์)
"ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรพิธีเจ้าเซ็นที่กุฎีเจริญพาศน์"
ย้อนกลับไปเมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2496 ชาวมุสลิมชีอะห์ หรือที่คนไทยเรียกว่า "แขกเจ้าเซ็น" รวมถึงชาวกุฎีเจริญพาศน์ทั้งหลาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรพิธีลุยไฟ ณ กุฎีเจริญพาศน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "พิธีเจ้าเซ็น" อันเป็นพิธีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพิธีเจ้าเซ็น ณ กุฎีเจริญพาศน์ โดยมีนายเจริญ อากาหยี่ หัวหน้าผู้ปกครองกุฎีเจริญพาศน์ และชาวชุมชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก เฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเนืองแน่น
(ที่มาภาพ : สำนักราชเลขาธิการ)
"ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี"
วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเปิดอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ นอกจากนั้น ในวันที่ 28 ธันวาคม อันเป็นวันปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินมาวางพวงมาลาหน้าพระบรมรูปพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่บ่อยครั้ง เป็นที่ปลาบปลื้มแก่เหล่าพสกนิกรชาวฝั่งธนฯ เป็นอันมาก
(ที่มาภาพ : สำนักราชเลขาธิการ)
"ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถวายผ้าพระกฐินทางชลมารค "
การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนานับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หนึ่งในวัดสำคัญของฝั่งธนฯ ที่ได้รับพระราชทานกฐินหลวง โดยในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณฯ นั้น มีความพิเศษ ด้วยเพราะเป็นการเสด็จถวายผ้าพระกฐินทางชลมารคที่ทรงมีพระราชดำริให้ฟื้นฟูขึ้นตามโบราณราชประเพณี จากภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อปี พ.ศ. 2502
(ที่มาภาพ : สำนักราชเลขาธิการ)
"ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับสายธารแห่งพระเมตตาสู่คนยากไร้"
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวง รัชกาลที่ 9 ของปวงชนชาวไทย จะทรงมีพระราชกรณียกิจใหญ่น้อยมากมายเพียงใด แต่พระองค์ก็ไม่เคยละเลยพสกนิกรผู้ยากไร้ ทรงมีน้ำพระทัยเผื่อแผ่ดังสายธารสู่คนยากไร้ขาดที่พึ่งพาเสมอ ดังเช่น ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2496 ทรงเสด็จพระราชดำเนินยังโรงพยาบาลศิริราชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เพื่อพระราชทานผ้าห่มแก่คนไข้อนาถาด้วยพระองค์เอง นอกจากนั้นยังพระราชทานไข่ไก่จำนวน 136 ฟอง จากไก่ที่ทรงเลี้ยงในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานแก่เจ้าหน้าที่เพื่อนำไปมอบให้เด็กอนาถาที่พักรักษาตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราชอีกด้วย
(ที่มาภาพ : www.km.kmutt.ac.th)
"ในหลวงรัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ส้มบางมด"
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มายังวัดทุ่งครุ เพื่อทรงเป็นประธานตัดหวายลูกนิมิตในพิธีผูกพัทสีมา (ฝังลูกนิมิต) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2521 ชาวบ้านต่างเฝ้ารอรับเสด็จอย่างคับคั่ง ส่วนชาวสวนส้มต่างพากันจัดเตรียมส้มเขียวหวานจากสวนมาน้อมเกล้าฯ ถวาย ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสถึงส้มบางมดว่า "ส้มบางมดอร่อยมาก ให้อนุรักษ์ส้มบางมดไว้" และยังทรงตรัสถามถึงปัญหาเรื่องดินและน้ำ รวมถึงวิธีการปลูกส้มเขียวหวานอีกด้วย
(ที่มาภาพ : สำนักราชเลขาธิการ)
"ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8"
เมื่อวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสวนหลวงพระราม 8 อย่างเป็นทางการ
(ที่มาภาพ : วารสารนาวิกศาสตร์)
"ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับเรือ ต.91 - เรือของพ่อ"
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการต่อเรือยนต์รักษาฝั่งที่ประเทศเยอรมนี ทรงมีพระราชปรารภที่จะให้กองทัพเรือสามารถต่อเรือโดยพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องหาซื้อจากต่างประเทศแต่อย่างเดียว กองทัพเรือน้อมนำพระราชดำริและมอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือดำเนินการจัดสร้างเรือตรวจการณ์ออกมา 1 ชุด คือ เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 91 (เรือ ต.91) ถึงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง 99 (เรือ ต.99) รวมทั้งสิ้น 9 ลำ โดยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ ต.91 ณ กรมอู่ทหารเรือ จากนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2511 จึงทรงเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือยนต์รักษาฝั่ง ต. 91 ลงน้ำ ณ กรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือจึงขนานนามเรือชุดนี้ว่า "เรือของพ่อ"
(ที่มาภาพ : สำนักราชเลขาธิการ)
"ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมายังอุทยานสมเด็จย่าฯ"
นับเป็นครั้งที่ 2 ที่เจ้าหน้าที่อุทยานสมเด็จย่าฯ มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเหตุการณ์พิเศษทั้ง 2 ครั้ง ยังคงตราตรึงอยู่ในใจเจ้าหน้าที่อุทยานสมเด็จย่าฯ มิรู้ลืม ...เวลาประมาณบ่ายโมงของวันที่ 7 ธันวาคม 2555 เป็นครั้งที่ 2 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จมายังอุทยานสมเด็จย่าฯ เป็นการส่วนพระองค์
คุณอุไรวรรณ สมสมัย ผู้อำนวยการอุทยานสมเด็จย่าฯ กล่าวว่า "วันนั้น ถือเป็นความโชคดีของตัวเอง และน้องเจ้าหน้าที่ที่ได้ทำงานทุกคน เป็นความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้รับเสด็จพระองค์ท่านแบบใกล้ชิดขนาดนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีค่ามาก" ส่วนคุณสมบัติ แย้มอุทัย หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์ผู้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าทั้ง 2 ครั้ง กล่าวว่า "พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จมายังอุทยานสมเด็จย่าฯ 2 ครั้ง มีโอกาสได้รับเสด็จพระองค์ท่านทั้ง 2 ครั้ง ก็รู้สึกปลื้มปีติทั้ง 2 ครั้ง พระองค์ท่านทรงใช้เวลาประทับอยู่ที่บ้านจำลองเป็นเวลานาน บ้านหลังนี้เป็นบ้านจำลองตามแบบ "บ้านหลังเดิม" ของสมเด็จย่าฯ เมื่อครั้งประทับภายในชุมชนนี้"