"ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ" คลังหนังสือออนไลน์
หนังสือหนังหา

"ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ" คลังหนังสือออนไลน์

 

ปัจจุบันการเผยแพร่และรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์เป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูล “ห้องสมุดดิจิทัล” (Digital Library) ก็เป็นสื่ออย่างหนึ่งที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ใช้เพื่อเผยแพร่ฐานข้อมูลขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร งานวิจัย หนังสือ ภาพถ่าย วีดิทัศน์ เป็นต้น โดยจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้สนใจสามารถเข้าไปสืบค้น และเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักอ่านในยุคปัจจุบัน

 

ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ เป็นโครงการจัดทำห้องสมุดดิจิทัล อันเนื่องมาจากโครงการเผยแพร่หนังสือดีที่ทรงคุณค่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร หอสมุดดำรงราชานุภาพ และมูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ในการคัดเลือกและอนุเคราะห์ต้นฉบับหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นพระราชพงศาวดาร พระราชนิพนธ์วรรณกรรม บทละคร และกวีนิพนธ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือเก่า หายาก เพื่อนำมาจัดทำเป็นฉบับอิเล็กทรอนิกส์เผยแพร่ลงเว็บไซต์ http://vajirayana.org/ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาค้นคว้าได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

รูปช้างสีม่วงกำลังถือแท็บเล็ตเป็นตราสัญลักษณ์ของห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ

 

ชื่อ “วชิรญาณ” นั้น มีที่มาจาก “หอพระสมุดวชิรญาณ” เดิมเป็นหอพระสมุดสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และราชสกุล ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง บริเวณศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริให้ทำการขยายกิจการหอสมุดแห่งนี้ เพื่อเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้บริการได้และเปลี่ยนชื่อเป็น “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” จัดตั้งขั้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2448 

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2469  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครมาที่ตึกถาวรวัตถุ ซึ่งเป็นตึกขนาดใหญ่ ริมถนนหน้าพระธาตุ และภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะรัฐบาลได้จัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 และได้รวมกิจการของหอสมุดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดแห่งชาติ” และต่อมาได้สร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติขึ้นใหม่ที่บริเวณท่าวาสุกรี ถนนสามเสน ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509

 

หน้าแรกของเว็บไซต์ห้องสมุดวชิรญาณ

 

ตัวอย่างหนังสือที่น่าสนใจที่อยู่ในฐานข้อมูลของห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ ประเภทเอกสารประวัติศาสตร์  เช่น  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ชุมนุมพระบรมราชาธิบายรัชกาลที่ 4 แบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ วรรณคดี ราชประเพณีโบราณ ราชจารีตโบราณ และโบราณสถานและโบราณวัตถุ บทพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ในรัชกาลที่ 5ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรป ร.ศ. 126 (พ.ศ. 2450) เป็นต้น

 

การนำเสนอ E-BOOK ภายในเว็บไซต์ ถูกออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน ทางด้านซ้ายของหน้าจอเป็นแถบสารบัญ

 

ประเภทวรรณกรรม บทละคร และกวีนิพนธ์ เช่น มัทนะพาธาหรือตำนานแห่งดอกกุหลาบ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) สาวเครือฟ้าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงใช้นามแฝงว่า ประเสริฐอักษร  ละครแห่งชีวิตของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอสมุดวชิรญาณ  บทละครนอกเรื่องสังข์ทอง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พิกุลทอง  แก้วหน้าม้า  ลิลิตตะเลงพ่ายของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รวมบทกวีนิพนธ์ของชิต บุรทัต กวีและนักหนังสือพิมพ์สมัยรัชกาลที่ 6 และนิราศเรื่องต่างๆ เช่น ประชุมนิราศสุนทรภู่ โคลงนิราศหริภุญชัย โคลงนิราศนรินทร์ นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ครั้งกรุงธนบุรี พ.ศ. 2324 นิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย  นิราศหนองคายของหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) เป็นต้น

 

ตัวอย่าง E-BOOK หนังสือพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน”

 

ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทางด้านวรรณกรรมไทย ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมห้องสมุดดิจิทัลแห่งนี้ได้ที่ http://vajirayana.org/ หรือติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการผ่านทาง Facebook "ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ" 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ