พลิกหน้าสารบัญ เมืองโบราณ ฉบับ 45.4

พลิกหน้าสารบัญ เมืองโบราณ ฉบับ 45.4

 

ตะนาวศรี : ชุมทางการค้าบนฝั่งอันดามันของอยุธยา


“...เมืองตะนาวศรีมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า โอบล้อมด้วยแม่น้ำ 3 ด้าน คือ ทิศตะวันตกและทิศเหนือมีแม่น้ำตะนาวศรีไหลผ่าน ขณะที่ทิศตะวันออกเป็นแม่น้ำตะนาวศรีน้อย ส่วนทิศใต้เป็นแผ่นดินต่อเนื่องที่มีร่องรอยของแนวคันดิน สภาพพื้นที่ของเมืองมีระดับความสูงแตกต่างกัน โดยทางตะวันออกมีเขาสูงแล้วค่อยๆ ลาดลงสู่ที่ราบทางตะวันตก ประตูเมืองมีทั้งหมด 9 ประตู และบริเวณที่สูงบนเขาตั้งแต่เหนือจดใต้มักสร้างวัดและสถูปเจดีย์ เพื่อให้มองเห็นได้แต่ไกล..."

 

พลิกหน้าสารบัญ ขอแนะนำบทความต่างๆ ที่น่าสนใจใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 (ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2562) "ตะนาวศรี ชุมทางการค้าบนฝั่งอันดามันของอยุธยา"  

 

 

เส้นทางข้ามคาบสมุทรสยามตอนบน / ศรีศักร วัลลิโภดม

เส้นทางข้ามคาบสมุทรช่วยย่นระยะการเดินทางจากฝั่งอันดามันสู่อ่าวไทย จากการศึกษาพบว่า เส้นทางข้ามคาบสมุทรสยามตอนบนมี 3 เส้นทางหลัก เส้นทางแรกข้ามช่องเขาบริเวณต้นน้ำปราณบุรี เส้นทางที่ 2 จากบริเวณตำบลบางสะพานข้ามไปยังฝั่งพม่า ซึ่งแม้จะยังไม่พบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญ แต่ปรากฏหลักฐานในรูปของตำนาน เช่น ตำนานเรื่องท้าวอู่ทองที่กล่าวถึงการแบ่งเขตแดนระหว่างเมืองเพชรบุรีกับเมืองนครศรีธรรมราช เส้นทางที่ 3 อยู่บริเวณต้นน้ำคลองวาฬซึ่งก็คือบริเวณช่องสิงขร ถือเป็นทางข้ามแดนหลักและเป็นทางข้ามแดนสำคัญมาแต่อดีต

(ภาพ : เนินโบราณสถานและวัดกลางเมืองตะนาวศรี เป็นวัดสมัยอยุธยา มีหินตั้งปรากฏอยู่)

 

 

Kui Point กับเส้นทางข้ามคาบสมุทรและการเดินเรือเลียบชายฝั่ง / วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
 

มะริดและตะนาวศรี เป็นเมืองท่าสำคัญของกรุงศรีอยุธยาทางฝั่งอันดามันมาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 อยุธยากับเมืองท่าบนฝั่งอันดามันทั้ง ๒ แห่ง ติดต่อกันผ่านเส้นทางข้ามคาบสมุทรซึ่งเป็นทั้งเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลวงและเส้นทางการค้าของพ่อค้าวานิชต่างชาติ เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากฟากอันดามันช่วยย่นระยะทางสู่ฝั่งตะวันออกไปยังกรุงศรีอยุธยา อันนัม จีน และญี่ปุ่นได้ โดยมี “กุยบุรี” หรือ “Kui Point” เป็นหมุดหมายสำคัญเพราะเป็นทั้งจุดจอดเรือและจุดแวะพักก่อนออกเดินทางเลาะเลียบชายฝั่งไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

(ภาพ : ภาพลายเส้นลงหมึกของเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ บันทึกภาพบริเวณชายหาดของเขาสามร้อยยอด)

 

 

หลักเมืองตะนาวศรี : หลักฐาน เรื่องเล่า และตำนาน / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

"ตะนาวศรี" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา แต่ได้ตกเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ยังคงหลงเหลือร่องรอย "ความเป็นสยาม" ให้เห็น เช่น ความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองซึ่งเป็นความเชื่อที่พบในพม่าไม่มากนัก จึงนับเป็นร่องรอยความเชื่อเดิมของกลุ่มคนไทยในอดีต แม้ปัจจุบันเสาหลักเมืองนั้นจะปรากฏควบคู่กับ นัต” หรือผีอารักษ์ของพม่าก็ตาม ถือเป็นความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติที่คล้ายคลึงกันของทั้ง 2 วัฒนธรรม
 

(ภาพ : หลักเมืองตะนาวศรีเป็นหลักเมืองแห่งเดียวในถิ่นคนพม่า ระยะหลังได้มีการตั้งรูปนัดชินมะอ่าวตา ผีอารักษ์ของเมืองตะนาวศรีซ้อนทับกับความเชื่อเรื่องหลักเมือง)

 

 

จดหมายเหตุตะนาวศรี / นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว

เมื่อเดินทางข้ามชายแดนผ่านด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าไปยังเมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด ผู้เขียนได้เก็บเกี่ยวเรื่องราว-เรื่องเล่ารายทางจากชุมชนคนไทยพลัดถิ่น ตลอดจนสิ่งที่พบเห็น มาถ่ายทอดเป็นบันทึกแบบจดหมายเหตุซึ่งมีหลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ อาทิ วิถีชีวิตคนไทยบ้านสิงขร เข้าสวนดูพันธุ์หมาก-ทุเรียน คุยกับนายหนังตะลุงที่บ้านสิงขร ขึ้นเขาพระบาทที่บ้านมูกโพรง เยี่ยมชมงานพุทธศิลป์ในวัดต่างๆ รวมถึงโบสถ์คาทอลิกประจำเมืองมะริดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

(ภาพ : สาวน้อยคนไทยตะนาวศรี เธอยังพูดภาษาไทยได้คล่องและเก็บทุเรียนอร่อยจากสวนพ่อแม่มาฝาก)

 

 

 

ถิ่นฐานบ้านเรือนเมืองตะนาวศรี / อภิญญา นนท์นาท

การเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านเมืองของเมืองตะนาวศรีดำเนินไปอย่างแช่มช้า ไม่รีบร้อน ยังคงความเป็นสังคมชนบทที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน เมื่อเทียบกับเมืองที่อยู่ในเขตเดียวกันอย่างเมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าและที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทำความเข้าใจเมืองตะนาวศรีให้มากขึ้นผ่านภูมิวัฒนธรรม ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน รูปแบบอาคารบ้านเรือนพื้นถิ่น ย่านตลาด และเรือกสวนไร่นาที่สะท้อนวิถีชีวิตเรียบง่าย สงบงาม

 

 

 

พลัดที่นาคาที่ไร่ชีวิตผันแปรของชาวไทยสิงขร / เมธินีย์ ชอุ่มผล

สิงขร ตะนาวศรี และมะริดเป็นเมืองในปกครองของสยามถึงสมัยอยุธยา เมืองเหล่านี้มีคนไทยอาศัยอยู่และสืบลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน มีการไปมาหาสู่ระหว่างคนไทยทั้ง 2 ฝั่ง และใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ แต่เมื่อราว 50 ปีก่อน คนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองเหล่านี้ต่างพากันอพยพกลับเข้ามาอยู่ฝั่งไทยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่บนแผ่นดินบรรพบุรุษ พวกเขาถูกเรียกว่า “คนไทยพลัดถิ่น” การต่อสู้เพื่อทวงคืนความเป็น “คนไทย” จึงเกิดขึ้น

 

 

วิถีพ่อค้าวัวควายข้ามแดน / เกสรบัว อุบลสรรค์

จ้วยนัวเกาแต” หรือพ่อค้าวัวควาย ไม่เพียงเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้องของชาวไทยพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในฝั่งพม่าเท่านั้น แต่ยังเป็นอาชีพของนักแสวงโชคหลากหลายเชื้อชาติที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งคนไทยจากฝั่งไทย คนมอญ กะเหรี่ยง พม่าและแขก เหล่าพ่อค้ารายน้อย รายใหญ่จะเดินทางข้ามแดนผ่านช่องข้ามแดนธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย โดยมี “ช่องสิงขร” และ “ช่องชี” เป็นช่องผ่านแดนสำคัญในพื้นที่

(ภาพ : วัวเทียมเกวียนบรรทุกพืชผลทางการเกษตรที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ บันทึกภาพช่วงปี พ.ศ. 2500 // ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)

 

 

 

ตะนาวศรีกับร่องรอยที่ปรากฏในชื่อขนอน คลอง ถนน / จิราพร แซ่เตียว
 

ในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปรากฏชื่อบ้านนามเมืองที่มีคำว่า “ตะนาว” อย่างน้อย 3 แห่ง คือ “ขนอนหลวงบางตนาว” อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา “คลองบางตะนาวศรี” ตำบลสวนใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และ “ถนนตะนาว” เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร แม้คำว่า “ตะนาว” จะมีหลายความหมาย แต่ชุมชนข้างต้นล้วนมีตำนานเก่าแก่ที่ฉายภาพความเชื่อมโยงกับ “มอญตะนาวศรี” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความทรงจำถึงถิ่นที่มาของคนรุ่นใหม่อาจเลือนราง ขาดช่วง แต่เรื่องเล่าและหลักฐานที่หลงเหลือนั้น ย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้ถึงร่องรอยมอญเมืองตะนาวศรีบนแผ่นดินไทย

 

 

 

รอยไทยที่มะริด-ตะนาวศรี / สุดารา สุจฉายา

 

เป็นที่รู้กันว่ามะริดและตะนาวศรีเคยเป็นบ้านเมืองที่อยู่ในการปกครองของสยามมาแต่สมัยสุโขทัยจนถึงอยุธยา นับเป็นเวลายาวนานที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม แม้ต่อมาจะเสียเมืองแก่พม่าและอังกฤษ แต่คนไทยที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ และร่องรอย “ความเป็นสยาม” นั้น ยังคงหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะพุทธศิลป์และสถาปัตยกรรมภายในวัดวาอารามต่างๆ อาทิ วัดตะนาวศรี วัดเป่งโอ วัดเตงดอจี วัดหวุ่นแม่ วัดตอเจ้า เป็นต้น แม้จะมีการซ่อมแซมตามแบบอย่างศิลปะพม่าไปมากแล้ว แต่ร่องรอยบางอย่างที่ยังหลงเหลือก็นับเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึง “รอยไทย” ในเมืองตะนาวศรีและมะริดได้เป็นอย่างดี

(ภาพ : ใบเสมาหินทรายแดงซึ่งน่าจะนำเข้าจากฝั่งไทย ด้วยลวดลายเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนกลาง)

 

 

 

"มณีเอคิกะ" ตำนานพญานาคแห่งเมืองตะนาวศรี / ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา
 

ในพงศาวดารและตำนานของชาติต่างๆ ในสุวรรณภูมินั้น มีการกล่าวถึงพญานาคมาช่วยมนุษย์สร้างเมืองอยู่หลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นพญานาคท้องถิ่นประจำลำน้ำสายสำคัญๆ ของเมือง และในความเชื่อของคนพม่า “พญานาคมณีเอคิกะ” เป็นพญานาคแห่งแม่น้ำตะนาวศรี เกิดเป็นตำนานพญานาคสร้างเมืองขึ้น ณ เมืองตะนาวศรีด้วยเช่นกัน

 

 

 

Street Food เศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่านไชน่าทาวน์ / แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย
 

เยาวราช นับเป็นย่านสตรีทฟู้ดเก่าแก่ของไทยที่มีอายุนับเนื่องมาได้กว่าร้อยปี แม้ในระยะแรกจะถูกกล่าวถึงในเชิงลบ “ดูคนสำส่อน แต่งเนื้อแต่งตัวกัน หาระเบียบอะไรไม่ได้...” แต่เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนตามกระแสแห่งยุคสมัย ย่านเยาวราชก็กลับมาได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูง และ “กลุ่มนักเรียนนอกรุ่นแรกๆ” ในทำนองเป็นย่านของอร่อยที่เต็มไปด้วยภัตตาคารร้านอาหารจีนชื่อดังซึ่งอาหารและภัตตาคารร้านเหลามากมายในย่าน หลายแห่งยังคงได้รับการกล่าวถึงมาจนทุกวันนี้

 

 

 

วัดพุทธศาสนาชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย พุทธศตวรรษที่ 5-9 / ศรีศักร วัลลิโภดม
 

ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างดินแดนพุทธภูมิหรืออินเดียกับสุวรรณภูมินั้น มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันผ่านเส้นทางทะเลจากชายฝั่งทะเลของอินเดียข้ามมหาสมุทรมายังดินแดนสุวรรณภูมิ บทความนี้จะพาทุกท่านออกเดินทางย้อนกลับไปพบเรื่องราวแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการสร้างวัด พัฒนาการของรูปแบบวัด และลักษณะสังฆารามในวัดที่อินเดียดินแดนแห่งพุทธภูมิ ก่อนจะปิดท้ายด้วยเรื่องราวของเมืองท่าบนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ

 

 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น