สรุปเสวนา “ปกิณกะอินเดีย”
แวดวงเสวนา

สรุปเสวนา “ปกิณกะอินเดีย”

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562  มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ร่วมกับวารสารเมืองโบราณ จัดงานเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ปกิณกะอินเดีย” สำรวจสีสันแห่งดินแดนพุทธภูมิ ผ่านภาพถ่ายด้วยสายตานักมานุษยวิทยา ณ ห้องสมุดชั้น ๒ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ วิทยากรโดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ที่ปรึกษามูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ และอาจารย์อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม ซึ่งเป็นนักเขียนประจำคอลัมน์ท่องพุทธภูมิในวารสารเมืองโบราณ

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และอาจารย์อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม 

 

บรรยากาศภายในงานเสวนา

 

อาจารย์อาภาภิรัตน์เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงความหลากหลายของอินเดียที่สะท้อนผ่านทวยเทพองค์ต่างๆ ที่มีความซับซ้อน “อินเดียไม่ได้มีแค่ศาสนาพุทธ แต่มีรายละเอียดของชีวิตเยอะมาก เช่นในพิพิธภัณฑ์เราจะเห็นว่ามีเทพเจ้ามากมายที่เราไม่รู้จัก เราคุ้นกับเทพเจ้า 3 องค์สำคัญ ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ แต่มีเทพีต่างๆ อีกจำนวนมากที่เราไม่ได้แตะต้องเลย ซึ่งให้แรงบันดาลใจในการค้นคว้าเรื่องเหล่านี้ต่อ”

 

บรรยากาศภายในงานเสวนา

 

ตัวอย่างที่อาจารย์อาภาภิรัตน์หยิบยกมาอธิบายคือ เทวรูปต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองโอริสสา หรือที่รู้จักกันในนาม กลิงคราษฎร์ หรือ แคว้นกลิงคะ นครเก่าแก่ของอินเดีย พบว่ามีประติมากรรมเนื่องในศาสนาต่างๆ อยู่จำนวนมาก เช่น รูปนักบวชในศาสนาเชนนิกายทิฆัมพร ที่นุ่งลมห่มฟ้าไร้เสื้อผ้าอาภรณ์ประดับกาย รูปนางตาราในศาสนาพุทธมหายาน และรูปเคารพเทพเจ้าต่างๆ ของฮินดู อาทิ พระกฤษณะ พระขันทกุมารหรือการติเกยะ พระวราหะ พระวราหิ อุมามเหศวร(รูปพระศิวะเคียงคู่กับพระอุมา) มหิษาสุรมรรทินี หรือพระอุมาในภาคดุร้ายปราบมหิษาสูร เทพีแห่งแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนา รูปการบูชาศิวลึงค์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเทพประจำท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมากที่เราไม่รู้จัก

 

"อุมามเหศวร" เป็นรูปพระศิวะเคียงคู่กับพระอุมา ด้านล่างมีโคนนทิ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองโอริสสา ประเทศอินเดีย

 

พระขันทกุมารหรือการติเกยะ ประทับนั่งบนนกยูง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในเมืองโอริสสา ประเทศอินเดีย 

 

ความสำคัญของเมืองโอริสสา นอกจากจะเป็นสถานที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงกลับใจมายึดมั่นในพระพุทธศาสนาภายหลังจากการทำศึกสงครามครั้งใหญ่ ยังพบว่าเป็นแหล่งที่ศาสนาฮินดูมีความสำคัญมาก่อน โดยเฉพาะการบูชาพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ ซึ่งเป็นความเชื่อเก่าแก่ที่แผ่มาจากทางอิหร่าน ความเชื่อดังกล่าวปรากฏเป็นเทวลัย “โกนารัก” หรือ “โกนัก” สุริยเทพวิหาร สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศวตรรษที่ 14 ในรัชสมัยพระเจ้านรสิงห์ที่ 1 เพื่อบูชาพระอาทิตย์ โดยรอบเทวลัยมีกงล้อประดับอยู่สื่อถึงรถม้าของพระอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการประดับภาพสลักรูปการร่ายรำท่วงท่าต่างๆ ที่งดงาม รวมถึงภาพกามสูตรที่ได้รับอิทธิพลจากขชุรโห

 

สุริยเทพวิหาร“โกนารัก” หรือ “โกนัก” แห่งเมืองโอริสสา สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระอาทิตย์

 

กงล้อที่ประดับอยู่บนเทวลัย สื่อถึงรถม้าของพระอาทิตย์

 

ทางด้านอาจารย์ศรีศักร กล่าวถึงความสนใจในด้านพุทธศาสนาและข้อคิดเห็นทางโบราณคดีในแหล่งต่างๆ ซึ่งสภาพภูมิประเทศและภูมิทัศน์ (Landscape) ที่เห็นในปัจจุบันสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นบ้านเมืองและการตั้งถิ่นฐานในสมัยพุทธกาลได้ ที่เมืองโอริสสา อันเป็นเมืองที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเปลี่ยนเป็นธรรมราชา พบว่ามีวัดในพระพุทธศาสนาและพระสถูปตั้งอยู่จำนวนมากตามภูเขาลูกโดด เช่น ลลิตคีรี รัตนคีรี ซึ่งในบรรดาศาสนสถานต่างๆ นั้น มีพระสถูปปุษปคีรีที่เนินเขาลังกุฎี เชื่อว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มีการแบ่งพื้นที่พุทธาวาสและสังฆาวาสแยกกันชัดเจน เขตพุทธาวาส ได้แก่ พระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และเจติยะ ซึ่งหมายถึงอาคารประกอบพิธีกรรม ส่วนเขตสังฆาวาสหรือปุษปคีรีสังฆารามนั้น เป็นอารามหรือสังฆาราม มีกุฏิที่แบ่งเป็นห้องเล็กๆ (Cell) ตั้งอยู่รายรอบพื้นที่ว่างตรงกลางที่ไว้สำหรับทำพิธีกรรมร่วมกัน ส่วนที่วัดปิปราห์วะ เมืองกบิลพัสดุ์ ก็มีสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในยุคต้นพุทธกาล เช่นเดียวกับที่เมืองเวสาลีที่มีพระสถูปปาวาลเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเช่นกัน

 

อุเทสิกเจดีย์บนเขารัตนคีรี เมืองโอริสสา 

 

เมืองราชคฤห์เป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญในพุทธประวัติ เนื่องจากเป็นเมืองของ พระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพุทธสาวกคนสำคัญในสมัยพุทธกาล เมืองราชคฤห์ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อมอยู่ หนึ่งในขุนเขาสำคัญคือ เขาคิชฌกูฏ ที่ด้านบนมีเพิงหิน เพิงถ้ำ และพื้นที่ว่างสำหรับการวิปัสสนา เชื่อกันว่าบนยอดเขาคิชฌกูฏมีมูลคันธกุฎี อันเป็นที่ประทับปลีกวิเวกของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีถ้ำคูหาของพระสาวก อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่พระเทวทัตกลิ้งหินหมายลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ในปลายรัชกาลพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรู ผู้เป็นพระราชโอรส สั่งจองจำไว้ในคุกที่สร้างขึ้นในเขตเมืองราชคฤห์ เป็นสถานที่สุดท้ายที่พระเจ้าพิมพิสารสามารถมองไปยังยอดเขาคิชฌกูฏ ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกประทับอยู่ได้

 

บนเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ สถานที่สำคัญในพุทธประวัติ ปัจจุบันเป็นแหล่งวิปัสสนาของพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธา  

 

ส่วนเรื่องชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนนั้น อาจารย์อาภาภิรัตน์ได้เล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้พบเห็นตามรายทาง อันเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการปรับตัวในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเพื่อเอาชีวิตรอด ซึ่งน่าสนใจว่ามีการผูกโยงเข้ากับความเชื่อและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างกลมกลืน ตัวอย่างสำคัญที่น่าสนใจ ได้แก่ แม่น้ำคงคา วัวกับความเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ และทุ่งมัสตาร์ด

 

พิธีเผาศพที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี

 

แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสี เป็นเส้นทางการค้าและสัญจรมาแต่โบราณ และถือเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนับถือเทพีแห่งแม่น้ำคงคา ปัจจุบันกิจกรรมล่องเรือชมวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำคงคาเป็นที่สนใจในหมู่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วิถีของคนอินเดียอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพิธีเผาศพที่ริมแม่น้ำและการอาบน้ำชำระล้างร่างกาย สะท้อนถึงความผูกพันของคนอินเดียที่มีต่อแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

 

ที่ประเทศอินเดีย วัวเดินอย่างเสรีอยู่บนท้องถนน

 

วัว ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมอินเดีย ด้วยเป็นพาหนะของพระศิวะและมีความศักดิ์สิทธิ์เทียบเท่ากับพระลักษมี ผลผลิตที่ได้จากวัวหนึ่งตัวนั้น สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตคนได้จำนวนมาก ในสังคมที่ค่อนข้างมีความเป็นอยู่แร้นแค้น การมีอยู่ของวัวเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงมีนัยของการปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด จนมีคำกล่าวว่า วัวเป็นแกนกลางของสังคมวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้นการยกให้วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นการปกป้องรักษาเพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืน ในรัฐส่วนใหญ่ของประเทศอินเดียมีกฎหมายห้ามฆ่าวัว เราจะเห็นว่าในทุกหนทุกแห่งมีวัวเดินอย่างเสรีปะปนอยู่บนท้องถนน ผลผลิตที่ได้จากวัวมีหลายอย่างที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ มูลใช้เป็นปุ๋ยที่คืนความมั่งคั่งให้ผืนแผ่นดินและใช้ซ่อมแซมบ้านดินให้มั่นคงแข็งแรง ส่วนนมก็นำมาแปรรูปเป็นเนยและเนยใส (Ghee) ใช้สำหรับปรุงอาหารและเป็นเชื้อเพลิงสำหรับอุ่นอาหาร ผู้หญิงอินเดียส่วนใหญ่จะต้องเรียนรู้ทักษะในการแปรรูปนมวัวเป็นผลผลิตต่างๆ

 

วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านของชาวอินเดียในชนบท

 

ทุ่งมัสตาร์ด เป็นภูมิทัศน์หนึ่งที่พบเห็นได้ในสังคมชนบทของอินเดีย ประโยชน์สำคัญของมัสตาร์ดคือเมล็ดที่นำมาทำซ้อสและสกัดเอาน้ำมัน ใน เทศกาลทีปวาลี หรือ ดิวาลี เทศกาลเปลี่ยนฤดูกาลที่จัดขึ้นในช่วงปลายฝนต้นหนาว ราวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีแมลงชุกชุม การจุดตะเกียงในเทศกาลดิวาลีจะใช้น้ำมันจากเมล็ดมัสตาร์ดเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยไล่แมลงต่างๆ ด้วย ถือเป็นการปรับให้ประเพณีพิธีกรรมสอดรับกับธรรมชาติ

 

ทุ่งมัสตาร์ดที่กำลังออกดอกสีเหลืองบานสะพรั่ง

 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันสภาพบ้านเมืองของอินเดียจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังเห็นได้จากถนนหนทางและรถราต่างๆ ที่คับคั่งจอแจ ตลอดจนความไม่เป็นระเบียบของเมือง แต่ยังคงไว้ซึ่งจารีตแบบดั้งเดิมที่ผสานเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนอินเดีย ชวนให้กลับมาตั้งคำถามถึงคุณค่าของชีวิตและร่องรอยวัฒนธรรมอินเดียที่ตกค้างอยู่ใน “ความเป็นไทย” ทุกวันนี้ 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ