กิจกรรมยอดนิยมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันคือ “การเดินทาง” ไม่ว่าจะเพื่อท่องเที่ยวหรือพักผ่อน บางคนถือว่าเป็นสิ่งที่ “a must” เป็นกิจกรรมที่ถูกบรรจุใน bucket List ส่วนตัว อันเป็นสิ่งที่จะ “ต้องทำ”ก่อนจะลาจากโลกนี้ไป ผู้เขียนก็มี “ตะกร้าความฝัน” ของตัวเองที่จะต้องทำให้ได้สักครั้งในชีวิต การเดินทางไปเยือน “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่” ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก ก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่ตั้งใจไว้ และเชื่อว่าอาจจะเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกับนักเดินทางอีกหลายคน
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปเยือน นครเปตรา (Petra) ประเทศจอร์แดน (Jordan) หรือที่ใครๆ เรียกว่า มหานครสีชมพู ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ระหว่างทางได้พบกับสิ่งที่น่าสนใจหลายต่อหลายเรื่อง จึงขอนำมาบอกเล่าสู่คุณผู้อ่าน
Chapter 1 :
ว่าด้วย “7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่”
ก่อนจะออกเดินทางสู่มหานครเปตรา ขออธิบายเพื่อทำความรู้จักเกี่ยวกับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคต่างๆ กันเสียก่อน ที่เราเคยอ่านผ่านตาหรือร่ำเรียนมาแต่เด็กๆ นั้น แบ่งเป็นประเภท ดังนี้
กลุ่มแรก คือ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ได้แก่ มหาพีระมิดแห่งกีซา ของกษัตริย์คูฟู ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ในประเทศอียิปต์ สวนลอยแห่งบาบิโลน สร้างโดยพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 2 เมื่อราว 600 ปี ก่อนคริสตกาล เทวรูปซูสที่โอลิมเปีย ที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีก สร้างเมื่อประมาณ 462 ปี ก่อนคริสตกาล วิหารอาร์ทิมิส ที่เอเฟซุสประเทศตุรกี สร้างขึ้นราว 700 ปี ก่อนคริสตกาล สุสานแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส ที่ฮาลิคาร์นัสซัส ในประเทศตุรกี สร้างโดยพระราชินีอาร์เทมิเซีย มหารูปแห่งโรดส์ ในทะเลเอเจียน ประเทศกรีก และประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ประมาณ 271 ปีก่อนคริสตกาล
7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ
กลุ่มที่ 2 คือ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคกลาง ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้กำหนดไว้ โดยที่ยอมรับกันมากที่สุด ได้แก่ โคลอสเซียม สนามกีฬาแห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี กำแพงเมืองจีน ประเทศจีน สุสานแห่งอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ สโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ เจดีย์กระเบื้องเคลือบแห่งเมืองนานจิง ประเทศจีน หอเอนเมืองปิซา ประเทศอิตาลี และฮายาโซฟีอาแห่งคอนสแตนติโนเปิล กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี
7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง
กลุ่มที่ 3 คือ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการจัดลำดับไว้หลายรายการ เช่น ของกลุ่มวิศวกรโยธาแห่งสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย อุโมงค์รถไฟใต้ทะเล ประเทศอังกฤษ-ฝรั่งเศส ตึกซีเอ็นทาวเวอร์ ประเทศแคนาดา เขื่อนอิไตปู ประเทศบราซิล ตึกเอ็มไพร์สเตต ประเทศสหรัฐอเมริกา เดลต้า เวิร์คส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ สะพานโกลเดนเกต ประเทศสหรัฐอเมริกา และคลองปานามา ทวีปอเมริกาใต้
7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีรายการ 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ที่จัดทำขึ้นโดย The New 7 Wonders Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำการคัดเลือกด้วยการลงคะแนนเสียงจากคนทั่วโลก ขั้นตอนการคัดเลือก 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ เริ่มจากการประกาศให้เสนอชื่อสถานที่ต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมเข้ามาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2000-2004 ผลปรากฏว่ามีทั้งหมด 177 รายชื่อที่ได้รับการเสนอเข้ามา
จากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 2004-2005 จึงเริ่มทำการคัดกรองจนเหลือเพียง 77 รายชื่อ และหลังจากนั้นอีก 2 ปี ได้ทำการคัดกรองจนเหลือเพียง 21 รายชื่อที่เข้าชิงรอบสุดท้าย จนกระทั่งได้ผลการคัดเลือก 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ประกาศเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ได้แก่ ชิเชนอิตซา คาบสมุทรยูคาทาน ประเทศเม็กซิโก รูปปั้นพระเยซูคริสต์ นครริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล มาชูปิกชู ประเทศเปรู, กำแพงเมืองจีน ประเทศจีน เปตรา ประเทศจอร์แดน ทัชมาฮาล เมืองอักรา ประเทศอินเดีย และสนามกีฬาโคลอสเซียม กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นผลการคัดเลือกที่ได้จากคะแนนเสียงกว่า 100 ล้านเสียงจากทั่วทุกมุมโลก และเป็นการประกาศโดยไม่เรียงลำดับ
เมืองเปตรา ประเทศจอร์แดน ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่นั้น ด้วยชื่อเสียงที่เล่าขานในหมู่นักประวัติศาสตร์และผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะเส้นทางการค้าระหว่างดินแดนต่างๆ ในโลกโบราณ ยุคก่อนคริสต์ศตวรรษไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี จึงได้รับการยกย่องจากสถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ซึ่งเป็นสถาบันพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกว่าเป็น 1 ใน 28 สถานที่ที่ต้องไปเห็นก่อนตาย (28 Places to See before You Die) ซึ่งเขียนเอาไว้ใน Smithsonian Magazine ประจำเดือนมกราคม ค.ศ. 2008
อย่างไรก็ดี 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ที่กล่าวถึงมานี้ ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์กร UNESCO แต่ก็ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากคนทั่วโลกเป็นเครื่องการันตี
Chapter 2:
เก็บกระเป๋า ออกเดินทางสู่จุดหมายปลายทางแรก “The Dead Sea”
ผู้เขียนออกเดินทางไปยังกรุงอัมมาน (Amman) ประเทศจอร์แดน เมื่อปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 2018 การเดินทางมาจอร์แดนครั้งนี้มีจุดหมายใหญ่ๆ 2 แห่งด้วยกัน คือ เปตรา มหานครยุคโบราณ และ ทะเลเดดซี (Dead Sea) ซึ่งเป็นทะเลที่มีความเค็มมากที่สุดในโลกและอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุดในพื้นพิภพที่มนุษย์สามารถเดินลงไปได้ จนมีคำพูดติดตลกว่า “หากต่ำกว่านี้ก็นรกแล้วล่ะ!”
เครื่องบินออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ มีจุดหมายที่สนามบิน Hamad International Airport ประเทศการ์ต้า
ประเทศจอร์แดน หรือ ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน (Hashemite Kingdom of Jordan) มีกรุงอัมมานเป็นเมืองหลวง ปกครองโดยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุขรัฐ ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 อิบน์ อัล-อุสเซน มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลักของประเทศ
การเดินทางข้ามทวีปในครั้งนี้ ใช้เวลาเดินทางร่วม 12 ชั่วโมง เมื่อเครื่องบินพาเรามาถึงประเทศจอร์แดน ภาพแรกที่ปรากฏให้เห็นจากหน้าต่างเครื่องบินคือ ภาพของดินแดนทะเลทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ความสวยงามและความเวิ้งว้างบนสันทรายเช่นนี้ คล้ายกับที่ปรากฏเป็นฉากหลังในนวนิยายและภาพยนตร์แนวผจญภัยหลายต่อหลายเรื่อง
การเดินทางต้องแวะต่อเครื่องที่เมืองโดฮา ประเทศการ์ตา ก่อนจะไปต่อยังเมืองอัมมาน ประเทศจอร์แดน
สนามบิน Queen Alia International Airport ณ นครอัมมาน เป็นสนามบินหลักของประเทศจอร์แดน
หลังจากลงจากเครื่องบินแล้ว เราขับรถมุ่งตรงไปยังทะเลเดดซี ผ่านถนนสายรองออกจากเมืองอัมมาน มุ่งหน้าทิศตะวันตกบนเส้นทางอัมมาน-มาดาบา (Madaba) ด้วยระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ทิวทัศน์สองข้างทางในช่วงแรกจะเห็นสภาพบ้านเมือง ตึกรามบ้านช่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาล กลมกลืนไปกับสีของทะเลทราย สภาพพื้นที่มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเมืองอัมมานเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบหรือที่ราบขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างภูเขาหลายๆ ลูก
ทิวทัศน์สองข้างทางระหว่างเมืองอัมมาน มุ่งสู่เมืองมาดาบา เพื่อไปยังทะเลเดดซี แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่สร้างรายได้หลักอันดับต้นๆ ของประเทศ
เมื่อออกจากเขตเมืองอัมมานมาตามเส้นทางหลวงหมายเลข 15 ซึ่งเป็นทางหลวงสายหลักของประเทศจอร์เดนที่สร้างไว้สำหรับวิ่งผ่านทะเลทราย จึงเรียกว่า Desert Highway เราเลี้ยวออกจากทางหลวงสายหลักและเข้าทางสายรองมุ่งหน้าสู่เมืองมาดาบา สภาพพื้นที่ค่อยๆ สูงขึ้น เพราะกำลังมุ่งหน้าเข้าไปยังเขตเทือกเขาที่มองไปทิศทางใดก็เห็นแต่หินกับทราย จะหาต้นไม้เขียวๆ สักต้นก็ยากยิ่ง ความท้าทายอย่างหนึ่งของการขับรถที่ประเทศจอร์แดนคือ ผู้เขียนต้องขับรถเลนขวาเป็นครั้งแรกในชีวิต จึงต้องตั้งสติและปรับสมองซ้าย-ขวาในทันที ต้องท่องไว้เสมอว่า “เลี้ยวซ้ายชิดขวา เลี้ยวขวาชิดขวา”
"สวนมะกอก" พืชสวนเกษตรหลักที่นำรายได้มาสู่ชาวจอร์แดน ต้นมะกอกสามารถปลูกในที่แล้งและทะเลทรายได้ดี
ลักษณะบ้านเรือนของชาวจอร์แดน ส่วนใหญ่สร้างอยู่บนเนินทรายหรือภูเขาหิน หากเป็นบ้านของผู้มีฐานะจะมีบริเวณกว้างขวางพอสมควร
อาคารสิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่เป็นสีขาวหรือสีน้ำตาล กลมกลืนไปกับสีของทะเลทราย
ระยะทางเกือบ 80 กิโลเมตรที่มุ่งหน้าสู่เมืองมาดาบานั้น สองข้างทางมีทั้งเนินทราย เทือกเขาหินสูงใหญ่น่าเกรงขาม ในบางช่วงเหมือนถนนแหวกเข้าไปในก้อนหินก้อนใหญ่ แล้วออกมาเจอกับเนินผาหินที่น่ากลัว เป็นเวลาเกือบชั่วโมง เราจึงหลุดพ้นจากหมู่เทือกเขาหินอันสลับซับซ้อน ก่อนจะได้เห็นเวิ้งอ่าวขนาดใหญ่ของทะเลเดดซีที่รอเราอยู่เบื้องหน้า
ทิวทัศน์ระหว่างเมืองอัมมานถึงมาดาบา ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ดูร้างไร้ผู้คน ไม่มีต้นไม้ใหญ่ พบเพียงพุ่มไม้ขนาดเล็กๆ เท่านั้น
ทะเลเดดซีจะเรียกว่าทะเลสาบก็ได้ เพราะเป็นทะเลปิด แต่น้ำในทะเลเป็นน้ำเค็มที่มีระดับความเค็มมากกว่าทะเลทุกแห่งในโลก ระดับความเค็มของทะเลเดดซีในส่วนลึกที่สุดสูงถึง 33.7 % ในขณะที่ความเค็มของทะเลทั่วไปมีระดับความเค็มเพียง 3 % เท่านั้น น้ำในทะเลเดดซีจึงมีความเค็มมากกว่าทะเลปกติถึง 8.6 เท่า ทำให้ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ อาศัยอยู่ได้ เว้นแต่พวกแบคทีเรียและเห็ดราบางชนิด
อุณหภูมิที่ "ทะเลเดดซี" ในช่วงเดือนกันยายน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 19-32 องศาเซลเซียส
ทะเลเดดซีเป็นเขตแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่าง 3 ประเทศ คือ จอร์แดน อิสราเอล และปาเลสไตน์ เป็นสถานที่สำคัญที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลและประวัติศาสตร์ของศาสนายูดาย ทะเลเดดซีอยู่ระหว่างเทือกเขายูเดียทางด้านเหนือและที่ราบสูงทรานสจอร์แดนทางด้านตะวันออก แม่น้ำจอร์แดนจะไหลจากทางเหนือลงมายังทะเลเดดซี
สถานพักตากอากาศมีเรียงรายเป็นระยะๆ อยู่ตามริมชายฝั่งทะเลเดดซี
ภาพพระอาทิตย์ตกดินริมฝั่งทะเลเดดซี ซึ่งอีกฟากหนึ่งของทะเลคือ ดินแดนปาเลสไตน์
บริเวณริมทะเลเดดซีในเขตเมืองมาดาบา มีโรงแรมที่พักระดับดีเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาพักเกือบตลอดทั้งปี ปัจจุบันทะเลเดดซีถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนยอดนิยมของคนจอร์แดนและชาวต่างชาติ รวมถึงเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ที่ต้องการมารักษาอาการโรคผิวหนังบางชนิด โดยใช้น้ำเกลือในทะเลเดดซีเยียวยารักษาอาการ
น้ำทะเลเดดซีมีความเค็มสูง นักท่องเที่ยวที่ลงไปแช่ตัวจะสามารถลอยตัวอยู่บนน้ำได้
ว่ากันว่าโคลนในทะเลเดดซีมีแร่ธาตุที่สามารถช่วยรักษาโรคผิวหนังและรักษาผิวพรรณ
ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของเมืองมาดาบาที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นที่ระลึก ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผา ตุ๊กตาดินเผา และงานโรยทรายสีเป็นลวดลายในขวดแก้ว
ปัจจุบันบริเวณที่เป็นเวิ้งอ่าวและหาดทรายที่สามารถเดินลงไปแช่ตัวในทะเลได้นั้น บางแห่งถูกจับจองโดยโรงแรมขนาดใหญ่ กลายเป็นหาดส่วนตัวของโรงแรมไปแล้ว แต่ก็ยังมีหาดสาธารณะที่กันไว้สำหรับคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเที่ยวพักผ่อน ดังที่กล่าวแล้วว่าทะเลเดดซีตั้งอยู่ในจุดที่ต่ำสุดของโลกซึ่งมนุษย์สามารถเดินลงไปได้ ตามจุดต่างๆ เช่น ในรีสอร์ทหลายแห่งจะมีป้ายบอกระดับความลึกของพื้นที่ที่กำลังเดินอยู่ ซึ่งจะอยู่ที่ราว 420 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และด้วยเพราะระดับความเค็มของน้ำทะเลเดดซี ทำให้ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่สามารถมีชีวิตอยู่ในทะเลแห่งนี้ได้ แม้กระทั่งต้นไม้ก็เช่นกัน จะเห็นว่าก้อนหินจำนวนมากตามชายฝั่งทะเลมีผลึกเกลือจับตัวกันเป็นแผ่นขนาดใหญ่ กระจายอยู่ตลอดตามแนวชาวฝั่ง เวลาเดินจึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก
ความเค็มของทะเลเดดซีทำให้เกิดผลึกเกลือสีขาวเป็นชั้นหนาอยู่ตามโขดหินริมชายฝั่ง
จากทะเลเดดซี เราจะเดินทางมุ่งหน้าไปที่ไหนกันต่อ โปรดติดตามเรื่องราวตามรายทาง “เปตรา นคร(ที่เคย)ร้างกลางทะเลทรายอาหรับ” ตอนต่อไปในคอลัมน์ “เที่ยวแบบวารสาร” เร็วๆ นี้