ป้อมพระสุเมรุ บริเวณปากคลองบางลำพู บันทึกภาพไว้ราวปี พ.ศ. 2518 จะเห็นว่าคลองมีความกว้างกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ด้วยยังไม่มีการสร้างประตูน้ำปิดกั้นตรงปากคลอง
หากหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยานั้น ฝั่งซ้ายของปากคลองเป็นที่ตั้งของป้อมพระสุเมรุ ส่วนฝั่งขวาคือเขตชุมชนวัดสังเวชวิศยารามจากคำบอกเล่าของ ลุงเสริม ปรีชาพืช หรือลุงทู้ ผู้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาปากคลองบางลำพูมาร่วม 60 ปี ให้ภาพเมื่อครั้งอดีตว่า ตั้งแต่บริเวณปากคลองฝั่งขวาลึกเข้าไปด้านในมีโรงเลื่อยขนาดใหญ่ตั้งเรียงรายจำนวนมาก เลยจากสะพานฮงอุทิศ (2460) เข้าไปจึงเป็นกิจการโรงเลื่อยขนาดเล็ก และตรงปากคลองฝั่งเหนือนั้นมีท่าเรือข้ามฟากชื่อ “ท่าเรือเจ๊มาลัย” ด้วยบริษัทสุราบางยี่ขันได้มาเช่าที่ของเจ๊มาลัยเพื่อทำท่าเรือสำหรับให้พนักงานของโรงสุราใช้สัญจรข้ามฟากไปยังท่าเรือของโรงสุราบางยี่ขันที่อยู่อีกฟากฝั่งของแม่น้ำ ต่อมาท่าเรือนี้ได้กลายเป็นท่าเรือวัดสังเวชฯ
ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับป้อมฯ ที่เห็นปล่องและอาคารรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ คือ โรงสุราบางยี่ขันนั่นเอง ปัจจุบันเปลี่ยนสภาพกลายเป็น “สวนหลวงพระราม 8” ซึ่งประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ไว้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำ หลังจากที่ได้มีการจัดสร้างสะพานพระราม 8 ขึ้นในปี พ.ศ. 2538 แล้ว
บริเวณผืนหญ้าหน้าป้อมพระสุเมรุในภาพ ปัจจุบันเป็นลานกิจกรรมและลานออกกำลังกายของสวนสาธารณะสันติชัยปราการแต่ในอดีตเป็นท่าทรายที่เรือขนทรายตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาจะนำทรายมาขึ้นและถ่ายลงใส่เรือเล็ก เพื่อลำเลียงไปส่งหรือขายในลำคลองต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวขึ้น ถัดจากท่าทรายลงไปตอนใต้ เป็นที่ตั้งกิจการโรงเลื่อยและโรงไม้อัดขนาดใหญ่ของบริษัทศรีมหาราชาซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปไม้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณริมตลิ่งด้านหน้าโรงเลื่อยมีแพซุงจอดเรียงราย โดยมีโซ่ล่ามผูกไว้เพื่อกันมิให้แพซุงลอยน้ำออกไป ไม้ซุงเหล่านี้ล่องมาจากปากน้ำโพ จ. นครสวรรค์ บ้างล่องมาไกลถึงพิษณุโลก
แพซุงของโรงเลื่อยต่างๆ นั้น คุณธวัชชัย วรมหาคุณ หรือคุณกบแห่งป้อมมหากาฬ บอกเล่าว่าคือสถานที่หมายปองของเด็กๆ ในยุคนั้น เพราะเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้กระโดดเล่นน้ำและว่ายออกไปรูดหอยจุ๊บแจงและกุ้งแม่น้ำที่มักเกาะอยู่ตามเสาหลักซึ่งใช้ดึงซุงขึ้นมาจากแม่น้ำ แม้จะถูกผู้ใหญ่ห้ามไม่ให้ขึ้นไปเล่นเพราะเกรงจะถูกซุงหนีบแขนขาขาดไปก็ตาม หลังจากโรงเลื่อยของบริษัทศรีมหาราชและท่าทรายปิดตัวลง พื้นที่ได้ถูกทิ้งร้างรกเรื้อ ก่อนจะมีการบูรณะป้อมมหากาฬโดยกรมศิลปากรเมื่อคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีใน พ.ศ. 2525 และครั้งใหญ่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2542 โดยมีการขุดแต่งป้อมและพัฒนาพื้นที่ข้างป้อมให้เป็นสวนสาธารณะเรียกว่า “สวนสันติชัยปราการ” ในเวลาต่อมา
ช่วงเวลาที่บันทึกภาพชุดนี้ ด้านบนของป้อมพระสุเมรุยังไม่มีหอรบดังที่เห็นอยู่ปัจจุบัน เป็นเพียงลานโล่งรกไปด้วยหญ้า เนื่องจากหอรบด้านบนได้ทลายลงช่วงระหว่างรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ป้อมเวลานั้นจึงเหลือเพียงบริเวณเชิงเทินและชั้นที่ 2 ของตัวป้อมเท่านั้น
ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์