ป่าสาคู

ป่าสาคู

 

ในอดีต พัทลุงมีป่าสาคูตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ขึ้นกระจายเป็นหย่อมๆ ตามริมฝั่งแม่น้ำ หรือลำเหมืองที่เชื่อมต่อไปยังท้องทุ่งนา รวมถึงบริเวณปากแม่น้ำใหญ่ เช่น ลำปำ และปากประ แต่ทุกวันนี้ พื้นที่ป่าสาคูกลับค่อยๆ ลดจำนวนลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขุดลอกคูคลองหนองบึงทำให้เกิดการถางป่าสาคูและพืชพันธุ์อื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ตามชายคลอง เพียงเพราะเห็นว่ากีดขวางเส้นทางน้ำ

 

ป่าสาคูที่คลองปากประ จ. พัทลุง

 

บ้านหัวพรุ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยังมีป่าสาคูผืนใหญ่ กินเนื้อที่กว่า 80 ไร่ ผู้คนที่นั่นรู้จักและใช้ประโยชน์จากป่าสาคูผืนนี้มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็น “ห้องเรียนธรรมชาติ” ที่อยู่ในบทเรียนชีวิตของคนบ้านหัวพรุมาไม่น้อยกว่า 3 ชั่วอายุคน

 

คุณพิชัย ทิพย์มาก ผู้นำสำรวจป่าสาคูที่บ้านหัวพรุ อ. ควนขนุน จ. พัทลุง 

 

ดิน-น้ำ-ป่าสาคู

ภายในป่าสาคูมีอุณหภูมิเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ผืนดินชุ่มชื้นไปด้วยน้ำ และเศษซากของต้นสาคูและอินทรียวัตถุอื่นๆ ที่ทับถมอยู่ทั่วบริเวณ พื้นดินจึงมีลักษณะอ่อนยวบเมื่อเหยียบย่างเข้าไป แต่ด้วยลักษณะเช่นนี้ ป่าสาคูจึงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ในฤดูแล้งน้ำจากป่าสาคูจะระบายออกสู่ลำน้ำลำเหมืองที่อยู่ใกล้เคียง ขณะที่ในฤดูน้ำหลาก ป่าสาคูจะเป็นดั่งปราการธรรมชาติที่ชะลอความแรงของน้ำไว้

 

ต้นสาคูที่เริ่มออกช่อดอก ชาวบ้านเรียก "แตกเขากวาง" เพราะลักษณะช่อดอกคล้ายเขากวาง 

 

แป้งสาคู

“สาคู” เป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ภายในลำต้นประกอบด้วยแป้งและเส้นใยเป็นจำนวนมาก ต้นสาคูที่พร้อมสำหรับนำมาสกัดแป้งเพื่อบริโภคนั้น ต้องมีอายุ 8 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นสาคูมีปริมาณแป้งสะสมไว้ในลำต้นสูงที่สุด ต้องรีบโค่นก่อนออกช่อดอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แตกเขากวาง” เพราะแป้งทั้งหมดในลำต้นจะถูกนำไปเลี้ยงดอกและผลต่อไป หากตัดลำต้นนำมาสกัดแป้งจะได้ผลผลิตน้อยหรือไม่ได้เลย

 

 

“ก้าน-ใบ” ใช้ได้ไม่รู้จบ…

ก้านและใบของต้นสาคูนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ใบใช้เย็บตับมุงหลังคา ส่วนก้านใบหรือทางสาคู นำมาลอกเปลือกผิวด้านนอกเป็นเส้นบางๆ เมื่อนำไปตากให้แห้ง จะได้ตอกสำหรับสานเสื่อหรือทำเครื่องมือจับปลาดักสัตว์ ส่วนทางสาคูที่มีขนาดใหญ่ ยาว เมื่อทิ้งไว้ให้แห้งจนเป็นสีน้ำตาล จะได้ไม้เนื้อแข็ง ทนทาน มีพื้นผิวที่มันวาว สามารถนำไปทำฝาบ้าน ฝาขนำ รั้วกั้นคอกสัตว์ หรือจะนำมาใช้เป็นไม้สอยแทนไม้ไผ่ก็ดี เพราะมีน้ำหนักเบา จับถือได้สะดวก

 

ด้วงสาคู 

ตามธรรมชาติแมงหวัง หรือด้วงสาคูจะมาไข่ทิ้งไว้ที่ลำต้นของต้นสาคู ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตขึ้นด้วยการกินเนื้อแป้งในลำตันเป็นอาหาร การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนด้วงสาคูตามธรรมชาตินั้น ทำได้โดยตัดต้นสาคูเป็นท่อน ๆ ทิ้งไว้ราว 15 วันเพื่อรอให้แมงหวังมาวางไข่ ก็จะได้ตัวอ่อนของด้วงสาคู ตัวอ่อนของแมงหวัง ถือเป็นของกำนัลจากธรรมชาติที่พบได้ในป่าสาคู คนในท้องถิ่นภาคใต้นิยมนำมารับประทาน หากนำไปขายก็ได้ราคาสูง

 

 

ออกเดินทางบุกป่าสาคูที่บ้านหัวพรุ เพื่อตามหา “ต้นสาคู” ที่ไม่ได้มีดีแค่นำมาทำเป็นขนมหวานให้มากขึ้นได้ในบทความเรื่อง “สาคูต้น ที่บ้านหัวพรุ” โดย อภิญญา นนท์นาท ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณฉบับ 44.3 (กรกฎาคม-กันยายน 2561) “ไชยบุรี : ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง”

 

 

ดูสารบัญ คลิก  http://www.muangboranjournal.com/bookpost/41

รายละเอียดการสั่งซื้อ / สมัครสมาชิก คลิก  http://www.muangboranjournal.com/สมัครสมาชิก


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น