สามเพ็ง
คลังบทความ

สามเพ็ง

 

หากเอ่ยถึงชื่อ ย่านสามเพ็ง  หรือ สำเพ็ง หลายคนคงรู้จักกันดีว่าเป็นย่านการค้าของชาวจีนที่เก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร มีสินค้าสารพัดอย่างวางจำหน่ายทั้งปลีกและส่ง แต่หากจะกล่าวถึงสภาพของย่านสำเพ็งในอดีตนั้น เป็นเรื่องยากที่คนรุ่นปัจจุบันจะจินตนาการถึง

 

“กาญจนาคพันธุ์”  หรือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้เขียนบันทึกความทรงจำเรื่อง“สามเพ็ง” ตีพิมพ์ลงใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (สิงหาคม-กันยายน 2522) หน้า 63-81 ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคมที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการประติดประต่อภาพอดีตของย่านการค้าแห่งนี้

 

ย่านสามเพ็ง หรือ สำเพ็ง  ในบันทึกของกาญจนาคพันธุ์ มีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งประวัติศาสตร์ สภาพพื้นที่ บรรดาตรอก ซอย และห้างร้านต่างๆ ตลอดจนเรื่องราวของผู้คนที่มีบทบาทสำคัญในย่านแห่งนี้ ดังเช่น ข้อความบางตอนที่คัดมานำเสนอ ดังนี้

 

“ข้าพเจ้าได้เคยเห็นและรู้จักสามเพ็งมาตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ หรือประมาณหยาบๆ ก็กว่า 75 ปีมาแล้ว ที่ไปเห็นสามเพ็งก็เพราะไปกับบิดา ลงเรือจากบ้านคลองบางหลวงไปขึ้นที่ท่าวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ์) แวะที่บ้านนายหมีทนายความซึ่งอยู่ที่นั่น แล้วไปที่สามเพ็ง ไปซื้อตุ๊กตาจีน มีศาลเจ้า เก๋งจีน เจดีย์(ถะ) สะพานข้ามห้วยและลำธาร คนจูงควาย คนจำศีล ฯลฯ มาติดที่เขามอ บิดาเล่นก่อเขามอในกระถางลายคราม ซึ่งมีอยู่มากสำหรับเป็นของประดับบ้าน ตุ๊กตาดังกล่าวเป็นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ตัวเล็กๆ สวยงามน่ารักมาก” (หน้า 63)

 

“จากนั้นเมื่อข้าพเจ้ามาอยู่กรุงเทพฯ อายุราว 12-13 ปี หรือประมาณ 70 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าได้ไปสามเพ็ง คราวนี้ไปคนเดียวและไปเที่ยว… จากต้นทางข้ามสะพานหันเรื่อยไปถึงวัดกาละหว่า (กาลหว่าร์) ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสุดทางสามเพ็ง รู้สึกว่าทั้งสองข้างทางสามเพ็งมีตรอกหรือซอยตลอดไปมากเหลือเกิน ตึกบ้านร้านรวงสองข้างทางก็ดูเป็นจีนทั้งสิ้น” (หน้า 63)

 

“ข้าพเจ้าได้มาอยู่สามเพ็ง อายุ 20 ปีเศษ หรือราว 60 กว่าปีมาแล้ว ข้าพเจ้าได้ภรรยาที่นั่น ผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงเก่าๆ เขาพากันว่าข้าพเจ้าได้ลูกสาวสามเพ็ง คำว่า “ได้ลูกสาวสามเพ็ง” นั้นหมายถึงว่าได้เมียรวย ทั้งนี้สืบมาจากเป็นที่รู้กันดีทั่วไปว่า ผู้ที่อยู่ในสามเพ็งหรือชาวบ้านสามเพ็งเป็นพวกจีนที่รุ่มรวยทั้งนั้น… ข้าพเจ้าอยู่สามเพ็ง 5-6 ปี ระหว่างนี้ก็เดินสามเพ็งจนนับไม่ถ้วน แต่ไม่เดินตลอดสาย ที่เดินตลอดสายมีเพียง 2-3 ครั้ง คือไปเที่ยวหาซื้อหนังสือที่โรงพิมพ์หน้าวัดเกาะ อีกแห่งหนึ่งชื่อโรงพิมพ์ “พานิชศุภผล” มีหนังสือพวกพงศาวดารจีนปกแข็งมาก เมื่อไปซื้อหนังสือสองแห่งนั้น ก็มักเดินเรื่อยไปจนสุดถนนสามเพ็ง… ไปคราวนี้ได้รู้จักชื่อตรอกขึ้นมาก เช่น ตรอกเต๊า ตรอกอาเนียเก็ง ตรอกโรงกะทะ ตรอกเว็จขี้ ฯลฯ” (หน้า 64)   

 

“ตรอกในสามเพ็งที่เรียกชื่อเป็นไทยนึกชื่อจีนไม่ออกก็มี ตรอกโรงโคม เห็นจะทำโคมเต็งลั้งขาย ตรอกโรงกะทะ ก็เห็นจะทำกะทะขาย สมัยก่อนตามโรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร ห้างล้งต่างๆ มีมาก มีกุลีจับกังแห่งละนับเป็นร้อยๆ  หรือบ้านเจ้าสัวเศรษฐีก็มีคนนับสิบๆ จะใช้หม้อดินอย่างชาวบ้านธรรมดาหุงเลี้ยงไม่ไหว ต้องใช้กะทะเหล็กกันทั้งนั้น เป็นกะทะใหญ่ปากกว้างตั้ง 40-50 เซนต์ เรียกว่า หุงข้าวกะทะ” (หน้า 78)  

 

“ตรอกที่เป็นศาลเจ้าลงไปทางแม่น้ำก็หลายชื่อ มักเป็นศาลเจ้าที่ชาวเดินเรือสำเภานับถือมาเซ่นไหว้เวลาเรือสำเภาเข้าออก เช่น ตรอกอาเนียเก็ง อาม้าเก็ง ม้าเก็งเอ๋า (ดูเหมือนไทยเรียก ตรอกเต้าหู้) ตรอกศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าเซียวซื่อก๋ง ปูนเถ้าก๋ง ศาลเจ้าต้นไทร ศาลเจ้าเก่า ศาลเจ้าใหม่ ฯลฯ” (หน้า 78)

 

เรื่องราวที่น่าสนใจในบทความเรื่อง “สามเพ็ง” ของ กาญจนาคพันธุ์ ยังมีอีกมากมาย บรรยากาศในวันวานของย่านจีนเก่าแก่แห่งนี้จะเป็นอย่างไร? หาคำตอบได้จากบทความฉบับเต็ม ใน “10 ปีแรก วารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/en/document/view/67682806/-5-6

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น