เครื่องเขิน (lacquerware) เป็นงานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของเชียงใหม่ มีประวัติว่าเข้ามาพร้อมกับกลุ่มชาวไทเขิน (ไทขึน) จากเชียงตุง ที่อพยพเข้ามายังเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ภายหลังจาก พ.ศ. 2339 โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ใกล้กับวัดนันทารามในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาเป็นแหล่งผลิตเครื่องเขินที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีชุมชนไทเขินกระจายตัวอยู่ในที่อื่นๆ เช่น ในแถบวัดสันก้างปลา อำเภอสันกำแพง
ลักษณะของงานเครื่องเขินคือ ภาชนะทำจากไม้ไผ่สาน เคลือบด้วยรัก (ฮัก) สีดำ หรือชาดสีแดงซึ่งทางเชียงใหม่เรียกว่าสีหาง แล้วประดับตกแต่งด้วยการลงรักปิดทอง การแกะสลักลวดลาย และการขูดลายคือการใช้มีดปลายแหลมขูดรักหรือชาดที่เคลือบอยู่ให้เป็นลวดลายแล้วเขียนสีลงไป เครื่องเขินทำออกมาหลายรูปแบบ เช่น แก้วน้ำ โอ (ขัน) เชี่ยนหมาก ขันโตก ตลับ กล่อง เป็นต้น ถือเป็นเครื่องใช้ที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่เจ้านายและผู้มีฐานะ ด้วยมีน้ำหนักเบา ทนทาน และมีความหรูหราสวยงาม ชาวบ้านทั่วไปก็ใช้เครื่องเขินในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน แต่มักเป็นเครื่องเขินสีพื้นคือ สีดำและสีหาง (สีแดง) สมัยก่อนช่างทำเครื่องเขินมักนำไปแลกเปลี่ยนกับงานหัตถกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ภาชนะดินเผา เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เครื่องเขินจึงเป็นงานหัตถกรรมที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในวิถีคนเชียงใหม่ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นงานหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์
ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา ส่งผลให้มีการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในเชียงใหม่ นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว หมู่บ้านหัตถกรรมก็เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนและเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตและซื้อหาของที่ระลึกที่ผลิตโดยช่างท้องถิ่น ดังจะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมแหล่งงานหัตถกรรมต่างๆ ในเชียงใหม่มากขึ้นในช่วงทศวรรษ 2510 ดังเช่นการจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชียงใหม่โดยบริษัท Tommie’s Tourist Agency ซึ่งเป็นบริษัทจัดการท่องเที่ยวที่เปิดให้บริการราว พ.ศ. 2510 ก็มีการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เน้นเฉพาะงานหัตถกรรมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเที่ยวชมการทำเครื่องเขิน
ย่านนันทารามในตัวเมืองเชียงใหม่ถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเขินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยเพราะเป็นชุมชนไทเขินที่เก่าแก่และมีการสืบทอดภูมิปัญญาเรื่อยมา การผลิตเครื่องเขินเดิมทำกันในครัวเรือน ต่อมาเมื่อมีความต้องการของตลาดมากขึ้นจึงเริ่มมีการผลิตแบบโรงงานและมีร้านจำหน่ายเครื่องเขินเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ร้านเชียงใหม่หัตถกิจ ที่ตลาดวโรรส อำเภอเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่อำเภอสันกำแพงก็มีโรงงานทำเครื่องเขินขนาดใหญ่ส่งขายทั้งภายในและต่างประเทศ เช่น หจก. เชียงใหม่ลายทอง ผลิตเครื่องใช้โลหะและเครื่องเขิน ตั้งอยูที่ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จดทะเบียนเมื่อ พ.ศ. 2530 และเมื่อเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ซึ่งเป็นตลาดขายสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวเริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมา ก็มีร้านขายเครื่องเขินเปิดอยู่หลายร้านและมีการทำเครื่องเขินแบบประยุกต์เพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆ นำมาสู่การพัฒนาเทคนิคการเขียนลายแบบเครื่องเขินลงบนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ
กิ๊บลายเครื่องเขินประยุกต์ เขียนลายเส้นหลากสีลงบนกิ๊บรูปผีเสือ
กิ๊บลายเครื่องเขิน งานหัตถกรรมประยุกต์
กิ๊บหนีบผมสีดำเขียนลวดลายหลากสีสันวางเรียงรายอยู่ตรงหน้าคุณอุดม สิทธิเลิศ อดีตพ่อค้าขายเครื่องเขินที่ตลาดไนท์บาซาร์ ที่อาศัยบ้านในบ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง เป็นที่ทำงานศิลปะ บรรจงแต่งแต้มสีสันลงบนกิ๊บสีดำเกลี้ยง ซึ่งคุณอุดมบอกว่าเป็นเทคนิคที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานเครื่องเขินที่เคยคลุกคลีอย่างใกล้ชิดในฐานะพ่อค้ามาร่วม 30 กว่าปี
“เริ่มต้นจากการขายเครื่องเขินเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ตอนเปิดร้านขายแค่เครื่องเขินอย่างเดียว อาจมีพวกตุ๊กตาแม้วมาวางแซมบ้าง แหล่งทำเครื่องเขินมีที่บ้านนันทาราม เดี๋ยวนี้ยังมีช่างทำอยู่ งานของเขายังเป็นเครื่องเขินแบบเดิมคือลงรักปิดทอง และที่ตำบลสันกลางก็มีโรงงานเชียงใหม่ลายทอง ตอนนี้ปิดไปแล้ว เครื่องเขินที่ขายเป็นพวกตลับ จานรองแก้ว”
คุณอุดม สิทธิเลิศ ผู้บรรจงแต่งแต้มลวดลายเครื่องเขินประยุกต์ลงบนกิ๊บติดผม
งานเครื่องเขินที่นักท่องเที่ยวนิยมคือของใช้ขนาดเล็กๆ เช่น ตลับ จานรองแก้ว ลงรักสีดำ ลงรักปิดทอง หรือใช้เทคนิคขูดลายแล้วเขียนด้วยสี “พวกของกระจุกกระจิกได้รับความนิยม ตลับเล็ก กลาง ใหญ่ จานรองแก้วก็ได้รับความนิยมมาก ขายเป็นชุด 6 ชิ้น พร้อมตลับเก็บเรียบร้อย ราคา 100 กว่าบาทถึง 200 กว่าบาท พอเขารู้ว่าเป็นงานลงรักจะซื้อเพราะทำยาก การลงรักหลายขั้นตอน แห้งช้า ตากกับแดดก็ไม่ได้ ต้องอยู่ในที่เย็น รอให้แห้งสนิทก่อนแล้วจึงนำมาเขียนลวดลาย… เครื่องเขินแบบลงรักปิดทองก็มี แบบขูดลายก็มี ทำเป็นลายไทยหมดเลย ขูดเอารักออกแล้วลงสีทอง ไม่ใช่ทองคำเปลวแบบลงรักปิดทองนะ แต่เป็นสีทอง”
กิ๊บหนีบผมเขียนลายเครื่องเขินประยุกต์ ผลงานของคุณอุดม
กระทั่งในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เครื่องเขินขายได้ยากขึ้นเพราะราคาสูงขึ้นมาก แต่เดิมเครื่องเขินก็เป็นงานหัตถกรรมที่มีราคาสูงอยู่แล้ว สาเหตุสำคัญเพราะช่างทำเครื่องเขินน้อยลง วัตถุดิบหายากและมีราคาสูง โดยเฉพาะยางรัก นอกจากนี้ยังมีงานเครื่องเขินจากต่างประเทศเข้ามาด้วยทั้งจากพม่าและจีน “เริ่มขายเครื่องเขินที่ไนท์บาซาร์มา 30 กว่าปี แทบไม่ได้อะไรเลย เพราะเครื่องเขินราคาแพงจึงขายยาก ถ้าขายเครื่องเขินชุดใหญ่ๆ ได้กำไรดีจริง แต่ขายได้น้อยชิ้น ช่วงที่ขายดีจริงๆ ต้องย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน”
การเขียนลายเส้นโดยใช้เทคนิคบีบกรวยสี
ด้วยความชื่นชอบในงานเครื่องเขินและต้องการหาสินค้าใหม่ๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจเลือกซื้อหาได้ง่ายขึ้น คุณอุดมจึงเริ่มด้วยการเขียนลายแบบเครื่องเขินประยุกต์คือ วาดลวดลายดอกไม้ ลายไทย ลงบนกิ๊บติดผมสีดำ เริ่มวางขายเป็นครั้งแรกที่หน้าร้านของตัวเองในตลาดไนท์บาซาร์เมื่อราว 10 ปีมาแล้ว โดยลงมือทำด้วยตนเองทั้งหมด ตอนนั้นหลายร้านในไนท์บาซาร์ก็เริ่มปรับตัวเช่นนี้เหมือนกัน
“เครื่องเขินแพง ขายไม่ค่อยได้ เราเลยลองมาเขียนลายแบบนี้ดู ก็พอไปได้ ต้นทุนไม่สูง เราขายราคาพอดีๆ ไม่ต้องแพง ก็อยู่มาได้เป็น 10 ปี ยังไม่เชื่อเลยว่าจะอยู่มาได้ขนาดนี้ เพราะคิดว่าแค่ 2-3 ปีน่าจะล้าแล้ว… ใช้สีอะคลิลิก เขียนด้วยพู่กัน หรือใช้เทคนิคบีบกรวยสีให้เป็นเส้นๆ ก็ได้ เรียกว่า เขียนแบบลายเส้น ถ้าใช้พู่กันเรียกลายพู่กัน ถ้าใช้เทคนิคการบีบสีจะเห็นเนื้อสีนูนขึ้นมา ตอนนั้นทำแล้ววางขายที่หน้าร้านของเราที่ไนท์บาร์ซาร์... ย้อนไปตอนที่เริ่มวาด เราเขียนไม่สวยหรอก ก็วางขายไปโดยไม่สนว่ามันจะขายได้หรือไม่ได้ เราคิดว่าสวยแล้วแต่คนอื่นเห็นก็ว่ายังไม่ได้ นี่มันดอกอะไร ดูไม่ออก แต่เราก็เขียนแล้ววางขายไปเรื่อยๆ อันละ 20-35 บาท เราชอบอยู่แล้ว ไม่นานก็ทำได้ แรกๆ เขียนแค่ลายดอกไม้อย่างเดียว ต่อมาวาดลายประดิษฐ์แบบอื่นๆ”
กิ๊บรูปผีเสื้อได้รับความนิยมอย่างมาก
จากที่วางขายหน้าร้าน เริ่มมีลูกค้าชาวต่างประเทศสนใจซื้อไปขายต่อ นำมาสู่การทำส่งออกไปยังต่างประเทศ “ออเดอร์หลักๆ เป็นลูกค้าต่างประเทศอย่างเดียว ส่วนใหญ่เป็นยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีและฝรั่งเศส เขามาเห็นเราขายที่ไนท์บาร์ซาร์ก็มาติดต่อซื้อไปขาย เพิ่งได้ทำส่งออกเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ลูกค้าที่สั่งออเดอร์มา ไม่ได้กำหนดลวดลายสีสัน แล้วแต่เราทำและไม่ต้องเขียนลายให้เขาดูก่อนเพราะเป็นลูกค้าประจำกันอยู่แล้ว กิ๊บที่เราขายมี 12-13 แบบ เราก็เขียนลวดลายลงไป โดยดูว่ากิ๊บมีรูปร่างแบบไหนก็จะออกแบบลวดลายให้เข้ากัน ลวดลายเดิมๆ ที่เขียนกันมีแค่ลายกนก ลายดอกไม้ ลายชบา”
กิ๊บหนีบผมเขียนลายเครื่องเขินประยุกต์ เขียนแบบลายเส้น
เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เศรษฐกิจการท่องเที่ยวชะงักงัน บรรยากาศค้าขายในไนท์บาซาร์ซบเซาลงมาก ตอนนี้คุณอุดมก็ปิดร้านค้าที่ไนท์บาซาร์ไปแล้ว แต่ก็ได้งานเพนท์กิ๊บติดผมมารองรับ ซึ่งยังมีลูกค้าจากต่างประเทศสั่งเข้ามาอยู่เสมอ แรงบันดาลใจจากงานหัตถกรรมเครื่องเขินสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะบนสิ่งของเครื่องใช้แบบนี้ นอกจากการสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากงานช่างโบราณ ถึงแม้ว่าจะเป็นการประยุกต์และดัดแปลงจากของดั้งเดิมไปมากแล้ว ทว่าเป็นดอกผลที่สามารถสืบย้อนไปยังรากของภูมิปัญญางานหัตถกรรมที่อยู่คู่กับชาวเชียงใหม่มานานนับร้อยปี
แหล่งอ้างอิง
สุดารา สุจฉายา,บรรณาธิการ. เชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2543.
ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. การผลิตเครื่องเขินบ้านนันทาราม. เข้าถึงจาก http://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannalacquerware/en/production/nantharam-lacquerware
Frans Betgem. Tommie’s Tourist Agency Chiang Mai. Retrieved from https://www.travel-and-history.com/tommies-tourist-agency-chiang-mai/
ข้อมูลสัมภาษณ์
คุณอุดม สิทธิเลิศ อายุ 57 ปี บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563)
(ส่วนหนึ่งในโครงการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมเมืองสันกำแพงโบราณและแหล่งหัตถกรรมสันกำแพง ร่วมกับ Spark U Lanna)